ความสำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่ใช่กฎหมายใหม่สำหรับประเทศไทย
แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้านั้นมีความสำคัญอย่างไร
ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
วัตถุประสงค์หนึ่งของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าคือ เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด
นอกจากนี้แล้วการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม
แต่ละประเทศอาจมีวัตถุประสงค์หลักของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น
วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ
การแข่งขันที่เป็นธรรม ในขณะที่ฟากสหภาพยุโรปนั้นมองประเด็นเรื่องประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคเป็นหลัก
สำหรับประเทศไทยนั้น เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ คือ
เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด
หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ
อันจะเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากรายได้ต่อปีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่
มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กมีรายได้ลดถอยลง และจำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ลดจำนวนลง
จากรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า บริษัทที่มีรายได้สูงสุดจำนวนร้อยละ ๑๐
แรกของตลาดหลักทรัพย์มีรายได้จำนวนกว่าร้อยละ ๘๐
ของจำนวนรายได้ทั้งหมดของทุกบริษัทรวมกัน
อาจจะสันนิษฐานได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาดของตนอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาสินค้า
ทำให้บริษัทขนาดย่อมไม่สามารถยืนอยู่ได้และต้องออกจากตลาดในที่สุด
ในขณะที่บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดสามารถกุมอำนาจในตลาดนั้น ๆ ต่อไป
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียน AEC อย่างสมบูรณ์
ประเด็นที่ต้องคิดต่อไป
คือ เมื่อมีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้
จะเกิดอะไรขึ้นหากประเทศไทยเรายังคงใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒
และยังคงไม่บังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง
ในบทความชิ้นนี้
ผู้เขียนจะขออธิบายถึงหลักสากลของกฎหมายแข่งขันทางการค้า
กฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทยและของประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ากำหนด
(๑) ห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) (๒) ห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน (Agreements that restrict competition (๓) การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
(Merger control) (๔)
ห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice)
(๑) หลักการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ
(Abuses of a dominant power)
หากตลาดของประเทศไม่ใหญ่พอที่จะให้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก
จึงจำเป็นต้องยอมรับการที่ตลาดสินค้าและบริการที่มีลักษณะผู้ค้าน้อยราย (oligopoly) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดได้ (economy
of scale) และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด (dominant position) ซึ่งการที่ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาดนี้จะสามารถใช้อำนาจดังกล่าวในการขึ้นราคาสินค้า
บทบาทของบทบัญญัติเรื่องการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) คือ
การควบคุมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ เช่น การขายพ่วง (tying) หรือ การกำหนดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าทุนเพื่อกำจัดคู่แข่งขัน (predatory
pricing) เป็นต้น
(๒) หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย
ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน
หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย
ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน หมายถึงการทำความตกลงร่วมกันทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัท การทำความตกลงที่จะจำกัดการแข่งขันโดยอาจเป็นเรื่องราคา การผลิต การตลาดและลูกค้า ซึ่งการทำความตกลงประเภทนี้มีผลเพิ่มราคาสินค้า จำกัดผลผลิตและผลที่เกิดขึ้นเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจ โดยอาจจะกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
(๓) การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
(Merger control)
หมายถึง
การที่กิจการไม่น้อยกว่าสองแห่งมารวมกันหรือควบรวมเป็นกิจการเดียวกัน
เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด แม้การควบกิจการอาจก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
สามารถลดต้นทุนการผลิต แต่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดลงหรือหายไปได้
เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของตลาด เกิดการกระจุกตัว เกิดการผูกขาดในตลาด
หรืออาจเป็นการกีดกันขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ดังนั้น
จึงต้องมีการควบคุมจากหน่วยงานการแข่งขันทางการค้า
(๔) ห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
(Unfair
trade practice)
การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นบทบัญญัติซึ่งมีขอบเขตที่กว้างมากและมีวัตถุประสงค์เพื่อจับการกระทำผิดทุกกรณี (catch-all provision) การกระทำที่อาจเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การร่วมกันปฏิเสธที่จะทำธุรกรรมด้วย
(Concerted refusal to deal) การตั้งราคาที่แตกต่างกัน (Discriminatory
pricing) เป็นต้น
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย
หากพิจารณาหลักสากลกับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า
พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยได้นำมาจากหลักสากล
หลักการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ
(Abuses of a dominant power) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการซึ่งมีอำนาจตลาดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม
หรือ กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม หรือ
ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ
การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น
หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย
ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
ซึ่งกำหนด “หามมิใหผูประกอบธุรกิจใดรวมกับผูประกอบธุรกิจอื่น กระทําการใดๆ อันเปนการผูกขาด หรือลดการแขงขัน
หรือจํากัดการแขงขันในตลาดสินคาใดสินคาหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งในลักษณะอยางใดอยางหนึ่งดังตอไปนี้”
การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
(Merger control) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
ซึ่งกำหนดหามมิใหผูประกอบธุรกิจกระทําการรวมธุรกิจอันอาจกอใหเกิดการผูกขาดหรือความไมเปนธรรมในการแขงขัน
ควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจการอํานวยการ หรือการจัดการการขออนุญาตตามวรรคหนึ่งใหผูประกอบธุรกิจยื่นคําขอตอคณะกรรมการตามมาตรา
๓๕
การห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
(Unfair
trade practice) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
กำหนดหามมิใหผูประกอบธุรกิจกระทําการใด ๆ อันมิใชการแขงขันโดยเสรีอยางเปนธรรมและมีผลเปนการทําลาย
ทําใหเสียหายขัดขวาง กีดขวางกีดกัน หรือจํากัดการประกอบธุรกิจของผูประกอบ
ธุรกิจอื่นหรือเพื่อมิใหผูอื่นประกอบธุรกิจ หรือตองลมเลิกการประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม
แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า
พ.ศ. ๒๕๔๒) แต่เป็นที่รู้กันว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก
และหากพิจารณากฎหมายของไทยกับหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสากลจะพบว่า กฎหมายการแข่งขันการค้ายังคงต้องปรับปรุง
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างมาตราที่สมควรที่จะได้รับการพิจารณาเพื่อการแก้ไขปรับปรุง
- มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
กำหนดให้พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับการกระทำของ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์
หรือชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร
หรือธุรกิจตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
การกำหนดตามมาตรา ๔ ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมที่แต่เดิมเคยเป็นของรัฐ
แต่ได้ทำการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น สามารถกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าได้
ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบเอกชนไม่เป็นธรรม
-
มาตรา ๒๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
ซึ่งวางหลักห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดนำเงื่อนไขการขายพ่วงที่มีลักษณะการบังคับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเป็นลูกค้าต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า
แต่กลับไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์ของการห้ามการขายพ่วง และไม่มีความชัดเจนในปรัชญาของมาตรการดังกล่าวว่าเจตนาคุ้มครองผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าหรือการแข่งขันที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ
- มาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ
ที่วางหลักเรื่องการควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่กลับไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ทำให้เป็นการยากต่อผู้ประกอบธุรกิจที่จะคาดการณ์ว่าการกระทำของตนนั้นถูกกฎหมายหรือไม่
- โครงสร้างของคณะกรรมการที่มีนักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศอาเซียน
ประเทศในอาเซียนนั้นมีอยู่
๕ ประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย
หรือการรอเข้าสภาฯ กล่าวคือ ประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และฟิลิปปินส์
ผู้เขียนจะทำการเปรียบเทียบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่าง
ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ตัวบ่งชี้อำนาจทางตลาด การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
ตัวบ่งชี้อำนาจทางตลาดของประเทศต่าง ๆ
ในภูมิภาคอาเซียน
ประเทศ
|
มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
|
ตัวบ่งชี้อำนาจเหนือตลาด
|
บรูไน
|
-
|
-
|
กัมพูชา
|
-
|
-
|
อินโดนีเซีย
|
P
|
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าสำหรับธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจ
|
ลาว
|
-
|
-
|
มาเลเซีย
|
P
|
ร้อยละ ๖๐ หรือมากกว่า
|
เมียนมาร์
|
-
|
-
|
ฟิลิปปินส์
|
-
|
-
|
สิงคโปร์
|
P
|
ร้อยละ ๖๐ หรือมากกว่า
|
ประเทศไทย
|
P
|
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐
หรือมากกว่าและผลประกอบการอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗๕
หรือมากกว่าและผลประกอบการอย่างต่ำ ๑,๐๐๐
ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในสามอันดับแรก
|
เวียดนาม
|
P
|
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๓๐ หรือมากกว่าสำหรับบริษัทหนึ่งบริษัท
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐
หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสองบริษัท
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๖๕
หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสามบริษัท
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗๕
หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสี่บริษัท
|
การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในอาเซียน
ประเทศ
|
กฎระเบียบเรื่องการควบรวมกิจการ
|
หลักเกณฑ์การแจ้งเรื่องการควบรวมกิจการ
(Notification Threshold)
|
บรูไน
|
-
|
เฉพาะในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคม
|
กัมพูชา
|
ไม่มี
|
ไม่มี
|
อินโดนีเซีย
|
มี
|
กำหนดให้แจ้งหลังการควบรวมกิจการ
(๑) สินทรัพย์ตั้งแต่ ๒.๕ พันล้าน
รูเปีย และ/หรือ (๒) มูลค่าการขายตั้งแต่ ๕ พันล้านรูเปีย (๒๐ พันล้าน รูเปีย
หากเป็นทรัพย์สินในภาคธุรกิจธนาคาร)
|
ลาว
|
ไม่มี
|
ไม่มี
|
มาเลเซีย
|
ไม่มี
|
ไม่มี
|
เมียนมาร์
|
ไม่มี
|
ไม่มี
|
ฟิลิปปินส์
|
ไม่มี
|
ไม่มี
|
สิงคโปร์
|
มี
|
กำหนดให้เป็นการแจ้งโดยสมัครใจเมื่อการควบรวมกิจการนั้นทำให้เกิดส่วนแบ่งตลาดที่
(๑) ตั้งแต่ร้อยละ ๔๐ ขึ้นไป หรือ (๒) ร้อยละ ๒๐-๔๐
และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดสามบริษัทแรกตั้งแต่ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป
|
ประเทศไทย
|
มี
|
จะมีการเผยแพร่ในอนาคต
|
เวียดนาม
|
มี
|
กำหนดให้แจ้งหากส่วนแบ่งตลาดจากการควบรวมกิจการมากกว่าร้อยละ
๓๐
|
คำตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่าง
ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
(๑) ตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์
คำตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันของสิงคโปร์เป็นคำตัดสินในคดี
Cartel ที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศ
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ หรือ the Competition Commission of
Singapore (CCS) ตัดสินว่า ผู้ประกอบการจัดส่งสินค้า (freight
forwarder) กระทำการขัดต่อมาตรา ๓๔ แห่ง Competition Act
โดยทำการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าเก็บเงินเพิ่ม
แลกเปลี่ยนราคาและให้ข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังสิงคโปร์
บริษัทญี่ปุ่นและสิงคโปร์จำนวน ๑๐ บริษัท จากจำนวนบริษัทใน cartel ทั้งหมด ๑๑ บริษัทถูกปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๗,๑๕๐,๘๕๒ สิงคโปร์ดอลลาร์
(๑๗๕.๗ ล้านบาท) บริษัทที่ให้ข้อมูลเรื่อง cartel
ดังกล่าวได้รับการยกเว้นค่าปรับทั้งหมดตามโครงการ leniency
อนึ่ง
การกำหนดราคาระหว่างคู่แข่งขัน (Price fixing between competitors) จัดเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าที่ร้ายแรงที่สุด
เนื่องด้วยพฤติกรรมดังกล่าวบิดเบือนการค้าระหว่างผู้ร่วมกำหนดราคาและผู้บริโภค
ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าหรือบริการในราคาสูง
(๒) คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเวียดนาม
กรณีบริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam
Air Petrol Company)
วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเวียดนามปรับบริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air
Petrol Company)
ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดการจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินในสนามบินเวียดนาม จำนวน ๓.๓๗๘
พันล้านดอง (หรือประมาณ ๔.๘ ล้านบาท)
กรณีใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบในการจำหน่ายน้ำมันให้แก่สายการบินพาณิชย์ที่สนามบินภายในของเวียดนาม
ในกรณีดังกล่าว บริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol
Company) ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม กล่าวคือ จำหน่ายน้ำมันเครื่องบินให้กับลูกค้าซึ่งเป็นสายการบินอื่น
(Jetstar Pacific Airlines) ในราคาที่สูงกว่าราคาที่จำหน่ายให้แก่
Vietnam Air ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหุ้นอยู่ใน
บริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company)
(๓) คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอินโดนีเซีย
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสั่งปรับผู้ดำเนินธุรกิจท่าเรือท้องถิ่นเป็นเงินจำนวน
๔.๗๗ พันล้านรูปี (๑๒ ล้านบาท) กรณีใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ
จากการขายพ่วงซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจท้องถิ่นปิดตัวลง
สรุป
แม้ว่าภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศในอาเซียนจะเป็นร้อยละศูนย์แล้ว
แต่ก็ยังคงมีสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าอ่อนไหว ที่ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ เมื่อมีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๕๘ ภาษีสินค้าทุกประเภทที่นำเข้าจากประเทศอาเซียนจะต้องค่อย ๆ
ปรับลดลงจนเป็นศูนย์ ผู้ประกอบการของไทยจะต้องประสบกับ
การนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
สินค้าราคาต่ำนั้นไม่ใช่ปัญหาแต่หากเป็นการขายสินค้าราคาต่ำเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการค้าท้องถิ่นและเป็นการกระทำของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดแล้ว
ตามหลักทฤษฎี การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยสนใจที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงและมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
ผู้บริโภคเองต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากในตลาดสินค้าทั่วไป
การมีผู้ประกอบการจำนวนมากจะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันที่ราคาและการพัฒนาสินค้า
ในขณะที่การมีผู้ประกอบการน้อยรายนั้น หรือการเป็นตลาดผูกขาดนั้น
ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่จำกัดและอาจจะต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดปกติ