วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกร็ดการร่างกฎหมาย 7: การล้างมลทินกับการพระราชทานอภัยโทษ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์

           ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “มลทิน” เป็นคำนาม แปลว่า. “ความมัวหมอง, ความด่างพร้อย, ความไม่บริสุทธิ์.”  โดยทั่วไป การล้างมลทินจะกระทำโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติล้างมลทินเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และผู้ใดจะได้รับการล้างมลทินหรือไม่ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายล้างมลทินแต่ละฉบับบัญญัติไว้

           สำหรับผลทางกฎหมายของการล้างมลทินนั้น ถือว่าผู้นั้น “ไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้น” มาก่อน หรือถ้าเป็นกรณีการลงโทษทางวินัยก็ให้ถือว่าผู้นั้น “ไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น” มาก่อน การล้างมลทินจึงเป็นการ “ล้างโทษ” ที่เคยได้รับเพื่อไม่ให้มีมลทินติดตัว แต่ “การกระทำหรือความประพฤติที่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถูกลงโทษ” มิได้ถูกลบล้างไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2539 นอกจากนี้ การล้างมลทินไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ เว้นแต่กฎหมายล้างมลทินนั้นจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

           ส่วนการพระราชทานอภัยโทษถือเป็น “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ยืนยันพระราชอำนาจนี้ตลอดมา  ทั้งนี้ การพระราชทานอภัยโทษนั้นมิได้จำกัดเฉพาะโทษทางอาญาเท่านั้น พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษจึงครอบคลุมทั้งโทษทางอาญา โทษทางวินัย และโทษอื่นด้วย

              ในกรณีโทษอาญานั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการอภัยโทษมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ ตามมาตรา 259 ถึงมาตรา 267 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยผลของการอภัยโทษทางอาญานั้น กฎหมายห้ามมิให้บังคับโทษนั้นต่อไป หรือถ้าเป็นโทษปรับที่ชำระแล้วก็ให้คืนค่าปรับให้ไปทั้งหมด แต่มิได้ลบล้างโทษทางอาญาที่เคยได้รับมาก่อน

             ส่วนการอภัยโทษทางวินัยนั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบัญญัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ การดำเนินการอภัยโทษทางวินัยและผลของการอภัยโทษทางวินัยจึงต้องเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย กล่าวคือ เมื่อมีพระบรมราชโองการให้อภัยโทษทางวินัยแก่ผู้ใด ก็ต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกระแสอภัยโทษทางวินัยต่อไป

                   อ้างถึง
                   เรื่องเสร็จที่ 1056-1057/2554

                   คำพิพากษาฎีกาที่ 694/2539

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อเสียของการมีกฎหมายมาก ๆ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   ผู้เขียนนั้นทำงานด้านการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย รู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักที่อ่านข่าวสารบ้านเมืองแล้วพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยทั้งผู้มีหน้าที่และไม่มีหน้าที่ด้านนิติบัญญัติออกมาแสดงทัศนะต่อสังคมในทางที่ว่าบ้านเมืองเรานี้ต้องเร่งรีบออกกฎหมายให้มาก ๆ เข้าไว้ ประเทศจึงจะพัฒนาไปได้ กูรูหลายคนถึงกับฟันธงว่าจำนวนกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ยิ่งมากยิ่งถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติชุดนั้นได้ฝากผลงานอันระบือลือลั่นไว้ให้แผ่นดินทีเดียวเชียว

                   ด้วยความเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ผู้เขียนขอเรียนว่าความเข้าใจแบบไทย ๆ ดังกล่าวนี้ “สวนทาง” ความคิดเกี่ยวกับกฎหมายอันเป็นสากล

                   ทำไมละหรือ??

                   ว่ากันตามหลักแล้วกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน ส่วนกฎหมายลำดับรอง อันได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ นั้นเป็นการกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนต้องปฏิบัติตาม

                   เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ายิ่งมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่าใด สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยิ่งถูกจำกัดหรือลิดรอนมากขึ้นเท่านั้น และขณะเดียวกัน ถ้ามีกฎหมายลำดับรองมาก ๆ ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้นเท่านั้น

                   หากคิดง่าย ๆ ว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเพียงฉบับละเรื่อง (แต่จริง ๆ อาจจำกัดมากกว่าฉบับละเรื่อง) และกฎหมายลำดับรองสร้างขั้นตอนหรือวิธีการในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับละหนึ่งขั้นตอน (ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีขั้นตอนในกฎหมายลำดับรองแต่ละฉบับมากกว่าหนึ่งขึ้นตอน) และในปัจจุบันประเทศเรามีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับกว่าหกร้อยฉบับ นั่นหมายถึงว่าสิทธิและเสรีภาพของเรา, ประชาชนและพลเมือง, ถูกจำกัดไปแล้วไม่น้อยกว่าหกร้อยกรณี ส่วนกฎหมายลำดับรองนั้นมีกว่าสองหมื่นฉบับ ซึ่งหมายถึงว่าเรา, ประชาชนและพลเมือง, มีอะไรที่ต้องทำตามกฎหมายแล้วไม่น้อยกว่าสองหมื่นขั้นตอน

                   ด้วยตรรกะพื้นฐานเช่นนี้ ชาวโลกเขาจึงถือกันว่าการออกกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ และรอบด้านว่าเรื่องที่เป็นปัญหานั้น “มีความจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้” ที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้คนโดยการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับหรือไม่ หรือต้องสร้างขั้นตอนต่าง ๆ ให้มันยุ่งยากมากมายหรือไม่ และมีการพิจารณาผลกระทบหรือความจำเป็นในการตรากฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก่อนจะอนุมัติหลักการหรือผ่านร่างกฎหมายอะไรสักฉบับ

                   ที่สำคัญ กฎหมายนั้น “สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของสังคม” หรือไม่ เพราะกฎหมายใช้บังคับกับทุกคนในประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเราถือว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน การตรากฎหมายจึงต้องยึดความต้องการของ “ประชาชน” เป็นหลัก ว่าถ้าจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเช่นนี้ หรือสร้างขั้นตอนหรือวิธีการให้ต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้นเช่นว่านั้นแล้ว “ประชาชนจะได้อะไร” และ “เป็นผลดีแก่ประเทศชาติโดยรวมอย่างไร”

                   “ประสิทธิภาพ” ในกระบวนการตรากฎหมายที่เป็นสากลจึงเป็นการพิจารณาในเชิง “คุณภาพ” มิใช่ “ปริมาณ”

                   นอกจากนี้ การตรากฎหมายยังมีผลกระทบต่อ “ภาระทางการคลัง” และ “ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดยตรงด้วย เพราะเมื่อมีการตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน รัฐก็จะต้องเป็นผู้เข้าไปควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ ฯลฯ ตามที่เหมาะสมและจำเป็นเพื่อให้สามารถบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายได้  ดังนั้น ยิ่งเพิ่มหน่วยงานหรือยกระดับหน่วยงานของรัฐมากขึ้นเท่าใด งบประมาณรายจ่ายในเรื่องนี้ก็จะ “ค่อย ๆ เพิ่ม” มากขึ้นแบบไม่รู้ตัว เพราะจะเป็นการเพิ่มหน่วยเล็ก ๆ ขึ้นทีละหน่วย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้หากพิจารณาแยกตามหน่วยงานคงจะไม่กระไรนัก แต่หากพิจารณาในภาพรวมจากกฎหมายงบประมาณ รายจ่ายประจำนี้มากมายถึงเกือบร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลไทยในแต่ละปีทีเดียว ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงคงเหลืองบลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น

                   การออกกฎหมายลำดับรองก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะเป็นเหตุให้ต้องขออัตรากำลังและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มอันเป็นการสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังสร้างขั้นตอนให้ประชาชนต้องปฏิบัติมากมายซึ่งสร้างทั้งภาระและต้นทุนให้แก่ประชาชนและเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นช่องทางให้มีการทุจริตคอรัปชั่นกันมากมาย ถึงขนาดต้องมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาต พ.ศ. ๒๕๕๘ ขึ้นใช้บังคับ เพื่อให้การอนุมัติอนุญาตเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ใช้ต้นทุนน้อยลง และลดปัญหาการคอรัปชั่นกันทีเดียว

