วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ชวนคิดพันธกิจใหม่ของราชการ โดยปกรณ์ นิลประพันธ์

ใกล้ถึงเทศกาลหยุดยาว  ปลายปี ผู้คนก็จะเต็มไปด้วยความคาดหวังว่าปีหน้าจะต้องดีกว่าปีที่กำลังจะสิ้นสุดลง คิดถึงแต่ความสุขสนุกสนานที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุด จะไปเที่ยวไหนดี กินอะไรดีหนอ ฯลฯและแน่นอนว่าเป้าหมายที่คิดไว้เหล่านี้ย่อมไม่ซ้ำกับปีก่อน   

แหมก็ใครอยากจะทำอะไรซ้ำซาก

ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่คิดอย่างที่ว่านี้ครับ แต่ก็มาหวนคิดถึงเรื่องงานที่ทำอยู่ด้วย เพราะในฐานะที่เป็นข้าราชการเราก็ควรจะคิดอะไรใหม่  เพื่อพัฒนาระบบราชการในช่วงเทศกาลนี้ด้วย  

ถามว่าคิดทำไม ก็ต้องคิดสิครับเพราะผู้คนเขาก็คาดหวังว่าปีหน้าอะไรอะไรมันต้องดีขึ้น ถ้าราชการเราไม่คิด สิ่งที่เราทำมันก็จะกลายเป็นทำสิ่งเดิม  ผลมันก็จะออกมาแบบเดิม  แล้วมันจะสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้คนในสังคมได้อย่างไร

เรื่องแรกที่ผู้เขียนคิดเลยระหว่างกินข้าวเช้าไปคุยกับลูกชายวัยรุ่นไป ก็คือราชการควรกำหนดพันธกิจในการทำงานของแต่ละหน่วยงานใหม่ไหมจะได้เห็นกันจะจะไปเลยว่าแต่ละหน่วยต้องทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายใด เช่น พันธกิจด้านการศึกษานี่ควรจะเป็น “กระทรวงอนาคตของชาติ” ไหม เพราะพันธกิจของกระทรวงนี้ไม่ใช่เพียงแค่จัดการศึกษา ติดตามและประเมินผลการศึกษา หากแต่เป็นการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสังคมเพื่อให้มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งอนาคตได้อย่างเท่าทันดำรงความเป็นชาติไทยให้อยู่ได้ในสังคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี เรียกว่าเป็นกระทรวงที่วางอนาคตของชาติว่าอย่างนั้นเถอะ 

ถ้าพันธกิจเป็นอย่างนี้จะต้องคิดแบบองค์รวมแล้วว่าจะเตรียม “อนาคตของชาติ” อย่างไร ไม่ใช่คิดแยกส่วนว่าจะต้องทำเฉพาะ “การจัดการศึกษา” อย่างเดียว การสรรหาบุคลากรมาสร้างอนาคตของชาติจะต้องเอาคนเก่งคนดีมาปั้นอนาคตของชาติ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่สอบผ่านการคัดเลือก การจัดสรรงบประมาณก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพันธกิจ โครงสร้างกระทรวงควรจะเป็นแบบแบนราบเพราะไม่ต้องใช้ผู้บริหารอะไรมากมาย ใช้ระบบดิจิทัลมาบริหารแทน ร้อยละ 90 ของบุคลากรควรเป็ครูเก่งและดีที่ไปพัฒนาผู้เรียนหรือสร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

และเมื่อความรู้มีอยู่ในทุกที่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัด ส่งเสริม หรือพัฒนาการเรียนรู้ของอนาคตของชาติในทุกช่วงวัยจึงเป็นเรื่องจำเป็น ระบบผูกการจัดการเรียนรู้จึงควรต้องทบทวน

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคืออนาคตของชาติต้องมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง มีคุณธรรมจริยธรรม มีสำนึกต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง การสร้างอนาคตของชาติจึงไม่ใช่อัดแต่วิชาการใส่สมองผู้เรียนเหมือนที่ผ่าน  มาจนเกิดคำถามที่ตอบไม่ได้ว่าเรียนเยอะ  วิชาไปเพื่อ

ระหว่างที่คุยกัน เราเห็นข่าวอาชญากรรม ข่าวการใช้ความรุนแรงในสังคม มากมายในทีวี อ่านในโซเชี่ยลก็เต็มไปหมด  ก็มาคิดต่อว่าพันธกิจด้านสังคมนี่ควรจะเป็น “กระทรวงความผาสุกของผู้คนและสังคม” หรือเปล่า เพราะความมั่นคงของมนุษย์นั้นไม่ใช่แค่การมีบ้านอยู่ หรือการสงเคราะห์ผู้ยากไร้หรือผู้พิการทุพพลภาพ แต่มันคือการสร้าง “ความผาสุก” ให้ทรัพยากรมนุษย์ในสังคม ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอาจมีเรื่องอื่น  ด้วย

กินข้าวเสร็จพอดี บทสนทนาระหว่างพ่อวัยกลางคนกับลูกชายวัยรุ่นจึงยุติลง

ทิ้งไว้เป็นบทความที่บันทึกบทสนทนานี้แล.