โลกเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาใหม่ในบริบทใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม วิธีการแบบเก่า ๆ จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ เราต้องพัฒนา "กลไกใหม่ ๆ" ในการแก้ไขปัญหาขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ และการแก้ไขปัญหาต้องมองอย่างเป็นระบบ มองแบบองค์รวม (Wholistic) เพื่อสร้าง "ความเข้าใจ" เกี่ยวกับปัญหานั่นก่อน เมื่อเข้าใจปัญหาแล้วต้อง "เข้าถึงผู้เกี่ยวข้อง" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันในการจัดการกับปัญหานั่น หากเป็นเช่นนี้ได้ "การพัฒนา" จึงจะเกิด
สำหรับมาตรการที่ต้องมีการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนนั้นต้องออกกฎหมายมาบังคับ แต่การเขียนกฎหมายเพื่อแก้ไขหรือรองรับปัญหาใหม่ ๆ โดยใช้วิธีลอก "แบบ" จากกฎหมายเก่า ๆ อย่างที่นิยมทำกันอยู่ทั่วไปในหน่วยงานต่าง ๆ จึงไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอันใด
จริงอยู่ว่าการลอกแบบอาจทำให้มีกฎหมายใหม่ขึ้นได้อีกฉบับหนึ่งโดยเร็วเท่านั้นเอง เพราะคุ้นตาคนพิจารณา แต่เมื่อเนื้อหามันเป็นการ "ลอกของเก่า" เมื่อนำมาใช้กับ "ปัญหาใหม่" เราท่านจึงจะพบว่ากฎหมายใหม่ ๆ จำนวนมากไม่ได้ข่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้สักเท่าไร เพราะมาตรการหรือกลไกตามกฎหมายมันเก่า มันไม่เหมาะกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน แถมยังซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่ด้วย ซึ่งจะกลายเป็นการทำให้ปัญหารุงรังหนักขึ้นไปอีก
การร่างกฎหมายโดยลอกแบบมาจากของเก่า แล้วเติมมาตรการที่คิดว่ามันจะแก้ปัญหาที่ "เคยเกิดขึ้น" มาได้ จึงเป็นการ "ไล่ตามปัญหา" ไม่ได้แก้ปัญหาอันใด แล้วภายหลังก็มาบ่นกันว่ากฎหมายแก้ปัญหาไม่ได้ พุธโธ่ ก็มันจะแก้ได้ยังไงเพราะลอกของเก่ามา เหมือนคนยืนอยู่ที่เดิม แต่ปัญหามันหมุนไปข้างหน้า แถมยังหมุนเร็วอีกด้วย
ถ้าผู้เสนอกฎหมายยังเน้นการลอกแบบ เช่น ต้องมีคณะกรรมการ ต้องมีระบบอนุญาต เจ้าหน้าที่มีดุลพินิจเยอะ ๆเป็นต้น และผู้พิจารณาก็ไหลตามนั้นไปด้วย โดยเน้นการเล่นถ้อยคำสำนวน แทนที่จะมุ่งผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เราคงไม่อาจหลีกหนีปัญหาการทำงานทีล่าช้า ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที เพราะต้องประชุมมันอยู่นั่นแหละ เสียเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการประชุมและเวลาทำงานไปเท่าไร ซึ่งไม่รู้ว่าคุ้มค่ากับผลผลิตและผลลัพธ์ที่ได้หรือไม่ ปัญหาการทุจริตก็ไม่มีทางลดน้อยลง คดีคั่งค้างเยอะ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องร่ายรำให้ครบเพลงเสียก่อนที่ทะลงมือสืบสวนหรือไต่สวน แถมยังคงมีดุลพินิจกว้างขวาง ไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน กำหนดเวลาทำงานในแต่ละขั้นตอนก็ไม่มี ทั้งไม่มีการเข้าถึงประชาขนเพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปีญหาอย่างแท้จริงด้วย
สรุปว่าเรายังคงร่างกฎหมายตามแบบมากกว่าจะสนใจสาระ ผลผลิต และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ในทัศนะผม การนับจำนวนกฎหมายที่ผลิตออกมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานนั่นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เราควรนึกถึงคุณภาพของกฎหมายมากกว่าปริมาณ เพราะคุณภาพของกฎหมายมีผลต่อสังคมโดยรวม สำหรับผม กฎหมายต้องทำให้ประชาชนมี Better Life ไม่ใช่อยู่ ๆ กันไปตามที่เคย ๆ
ไม่ได้ว่าใครนะครับ แค่อยากเห็นบ้านเมืองก้าวหน้าเท่านั้นเอง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น