ผู้เขียนสังเกตพบว่าในช่วงสิบปีมานี้มีกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้มีการตั้งกองทุนขึ้นเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่ากรมไหนไม่มีกองทุนให้ดูแลแล้วละก็นับว่าเชยแหลกทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ต่อมความสงสัยจึงทำงานโดยอัตโนมัติ คำถามที่ผุดขึ้นตัวโต ๆ ก็คือทำไมต้องตั้งกองทุนกันด้วย เงินงบประมาณก็มี แถมการเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละปีก็ล่าช้า ใช้จ่ายกันไม่ทัน ไม่เป็นไปตามแผน เร่งแล้วเร่งอีกยังไงก็ไม่ทัน เหลือจ่ายปี ๆ นึงบานเบิกซึ่งสร้างความปวดเศียรเวียรเกล้าให้แก่ทุกรัฐบาล เพราะรัฐเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในประเทศ ใช้จ่ายเงินไม่ได้ เงินก็ไม่เข้าระบบเศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ ว่าไม่ถึงมือชาวบ้านนั่นแหละ
พอสืบเสาะลงไปลึก ๆ ผู้เขียนจึงพบเหตุผลสุดแสนคลาสสิคในการเสนอจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ ซึ่งสรุปได้ว่า "เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายนั้นเป็นไปอย่างคล่องตัว" เพราะการใช้จ่ายเงินกองทุนนี่เป็นไปตามระเบียบของกองทุน หน่วยงานเจ้าของกองทุนโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังสามารถกำหนดระเบียบการใช้จ่ายให้คล่องตัวได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการที่ใช้กับเงินงบประมาณ
ข้อเท็จจริงที่ว่านี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อยสองประการในทรรศนะของผู้เขียน
ประการที่หนึ่ง โดยมากกองทุนจะได้รับเงินประเดิมจากงบประมาณแผ่นดิน และถ้าไม่พอใช้จ่าย ก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ดังนั้น ยิ่งมีกองทุนมาก รัฐต้องเจียดจ่ายเงินงบประมาณให้แก่กองทุนมากตามไปด้วย เงินงบประมาณส่วนนี้จึงกระจัดกระจายกลายเป็นเงินเบี้ยหัวแตก ไม่เป็นเงินก้อนโต ๆ ประมาณว่าเป็นชายที่มีบ้านเล็กบ้านน้อยมาก ถึงจะมีเงินเดือนหลายแสน แต่เมื่อต้องเจือจุนบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายบ้านเพราะ "รักทุกคน" ก็เหลือให้แม่ ให้เมีย (หลวง) ให้ลูกใช้ได้เพียงไม่เท่าไร
ประการที่สอง การใช้จ่ายเงินกองทุนแม้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด แต่ปกติจะกำหนดแยกเป็นเรื่อง ๆ โดยเฉพาะอย่างชัดเจน หน่วยงานใช้จ่ายเงินโดยมากก็จะเป็นกรมที่รับผิดชอบดูแลกองทุนนั้น ไม่ใช่กระทรวงด้วย การใช้จ่ายเงินจึงไม่มีการบูรณาการ ขาดการมองแบบองค์รวม ซ้ำไปซ้ำมา อย่างเรื่องเด็กนี่ก็มีหลายกองทุนอยู่ที่ดูแล แต่ไม่มีการบูรณาการแผนงานแผนเงินกัน กองทุนใครกองทุนมัน กลายเป็นเด็กคนเดียวได้เงินจากหลายกองทุน กองละนิดละหน่อย กองไหนดูแลเรื่องการศึกษาก็ช่วยด้านการศึกษา ถ้าเด็กพิการทุพลภาพก็ได้จากอีกกองทุนหนึ่งเติมเข้ามา เรื่องสุขภาพมาจากอีกกองทุนหนึ่ง เป็นอาทิ การใช้จ่ายแบบนี้จึง "ไม่ทรงพลัง" ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนขึ้นได้ พอดีพอร้ายการใช้จ่ายเงินกองทุนจะกลายเป็นเครื่องมือหาเสียงทางการเมืองไปอีก
แถมยิ่งมีกองทุนมาก ก็เกิดคำถามเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนแต่ละแห่งอีก กลายเป็นภาระ สตง. ที่ต้องตามไปตรวจ
ที่สำคัญที่สุดคือการตั้งกองทุนเยอะ ๆ นี่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ระบบราชการเองก็เชื่อมั่นว่ากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินนี่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติราชการ เพราะถ้าระบบมีประสิทธิภาพจริง ใครจะหนีออกไปตั้งกองทุนให้เมื่อย ถึงขนาดยอมทำบัญน้ำบัญชีแยกกันทีเดียว
โดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าในยุคอันสลับซับซ้อนนี้การทำงานต้องมีการบูรณาการกัน การตั้งกองทุนในหลาย ๆ เรื่องจึงไม่เหมาะสมกับยุคสมัยและสร้างปัญหามากกว่าสร้างประโยชน์ จึงควรปฏิรูปกองทุนตามกฎหมายต่าง ๆ เสียใหม่ให้คงมีเพียงเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริง ๆ อย่ามัวแต่เกรงอกเกรงใจกัน เพราะเงินที่ใช้เป็นเงินของแผ่นดิน จึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และทุกกองทุนต้องทำงานอย่างบูรณาการกัน และสมควรต้องปฏิรูปกฎหมาย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย มิฉะนั้นจะเลิกกองทุนที่ไม่จำเป็นได้ยาก
นี่ร่วมด้วยช่วยคิดตามหลักการมีส่วนร่วมในยุคปฏิรูปนะครับ อย่าเข้าใจเป็นอื่นไป
เพื่อบ้านเมืองของเราครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น