                   ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ผู้เกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายไทยจำนวนมากยังมีทัศนคติเกี่ยวกับการตรากฎหมายบนฐานคิดเดิมเมื่อสี่สิบปีที่แล้วในสมัยที่ประเทศยังมีพรมแดนทางธรรมชาติที่ชัดเจนและเทคโนโลยีไม่ทันสมัย นั่นก็คือความคิดที่ว่าเราเป็นรัฐเดี่ยวที่มีเอกราช เราจะกำหนดนิตินโยบายของเราอย่างไรก็ได้ตามอย่างที่เราเห็นสมควร ทั้งที่ในทางข้อเท็จจริงนั้นโลกไร้พรมแดนมาเกือบสองทศวรรษแล้ว และเราเองก็ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมภูมิภาค ของทวีป และของโลกกับเขาแล้ว การกำหนดนิตินโยบายจึงต้องคำนึงถึงพันธกรณีต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย มิใช่จะตรากฎหมายตามใจฉันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อีกต่อไป คงต้องมองไกล ๆ แล้ว เช่น ถ้าจะต้องบูรณาการกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับพันธกรณีหรือกฎหมายของประเทศอาเซียนตามแนวทาง ASEAN Legislation Harmonization เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างแท้จริง เราจะทำอย่างไร


                   นี่เป็นเพียงความเห็นของพลเมืองคนหนึ่งที่ฝากไว้ให้ปวงชนชาวไทยช่วยกันคิดครับ 

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า: หลักสากล ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นางณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต[๑]

ความสำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่ใช่กฎหมายใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้านั้นมีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด วัตถุประสงค์หนึ่งของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าคือ เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด นอกจากนี้แล้วการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศอาจมีวัตถุประสงค์หลักของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ การแข่งขันที่เป็นธรรม ในขณะที่ฟากสหภาพยุโรปนั้นมองประเด็นเรื่องประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยนั้น เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ คือ เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ อันจะเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากรายได้ต่อปีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กมีรายได้ลดถอยลง และจำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ลดจำนวนลง จากรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า บริษัทที่มีรายได้สูงสุดจำนวนร้อยละ ๑๐ แรกของตลาดหลักทรัพย์มีรายได้จำนวนกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนรายได้ทั้งหมดของทุกบริษัทรวมกัน อาจจะสันนิษฐานได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาดของตนอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาสินค้า ทำให้บริษัทขนาดย่อมไม่สามารถยืนอยู่ได้และต้องออกจากตลาดในที่สุด ในขณะที่บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดสามารถกุมอำนาจในตลาดนั้น ๆ ต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียน AEC อย่างสมบูรณ์

ประเด็นที่ต้องคิดต่อไป คือ เมื่อมีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ จะเกิดอะไรขึ้นหากประเทศไทยเรายังคงใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒ และยังคงไม่บังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายถึงหลักสากลของกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทยและของประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน

หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ากำหนด (๑) ห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) (๒) ห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน (Agreements that restrict competition (๓) การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (Merger control) (๔) ห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice)

(๑) หลักการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power)
หากตลาดของประเทศไม่ใหญ่พอที่จะให้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องยอมรับการที่ตลาดสินค้าและบริการที่มีลักษณะผู้ค้าน้อยราย (oligopoly) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดได้ (economy of scale) และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด (dominant position) ซึ่งการที่ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาดนี้จะสามารถใช้อำนาจดังกล่าวในการขึ้นราคาสินค้า บทบาทของบทบัญญัติเรื่องการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) คือ การควบคุมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ เช่น การขายพ่วง  (tying) หรือ การกำหนดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าทุนเพื่อกำจัดคู่แข่งขัน (predatory pricing) เป็นต้น

(๒) หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน
หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน หมายถึงการทำความตกลงร่วมกันทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัท การทำความตกลงที่จะจำกัดการแข่งขันโดยอาจเป็นเรื่องราคา การผลิต การตลาดและลูกค้า ซึ่งการทำความตกลงประเภทนี้มีผลเพิ่มราคาสินค้า จำกัดผลผลิตและผลที่เกิดขึ้นเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจ โดยอาจจะกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

(๓) การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (Merger control)
หมายถึง การที่กิจการไม่น้อยกว่าสองแห่งมารวมกันหรือควบรวมเป็นกิจการเดียวกัน เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด แม้การควบกิจการอาจก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ สามารถลดต้นทุนการผลิต แต่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดลงหรือหายไปได้ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของตลาด เกิดการกระจุกตัว เกิดการผูกขาดในตลาด หรืออาจเป็นการกีดกันขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมจากหน่วยงานการแข่งขันทางการค้า

