วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562

“ดิสรัปชั่นด้านสังคม” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ทุกวันนี้เราตื่นตัวกับคำว่า disruptive technology กันมาก โดยประเด็นหลักที่พูดกันในบ้านเราก็คือ จะสร้างสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กระโดดไปด้วยอัตราเร่งที่สูงยิ่ง ได้อย่างไร

เราพูดกันเรื่อง 5G เรื่อง big data เรื่อง AI เรื่อง Internet of Things

จะต้องพัฒนาโครงข่าย 5G ต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถสูงด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ด้าน cyber security ด้าน data analytics ต้องให้เด็กทำ codeing ได้ตั้งแต่ประถม ฯลฯ

ผู้เขียนไม่มีข้อสงสัยใดต่อแนวคิดเพื่อการพัฒนาเหล่านั้น 

แต่เหรียญก็มีสองด้าน และจากการสังเกตการณ์สภาพสังคมนับตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่า IT หรือ Information Technology ได้เริ่มต้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในช่วง 1990s ผู้เขียนพบว่า “ช่องว่างระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ”  ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง กว้างขึ้นเรื่อย ๆ และในอัตราเร่งที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวมีผลอย่างรุนแรงต่อ ความยั่งยืน” ในการพัฒนาของทุกประเทศ 

ปัญหาสังคมที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน ล้วนเกิดจาก การใช้” เทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสมซึ่งบ้างก็อ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์” อีกประการหนึ่งก็เกิดจาก การเสพย์” ข้อมูลโดยขาดสติขาดปัญญารู้คิด 

การแสดงออกอย่างดิบ เถื่อน ถ่อย ที่สร้างความสะใจในอารมณ์ มีให้เห็นและติดตามกันดาษดื่น ทั้งเข้าถึงง่ายดายเพียงปลายนิ้ว 

การปลุกเร้าทางเพศเพื่อแลกเศษเงิน แบบที่มักจะอ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ธรรมดา (new normal) 

การโกหกหลอกลวง การสร้างและการปั่นกระแสในเรื่องต่าง ๆ มีมากมาย เพื่อจูงใจให้คนธรรมดาที่มีรัก โลภ โกรธ หลง และขาดปัญญาได้ “ปลดปล่อย” อารมณ์ความรู้สึกทางใดทางหนึ่งออกมาเป็นปฏิกิริยา เพื่อสร้างความโกลาหลในสังคมตามเป้าหมาย

การปลุกเร้าหรือให้ความสำคัญกับการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็นมีมากมาย เป็นที่มาของความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาทางวัตถุ การพัฒนาจิตใจเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง” ให้ปัจเจกบุคคลจึงต้องก้าวไปพร้อม ๆ กันด้วย 

และการพัฒนาจิตใจนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือจำกัดแต่สถาบันศาสนา หากเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะในระดับครอบครัว

ถ้าเรายังลดความเหลื่อมล้ำระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจไม่ได้ ก็ยากที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายเป็นนักสังเกตการณ์สังคม ไม่เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ จึงไม่อาจสร้างแบบจำลองทางวิชาการออกมาได้ ทั้งไม่ได้จำฝรั่งที่ไหนมา แต่เกิดจากการติดตามสถานการณ์ ข้อเขียนนี้จึงไม่อาจเป็นข้ออ้างอิงตามหลักวิชาการ

คงเป็นเพียงความห่วงใยจากลุงแก่ ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง.

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2562

“การออม” ปกรณ์ นิลประพันธ์

หลักการดำรงชีพ 4 ประการตามศาสนาพุทธ ปรากฏอยู่ในทีฆนิกาย กูฏทันตสูตร :

1. เป็นคนมีความชำนาญงาน ทำงานมีประสิทธิภาพ เอาจริงเอาจัง ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ รู้งานลึกซึ้ง (อุฏฐานสัมปทา)


2. รู้จักเก็บรักษาโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานตามวิถีทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (อารักขสัมปทาน)


3. คบหาคนดี คือผู้มีความประพฤติดีงาม เป็นมิตร จะได้ห่างไกลจากความชั่ว (กัลยาณมิตตตา)


4. รู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ให้ได้สัดส่วนกับรายได้ ไม่ใช้จ่ายมากเกินไปหรือน้อยเกินไป (สมชีวิตา)


หลักนี้เวลาเรียนหนังสือ เราก็ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง ว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์


ในส่วนที่เกี่ยวกับ “การออม” ในทีฆนิกาย สิงคาลกสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสกับสิงคาลมาณพว่า ควรแบ่งโภคทรัพย์เป็น 4 ส่วน ใช้สอยหนึ่งส่วน ประกอบการงานสองส่วน อีกส่วนหนึ่งที่เหลือเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อแบ่งได้ดังนี้ก็จะ “มีพอ” ไม่ใช่ “พอมี”


ก็ใช้แค่ 25% ส่วนอีก 50% ใช้ประกอบการงาน (ซึ่งก็จะได้รายได้เพิ่มเข้ามา มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณี) อีก 25% เก็บไว้สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน มันก็จะ “มีพอ”


จะไม่พอได้อย่างไร เมื่อใช้ 25% จาก 100% ของรายได้!!!


