วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

"ทิศทางข้าวเวียดนาม: ผลกระทบต่อข้าวไทย" โดยนางสาวพรจันทร์ จงศรี*

ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าข้าวไทยและสินค้าข้าวเวียดนาม

                   ในปี 2561 กรมการค้าต่างประเทศเผยว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวมากถึง 11.13 ล้านตัน โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 180,413 ล้านบาท โดยประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย และเวียดนามเพื่อนบ้านของเราส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ซึ่งมูลค่าการส่งออกข้าวของประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 จากปี 2560 ประเทศที่ไทยส่งออกข้าวมากที่สุด 5 ลำดับแรกในปี 2561 คือ ประเทศเบนิน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศจีน (ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, ออนไลน์)

                   เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามพบว่า ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ 5 อันดับแรกของเวียดนามในเดือนมกราคมปี 2562 ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 46.70) ฮ่องกง (ร้อยละ 7.10) โกตดิวัวร์ (ร้อยละ 5.20) กานา (ร้อยละ 4.40) และมาเลเชีย (ร้อยละ 3.90) (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์อ้างถึงกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม, ออนไลน์)

พื้นที่ปลูกข้าวของประเทศไทยและเวียดนาม

                   ในปี 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดประมาณ 70 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การปลูกข้าวของไทยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ (1) ข้าวนาปี มีปริมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศ เน้นพึ่งน้ำฝนมีช่วงเวลาเพาะปลูกในฤดูฝนช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.ของทุกปี และเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี (2) ข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกร้อยละ 20 ปลูกในฤดูแล้งซึ่งต้องอาศัยน้ำจากระบบชลประทาน เพาะปลูกในภาคเหนือและภาคกลาง (ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, ออนไลน์)

                   ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่เวียดนามมีการเพาะปลูกมากที่สุด โดยมีเนื้อที่ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด แหล่งปลูกข้าวสำคัญ 2 แหล่ง ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแดงทางภาคเหนือ (Red river delta) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ (Mekong river delta) ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญมีขนาดใหญ่ที่สุดและส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวคุณภาพดีเพื่อการส่งออก

                   ผลผลิตข้าวจากแหล่งปลูกพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงของเวียดนามมีสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามในปัจจุบัน (ที่มา: สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (2558), ออนไลน์) โดยข้อมูลจากสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 มีนาคม) พบว่า เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูหนาว - ฤดูใบไม้ผลิเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 19 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 18 ล้านไร่

แนวโน้มทิศทางการส่งออกสินค้าข้าวเวียดนามในอนาคต

                    เวียดนามยังคงมุ่งเน้นการส่งออกข้าวในตลาดเอเชียเป็นหลัก โดยในปี 2562 ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าว 5.2 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้น 200,000 ตันจากเมื่อปี 2561 ครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าภายใต้รัฐวิสาหกิจและอีกครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าของภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนาม ไทย กัมพูชา และพม่า

                    อินโดนีเซียมีนโยบายนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น 800,000 ตันจากปี 2561  สำหรับตลาดฟิลิปปินส์คาดว่าในปี 2562 จะมีการนำเข้าข้าวปริมาณ 2.3 ล้านตัน อีกทั้ง ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้บริษัทเอกชสามารถนำเข้าข้าวโดยไม่จำกัดปริมาณ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนในฟิลิปปินส์จำนวน 180 ราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้าข้าวจากเวียดนามปริมาณรวม 1.2 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าตลาดฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกข้าวที่มีความสำคัญของเวียดนาม

                    นอกจากนี้ในปี 2562 ประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายจะนำเข้าข้าวปริมาณ 950,000 ตันอีกด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์, 2561)

                    ปัจจุบันเวียดนามมีการออกนโยบายในการผลักดันตนเองให้เป็น “ผู้นำในการส่งออกข้าว” โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการส่งออกข้าวในช่วงปี 2017 - 2020 มีการวางกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมการส่งออกข้าวโดยการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและ “สร้างแบรนด์ข้าวเวียดนาม” เพื่อส่งออกและเพิ่มศักยภาพในการกระจายตลาดส่งออก (Vietnam Economic News, online)

