วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563

“ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน Urban revitalization” ปกรณ์ นิลประพันธ์

 ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เชื่อโดยสุจริตว่าโลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่ไม่เหมือนเดิม และทุกภาคส่วนต้อง “ปรับตัว” ให้อยู่กับ “ความไม่เหมือนเดิม” นี้ให้ได้ ผู้เขียนจึงเชื่อว่าความพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม กลับไปเหมือนที่เคยเป็นอยู่ก่อนโควิดเป็นอะไรที่สวนกระแส เป็นไปไม่ได้ และเป็นการลงทุนที่อาจจะสูญเปล่า 

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือเฉพาะหน้าก็จำเป็นต้องทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ถึงขั้นจะใช้ข้อมูลสถิติปีที่แล้วเป็น benchmark เลยนั้นผู้เขียนเห็นว่ามันก็เกินไป ที่เกินไปเพราะเพราะบริบทไม่เหมือนเดิม แตกต่างอย่างสิ้นเชิง อัตราการบริโภคหดตัวทุกประเทศ กำลังการผลิตก็ลด ราคาน้ำมันงี้ดิ่งเหวเลย จะเทียบกับปีก่อนได้ยังไง แต่ก็เห็นทำเทียบกันอยู่เรื่อย ไม่รู้ทำไมไม่คิดจะตั้ง benchmark ที่เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างจากปีก่อนอย่างสิ้นเชิงบ้าง แล้วก็พูดกันว่าปีนี้แย่กว่าปีก่อน มันก็แหงละครับ

ก่อนโควิด กำลังการบริโภคมีอัตราเร่งที่สูงมากจากลัทธิบริโภคนิยม กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว สำหรับความรุ่งเรืองของระบบเศรษฐกิจของบ้านเราที่พันไปถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมด้วยนั้น พึ่งพาการส่งออกกว่าร้อยละ 60 รวมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่น่าตื่นเต้นถึงกว่าปีละ 40 ล้านคน แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะทรงพระราชทานคำสอนในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนไว้ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกเราแล้วว่า การดำรงชีวิตนั้นต้อง (1) มีเหตุผล (2) พอประมาณ และ (3) มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี แต่ผลตอบแทนที่ได้รับ  เวลานั้นทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยคำสอนอันล้ำค่า มีการขยายการลงทุนในกิจการที่ “ต้องพึ่งพาคนอื่นมาก ” จนไม่มีการคิดถึง “ความเสี่ยง” ที่ว่าถ้าวันหนึ่งคนอื่นเขาไม่สั่งซื้อสินค้าหรือใช้บริการของเรา เราจะอยู่ได้อย่างไร 


เมื่อเกิดโควิด ความเสี่ยงที่ว่านี้เกิดเป็นจริงขึ้นมาและส่งผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างกิจการสายการบินที่เฟื่องฟูมากมายเดินทางมาถึงวันที่ต้องเสี่ยงกับการล้มละลายเพราะการกำกัดการเดินทาง  ธุรกิจสร้างเครื่องบินโดยสารกลายเป็นธุรกิจที่แทบจะไม่มีอนาคต ธุรกิจโรงแรมที่เปิดกันทั่วทุกหัวระแหงต้องปิดตัวลง โรงงานผลิตเพื่อการส่งออกจำนวนมากต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อพนักงานในธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่การช๊อคทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนี้เกิดขึ้นในทุกแห่งทั่วโลก มิได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทย โดนกันทั่วหน้าว่างั้น อย่างญี่ปุ่นนี่ GDP ดิ่งลงถึง -21% โดยประมาณ


นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อพิพาทที่ใช้กำลัง (arm conflicts) ซึ่งจำกัดทั้งขอบเขตและคู่กรณีนั้นมีน้อยลง แต่มีการตอบโต้กันด้วยมาตรการที่ไม่ใช่อาวุธมากขึ้น โดยเฉพาะการแทรกแซงทางการเมืองโดยผ่านตัวแทน และการตอบโต้กันทางการค้าของของประเทศมหาอำนาจอันเป็นอุปสรรคต่อการขายสินค้าและบริการทั่วโลก สภาพบังคับโดยอ้อมทำให้ประเทศเล็กประเทศน้อยต้อง “จำใจเลือกข้าง” แต่เมื่อเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะถูกแทรกแซงจากอีกข้างหนึ่งทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม และการพิพาททางการค้าอย่างหนักนี้เองที่ทำให้ประเทศใหญ่น้อยต้องกลับมาเริ่มสั่งสมอาวุธทำลายล้างสูงไว้เพื่อเป็น “เครื่องมือต่อรอง” ในเวทีเจรจาต่าง  กันอีกครั้ง


ในทัศนะของผู้เขียน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับไปสู่สภาวะเดิมก่อนโควิด จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้และปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องความเป็นจริง ลดการพึ่งพาการส่งออก และทิ้งตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในอดีตไว้เป็นความทรงจำที่ดี เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นอีกในอนาคตแม้จะมีวัคซีนป้องกันโควิดเกิดขึ้นก็ตาม


เรื่องที่จะชวนคิดคือเราจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างไร


ผู้เขียนไม่มีความลึกซึ้งในวิชาทางเศรษฐกิจนัก แต่สนใจเรื่องการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อม  กันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เป้าหมายมิใช่การเน้นการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) แต่เน้นการสร้างความแข็งแรงและความสุขของคนในระดับครอบครัวและระดับชุมชน ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง จะส่งผลให้สังคมและประเทศชาติในภาพรวมเข้มแข็งได้ในที่สุด


วิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ Urban Revitalization หรือการทำให้ชุมชนต่าง  กลับมา “มีชีวิตชีวา” อีกครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมานั้นความเจริญกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้คนทิ้งถิ่นฐานเขามาทำงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในเมือง ชุมชนต่าง  ในเมืองรองเมืองเล็กเหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ความมีชีวิตชีวาของชุมชนเลือนหายไปโดยปริยาย ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมให้หมุนเวียนได้เพราะขาดพลัง หลายประเทศใช้ Urban Revitalization เป็นเครื่องมือในการฟื้นระบบเศรษฐกิจใหม่ ให้คนที่กลับบ้านซึ่งมีความรู้จากเมืองใหญ่ติดตัวไป นำความรู้ไปใช้พัฒนาชุมชนให้เกิดการพัฒนา รวมทั้งคนที่หนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่ไปใช้ชีวิตในชนบท ใช้ความรู้ ความหลงใหล และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ชุมชนเดิมที่เงียบหงอยให้กลับมามีชีวิตชีวา และสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ใกล้จะหายสาบสูญให้กลับคืนมาอีกครั้ง น่าสนใจมากครับ


แต่วันนี้เหนื่อยมาก วิ่งไปวิ่งมาจนเวียนหัว


ไว้เขียนต่อก็แล้วกัน …