ธรรมะเหล่านี้ เราเรียนกันมา จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งโดยมากมักจะจำไม่ได้ หรือที่พอจำได้ก็มักจะไม่เข้าใจ


เมื่อไม่เข้าใจจึงเกิดการใช้จ่ายเกินตัว คือใช้สอยมากเกินไป ไม่นำไปประกอบการงาน หรือเอาไปลงทุนในทางที่มีความเสี่ยงสูง หรือลงทุนในทางที่ไม่ชอบไม่ควร และไม่มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน


จุดเริ่มต้นของการออมจึงได้แก่ “การลดค่าใช้จ่าย” ต้องคิดให้ดีก่อนใช้จ่ายจึงจะออมได้ และแน่นอน ต้องมี “วินัยในการใช้จ่าย” ด้วย โดยเฉพาะในสังคมบริโภคนิยมอย่างปัจจุบัน

เช่นนี้ วินัยการเงินจึงจะเกิด 


การออมอย่างยั่งยืนจึงจะเกิด.

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

“หมวด 1 สำคัญมากมาย แต่ไม่มีใครอ่าน” ปกรณ์ นิลประพันธ์

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุดนั้น อยู่ในหมวด บททั่วไป 

บททั่วไปนี้เปรียบเสมือนร่มคันใหญ่ที่ครอบคลุมหลักการอันเป็นสาระสำคัญทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติในหมวดอื่นต่อ ๆ ไปจะเป็นการระบุหลักการในรายละเอียดของแต่ละเรื่อง 

น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีคนทำความเข้าใจบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ โดยมากจะพุ่งตรงไปที่เนื้อหาสาระในรายละเอียด หยิบแต่ละคำ แต่ละวรรคมาพูด ไม่ปะติดปะต่อกัน และไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดความสับสนกันอยู่เนือง 

อย่างบทบัญญัติมาตรา 98(6) ที่ว่า ผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง … ถ้าไม่คำนึงถึงบททั่วไป ก็จะพูดไปได้ว่าก็รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าศาลไทยนี่  ดังนั้น ใครก็ตามที่ "เคย" ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลประเทศใด ๆ ในโลกนี้ ล้วนต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งทั้งนั้น 

จริง ๆ ถ้าไปอ่านบททั่วไปตามหมวด ก็จะเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน เพราะมาตรา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และหมวด 10 ของรัฐธรรมนูญก็ว่าด้วย ศาล” ในรายละเอียดอย่างชัดเจน ว่าหมายถึงศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

ดังนั้น ศาล” ตามรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ศาลที่ไหนในโลกก็ได้ แต่ต้องเป็น ศาลไทย” ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 10 ศาล เท่านั้น

ส่วนการที่มาตรา 98(7) บัญญัติห้ามมิให้ผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เป็นผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น 

เมื่อศาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการตามมาตรา 98(6) ประกอบมาตรา วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญหมายถึงศาลไทย และมาตรา วรรคสองบัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” ซึ่งเป็นไปตามหลัก Solus populi suprema lex esto หรือความผาสุกของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด ที่ซิเซโร (Cicero) ว่าไว้ในหนังสือ De Legit  ดังนั้น กฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับก็คือ  กฎหมายไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดตามมาตรา 98(7) จึงต้องเป็นไปตาม กฎหมายไทย” ด้วย ไม่ใช่ถูกจำคุกตามกฎหมายที่ใด ๆ ในโลกก็ได้

ยิ่งเรื่องนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมัครับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ยิ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่ใช่ตีความแบบขยายความ เพราะจะให้ผลเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

สำหรับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (9) และ (10) ซึ่งต่อเนื่องกัน ก็ต้องตีความตามหลัก ejusdem generis อันเป็นหลักการตีความกฎหมายอันเป็นสากล สรุปง่าย ๆ ได้ว่า หากบทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำต่อเนื่องกันหรือเรียงลำดับกัน การตีความลำดับถัด ๆ ไป หรือลำดับสุดท้าย ต้องมีความหมายทำนองเดียวกับคำหรือลำดับที่มีมาก่อน เพราะเป็นความเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน  เพราะฉะนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามมาตรา 98(9) และ (10) จึงหมายถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งของ ศาลไทย” และกฎหมายนั้นก็ต้องเป็น กฎหมายไทย

และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญจึงเรียงลำดับ (6)(7)(9) และ (10) ...

มันไม่ใช่ แบบกฎหมาย” อย่างที่พูดกันเพรื่อไป แต่เป็น ตรรกะ” ในการเขียนกฎหมาย ... ไม่ใช่นึกอยากเขียนอะไรก็เขียน

ทั้งนี้ การใช้และการตีความกฎหมายนั้นต้องเป็นกลางปราศจากอคติทั้งปวงด้วย 

หาไม่แล้ว การใช้และการตีความกฎหมายจะเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง และจะสร้างความสับสนขึ้นในสังคม อันเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์

ความสำคัญของหมวด บททั่วไปยังมีอีกมาก 

ถ้ามีเวลาจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ.