วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

ชวนคิด: Sustainable Budgeting ปกรณ์ นิลประพันธ์

 เราใช้ระบบงบประมาณแบบปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 2502 เน้นจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่จำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แรก ๆ ก็เน้นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ 


แต่เมื่อขอบเขตภารกิจของรัฐถูกขยายออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่ารัฐต้องเป็น policy maker เป็น regulator และเป็น operator เองครบวงจร จึงมีการตั้งหน่วยงาน/องค์การอะไรต่าง ๆ ขึ้นมาปฏิบัติภารกิจนี้กันเยอะแยะตาแป๊ะไก่ ทั้ง ๆ ที่เอกชนมีขีดความสามารถในการทำกิจการในฐานะ operator ได้ดีกว่ารัฐในหลายเรื่อง งบรายจ่ายประจำจึงแซงงบลงทุนไปมากมาย แถมด้วยกฎระเบียบจำนวนมากทั้งในกระบวนการเบิกจ่ายและกระบวนการตรวจสอบที่ทำให้การตั้งและใช้จ่ายงบประมาณมีลักษณะเป็น rule base คือเน้นการปฏิบัติตามกฎระบียบและขั้นตอนที่กำหนดไว้มากกว่า output และ outcome


เพียงทำตามกฎระเบียบ ชีวิตราชการท่านจะปลอดภัยไปเรื่อย ๆ จึงยากที่จะมี innovation เกิดขึ้นในระบบราชการ เคยทำกันมาอย่างไรก็ทำกันไปอย่างนั้น ในขณะที่บริบทต่าง ๆ มีพลวัตรสูงมาก และ ecosystem ในแต่ละเรื่องก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว นี่จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาระบบราชการ


ที่บ่นมาเป็นปฐมนั้นเป็นปัญหาที่ราก แต่ที่อยากจะชวนดูชวนคิดคือมันมีงบประมาณอยู่ส่วนหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีแบบเงียบ ๆ คือ “รายจ่ายเพื่อการเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติ” ดังจะเห็นว่ามีการจ่ายงบกลางแบบนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่ใช่เพราะทุจริต แต่เป็นเพราะภัยพิบัติต่าง ๆ มันเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้นจริง ๆ มีผู้เดือดร้อนและต้องช่วยเหลือจริง ๆ แม้จะมีการจัดงบปกติไว้เตรียมการช่วยเหลือแล้ว แต่มันก็ไม่พอ


ผลงานวิจัยเรื่อง climate change ทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อการนี้ทุกปี และเป็นส่วนหนึ่งของ middle incom trap ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาก้าวข้ามกับดักนี้ไปได้ เยียวยา/ฟื้นฟูรอบเก่ายังไม่ทันจบ รอบใหม่มาอีกแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ


ผมเห็นว่าการนำแนวคิดเรื่อง Sustainable Budgeting มาประยุกต์ใช้ น่าจะเป็น “ส่วนหนึ่ง” ที่ช่วยทำให้ประเทศก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้โดยการกำหนด output และ outcome ของงบประมาณให้ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิด sustainable output/outcome อะไรบ้างที่จับต้องได้ เวลาของประมาณจะต้องมองแบบ wholistic เป็นการขอแบบ integration ไม่ใช่เฉพาะกรมฉัน กระทรวงฉัน อย่างที่แล้ว ๆ มา


นอกจากนี้ก็ต้องมีการประเมินผลอย่างจริงจัง ถ้ากำหนดลงไปในรายละเอียดได้ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพิบัติภัยธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ ทั้งยังจะช่วยทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา climate change และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วย


ฝ่ายอนุมัติงบประมาณก็คงต้องเลิกดูแบบ line items กันเสียที


นี่มันก็เลยศตวรรษที่ 18 มานานแล้ว

1 ความคิดเห็น:

  1. สนับสนุนครับ แนวคิดนี้ควรจคะได้เริ่มเกิดขึ้นจริง ใช้ตามระเบียบ คุมด้วยการเบิกถูก ใช้ถูก ใช้ทัน แต่เอาผลสัมฤทธิ์จริง ๆ ยาก

    ตอบลบ