วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563

การเปลี่ยน ecosystem ของกฎหมายเพื่ออำนวยให้เกิด digital government ปกรณ์ นิลประพันธ์

เรื่อง E-government นี่บ้านเราพูดถึงกันมานานเป็นสิบปีแล้ว มีการพูดถึง E นั่น E นี่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น E-license E-permit E-bill ฯลฯ แต่จนบัดนี้ E ก็ยังไปไม่ถึงไหน จนเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำฝันให้เป็นจริงสักทีจึงระบุไว้ชัดเจนไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ข. (1) ว่า "ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน" 

เมื่อรัฐธรรมนูญส่งเสริมไว้ดังนั้น ทุกหน่วยงานต่างก็ขมีขมันฝันใฝ่ที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ฝันถึง Digital Government ฝันถึง Big Data กันเลยทีเดียว ไม่เอาแล้ว E 

ข้างเอกชนก็เริ่มไปไกล มี Digital Banking ที่ทำให้การซื้อขายออนไลน์มียอดพุ่งกระฉูดมาก ในช่วงโควิดนี่ยิ่งเห็นชัดว่าเอกชนไปไกลขนาดไหน อย่างสั่งอาหารออนไลน์นี่ พอ place order แล้วเรารู้เลยว่าใครจะขับรถมาส่งของ รถอะไร ทะเบียนอะไร หน้าตายังไง บัดนี้คนส่งของนั่งรออยู่ที่ร้านแล้ว อาหารเสร็จและคนขับรับของออกมาแล้ว คนส่งของขับมาถึงไหนแล้วปรากฏในแผนที่แบบ real time มอไซด์จอดปุ๊บ เราเปิดประตูออกไปรับของพอดี ไม่ต้องไปยืนรอให้เมื่อยตุ้มและยุงกัด 

แต่บริการของภาครัฐยังไม่ถึงไหน ขนาดคณะรัฐมนตรีมีมติสองครั้งสามครั้งจนเหนื่อยแล้วว่า ต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐเรียกเอกสารที่ทางราชการออกให้ จากประชาชน ว่าง่าย ๆ คือเวลาไปติดต่อราชการนี่ ห้ามเรียกสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเกิด สำเนาทะเบียนรถ ฯลฯ จากประชาชนผู้ไปติดต่อราชการแล้วนะ แต่จนบัดนี้เคาน์เตอร์บริการประชาชนของหลายหน่วยก็ยังคงเรียกอยู่ อ้างว่าไม่รู้บ้าง พอเอามติคณะรัฐมนตรีไปให้ดูก็ย้อนว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ใช้บังคับกับท้องถิ่น มีงงกันไปหลายคนแล้ว บ้างก็บอกว่ากฎระเบียบยังไม่ได้แก้ไข นายยังไม่ได้สั่ง ฯลฯ มันน่าเหนื่อยไหมล่ะ ดีนะที่ยังไม่ได้ยินคำตอบว่าเมียนายยังไม่ได้สั่ง แบบนี้คงมีหงายหลังตกเก้าอี้กันบ้าง 

แหม..ผู้เขียนเองเป็นข้าราชการก็ยังเจอข้ออ้างแบบนี้เลยครับ แล้วชาวบ้านร้านช่องจะเหลือหรือ 

นี่คณะรัฐมนตรีมีมติย้ำแล้วย้ำอีกให้ปลัดกระทรวงไปสื่อสารกับหน่วยบริการให้เข้าใจและปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีและปลัดท่านก็ออกหนังสือสั่งการกันไปหลายรอบแล้วนะครับ แต่ก็ยังมีร้องเรียนมาไม่น้อยว่ายังไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ... Tone from the Top ชัดเจนครับ แต่ไปไม่ถึง grass roots ...  

