วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

ตัวอย่างประชารัฐฉบับญี่ปุ่น โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ทำประมง bluefin tuna มากที่สุดในโลก ยิ่งวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นแพร่หลายไปทั่วโลกในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิด over fishing เสียจนทำให้ bluefin tuna เกือบหมดทะเล 
คนเดือดร้อนที่สุดคือชาวประมงครับ ปลาไม่มีขาย ทำไงดี พวกเขาจึงมานั่งคิดร่วมกันในระดับท้องถิ่น แล้วขยายไปในระดับชาติ ว่าจะทำอย่างไรดี 

ในที่สุด พวกเขาพบว่าการจับปลาให้น้อยลงเป็นคำตอบหนึ่ง แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สำหรับพวกเขา คำตอบสุดท้ายคือต้องมี stock ปลา bluefin tuna ให้มากต่างหาก  ถ้ามีปลาเยอะ พวกเขาก็จะมีปลาให้จับได้เรื่อย  ลูกหลานก็สามารถทำอาชีพประมงสืบต่อกันได้อีกหลายชั่วอายุคน ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใครเขา

หลังจากนั้น พวกเขาเริ่มรวมกลุ่มขยายความคิดไปยังชาวประมงทั่วประเทศ แล้วจึงไปบอกกับรัฐบาลให้ออกกฎหมายห้ามหาปลา bluefin tuna ช่วงที่พวกมันผสมพันธุ์และวางไข่เป็นเวลาสองเดือน  

ที่สำคัญพวกเขาไม่ใช่เอาแต่เรียกร้อง พวกเขาช่วยรัฐดูแลไม่ให้มีใครละเมิดกฎหมายด้วย เพราะตระหนักดีว่ารัฐไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึงได้หรอก  เขาใช้วิธีว่าถ้าใครมีปลา bluefin tuna มาขายในช่วงนั้นโดยไม่ใช่ปลานำเข้าละก็ ปลานั่นต้องมาจากการทำประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่  เขาใช้มาตรการทางสังคมลงโทษด้วยการไม่ให้ขายปลานั้นซึ่งปกติก็คือการประมูลที่สะพานปลา ขณะเดียวกันช่วงนั้นพวกเขาก็ช่วยตัวเองโดยการเปลี่ยนไปหาปลาหมึกขายแทน แม้รายได้ลดลงบ้าง แต่ก็แค่สองเดือน หลังจากนั้นก็ออกหาปลากันตามปกติ ถ้าจับได้ตัวไม่ถึงขนาดก็ปล่อยไป ถ้าใครเอาปลาเล็กมาขายละก็จะถูกตักเตือน แรงสุดคือไม่ค้าขายกับรายนั้นไปเลย คนเขามีวินัย ไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ส่วนรวม

เพียงสองปีผ่านไป จำนวน bluefin tuna เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปลาใน stock เพิ่มขึ้นทุกปี และมีให้จับกันทั่วถึงกัน

นี่คือประชารัฐฉบับญี่ปุ่น ความคิดไม่ได้มาจากข้างบนอย่างเดียว แต่มาจากการร่วมคิดร่วมทำของชาวบ้านก่อน แล้วจึงไปร่วมกับรัฐ 

ที่สำคัญ คนของเขาส่วนใหญ่คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น