                    กลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ได้มีการอนุมัติโครงการพัฒนาแบรนด์ข้าวของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี 2573 “ข้าวเวียดนามจะเป็นข้าวอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร” โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการกำหนดมูลค่าและภาพลักษณ์ของข้าวเวียดนาม เพิ่มการรับรู้ของผู้ผลิต/ผู้นำเข้า/ผู้จัดจำหน่าย/ลูกค้าภายในประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และเมื่อวันที่ 18 - 24 มกราคม 2561 ในงานเทศกาลข้าวเวียดนามที่จังหวัดลองอาน กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้เปิดเผยโฉมโลโก้ “ข้าวเวียดนาม”  โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติรับรองให้เป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการครั้งแรกสำหรับแบรนด์ข้าวของประเทศ นับตั้งแต่เวียดนามเริ่มมีส่วนในการค้าข้าวทั่วโลกครั้งแรกในปี 2532 (ที่มา: Viet Nam News, online)

                     เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม และบริษัท Korea Rural Community Corporation (KRC) ได้มีการลงนามข้อตกลงในโครงการ "ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแดง" โดย ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของข้าวภายใต้เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้จำนวน 5 พันล้านวอนหรือ 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป้าหมายของโครงการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว เพิ่มกำลังการผลิตในภูมิภาค และเพิ่มคุณภาพของข้าวเวียดนามผ่านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยโครงการจะดำเนินการในพื้นที่บริเวณทางตอนเหนือของจังหวัดท้ายบิ่ญในช่วงปี 2562-2566 (ที่มา: The Saigon Times (12 July 2019), online)

การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าข้าวไทยและสินค้าข้าวเวียดนาม

                    ในอดีต ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบันเผชิญภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับจากประเทศคู่แข่งที่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน อาทิ ข้าวบาสมาติของอินเดีย และข้าวกลิ่นหอมของสหรัฐฯ หรือ American Jasmine และข้าวหอมพันธุ์ ST 21 ของเวียดนาม เป็นต้น อีกทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของไทยที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยที่ผ่านมาเป็นการเน้นเพิ่มปริมาณการผลิตมากกว่าการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ไทยยังประสบปัญหาด้านระบบงบประมาณในการวิจัย แม้ไทยจะมีงานวิจัยสายพันธุ์ข้าวมากมาย แต่ยังมีการติดปัญหาเรื่องงบประมาณและกำลังคนในการพัฒนาระบบวิจัย นอกจากนี้ ไทยยังประสบปัญหาด้านแรงงาน สัดส่วนการผลิตของภาคเกษตรลดลงเป็นลําดับ และยังมีแนวโน้มลดลงต่อไป เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า

                    ส่วนเวียดนามนั้นเขาปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และตั้งแต่ปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้ยกเลิกกฎระเบียบหลายประการที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมข้าวเวียดนาม และมีการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้กระบวนการผลิต มีการเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรในลักษณะ Contract Farming รวมทั้งให้ความสําคัญกับภาคการเกษตรโดยเฉพาะเรื่อง Food Security

                    จากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าข้าวไทยและสินค้าข้าวเวียดนาม จะเห็นได้ว่าสินค้าข้าวเวียดนามสามารถเข้ามาตีตลาดสินค้าข้าวไทยได้ในเรื่องราคาข้าว ปริมาณการผลิต รวมไปถึงการผลักดันจากรัฐบาล ในขณะที่สินค้าข้าวไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าข้าวเวียดนามได้ในเรื่องของคุณภาพสินค้าข้าวซึ่งได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในระดับสากล อีกทั้งข้าวหอมมะลิไทยขึ้นชื่อระดับโลกและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก  หากเราสามารถนำจุดแข็งนี้มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก

                    นอกจากนี้ ประเด็นที่จำเป็นอื่นได้แก่การสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภาพข้าว มีนโยบายสนับสนุนนักลงทุนเพื่อมาลงทุนในการจำหน่ายสินค้าข้าว รวมไปถึงควรปรับรูปแบบการผลิตไปเน้นการผลิตแบบเกษตรประณีต มีการผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมุ่งตลาดเฉพาะ (Niche Market) บนพื้นฐานของการปรับปรุงประสิทธิภาพ การผลิตโดยให้มีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ทั้งจากการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ พัฒนาแหล่งน้ำให้กระจายทั่วถึงด้วย

                                                   ************************

*นักพัฒนาระบบราชการปฎิบัติการ (นปร. รุ่นที่ 12) ปฏิบัติราชการ ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

Failed Families ปกรณ์ นิลประพันธ์

บ่ายแก่ ๆ เมื่อวานนี้ ผู้เขียนแวะทานข้าวกลางวันหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ร้านริมถนนก่อนเข้าบ้าน เจ้านี้เกาเหลาเนื้อเขาเด็ดนัก

