วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกร็ดการร่างกฎหมาย 13: ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การใช้ถ้อยคำในกฎหมายนั้นมิได้แตกต่างจากการใช้ถ้อยคำในที่อื่น ๆ มันไม่ใช่ “แบบ” (Form) แต่เป็น “ลีลา” (Style) การเขียนที่มี “วิวัฒนาการ” มาต่อเนื่อง

                   การตอบคำถามที่ว่าทำไมกฎหมายนั้นจึงใช้ความเช่นนั้น แตกต่างจากกฎหมายอื่นที่ใช้ความเช่นนี้ จึงไม่ใช่การตอบว่าง่าย ๆ ว่ามันเป็น “แบบ” โดยไปค้นหาจำนวนกฎหมายที่ใช้ความอย่างเดียวกันมาสนับสนุนว่ามีการใช้ความนั้นมากกว่าการใช้ความอย่างนี้ แล้วต้องยึดความที่มีจำนวนมากกว่าเป็น “แบบ”

                   เมื่อไม่นานนี้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง มีการใช้ข้อความที่มีความหมายเช่นเดียวกันถึง 3 ถ้อยคำ คือ “ให้นำมาตรา .. มาใช้บังคับ” ประการหนึ่ง “ให้นำบทบัญญัติมาตรา .. มาใช้บังคับ” ประการหนึ่ง และ “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” อีกประการหนึ่ง ก็มีการถามกันขึ้นมาว่ามันมีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะอ่านแล้วมันก็ได้ความว่าให้นำความในมาตราที่อ้างถึงนั่นแหละมาใช้บังคับ แต่ทำไม่ถึงเขียนลักลั่นกัน

                   หลายท่านบอกว่าได้รับคำชี้แจงว่าสั้น ๆ ว่ามันเป็นแบบ แต่พอเวลาถามลึก ๆ ลงไปว่ามันต่างกันอย่างไร คนตอบก็งง บางทีไปไกลขนาดว่าถ้าอ้างถึงกฎหมายเดียวกันใช้อย่างหนึ่ง อ้างถึงกฎหมายต่างฉบับให้ใช้อีกอย่างหนึ่ง คนพยายามอธิบายก็เหนื่อย คนฟังคำอธิบายเขาก็เหนื่อย

                   เรียนอย่างนี้ครับว่า เมื่อแรกที่สยามประเทศเริ่ม Modernization กฎหมายเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับฝรั่งมังค่าทั้งหลายนั้น เรามีการตั้งกรรมการชำระประมวลกฎหมายเพื่อให้กฎหมายสยามเป็นสากลตามแบบอย่างฝรั่งครับ กรรมการชำระประมวลกฎหมายนี้มีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งมากกว่าไทย เวลาเขายกร่างประมวลกฎหมายกัน ณ เวลานั้นเขาจึงยกร่างเป็นภาษาอังกฤษครับ เป็นที่ยุติอย่างไรแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

                   อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี่ต้นร่างเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ผู้สนใจสามารถขอดูได้ที่ห้องสมุดศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ของเก่านี่เขาละเอียดครับ มีการทำ glossary ไว้ด้วยว่ามาตราไหนมาจากกฎหมายต่างประเทศมาตราใด  

                    อย่างการใช้ถ้อยคำที่เป็นปัญหาที่ยกมาข้างต้นนั้นต้นร่างภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “The provisions of section .. shall be applied..เมื่อแปลเป็นภาษาไทย คณะท่านผู้แปลจึงใช้คำว่า “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” แปลตรงเป๊ะเลย ลองดูในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เลยครับ

                   ต่อมา เมื่อเวลาร่างกฎหมายในยุคหลัง ๆ เราไม่ได้ร่างกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นไทยแล้ว การใช้ถ้อยคำในกฎหมายจึงไม่เคร่งครัดเพราะไม่ต้องแปลอย่างเมื่อแรกทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำที่ว่าจึงมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จาก “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” มาเป็น “ให้นำบทบัญญัติมาตรา .. มาใช้บังคับ” คำว่า “แห่ง” เริ่มหายไปก่อน  ต่อมาก็กลายเป็น “ให้นำมาตรา .. มาใช้บังคับ” เพราะผู้ร่างกฎหมายในยุคต่อ ๆ มาเห็นว่ามันเป็นการนำมาตรา .. มาใช้บังคับทั้งมาตรา จึงไม่จำเป็นต้องเขียนคำว่าบทบัญญัติอีก คำกร่อนไปเรื่อย ๆ

                   ต่อมาผู้ร่างมีความเห็นว่า การนำมาตรา .. มาใช้บังคับนั้น เป็นการนำ “ความ” ในมาตรานั้นมาใช้บังคับ ไม่ใช่นำ “มาตรา” นั้นมาใช้บังคับ จึงใช้ความว่า “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเดิมเมื่อแรกที่มีการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่ลดรูปจากการเขียนความเต็มที่ใช้คำว่า “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” เป็น “ความในมาตรา ..” เท่านั้นเอง และเวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ยังคงใช้ “The provisions of section ..” คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นด้วยกับแนวทางนี้จึงใช้ความว่า “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

                   อนาคตจะกร่อนคำหรือลดรูปไปอย่างไรอีก คงต้องติดตามดูกันต่อไป

                   ภาษามีวิวัฒนาการตามสภาพสังคมครับ                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น