(๔) ห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice)
การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นบทบัญญัติซึ่งมีขอบเขตที่กว้างมากและมีวัตถุประสงค์เพื่อจับการกระทำผิดทุกกรณี (catch-all provision) การกระทำที่อาจเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การร่วมกันปฏิเสธที่จะทำธุรกรรมด้วย (Concerted refusal to deal) การตั้งราคาที่แตกต่างกัน (Discriminatory pricing) เป็นต้น

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย

หากพิจารณาหลักสากลกับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยได้นำมาจากหลักสากล

หลักการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการซึ่งมีอำนาจตลาดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือ กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม หรือ ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น

หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งกำหนด “หามมิใหผูประกอบธุรกิจใดรวมกับผูประกอบธุรกิจอื่น กระทําการใดๆ อันเปนการผูกขาด หรือลดการแขงขัน หรือจํากัดการแขงขันในตลาดสินคาใดสินคาหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งในลักษณะอยางใดอยางหนึ่งดังตอไปนี้”

การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (Merger control) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งกำหนดหามมิใหผูประกอบธุรกิจกระทําการรวมธุรกิจอันอาจกอใหเกิดการผูกขาดหรือความไมเปนธรรมในการแขงขัน ควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจการอํานวยการ หรือการจัดการการขออนุญาตตามวรรคหนึ่งใหผูประกอบธุรกิจยื่นคําขอตอคณะกรรมการตามมาตรา ๓๕

การห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดหามมิใหผูประกอบธุรกิจกระทําการใด ๆ อันมิใชการแขงขันโดยเสรีอยางเปนธรรมและมีผลเปนการทําลาย ทําใหเสียหายขัดขวาง กีดขวางกีดกัน หรือจํากัดการประกอบธุรกิจของผูประกอบ ธุรกิจอื่นหรือเพื่อมิใหผูอื่นประกอบธุรกิจ หรือตองลมเลิกการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒) แต่เป็นที่รู้กันว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก และหากพิจารณากฎหมายของไทยกับหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสากลจะพบว่า กฎหมายการแข่งขันการค้ายังคงต้องปรับปรุง ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างมาตราที่สมควรที่จะได้รับการพิจารณาเพื่อการแก้ไขปรับปรุง

-       มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดให้พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับการกระทำของ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณกลุ่มเกษตรกร   สหกรณ์  หรือชุมนุมสหกรณ์   ซึ่งมีกฎหมายรองรับและมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร หรือธุรกิจตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
การกำหนดตามมาตรา ๔ ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมที่แต่เดิมเคยเป็นของรัฐ แต่ได้ทำการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น สามารถกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าได้ ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบเอกชนไม่เป็นธรรม

-          มาตรา ๒๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งวางหลักห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดนำเงื่อนไขการขายพ่วงที่มีลักษณะการบังคับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเป็นลูกค้าต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า แต่กลับไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์ของการห้ามการขายพ่วง และไม่มีความชัดเจนในปรัชญาของมาตรการดังกล่าวว่าเจตนาคุ้มครองผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าหรือการแข่งขันที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ

-      มาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ที่วางหลักเรื่องการควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่กลับไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทำให้เป็นการยากต่อผู้ประกอบธุรกิจที่จะคาดการณ์ว่าการกระทำของตนนั้นถูกกฎหมายหรือไม่

-     โครงสร้างของคณะกรรมการที่มีนักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศอาเซียน

ประเทศในอาเซียนนั้นมีอยู่ ๕ ประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย หรือการรอเข้าสภาฯ กล่าวคือ ประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และฟิลิปปินส์

ผู้เขียนจะทำการเปรียบเทียบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ตัวบ่งชี้อำนาจทางตลาด การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ

ตัวบ่งชี้อำนาจทางตลาดของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศ
มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ตัวบ่งชี้อำนาจเหนือตลาด
บรูไน
-
-
กัมพูชา
-
-
อินโดนีเซีย
P
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าสำหรับธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจ

ลาว
-
-
มาเลเซีย
P
ร้อยละ ๖๐ หรือมากกว่า
เมียนมาร์
-
-
ฟิลิปปินส์
-
-
สิงคโปร์
P
ร้อยละ ๖๐ หรือมากกว่า
ประเทศไทย
P
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าและผลประกอบการอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗๕ หรือมากกว่าและผลประกอบการอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในสามอันดับแรก
เวียดนาม
P
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๓๐ หรือมากกว่าสำหรับบริษัทหนึ่งบริษัท
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสองบริษัท
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๖๕ หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสามบริษัท
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗๕ หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสี่บริษัท


การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในอาเซียน

ประเทศ
กฎระเบียบเรื่องการควบรวมกิจการ
หลักเกณฑ์การแจ้งเรื่องการควบรวมกิจการ (Notification Threshold)
บรูไน
-
เฉพาะในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคม
กัมพูชา
ไม่มี
ไม่มี
อินโดนีเซีย
มี
กำหนดให้แจ้งหลังการควบรวมกิจการ
(๑) สินทรัพย์ตั้งแต่ ๒.๕ พันล้าน รูเปีย และ/หรือ (๒) มูลค่าการขายตั้งแต่ ๕ พันล้านรูเปีย (๒๐ พันล้าน รูเปีย หากเป็นทรัพย์สินในภาคธุรกิจธนาคาร)
ลาว
ไม่มี
ไม่มี
มาเลเซีย
ไม่มี
ไม่มี
เมียนมาร์
ไม่มี
ไม่มี
ฟิลิปปินส์
ไม่มี
ไม่มี
สิงคโปร์
มี
กำหนดให้เป็นการแจ้งโดยสมัครใจเมื่อการควบรวมกิจการนั้นทำให้เกิดส่วนแบ่งตลาดที่ (๑) ตั้งแต่ร้อยละ ๔๐ ขึ้นไป หรือ (๒) ร้อยละ ๒๐-๔๐ และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดสามบริษัทแรกตั้งแต่ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป
ประเทศไทย
มี
จะมีการเผยแพร่ในอนาคต
เวียดนาม
มี
กำหนดให้แจ้งหากส่วนแบ่งตลาดจากการควบรวมกิจการมากกว่าร้อยละ ๓๐

คำตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

(๑) ตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์
คำตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันของสิงคโปร์เป็นคำตัดสินในคดี Cartel ที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศ
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ หรือ the Competition Commission of Singapore (CCS) ตัดสินว่า ผู้ประกอบการจัดส่งสินค้า (freight forwarder) กระทำการขัดต่อมาตรา ๓๔ แห่ง Competition Act[๒] โดยทำการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าเก็บเงินเพิ่ม แลกเปลี่ยนราคาและให้ข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังสิงคโปร์ บริษัทญี่ปุ่นและสิงคโปร์จำนวน ๑๐ บริษัท จากจำนวนบริษัทใน cartel ทั้งหมด ๑๑ บริษัทถูกปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๗,๑๕๐,๘๕๒ สิงคโปร์ดอลลาร์ (๑๗๕.๗ ล้านบาท) บริษัทที่ให้ข้อมูลเรื่อง cartel ดังกล่าวได้รับการยกเว้นค่าปรับทั้งหมดตามโครงการ leniency
อนึ่ง การกำหนดราคาระหว่างคู่แข่งขัน (Price fixing between competitors) จัดเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าที่ร้ายแรงที่สุด เนื่องด้วยพฤติกรรมดังกล่าวบิดเบือนการค้าระหว่างผู้ร่วมกำหนดราคาและผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าหรือบริการในราคาสูง

(๒) คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเวียดนาม กรณีบริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company)
วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเวียดนามปรับบริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company) ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดการจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินในสนามบินเวียดนาม จำนวน ๓.๓๗๘ พันล้านดอง (หรือประมาณ ๔.๘ ล้านบาท) กรณีใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบในการจำหน่ายน้ำมันให้แก่สายการบินพาณิชย์ที่สนามบินภายในของเวียดนาม ในกรณีดังกล่าว บริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company) ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม กล่าวคือ จำหน่ายน้ำมันเครื่องบินให้กับลูกค้าซึ่งเป็นสายการบินอื่น (Jetstar Pacific Airlines) ในราคาที่สูงกว่าราคาที่จำหน่ายให้แก่ Vietnam Air ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหุ้นอยู่ใน บริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company)

             (๓) คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอินโดนีเซีย
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสั่งปรับผู้ดำเนินธุรกิจท่าเรือท้องถิ่นเป็นเงินจำนวน ๔.๗๗ พันล้านรูปี (๑๒ ล้านบาท) กรณีใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ จากการขายพ่วงซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจท้องถิ่นปิดตัวลง