ระหว่างรออาหารไร้เส้นเช่นเดียวกับผู้เขียน ว่างอยู่ก็กวาดตาไปรอบร้าน พบว่ามีหลายครอบครัวมานั่งทานอยู่ด้วย มีหนุ่มสาวคู่เดียวเท่านั้น แน่นอนร้านแบบนี้ไม่เหมาะกับหนุ่มสาวแน่ ๆ โดยเฉพาะที่เพิ่งเริ่มจีบกันใหม่ ๆ คู่นี้คงคบกันมานาน หมดโปรแล้ว จึงอยู่ในโลกของความเป็นจริง

ที่ผู้เขียนรู้สึกผิดปกติคือทุกโต๊ะเงียบกริบ ที่เงียบเพราะทุกคนมีมือถือคนละเครื่องไม่พูดไม่จากัน นั่งโต๊ะเดียวกันไม่คุยกัน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่สนใจแต่เจ้ากลักสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ นี่แหละ 

เด็กน้อยก็มีมือถือนะครับ พ่อแม่คงจะมีหลายเครื่อง ให้ลูกเครื่องนึงจะได้ไม่ร้องโยเย ซึ่งก็ได้ผลเด็กก็จ้องจอนิ่ง ๆ พ่อแม่ป้อนสะดวก

หนุ่มสาวคู่ที่ว่านั้นต่างก็ถูไถโทรศัพท์ของแต่ละคนอย่างเมามัน ถูไปยิ้มไป แทบจะไม่ได้คุยกันเลย

บังเอิญในร้านนี้เขามีทีวี ชะรอยแม่ค้าจะชอบดูรายการข่าวหรืออย่างไรไม่ทราบได้ จึงเปิดรายการข่าวทิ้งไว้ พอจัดการออเดอร์เสร็จก็เงยหน้าไปดูทีวี ดูไปก็บ่นไปว่าสังคมเดี๋ยวนี้วิปริตไปหมดแล้ว มีแต่ข่าวจับวัยรุ่นแว้นทีเป็นร้อยคัน ข่าววัยรุ่นค้ายาเอาเงินไปซื้อยามาเสพย์และเที่ยวเตร่ ข่าวเด็กยกพวกรุมตีกัน ข่าววัยรุ่นเมาเหล้าขี่รถสวนทางกันลงไปปาดคอกันตาย ข่าวเด็กชายรุมข่มขืนเด็กหญิงแล้วถ่ายคลิปเก็บไว้ ข่าววัยรุ่นสาวเปิดไลน์กลุ่มเก็บสตางค์โชว์หวิวที่เธอเรียกมันว่า งานศิลปะ” ฯลฯ

พอถึงตอนนี้เกาเหลาหอมหวลก็ถูกยกมาถึงผู้เขียนพอดีพร้อมกับข้าวสวยร้อน ๆ หนึ่งถ้วย กินไปก็คิดไปว่าข่าวเหล่านี้เป็นผลมาจากอะไร จะว่าเป็นเพราะประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ หาความสัมพันธ์ไม่เจอเลย จะว่าเป็นเพราะระบบการศึกษา อันนี้คงมีส่วนอยู่บ้างแต่คงไม่ทั้งหมด เพราะเด็กอยู่โรงเรียนวันละแปดชั่วโมง อีกสิบหกชั่วโมงอยู่กับผู้ปกครอง และไม่มีโรงเรียนไหนหรอกที่สอนให้เด็กทำเรื่องที่เป็นปัญหาแบบนี้ 

รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ “ครอบครัว” มากกว่า ถ้าครอบครัวอบอุ่น ปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ที่ว่าอบอุ่นนี่ไม่ใช่เพียงอยู่บ้านเดียวกัน แต่หมายถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกว่าอะไรดีไม่ดี อะไรควรไม่ควร มีความรักให้ต่อกันและกันอย่างจริงใจ พ่อแม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน 

ก็ที่ลูกออกไปแว้นกันน่ะ พ่อแม่ไม่รู้จริง ๆ หรือ ทำไมจึงไม่ห้ามปราม หรือห้ามแล้วทำไมลูกจึงไม่ฟัง

ที่ลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่สังเกตบ้างหรือไม่ หรือว่าไม่เคยสังเกต

ที่ลูกอยากได้อยากมีอยากเป็นเหมือนคนอื่น ๆ เขาทั้ง ๆ ที่เรามีฐานานุรูปต่างจากเขานั้น พ่อแม่สอนเขาให้ดำรงตนอย่างไร

ที่เอามือถือให้ลูกจะได้นั่งเงียบ ๆ พ่อแม่จะได้มีเวลาสงบบ้างนั้น ไม่รู้หรือว่ามันเป็นประตูวิเศษที่พาลูกของเราเตลิดเปิดเปิงไปไหนต่อไหนก็ได้

มองไปรอบ ๆ ร้านหลายครอบครัวยังคงกินก๋วยเตี๋ยวอยู่เงียบ ๆ กินไปถูไถโทรศัพท์มือถือไป

เด็กน้อยวัยไม่เกินสามขวบที่แม่ป้อนก๋วยเตี๋ยวให้กินเมื่อสักครู่นี้คงอิ่มแล้ว แต่ตาแป๋วยังจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ ไม่รู้ว่าเด็กน้อยกำลังเสพย์อะไรอยู่

ผู้เขียนเองก็อิ่มแล้ว  เมื่อดื่มน้ำแข็งเปล่ากลั้วคอก็หวนคิดไปว่าเมื่อ 6-7 ปีก่อน เราคุ้นเคยกับคำว่า“Failed State” หรือรัฐที่ล้มเหลว” คือรัฐเป็นเจว็ด ดูมีอำนาจ แต่ใช้อำนาจไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อฟัง ประท้วงกันวุ่นวายไปทั้งประเทศ ความเสียหายมากมายเกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ความเชื่อมั่น” หรือ “Trust” ของชาติอยู่ในลำดับที่ต่ำมาก แต่นั้นยังแก้ไขได้ ถ้าเรารวมพลังกันสร้างความเชื่อมั่นนั้นขึ้นมาใหม่

แต่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ “Failed Families” เป็น ความล้มเหลวในระดับครอบครัว” ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมและประเทศชาติ ถ้าครอบครัวมีรอยร้าวหรือชาดความอบอุ่นมันจะบาดลึกลงไปในจิตใจของคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก ๆ แล้วจะกลายเป็นปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไปให้ผู้ใหญ่ต้องตามไล่จับไล่จัดการ แล้วถ้ารุนแรงมากขึ้น ไร้เหตุผลมากขึ้น มันก็จะนำไปสู่ Failed State ได้ในที่สุด เพราะทุกคนจะคิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง ความสุขของตัวเอง ไม่สนใจว่าสังคมส่วนรวมจะเป็นอย่างไรเพราะเขาถูกอบรมเลี้ยงดูมาอย่างนี้

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ตรงจุดและยั่งยืนต้องเริ่มต้นที่การสร้างครอบครัวเข้มแข็งการสร้างครอบครัวคุณภาพ… 

อิ่มพอดี …

เก็บตังค์ด้วยครับเจ๊.

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

“พัฒนาดีกว่าปฏิรูป” ปกรณ์ นิลประพันธ์

เราคงได้ยินเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ กันมากมายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้นะครับ 

ปฏิรูปการศึกษานี่ดูเหมือนจะนำโด่งฮอตฮิตติดชาร์ทมานาน ใครนึกไม่ออกหรือไม่เคยได้ยินนี่เรียกว่าเชยแหลกทีเดียว แต่ปฏิรูปมานานการศึกษาเราก็รู้สึกจะถดถอยลงไปเรื่อยๆ สัมผัสได้ในระดับครัวเรือนกันทีเดียว

ต่อมาก็คงเป็นเรื่องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปมาหลายปี เลิกระบบซีมาเป็นระบบแท่งสิบกว่าปีแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังพูดติดปากกันเสมอว่าใครซีอะไร นับว่างงมาก 

และนอกจากสองเรื่องนั้นแล้วที่ไม่เคยตกขบวนเลยคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย

ว่ากันว่าเมื่อพูดคำว่า ปฏิรูป” ทีไรคนทั่วไปก็จะสามเรื่องนี้ไว้ก่อนทุกที และที่นึกต่อไปก็คือเมื่อไรจะสำเร็จ

อันที่จริงคำว่าปฏิรูปนี่คือ “การเปลี่ยนรูปเปลี่ยนหน้าตา” ถ้าเปลี่ยนรูปเปลี่ยนหน้าตาไปจากเดิม ไม่ว่าผลจะดีขึ้นหรือไม่ ก็เรียกได้ว่าปฏิรูปแล้ว และทั้งสามเรื่องที่ปฏิรูปกันมานมนานนี่ก็เปลี่ยนรูปไปจากเดิมทุกครั้ง  ดังนั้น จะว่าปฏิรูปไม่สำเร็จก็คงไม่ถูกต้องนัก

