วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

โดยที่มาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 6 เมษายน 2561

"คณะอนุกรรมการกองทุน" ใน "คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา" จึงได้ตั้ง "ตุ๊กตา" เกี่ยวกับการตั้งกองทุนที่ว่านี้ ซึ่งเบื้องต้นขอเรียกว่า "กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" แล้วออกไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายในกรุงเทพฯ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

ผู้เขียนเห็นว่าเสียงสะท้อนที่ได้รับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่ให้ทราบทั่ว ๆ กันว่าพี่น้องประชาชนเขาคิดอย่างไรกับการปฏิรูปการศึกษาและกองทุนนี้


คำถามที่ 1 ความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญต่อประเทศชาติ อาจสำคัญกว่ารถไฟความเร็วสูงเสียอีก  
  • ควรจัดตั้งกองทุนให้โรงเรียนประจำตำบลทุกโรงเรียน และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลกันดารไม่สามารถยุบรวมได้ 
  • การให้เพียงทุนทรัพย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จําเป็นต้องมีกระบวนการพิเศษในการสร้างเสริมศักยภาพนักเรียนเหล่านี้ ตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยมรวมถึงวิธีการคัดเลือกต่างจากนักเรียนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษา  
  • ทุนค่าเรียนอย่างเดียวอาจไม่พอจําเป็นต้องมีค่าเดินทางค่าอาหารค่าที่พักซึ่งผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถจ่ายได้  
  • ควรมีกลไกลกำหนดให้ทีการชำระเงินคืนกองทุนอย่างชัดเจน 
  • สภาพความเป็นจริงของชนบทคือ ใจกลางเมืองเป็นเหมือนไข่เเดง ชนบทห่างไกลเหมือนไข่ขาว ขาดแคลน ครู ทรัพยากร  งบประมาณ ในการดูแลเด็กให้มีคุณภาพ ทุกคนวิ่งเข้าหาเมือง วิ่งหนีออกจากชนบทหมด

คำถามที่ 2 กลุ่มเป้าหมายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


   2.1 นักเรียนยากจน 
  •  เงินรายหัว 1,700 /ปีเงินเรียนฟรี 15 ปี แต่ละท้องถิ่นมีศักยภาพและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้่ำระหว่างท้องถิ่นที่มีและไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพยายามสนับสนุนครูให้ครบถ้วนเพียงพอ แต่ก็ยังไม่ทั่ว
  • สมาพันธ์ครูเชียงใหม่ - แม้รัฐจะจัดสรรเงินรายหัวให้โดยเท่าเทียมกันทุกคนแล้วในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กเยาวชนจำนวนมากยังไปโรงเรียนโดยไม่มีเครื่องแบบ รองเท้า อุปกรณ์การเรียน นอกจากนั้น สำหรับเด็ก ม.ต้น ก็ยังไม่มีอาหารกลางวันให้ทานอีก
  • เด็กนักเรียนวัดบึงทองหลาง - เงินที่รัฐให้ 500 บาทค่าเครื่องแบบ ซื้อกระโปรงได้ 2 ตัวก็หมดเงินแล้ว ไม่เหลือเงินไปซื้อเสื้อนักเรียน หรือเครืองแบบชุดพละไม่เหลือเงินไปซื้อหา เช่น เดียวกับเงินเรียนฟรีอื่นๆ ที่ไม่เพียงพอกับความจำเป็นจริง ๆ
  • เด็กควรเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนรู้ เช่น Computer เพื่อใช้ในการสืบค้นและส่งงาน/การบ้าน
  • การให้เงินกองทุนแก่นักเรียนยากจนไม่ควรต้องให้ใช้คืนเพราะจะมีปัญหาเช่นเดียวกับ กยศ. เพราะนักเรียนเหล่านี้มีฐานะที่ยากจน นักเรียนเสนอให้ผู้ได้รับเงินกองทุนไปทำงานให้ ภาครัฐ หรือ ทำงานให้สาธารณะ เป็นการใช้คืนให้แก่สังคมแทนการคืนเป็นเงิน
  • การใช้คืนของผู้รับเงินจากกองทุนในอนาคต ผ่านการบริจาคเงินคืนกลับสู่กองทุน หรือการทำงานบริการสาธารณะหรือทำงานให้ภาครัฐเป็นจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของการรับเงินกองทุน/ทุนการศึกษา
  • ให้ทุนแก่เด็กเยาวชนที่ขาดแคลนได้เรียนในระดับสูงสุดเท่าที่เขาจะมีความสามารถเราเรียนได้ แต่ควรมีเงื่อนไขผลการเรียนประกอบการให้ทุนเรียนต่อในแต่ละระดับ เช่น ผลการเรียนประถมศึกษา(ป1-ป6) ม.ต้น(ม.1-ม.3) ม.ปลาย(ม.4-ม6) นอกจากนี้ หากศักยภาพด้านวิชาการของผู้รับทุนมีจำกัด เช่น เรียนได้แค่ม.ต้น ควรให้ทุนเขาได้ฝึกอาชีพระยะหนึ่ง เพื่อจะได้มีทักษะที่จะไปทำงานได้บ้าง
  • สนับสนุนเงินทุนและสิ่งจำเป็นในการศึกษาใหเด็กได้เข้าเรียน และพิจารณาตามกรณีของเด็กแต่ละคนที่มีฐานะทางครอบครัวแตกต่างกัน หากครอบครัวมีฐานะยากจนมาก  อาจต้องมีเงินทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเด็กด้วย เพื่อให้เด็กไม่ถูกกดดันให้ออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
  • จัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น  และจัดทุนการศึกษาให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้จนจบ ป.ตรี สำหรับนักเรียนที่ต้องการและมีความพร้อม ให้ทุนอุดหนุนตามความต้องการในการศึกษา ช่วยเหลือด้านงบประมาณ
  • ค่าใช้จ่าย  อุปกรณ์การเรียน  ที่อยู่อาศัย สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอตามวัย เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
  • ให้ความช่วยเหลือทั้งทุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวไปพร้อมๆกัน
  • ให้ทุนการศึกษาในการเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ตามค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ผ่านหน่วยงานรัฐ
 
