วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เหตุที่กฎหมายล้าสมัย โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ทุกวันนี้ได้ยินคนบ่นอยู่เสมอว่ากฎหมายไทยนั้นล้าสมัยอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง เลยลองคิดดูเล่น ๆ ว่าทำไมกฎหมายถึงล้าสมัย

คำตอบง่าย ๆ สำหรับคำถามนี้ก็คือมันไม่มีการแก้ไขมานาน มันจึงไม่ทันยุคทันสมัย เช่น เขาซื้อของกันออนไลน์แล้ว กฎหมายเรายังดูแลผู้บริโภคแบบซื้อของต้องยื่นหมูยื่นแมวกันอยู่เลย เป็นต้น

แต่ถ้าพิจารณาแบบให้ความเป็นธรรมกับ "กฎหมาย" บ้าง กฎหมายคงอยากจะพูดว่า ... พี่น้องครับ ผมถูกกล่าวหาว่าไม่ทันสมัยมานานแล้ว เป็นเรื่องจริงครับ .. แต่พี่น้องครับ ผมแก้ตัวเองไม่ได้นะครับ ต้องมีคนเสนอแก้ ต้องมีคนดำเนินการแก้ ต้องมีคนเห็นชอบกับการแก้ จึงจะแก้ได้ ทำไมไม่มองบ้างล่ะครับว่าการที่พวกผมล้าสมัยเพราะ "คนที่เกี่ยวข้อง" นั้นล้าสมัย เขาจึงไม่เสนอแก้ผมเสียที ผมก็เบื่อนะครับ เป็นขี้ปากคนมานานานแล้ว ให้ความเป็นธรรมกับผมบ้างเถิดครับ ผมไม่ได้ร้องขออยู่ในตำแหน่งนาน ๆ เอ๊ย ไม่ได้ร้องขอให้ไม่แก้เสียเมื่อไร แต่ผมพูดไม่ได้ครับ ผมเป็นตัวหนังสือ

นอกจากนี้คงมีอีกหลากหลายเหตุผลที่กฎหมายอยากบอกเล่าให้เราฟังถึงความอึดอัดในใจของเขา

ดังนั้น ปัญหาเรื่องกฎหมายล้าสมัยนี้จึงไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมายเอง แต่เกิดจาก "คน" ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครับว่าทำไม๊ทำไมจึงไม่เสนอให้แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยกันเสียที

เท่าที่สดับตรับฟัง เราคงได้ยินแต่เสียงเรียกร้องให้ออกกฎหมายใหม่ ๆ อยู่เรื่อย อะไรมีปัญหาก็เรียกร้องให้ออกกฎหมาย นัยว่ายังไม่มีกฎหมาย จึงเป็นปัญหา แต่ไม่นึกว่าออกกฎหมายมาแล้วมันจะแก้ปัญหาได้จริงหรือ เช่น การลักลอบจับสัตว์สงวน ถึงมีกฎหมายมันก็ลักลอบจับกันอยู่ดี ปัญหาจึงไม่ใช่ไม่มีกฎหมายนะครับ แต่อยู่ที่ "สำนึก" ของ "คน" ต่างหาก ถ้าคนมีสำนึกที่ดี อาจไม่ต้องออกกฎหมายต่าง ๆ ได้อีกมาก

จริง ๆ แล้วการมีกฎหมายเยอะ ๆ นี่ไม่ดีหรอกนะครับ เพราะกฎหมายเป็นเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน ยิ่งมีกฎหมายมาก สิทธิเสรีภาพยิ่งถูกลิดรอนมาก การเรียกร้องให้ออกกฎหมายจึงไม่ต่างจากการเรียกให้เอาโซ่ตรวนมาคล้องคอแบบพวกชอบเสพย์ความเจ็บปวดน่ะ กฎหมายจึงควรมีเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ย้อนกลับมาถึงเหตุที่ทำให้กฎหมายล้าสมัยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่า "คน" นั่นแหละเป็นเหตุ การพัฒนากฎหมายจึงต้องพัฒนาวิธีคิดของคนที่เกี่ยวข้องไปพร้อม ๆ กันด้วยว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วนะโยม จะอยู่เหมือนเดิมได้ยังไงกัน การพัฒนากฎหมายกับการพัฒนาคนจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ถ้าวิธีคิดยังอยู่ที่ 1.0 จะให้พัฒนาไปถึง 4.0 หรือ 8.0 คงทำได้ยาก

ดังนั้น ต่อไปถ้าจะต่อว่ากฎหมายว่ามันล้าสมัย ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะให้ต่อว่าผู้รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับจะดีกว่าไหม คืนความเป็นธรรมให้กฎหมายบ้าง ไม่มีปากไม่มีเสียงมานานแล้ว

นี่เขามีพระราชกฤษฎีกาบังคับให้ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายใช้บังคับแล้วนะครับพี่น้อง ถ้าไม่ทำอาจเข้าข่ายเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเอาง่าย ๆ

เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนกัน.

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น