แต่สิ่งที่สังคมมุ่งประสงค์จริงๆ คือการทำให้เรื่องที่ปฏิรูปมัน ดีขึ้น” ซึ่งตรงกับคำว่า “พัฒนะ” หรือ “พัฒนา” ที่แปลว่า “ทำให้ดีขึ้น” มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าการทำให้ดีขึ้นนี้หมายถึงว่าต้องดีขึ้นตลอดเวลาตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกหมุนไปทุกวัน การพัฒนาจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับบริบทต่างที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่งานแบบทำทีเดียวจบแล้วเก็บของกลับบ้านเหมือนปฏิรูป ที่ Face off แล้วเป็นอันเลิกรา

ดังนั้น งานพัฒนาจึงเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องครับหยุดไม่ได้ แต่คนเรานี่แปลกนะครับ เมื่อปักใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็จะหยุดการพัฒนาไปเสียเฉยๆ เหมือนอย่างกับที่ใครต่อใครมักปักใจกับตำราของนักวิชาการฝรั่งผู้มีชื่อเสียงเมื่อหลายร้อยปีก่อน (บางทีเลยไปถึงกรีกและโรมันโบราณแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทในโลกยุค 5G อยู่นั่นแหละ แทนที่จะอ่านเรื่องที่มันร่วมสมัยบ้าง

แน่นอนครับว่าหลักการบางอย่างของเก่านั้นเขาก็มีคุณค่าที่ดีและงดงามซึ่งมันก็ยังคงใช้ได้ อย่างเรื่องคุณธรรมจริยธรรม (แต่ไม่ค่อยนำมาพูดกัน) ส่วนเรื่องระบบหรือวิธีการอะไรต่างๆ (ที่พูดกันจัง) นี่มันไม่สามารถใช้เหมือนได้อย่างแน่แท้แล้ว เพราะบริบทมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

ลองคิดดูง่ายๆ สิครับว่าทำไมฝรั่งในยุคนี้จึงไม่ปฏิบัติเหมือนฝรั่งในยุคศตวรรษที่18 เหมือนเดิมทุกประการเล่า แม้ในประเทศเดียวกันเองก็ตาม คำตอบง่ายๆ ที่ไปถามฝรั่งดูก็ได้ก็คือบริบทมันต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว แถมถ้าไปเจอฝรั่งที่เป็นนักวิชาการที่เป็นกลาง ไม่มี hidden agenda เขาอาจถามกลับมาด้วยว่ามงเตสกิเออร์เอย อาดัมสมิทธเอย ไดซี่เอย ค้านท์เอย เฮเก้ลเอย ฯลฯ จากโลกนี้ไปนานเป็นร้อยปีแล้ว ยูคิดว่า context ในสิ่งที่เขาเขียนมันเหมือนกับโลกปัจจุบันหรือ ถ้ามันไม่เหมือน ยูจะเอาแนวคิดเขามาใช้ยังไง จะไม่รีโทรมากเกินไปหน่อยหรือ

จริงๆ นะครับ ตำราที่ผู้เขียนเรียนในยุค 90 หลายเรื่องยังประยุกต์กับบริบทปัจจุบันไม่ได้เลย อย่างเรื่องการค้าโลกนี่ปะไร ใครจะคิดว่าโลกหมุนกลับมาที่protectionism ได้อีกในปี2019 จนหากินฝืดเคืองกันทั่วโลก  ดังนั้น ถ้าใครมัวท่องจำขี้ปากฝรั่งตามหนังสือ เชื่อว่าคงสอบได้คะแนนดี แต่ถ้าประยุกต์ไม่เป็นละก็ เชื่อได้เลยว่าไม่มีอนาคต กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ยิ่งถ้าไม่รู้จักคิดถึงอนาคตข้างหน้ายิ่งมืดมน

ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สังคมต้องการจริงๆ คือ การพัฒนา” ไม่ใช่ปฏิรูป และการพัฒนานี้ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด การเมืองเก่าไป การเมืองใหม่เข้ามาก็ต้องพัฒนา ข้าราชการคนเก่าไป คนใหม่เข้ามาก็ต้องพัฒนา ส่งไม้ต่อกันไปเป็นทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่ออนาคตของบ้านเมืองและ “เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”

ไม่ใช่เอะอะก็จะนับหนึ่งกันใหม่ แถมต้องนับหนึ่งอย่างที่ฉันกับพวก (จำนวนหนึ่ง) ต้องการเท่านั้นด้วย 

อย่างนั้นไม่เรียกว่าพัฒนาครับ เพราะมันตอบคำถามไม่ได้ว่า “ประชาชนได้อะไร” 

ตอบได้เพียงว่า “พวกฉัน” ได้อะไร.