สรุป

แม้ว่าภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศในอาเซียนจะเป็นร้อยละศูนย์แล้ว แต่ก็ยังคงมีสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าอ่อนไหว ที่ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ เมื่อมีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ภาษีสินค้าทุกประเภทที่นำเข้าจากประเทศอาเซียนจะต้องค่อย ๆ ปรับลดลงจนเป็นศูนย์ ผู้ประกอบการของไทยจะต้องประสบกับ
การนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน สินค้าราคาต่ำนั้นไม่ใช่ปัญหาแต่หากเป็นการขายสินค้าราคาต่ำเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการค้าท้องถิ่นและเป็นการกระทำของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดแล้ว ตามหลักทฤษฎี การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยสนใจที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงและมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ผู้บริโภคเองต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากในตลาดสินค้าทั่วไป การมีผู้ประกอบการจำนวนมากจะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันที่ราคาและการพัฒนาสินค้า ในขณะที่การมีผู้ประกอบการน้อยรายนั้น หรือการเป็นตลาดผูกขาดนั้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่จำกัดและอาจจะต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดปกติ



[๑]LLB (European Legal Studies), University of Bristol นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒] Section 34 of the Competition Act กำหนดว่า “agreements between undertakings, decisions by associations of undertakings or concerted practices which have as their object or effect the prevention, restriction or distortion of competition within Singapore are prohibited unless they are exempt in accordance with the provisions of this Part

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ว่าด้วย Social Enterprise

นางสมาพร นิลประพันธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสวัสดิการสังคม
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

          ในยุคแห่งการปฏิรูปนี้ ผู้เขียนพบว่ามีการกล่าวถึงคำว่า Social Enterprise กันอยู่เป็นระยะ ซึ่งหากแปลคำว่า Social Enterprise เป็นภาษาไทยแบบตรง ๆ ตามพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด ก็ออกจะชวนงงอยู่ไม่น้อย เพราะจะแปลได้ว่าธุรกิจหรือกิจการสังคม

         ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในห้วงแห่งความพิศวงสงสัยในเรื่องดังกล่าว เพราะเข้าใจมาโดยตลอดว่าการดำเนินธุรกิจนั้น ผู้ประกอบธุรกิจเขาก็มุ่งที่จะแสวงหากำไรเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบกิจกรรมทางสังคมนั้นเขาก็มุ่งไปในทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม เรียกว่าทางใครทางมัน จะมีบ้างที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility หรือ CSR แต่เขาก็ยังประกอบธุรกิจเพื่อมุ่งหากำไรสูงสุดเหมือนเดิม เพียงแต่แบ่งรายได้หรือกำไรบางส่วนมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้างเท่านั้น เมื่อ CSR มีผลดีในตัวเองอยู่บ้าง หลายประเทศจึงส่งเสริมให้มีการทำ CSR กันให้มากไว้ โดยมีแรงจูงใจสำคัญคือการให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ใช้ในกิจกรรม CSR มาลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งย่อมทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงนิยมทำ CSR กันมาก แต่ก็เพื่อกระเป๋าของตัวเอง แถมพักหลัง ๆ นี้ CSR กลายเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์กิจการด้วยซ้ำไปว่ากิจการของฉันรักษ์โลก รักษ์สังคม เหมือนน้องเนย รักโลก อะไรประมาณนั้น แต่สิ่งที่กิจกรรม CSR ไม่มีก็คือความต่อเนื่อง และเมื่อไม่ต่อเนื่อง การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ก็ขาดความยั่งยืน ลงท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม แต่ผู้ประกอบธุรกิจได้กำไรไปแล้ว

          แล้วเจ้า Social Enterprise นี้คืออะไร?

          จากการศึกษาเรื่องนี้ลึกลงไปจากข้อเขียนและตำราต่าง ๆ (นอกจากใน Wikipedia ที่ปัจจุบันมีผู้อ้างเป็น Reference ในเอกสารวิชาการกันแล้ว) ผู้เขียนพบว่าแนวคิดเรื่อง Social Enterprise เป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมในด้านต่าง ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น เพื่อให้คนในชุมชนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนบ้าง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอันเกิดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพื่อสร้างงานหรือลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมบ้าง เป็นต้น จะเรียกว่าเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนใช้เพื่อสร้างความวัฒนาผาสุกในชุมชนหรือสังคมก็ได้