แต่จะว่าไป ข้อแก้ตัวที่ว่ากฎระเบียบยังไม่ได้แก้ไขก็ฟังดูมีเหตุผลนะครับ เพราะระบบราชการเราต้องทำงานตามกฎระเบียบ เนื่องจากหน่วยตรวจสอบเขาว่าตามกฎระเบียบเคร่งครัดแบบชัดเป๊ะ ดังนั้น ถ้าไม่ตรงตามกฎระเบียบละก็ชีวิตข้าราชการจะมีปัญหาแม้ว่าจะมีเจตนาดีก็ตาม 

ผู้เขียนว่าประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า ecosystem ทางกฎหมายและระบบตรวจสอบของเรานั้นมันไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิด Digital service อย่างกฎระเบียบที่ออกตามกฎหมายต่าง ๆ ล้วนตราขึ้นบนฐานคิดเดิมที่เป็น paper base เอะอะก็ต้องมายื่นเอกสาร (กระดาษ) ต่อทางราชการ ดังจะเห็นได้จากกฎหมายจำนวนมากกำหนด "ค่าคำขอ" ไว้ด้วย สามบาทห้าบาทก็เอา เมื่อสมัยห้าสิบปีมาแล้วมันก็คงใช่อยู่หรอก แต่เดี๋ยวนี้มันใช่หรือเปล่าคงต้องทบทวน การยื่นคำขอและเอกสารประกอบก็ต้องมายื่นด้วยตนเอง เสียเวร่ำเวลามาครึ่งค่อนวัน (หรือทั้งวัน) หลายเรื่องต้องยื่น 4 ชุด 5 ชุด ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรนักหนา ชาวบ้านที่ไหนจะมีเครื่องถ่ายเอกสารที่บ้านเล่า แถมเอกสารประกอบคำขอส่วนใหญ่ก็เป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ แต่ชาวบ้านต้องถ่ายเอกสารไปให้พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องด้วย ก็หน่วยงานของรัฐด้วยกัน ติดต่อกันเองไม่ได้หรือ ไหนว่า online ทั่วประเทศแล้ว ฯลฯ  ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีสมมุติฐานว่าเราต้องปรับเปลี่ยน ecosystem ทางกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนา digital service

แล้วจะเปลี่ยนยังไงดี? 

ผู้เขียนเห็นว่าถ้าจะใช้วิธีแบบคลาสสิค คือ แก้กฎหมาย กฎ ระเบียบ เป็นรายฉบับ คาดว่าคงใช้เวลาหลายร้อยปีเพราะกฎหมายบ้านเราเกือบทั้งหมดใช้ระบบอนุญาต (จนกระทั่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถึงต้องวางหลักไว้ในมาตรา 77 ว่าให้ใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น) จึงคิดว่าถ้าทำเป็น "กฎหมายกลาง" สักฉบับเดียวได้ก็คงจะทำได้เร็วขึ้น และเรื่องที่ต้องเปลี่ยนโดยเร็วที่สุดมี 2 เรื่องดังนี้ ไม่งั้นเดินหน้าไม่ได้แน่ ๆ 

 (1) การขออนุมัติอนุญาตและการอนุมัติอนุญาตทั้งหลายบรรดามีตามกฎหมายต่าง ๆ นั้น นอกจากจะไปยื่นกันด้วยตัวเองตามเดิมแล้ว ต้องเปิดให้ยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย และต้องเขียนให้ถือว่าการยื่นคำขอและการอนุมัติอนุญาตโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นแล้ว อันนี้ปลดล็อคแรก 

(2) ให้การรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐทั้งภายในและภายนอกต้องสามารถกระทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย ให้หน่วยงานของรัฐรับส่งข้อมูลที่อยากได้มาดูเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตระหว่างกันเอง  เพื่อลดภาระและต้นทุนของประชาชน

ผู้เขียนเชื่อว่าเจ้ากฎหมายกลางเพื่อเปลี่ยน ecosystem ของกฎหมายไทยเก่า ๆ จำนวนมากนี้คงจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งเพื่อทำให้ระบบกฎหมายไทยเอื้ออำนวยให้เกิด digital government ขึ้นให้ได้ในทุกมิติ

ที่สำคัญการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้นี่จะช่วยทำให้ข้าราชการทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องจมอยู่กับกองเอกสารให้เป็นโรคภูมิแพ้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนและภาระของประชาชน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ถ้าเห็นด้วย ผู้เขียนและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ยกร่างกฎหมายตามหลักการดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยด่วนครับ 

ประเทศอื่นเขาไปไกลมากแล้ว.