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

จากนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สู่การบริหารรัฐบาลท้องถิ่นอัจฉริยะในกรุงโซล โดยนางสาวสุพิชา มีกลุ่ม*

ช่วงศตวรรษที่ 1970 ประเทศเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมเบาไปสู่อุตสาหกรรมหนัก รัฐบาลมีความต้องการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเศรษฐกิจ อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของการบริหารภาครัฐให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงนำมาสู่การริเริ่มนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government) 

        ในปี ค.ศ. 1978 เกาหลีใต้ได้จัดทำแผนการบริหารทางระบบคอมพิวเตอร์ (ฉบับแรก) กระทรวงพัฒนาระบบราชการ (MOGA) นำการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมประกาศกฎหมาย “พระราชบัญญัติเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (ฉบับแรก) และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการบริหารงานคอมพิวเตอร์

ระยะที่ 2 ช่วงวางรากฐาน (ค.ศ. 1987-1996) ออกกฎหมายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ฉบับแรก และวางโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โครงการเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในกระทรวงให้มีระบบการทำงานเดียวกัน อีกทั้งริเริ่มโครงการจัดเก็บสถิติพื้นฐาน เช่น ทะเบียนบ้าน อสังหาริมทรัพย์ ระบบสวัสดิการ ก่อให้เกิดบริการภาครัฐสู่ประชาชนในรูปแบบดิจิทัล เช่น การจดสิทธิบัตร การจัดเก็บภาษีบุคคล และภาษีศุลกากร

ระยะที่ 3 (ค.ศ. 1997-2002) ช่วงแห่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากแผนพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Goverment เกาหลีใต้มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการบริหารแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการสร้างการเรียนรู้ในข้าราชการระหว่างรัฐบาลส่วนกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ได้กระจายโครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายใภาครัฐ จากการวางรากฐานระบบการทำงานเดียวกัน ทำให้เกิดโครงการแห่งความสำเร็จด้าน e-Government หลายโครงการ เช่น การเชื่อมต่อระบบข้อมูลระบบประกันสังคม ระบบข้อมูลการเงินระดับชาติ ระบบงานบุคคลกร (Personnel Policy Support System (PPSS) การรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (E-approval) เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-document)  การนำข้อมูลระหว่างหน่วยงานคาดการณ์ความต้องการบริการ ICT 

        ในส่วนของด้านกฎหมายมีการเพิ่มเติม และปรับปรุงกฎหมายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น กฎหมาย e-Signature เพื่อรองรับลายมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการบริหารการแบ่งปันข้อมูล 

ในช่วงที่ 4 (พ.ศ. 2003-2012) เน้นการบริหารจัดการด้วย E-Participation คือ การการบริหารการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน และเอกชนผ่านเทคโนโลยี เกิด “นวัตกรรมทางการบริหาร” ที่เป็นรูปแบบการศึกษาด้านการบริหารจัดการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีให้แก่หลายประเทศ  

นโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิสก์ของเกาหลีใต้ เป็นแนวทางการบริหารภาครัฐทั้งในระดับส่วนกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น หนึ่งในรัฐบาลท้องถิ่นของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายรัฐบาล และการบริหารราชการไปสู่การยกระดับเป็น Smart Government City อันดับ 3 ของโลก (Eden Strategy Institute, 2019) คือ รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซล Seoul Municipal Government (SMG) 

ในอดีตที่ผ่านมาการบริหารราชการของกรุงโซลมีสภาปกครองส่วนท้องถิ่น อันประกอบด้วยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกรุงโซล อย่างไรก็ตาม ความเป็นพลวัตรของสังคมด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ และจากประชากรในกรุงโซลที่มีเพิ่มขึ้นกว่า 25 ล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลตระหนักว่า ยุทธศาสตร์การบริหารเมืองรูปแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และภาครัฐก็ไม่สามารถเป็นผู้ดำเนินนโยบายได้เพียงฝ่ายเดียวภายใต้การขยาย “ความเป็นเมือง” (Urbanization) ของกรุงโซล

