เพื่อความกระจ่าง ผู้เขียนจึงได้ศึกษารายงานและข้อเสนอแนะของการประชุมคณะอนุกรรมการประเมินความน่าเชื่อถือ
(Sub-Committee
on Accreditation: SCA) ของ International Coordinating
Committee of National Institutions for the Promotion and Protection of Human
Rights ที่ประชุมกันระหว่างวันที่ ๒๓-๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่เจนีวา
ซึ่งเป็นการเตือนล่วงหน้าว่า กสม. ไทยจะถูกลดสถานะจาก “เอ” เป็น “บี” ในปี
๒๕๕๘ ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการปารีสอย่างครบถ้วนหรือยังไม่สามารถแสดงได้ว่าได้ปฏิบัติตามหลักการปารีสครบถ้วนแล้วภายในหนึ่งปี
ซึ่งในที่สุด กสม. ก็ไม่สามารถแสดงได้ว่าได้ปฏิบัติตามหลักการปารีสครบถ้วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว
ทำให้ กสม. ถูกลดสถานะจาก “เอ” เป็น “บี” ในการประชุมของ International
Coordinating Committee of National Institutions for the Promotion and
Protection of Human Rights ที่ประชุมกันระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐
พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่เจนีวา หนึ่งปีผ่านไป การประชุมในปี
๒๕๕๙ ก็ไม่มีวาระการประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะของ กสม. ไทย และในการประชุมที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่
๑๓-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่จะถึงนี้ ก็ยังไม่มีการประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะของ
กสม. ไทยอีกเช่นกัน
ผ่านมาถึงเกือบสองปีแล้ว ทำไมเราจึงยังไม่สามารถแสดงได้ว่า
กสม. ได้ปฏิบัติตามหลักการปารีสครบถ้วนแล้ว???
เราติดขัดอะไรหรือ???
ผู้เขียนจึงพยายามสรุปรายงานของ
SCA ว่าเขามีข้อเรียกร้องอะไรให้เราทำ เผื่อจะได้ช่วยกันคิดอ่านว่าจะทำอย่างไรให้
กสม. กลับไปสู่สถานะ “เอ” ได้เหมือนเช่นเดิม โดยในการสรุปนี้ผู้เขียนได้ใช้คำว่า
“คณะอนุกรรมการ” แทนชื่อเต็มของ SCA
เนื้อหาสาระของรายงานดังกล่าว
สรุปได้ดังนี้
* * * * * * * *
* *
๓.๑๐
ประเทศไทย:
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
คณะอนุกรรมการแนะนำให้ลดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(ประเทศไทย) เป็นบี ซึ่งสอดคล้องกับข้อ ๑๘.๑ ของ ICC Statute แต่คำแนะนำนี้จะยังไม่มีผลจนกว่าจะพ้นหนึ่งปี
ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสแก่ กสม. เสนอเอกสารหลักฐานที่จำเป็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการปารีส
(Paris Principle) ดังนี้ คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่า กสม. จะยังคงมีสถานะ
เอ ต่อไปอีกเป็นเวลาหนึ่งปี
ความเห็นของคณะอนุกรรมการ
๑. การสรรหาและแต่งตั้ง
คณะอนุกรรมการได้แสดงความกังวลเป็นอย่างมาก
(serious
concerns) มาก่อนหน้านี้แล้ว
เกี่ยวกับกระบวนการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะอนุกรรมการเห็นว่า
- ไม่มีข้อกำหนดให้ประชาสัมพันธ์ว่าตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนว่างลง
- คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๘
(๑) ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนน้อยมาก ไม่ชัดเจนว่าเป็นตัวแทน
(representation) ที่แท้จริง ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการหารือกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลักหรือภาคประชาสังคม
(key stakeholder groups or civil society)
- ไม่มีบทบัญญัติให้มีการปรึกษาหารือและ/หรือการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
(broad
consultation and/or participation) ในการสมัคร การคัดกรอง
และการสรรหา
- การตัดสินไม่มีหลักเกณฑ์รายละเอียดที่ชัดเจน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับทราบข้อกังวลเรื่องการไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา
และชี้แจงว่าได้แนะนำให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดเลือกสมาชิกสองคนจากภาคประชาสังคมแล้ว
คณะอนุกรรมการเห็นว่า ด้วยคำแนะนำนั้นอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความห่วงกังวลของคณะอนุกรรมการ
และไม่ได้ทำให้กระบวนการสรรหามีความโปร่งใสและทำให้เกิดการมีส่วนร่วมซึ่งส่งเสริมหลักการสรรหาตามระบบคุณธรรม
(merit-based
selection)
คณะอนุกรรมการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงกระบวนการสรรหาให้มีความชัดเจนโดยสอดคล้องกับกฎหมาย
ระเบียบ หรือแนวปฏิบัติ รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีผลอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ
การเปลี่ยนแปลงควรต้องมุ่งไปที่ข้อกังวลของอนุกรรมการดังกล่าวข้างต้น
คณะอนุกรรมการอ้างถึงหลักการปารีส
ข้อบี ๑ และ
General Observation ๑.๘ เรื่อง “การคัดเลือกและการแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศ”
๒. ความคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
คณะอนุกรรมการได้แสดงความกังวล
(concerns) มาก่อนหน้านี้แล้วว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องได้รับความคุ้มกันจากการดำเนินคดีทั้งปวงหากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า
มีบทบัญญัติในกฎหมายหลายบทที่อาจจะให้ความคุ้มกันจากการดำเนินคดี
กฎหมายดังกล่าวรวมถึงกฎหมายมหาชน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา
๓๒๙ พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๓
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๒๐ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕
คณะอนุกรรมการยังคงกังวลว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้มั่นใจว่าได้รับความคุ้มกันและความเป็นอิสระ
ในการปฏิบัติหน้าที่
คณะอนุกรรมการเคยแสดงความกังวลมาก่อนหน้านี้แล้วว่า
บุคคลภายนอกอาจหาช่องทางเพื่อเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้
โดยฟ้องหรือขู่ว่าจะฟ้องศาล ด้วยเหตุผลดังกล่าวและบทบาทอันเป็นเอกลักษณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
คณะอนุกรรมการเห็นว่ากฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะมีบทบัญญัติที่ชัดเจนและปราศจากความคลุมเครือเพื่อปกป้องกรรมการจากความรับผิดทางกฎหมายสำหรับการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวต้องสร้างเสริม