 2.2 ครูและการเรียนการสอน
  • ควรพัฒนาครู /ระบบการเรียนการสอน/ และจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มากเพียงพอและทันสมัย 
  • ไม่สนับสนุนให้เรียนพิเศษตั้งแต่เด็กจนสอบ entrance เสนอให้ศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน On demand และ TRUE

คำถามที่ 3 กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วม
  • ควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ยากจนด้วย 1. ควรมีระบบข้อมูลเพื่อการคัดกรองเด็กยากจนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบติดตามผลของผู้รับทุนด้วย 2. การจัดสรรเงินจากกองทุนให้นักเรียนนั้น จะให้อย่างไร เช่น ให้โรงเรียน ให้ผู้ปกครอง ให้นักเรียนโดยตรง เป็นต้น 3. ระดับการศึกษาที่กองทุนฯ ควรสนับสนุนนั้น ในระยะแรกควรแค่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ถึงปวช.)ก่อน ส่วนอุดมศึกษาควรให้ใช้กองทุนกู้ยืมฯ ไปก่อน 
  • แนะนำให้ลงสำรวจสอบถามกับพ่อแม่ที่ลูกกำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน เช่น ไปหน้าสถาบันกวดวิชาที่มีผู้ปกครองรอรับ ลูก สุ่มสอบถามน่าจะได้ความคิดเห็นไอเดียดีๆ รวมไปถึงพ่อแม่ในต่างจังหวัดด้วย
  • ควรจัดเวทีรับฟังความเห็นให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม
  • สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ย่อมมีความแตกต่างในหลาย ๆ ประเด็น การเข้าถึงสภาพที่เป็นจริงในทุกพื้นที่ ของคณะกรรมการฯ ควรต้องดำเนินการให้ถึง เพื่อมาประมวลผล กำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างนั้น ๆ
  • ขอให้การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ
  • ควรจัดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนในการจัดตั้ง ทั้งภาครัฐ ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม

คำถามที่ 4 การใช้จ่ายเงินกองทุน การติดตาม การตรวจสอบ และความโปร่งใสในการบริหารกองทุน
  • เงินกองทุนควรให้แก่ผู้ที่มีสัญชาติไทย โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการลงทะเบียนคนจน ในรูปแบบการให้สวัสดิการ การศึกษาแก่บุตรหลานของผู้ที่ลงทะเบียนในระบบ ซึ่งเป็นการคัดกรองระดับชาติ และเชื่อมโยงกับทุกระบบ ทั้งการศึกษา  สุขภาพ และการพัฒนามนุษย์
  • ต้องการให้กองทุนมีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรม เพื่อเด็กและความเจริญของชาติบ้านเมือง
  • ไม่อยากให้มีคนที่มีอำนาจหรือบารมีมาทุจริตและโลภกับกองทุน ควรมีการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน 
  • ควรมีระบบตรวจสอบผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเข้มงวดว่าต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริง 
  • รัฐบาลจัดสรรเงินให้กองทุนประกอบกับการรับบริจาคจากผู้มีรายได้สูงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือจากภาษีบาป
  • การช่วยเหลือควรให้เป็นรูปสิ่งที่ไม่สามารถนำไปหาประโยชน์อย่างอื่นต่อได้ เช่น การให้ชุดนักเรียนแทนเงิน การจ่ายค่า เทอมให้แทนเงิน หรือเป็นคูปองทานอาหาร

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลที่พี่น้องประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และตัวนักเรียนเองได้สะท้อนออกมานะครับ แต่คณะอนุกรรมการกองทุนยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากเพื่อนำมาประกอบการออกแบบกองทุนนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาให้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นได้นะครับ ถึงตอนนี้ช่องทางออนไลน์เขายังทำไม่เสร็จ แต่ท่านสามารถส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นมาได้ที่ "คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา" สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เลขที่  99/20 ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ครับ

ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม่คนละมือนะครับ เพราะการศึกษาคืออนาคตของลูกหลานไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น