ดังนั้น ในปี 2011 Seoul Municipal Government (SMG)  ได้ปรับยุทธศาสตร์เชิงการบริหารกรุงโซลจากแบบ Top-down เป็น การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ด้วย e-Government ให้ประชาชนกรุงโซลเป็นหัวใจสำคัญ โดยมีกลยุทธ์การบริหารงานแนวใหม่ ดังนี้ 

1. การวางโครงสร้างพื้นฐานใน e-Government เพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน

ในปี 2003 กรุงโซลได้ติดตั้ง e-Seoul กว่า 36 หน่วยงานผ่านเครือข่าย Fiber optic ในรถไฟใต้ดิน เพื่อวางรากฐานโครงข่ายการสื่อสารอินเทอร์เน็ต ให้ประชาชนเชื่อมโยงการบริการของรัฐกับอุปกรณ์สื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเป็นนิยามของคำว่า Smart City ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีข้อมูลในการพัฒนานโยบายครอบคลุมทุกบริการสาธารณะ เช่น วางผังเมือง วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง และที่อยู่อาศัย

2. การวางยุทธศาสตร์เมืองเชิงรุก

ประชาชนยุคปัจจุบันเปลี่ยนการสื่อสารจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2013 รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลจึงเน้นกลยุทธ์เชิงรุก “การบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์มือถือ” ประกาศ “แผนแม่บทมือถือ” (Mobile Master Plan) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผ่านการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ให้ประชาชนสามารถแบ่งปันข้อมูล และบริหารจัดการเมืองร่วมกัน เช่น การกำหนดความต้องการสวัสดิการสังคม การสร้างเศรษฐกิจอย่างสมดุลร่วมกัน รวมไปถึงสุขภาพ ความปลอดภัยทางการขนส่ง และสิ่งแวดล้อม 

3“การบริหารภาครัฐอัฉริยะ” (Smart Goverment) 

      ในปี 1999 รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลจัดระเบียบโครงสร้างการดำเนินงาน e-Governmennt ของรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลให้สอดคล้องกับภารกิจงานใหม่ ด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าสารสนเทศ หรือ Chief Information Officer (CIO) ทำหน้าที่รับผิดชอบภารกิจงานด้านเทคโนโลยี และนโยบายการบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยี ภายใต้กลุ่มงานใหม่ ที่ชื่อว่ากลุ่มส่งเสริมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มีบุคลากร 195 คน แบ่งภารกิจออกเป็น 4 กอง ได้แก่ กองการวางแผนข้อมูล กองระบบข้อมูล กองข้อมูลเชิงพื้นที่ กองข้อมูลการสื่อสารและความปลอดภัย อีกทั้ง จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนากรุงโซลสู่เมืองอัจฉริยะ ได้แก่  ศูนย์ข้อมูลโซล (Seoul Data Center) ในการควบคุมแบบระบบเซิร์ฟเวอร์ และระบบป้องกันข้อมูล สำนักนวัตกรรมกรุงโซล (The Seoul Innovation Bureau) วางแผนนโยบายนวัตกรรมในกรุงโซล ซึ่ง “นวัตกรรม” มิได้หมายถึงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการร่วมแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือกันทุกฝ่าย

4. “การบริหารอย่างมีส่วนร่วมแบบอิเล็กทรอนิกส์” (E-Participation)

         ช่วงปี 2000 ในยุคระบบราชการ 3.0 ของเกาหลีใต้ เป็นต้นมา ได้นำการบริหารงานภาครัฐแบบใหม่ (New Public Management: NPM) เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้านการบริหารงานราชการผ่านนโยบายแบบ Top-down ในขณะที่ความต้องการของประชาชนยุคปัจจุบัน ต้องการร่วมออกแบบนโยบายที่มาปัญหาในวิถีชีวิตประจำวันของตน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลจึงใช้หลักการ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมแบบอิเล็กทรอนิกส์” ด้วยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และรับฟังความคิดเห็นของประชานผ่านทางเทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ มีคุณภาพ จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน ตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเสียง M-Voting บนมือถือ

        ในปี 2014 รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลเปิดตัว M-Voting (Mobile Voting System) เป็นแอปพลิเคชันในการสื่อสารกับประชาชน โดยประชาชนสามารกำหนดนโยบายด้วยการลงคะแนนแบบเรียลไทม์บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมีผลต่อตัดสินใจนำนโยบาย แอปพลิเคชันนี้เป็นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน (Citizen empowerment) ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทโดยตรงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