          เมื่อหลักการของ Social Enterprise มีความหลากหลายเช่นนี้ ตำรับตำราต่าง ๆ จึงให้นิยาม Social Enterprise แตกต่างกันไป  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนสังเกตว่า Social Enterprise ตามตำราต่าง ๆ นั้นมีลักษณะร่วมกันสี่ประการด้วยกัน

      ประการที่หนึ่ง เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำกันแบบฉาบฉวยเหมือน CSR

          ประการที่สอง องค์กรนั้นทำการค้า (Trade) เพื่อแสวงหารายได้หรือกำไร แต่มิได้มุ่งที่จะนำรายได้หรือกำไรนั้นมาแบ่งปันกันในระหว่างสมาชิกหรือผู้ถือหุ้น แต่เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวแล้ว

          ประการที่สาม รายได้หลัก (substantial income) ขององค์กรนั้นได้มาจากการทำการค้า

          ประการที่สี่ องค์กรนั้นนำกำไรหรือรายได้ส่วนเกิน (profit or surplus) ส่วนใหญ่มาลงทุนอย่างต่อเนื่อง (reinvest) ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

          สำหรับวัตถุประสงค์หลักของ Social Enterprise นั้น ได้แก่ การสร้างงาน (Employment) หรือการประกอบกิจการที่สร้างงานสร้างรายได้ในชุมชนโดยใช้คนในชุมชน และมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนผ่านการศึกษาฝึกอบรมให้มีทักษะ ฝีมือ หรือความคิดสร้างสรรค์ การให้บริการแก่ชุมชน (Service Delivery) หรือการประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดหรือรักษาไว้ซึ่งบริการอันเป็นที่ต้องการของชุมชน และการสร้างรายได้แก่ชุมชน (Income generation)

          สำหรับหน้าตาของ Social Enterprise ตามหลักการดังกล่าวสำหรับคนที่ยังนึกภาพไม่ออกนั้น เช่น การประกอบธุรกิจรับเลี้ยงเด็กเล็กในชุมชน และนำรายได้ที่ได้รับจากกิจการดังกล่าวมาพัฒนาคุณภาพอาหารเด็ก หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้เด็กมีความใกล้ชิดกับครอบครัว หรือการประกอบธุรกิจโรงงานโดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในชุมชน เพื่อนำเงินรายได้วนกลับมาพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบหรือทักษะฝีมือแรงงานในชุมชน หรือให้ค่าจ้างเพิ่ม เป็นต้น

          ผู้เขียนเห็นว่าการประกอบธุรกิจแบบ Social Enterprise นี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากเนื่องจากเป็นการประกอบธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสังคม (Social Value) มากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล (Individual Benefit) ตามแนวทางประกอบธุรกิจกระแสหลักของโลกยุคบริโภคนิยม (Consumerism) ที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอาในปัจจุบัน อีกทั้งการประกอบธุรกิจแบบ Social Enterprise นี้ยังสอดรับได้เป็นอย่างดีกับการดำรงชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้  ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอเรื่อง Social Enterprise เมื่อวันจันทร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558


          อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีข้อกังวลประการหนึ่งที่ขอฝากไว้ โดยจากการศึกษาแนวทางของต่างประเทศนั้น ทุกประเทศเขาให้ความสำคัญกับพิจารณาเรื่องต่าง ๆ (รวมทั้งเรื่อง Social Enterprise ด้วย) ในแง่เนื้อหาหรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงมากกว่ารูปแบบที่ปรากฏ ขณะที่คนไทยคุ้นชินกับการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในแง่ของรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าอนาคตของ Social Enterprise ของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแว่วว่ามีการเสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อจัดตั้ง Social Enterprise ขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจได้ Social Enterprise ในทางรูปแบบมากกว่าเนื้อหาอย่างที่เราต้องการ เพราะกฎหมายเป็นเรื่อง “การบังคับ” แต่ Social Enterprise เกิดขึ้นจาก “ความมุ่งมั่น”  หรือ “ความรู้สึกรับผิดชอบ” ของผู้ประกอบธุรกิจที่เห็นความสำคัญคุณค่าของสังคม (Social Value) มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้เขียนจึงเห็นว่าการพัฒนา Social Enterprise ควรใช้มาตรการส่งเสริมมากกว่าการกำกับหรือควบคุม การบังคับโดยกฎหมายจึงอาจขัดขวางการพัฒนา Social Enterprise รวมทั้งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องได้ 

                    จึงขอฝากประเด็นนี้ไว้เป็นข้อคิดด้วย.