-ความมั่นคงในการดำรงตำแหน่ง
-ความสามารถของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการวิเคราะห์และการวิจารณ์ประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากการแทรกแซง
-ความเป็นอิสระ และ
-ความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะอนุกรรมการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแนะนำให้มีการบัญญัติกฎหมายที่ให้ความคุ้มกันกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
คณะอนุกรรมการอ้างถึงหลักการปารีส
ข้อบี ๓ และ
General Observation ๒.๓ เรื่อง “การประกันเรื่องความคุ้มกันตามหน้าที่”
๓. การตอบสนองต่อกรณีมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที
คณะอนุกรรมการได้แสดงความกังวล
(concerns) มาก่อนหน้านี้แล้วว่า
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้ตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างทันท่วงที
ในปี ๒๐๑๐ (๒๕๕๓) เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงและการก่อความไม่สงบส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ซึ่งเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีความร้ายแรง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลับใช้เวลาถึงสามปีในการดำเนินการและเผยแพร่รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเมื่อปี
๒๐๑๐
ในปี ๒๐๑๓ (๒๕๕๖) เกิดการประท้วงที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ข้อมูลโดยย่อแก่คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินการในการช่วงที่มีสถานการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น
อันแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทำงานด้วยความยากลำบาก และได้ปรับปรุงกระบวนการติดตามการปฏิบัติต่าง
ๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการมีข้อสังเกตว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น
๒๐๑๓ ไม่แล้วเสร็จ
คณะอนุกรรมการมีข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีการรัฐประหารหรือมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับการคาดหวังว่าจะต้องดำเนินการด้วยความตั้งใจและเป็นอิสระอย่างสูงสุดเพื่อสนับสนุนและทำให้มั่นใจว่าการดำเนินการต่าง
ๆ เคารพต่อสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย และสร้างความเข้มแข็งต่อหลักนิติรัฐโดยปราศจากข้อยกเว้น
การดำเนินการดังกล่าวอาจรวมถึงการติดตาม การบันทึกเอกสาร การออกแถลงการณ์ และการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยละเอียดผ่านสื่อต่าง
ๆ อย่างทันท่วงที นอกจากนี้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดำเนินกิจกรรมเพื่อติดตามอย่างเป็นระบบ
และสนับสนุนการพิจารณาและดำเนินการตามรายงานและคำแนะนำเพื่อให้มั่นใจถึงการคุ้มครองสิทธิที่ถูกละเมิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผยแพร่รายงานต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
คณะอนุกรรมการอ้างถึงหลักการปารีส
ข้อเอ ๓ และ
C.C รวมถึง General Observation ๑.๖ เรื่อง “คำแนะนำโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” และ ๒.๖
“สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระหว่างสถานการณ์รัฐประหารหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน”
๔. ความเป็นอิสระและความเป็นกลาง
คณะอนุกรรมการเคยยกข้อกังวลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แสดงความฝักใฝ่ทางการเมืองอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนระหว่างปฏิบัติหน้าที่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่า
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ “กระตุ้น”
ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นไปตามคู่มือจริยธรรม (Code of
Conduct) ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่า การแสดงออกถึงความฝักใฝ่ทางการเมืองขณะปฏิบัติหน้าที่ส่งผลกระทบทางลบอย่างชัดเจนต่อความเป็นอิสระที่แท้จริง
ความเป็นกลางและการเข้าถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ประเทศเกิดความไม่สงบทางการเมือง
เพราะเป็นการยากที่เหยื่อจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเข้าถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองกับผู้กระทำความผิด
ดังนั้น คณะอนุกรรมการขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความรับผิดชอบเพื่อวาง
“ประกัน” มากกว่าเพียง “กระตุ้น” ให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเป็นกลาง
คณะอนุกรรมการมีข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์รัฐประหารหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน
เป็นที่คาดหวังว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการด้วยความเป็นอิสระและสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
คณะอนุกรรมการอ้างถึงหลักการปารีส
ข้อเอ ๓ และ
General Observation ๒.๖ เรื่อง “สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”
และ ๒.๖
“สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระหว่างสถานการณ์รัฐประหารหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน”
๕. กระบวนการนิติบัญญัติ
คณะอนุกรรมการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวข้องอย่างมากในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน[๓]และมีเจตนาที่จะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับปัจจุบัน
กระบวนการนิติบัญญัติที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องนี้เป็นโอกาสที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการปารีส
คณะอนุกรรมการจึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการให้มีการแก้ไขประเด็นที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้
รวมถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะอนุกรรมการอ้างถึงหลักการปารีส
ข้อเอ ๒ และ General Observation ๑.๑ เรื่อง “การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”
เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
(Office of the High Commissioner for Human
Rights) และ Asia Pacific Forum of NHRIs ในการดำเนินการ
* * * * * * * *
* *