5. การสร้างประชาชนให้เป็นนักนวัตกรรม 

       รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซล ต้องการสร้าง "สภาพแวดล้อมแห่งนวัตกรรม” (Innovation Ecosystem) ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และการบริหารงานของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการบริหารแบบมีส่วนร่วมให้สำเร็จ ด้วยการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

การสนับสนุนโครงข่ายพื้นฐานของภาครัฐส่วนกลาง เช่น การกระจายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะที่ช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ และบริการของรัฐ

       รวมศูนย์แพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะ และการบริการของภาครัฐ ในเว็บไซต์ http://opengov.seoul.go.krhttp://data.seoul.go.kr มีชุดข้อมูลกว่า 4,700 ชุด ใน 10 พื้นที่ เช่น การบริหารทั่วไป วัฒนธรรม การท่องเที่ยวสาธารณะ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนสามารถสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธาณะเพื่อการใช้ประโยชน์ และการตรวจสอบการบริหารงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานส่วนราชการใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวในการปรับปรุงและพัฒนานโยบาย รวมทั้งคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับชุมชน 

ศูนย์สนับสนุนชุมชนโซล  เพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ตั้งแต่การเชิญให้ประชาชนมาร่วมอภิปรายปัญหาปัญหากับประชาชนในพื้นที่เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มตรวจสอบการบริหารงานเมือง ให้ประชาชนมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น

ศูนย์เศรษฐกิจสังคมโซล เป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อเศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นเชื่อมโยงผู้สร้างนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และบริษัทท้องถิ่น เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน

การจัดตั้ง Seoul Innovation Park เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับการทดลองนวัตกรรมทางสังคม (Living Lab) เช่น ลานจอดรถมีความสุข (การทดลองในการแบ่งปันพื้นที่จอดรถส่วนตัว) โครงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ การศึกษาด้านการจัดการเมืองเพื่อกลุ่มผู้พิการ  

โครงการร่วมทุน (The Seoul Digital Foundation) เป็นกองทุนสำหรับกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเป็นผู้ร่วมทุน สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนากรุงโซล

ผลลัพธ์ของการสร้างสภาพแวดล้อมแห่ง “นวัตกรรม” ทำให้เกิดระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Ecosystem Technologies)  และกลุ่มผู้ดำเนินนโยบายใหม่ร่วมกับรัฐ เช่น ในระดับภาคประชาชน เกิดการรับรู้ทางด้านความเป็นพลเมือง และเจ้าของร่วมกันกับภาครัฐ ในภาคเอกชน มีพื้นที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจ สรรสร้างให้กลุ่มกำหนดนโยบายเหล่านี้ผลิตนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคม ตัวอย่างเช่น NIGHT BUS ROUTE OPTIMIZATION เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยกรุงโซล และภาคเอกชนจากบริษัเครือข่ายโทรคมนาคม (KT) ในการจัดเก็บข้อมูลการขนส่งสาธารณะของประชากรที่โดยสารขนส่งสาธารณะ เพื่อออกแบบเส้นทางเดินรถโดยสารให้เหมาะสมตามพื้นที่ และช่วงเวลา เช่น การเพิ่มเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะรอบกลางคืนในเส้นทางเฉพาะ

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่นโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมในรัฐบาลท้องถิ่น และสามารถยกระดับสู่การริหารภาครัฐอัจฉริยะในกรุงโซล ประกอบด้วย

1. การวางแผนตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐานให้เปิดกว้าง และเชื่อมโยงกัน เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างกระทรวงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ และปรับปรุงกฎหมายให้มีความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงไปสู่การกระจายอำนาจให้รัฐบาลระดับท้องถิ่น ให้มีศักยภาพที่จะดำเนินนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ต่อได้

2. การปรับบทบาท ภารกิจ และออกแบบขนาดของภาครัฐท้องถิ่นให้เหมาะสม (Re-designing of government services) ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานสอดรับกับภารกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และสร้างทรัพยากรภายในพื้นที่ เช่น ศูนย์การจัดการข้อมูล ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน 

3. การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ด้วยการสร้างระบบนิเวศทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจใหม่ หน่วยงานรัฐพร้อมจะสร้างสมดุล และจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลไกภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น  ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายท้องถิ่นจากวัฒนธรรมลำดับชั้น (Hierarchical Culture) เปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองร่วมกัน


*******************

*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี