วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Cryptocurrency สำหรับนักกฎหมาย โดย นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัย (ตอนที่ 2)*


               ตอนที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอนวัตกรรมการเก็บข้อมูลแบบกระจายส่วนในรูปของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัล ในตอนนี้ จะเป็นการอธิบายหลักการเบื้องต้นและวิธีการสร้างเงินดิจิทัล โดยจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ คือ ลักษณะของเงินดิจิทัล การสร้างเงินดิจิทัล และความเหมือน (ที่แตกต่าง) ระหว่างเงินดิจิทัลกับเงินกระดาษ (fiat money)

ลักษณะของเงินดิจิทัล

                    เงินดิจิทัลมีคุณลักษณะหลักสามประการ ดังนี้

                   ประการที่หนึ่ง ไม่มีลักษณะทางกายภาพ (digital matter) กล่าวคือ ไม่สามารถจับต้องได้ ต่างจากธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ หากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการเกิดขึ้น ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินที่จับต้องได้ให้แก่ผู้ขาย การชำระหนี้จะเกิดขึ้นจากการที่คอมพิวเตอร์ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทำการประมวลผลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ

                   ประการที่สอง มีการกระจายข้อมูล (distributed ledger) โดยหลักฐานการซื้อขายที่เกิดขึ้นจะได้รับการบันทึกลงไปในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ “ทุกเครื่อง” ที่เชื่อมโยงกันในเครือข่ายเงินดิจิทัลนั้น เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกหรือลงบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานก็คือ บล็อกเชน ซึ่งได้นำเสนอไปในคราวที่แล้วนั่นเอง

                   ประการที่สาม มีการเข้ารหัส (encryption) แม้ว่าหลักฐานของการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สมาชิกของระบบซึ่งไม่ใช่ผู้ซื้อหรือผู้ขายในธุรกรรมดังกล่าว (counterparties) จะสามารถเข้าถึงได้ก็แต่เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ไม่ได้ถูกเข้ารหัส (unencrypted) เท่านั้น เช่น การกล่าวแจ้งว่ามีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น แต่จะไม่สามารถเข้าถึง “ข้อมูลลับ” ที่ถูกเข้ารหัส (encrypted) ไว้ได้เลย เช่น ลักษณะของสินค้าหรือบริการที่ซื้อขาย ราคาของสินค้า หรือที่อยู่ของผู้เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น  ทั้งนี้ ผู้ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลลับเหล่านี้ได้จะต้องมีรหัสผ่านเฉพาะตัวเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ เงินดิจิทัลในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า cryptocurrency หรือ เงินเข้ารหัส นั่นเอง

การสร้างเงินดิจิทัล

                    จริง ๆ เงินดิจิทัลหรือ cryptocurrency เป็นเพียงแค่ข้อความหนึ่งบรรทัดที่ปรากฏอยู่ในสมุดบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ แถมจับต้องไม่ได้เสียอีก  คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องนี้จึงมีคำถามว่าเจ้าเงินดิจิทัลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธ่อร์ (Ether) หรือ ริปเปิ้ล (Ripple) มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ที่ใด และเพราะเหตุใดจึงได้รับความนิยมจากทั้งนักลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังถึงหลักการเบื้องต้นและวิธีการสร้างเงินดิจิทัล รวมถึงการระดมทุนเพื่อไขรหัสและนำเงินดิจิทัลออกจำหน่าย หรือที่เรียกกันติดปากว่า ICO (Initial Coin Offering)

                   การสร้างสายรหัสเงินดิจิทัลหรือตัวต่อ (block) ขึ้นนั้นเปรียบเสมือนการเล่นเกมส์ตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์ระดับสูง ผู้ตอบถูกก็จะได้รางวัลเป็นสายรหัสหรือตัวต่อเงินดิจิทัลดังกล่าว ระบบเงินดิจิทัลแบบบล็อกเชนทุกสกุลปฏิบัติการโดยใช้ “ระบบรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ” (incentive-driven model of security) กล่าวคือ จะต้องมีการตั้งค่ากลางสำหรับการคัดเลือกสายรหัสหรือตัวต่อตัวใหม่ในเครือข่าย โดยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบจะต้องมีฉันทามติว่าสายรหัสที่เลือกนั้นเป็นสายรหัสที่เสนอปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุด ผู้ที่แก้โจทย์ได้ก่อนก็จะได้รับเงินดิจิทัลเป็นรางวัลตอบแทน การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องใช้ความสามารถในการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ขั้นสูง โดยผู้ชนะจะต้องเขียนแสดงคำตอบ (proof of work) ไว้ในตัวต่อตัวใหม่เพื่อให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเครื่องอื่น ๆตรวจการบ้าน เพื่อตรวจสอบว่า คำตอบที่ส่งมานั้นได้มาโดยใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่ และไม่มีวิธีการอื่นใดที่สามารถหาคำตอบหรือเส้นทางเดิน (nonce) อื่นที่ดีกว่านี้ได้อีกต่อไปแล้ว

                   ทั้งนี้ สมาชิกในเครือข่ายทุกรายสามารถอาสาเป็นผู้แก้โจทย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มายเนอร์” (miner นักถลุงแร่) ได้ โดยรางวัลตอบแทนจะมีมูลค่าเป็นสัดส่วนกับระดับความยากง่ายของโจทย์คณิตศาสตร์ที่ได้รับ ผลพลอยได้ประการหนึ่งของการสร้างเงินดิจิทัลในลักษณะนี้ คือ การเพิ่มตัวต่อให้สายรหัสยาวขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มความมั่งคงปลอดภัยให้กับระบบเครือข่าย เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มระดับความยากของโจทย์คณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความซับซ้อนทำให้ยากต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลอีกด้วย

                   การพัฒนาความมั่งคงปลอดภัยให้กับระบบเครือข่ายนี้เองที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางสำหรับการระดมทุนได้ โดยใช้วิธีการที่เรียกกันว่าการทำ Initial Coin Offering หรือ ICO ซึ่งเป็นการล้อคำศัพท์ที่ใช้เรียกการออกขายหุ้นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ (หรือ Initial Public Offering: IPO) นั่นเอง โดยบริษัทผู้ระดมทุนจะตั้งเงินดิจิทัลสกุลใหม่ขึ้น แล้วนำออกขายในราคาต่อหน่วยที่บริษัทผู้ระดมทุนเป็นผู้กำหนด และนักลงทุนสามารถซื้อได้ด้วยเงินกระดาษ

                   ในต่างประเทศ การทำ ICO ได้รับความนิยมเพราะเป็นวิธีการระดมทุนโดยไม่ต้องพึงเงินลงทุนจาก Venture Capitals หรือ VCs (บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน) ซึ่งมักทำให้ผู้ก่อตั้งเสียอำนาจการควบคุมบริษัทไปจากการออกหุ้นเพิ่มเพื่อรองรับการลงทุนของ VCs หรือแม้แต่การทำ IPO เองก็มีค่าใช้จ่ายสูง  อย่างไรก็ตาม บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีการระดมทุนด้วย ICO มากขึ้น ในบ้านเราก็เพิ่งมีบริษัทแห่งหนึ่งประกาศระดมทุนด้วยการออก ICO เป็นรายแรกเมื่อไม่นานมานี้ โดยให้เห็นผลของการระดมทุนว่า ต้องการนำเงินมาพัฒนาระบบปล่อยสินเชื่อด้วยเทคโนโลยีบล๊อกเชน เป็นต้น

ความเหมือน (ที่แตกต่าง) ระหว่างเงินดิจิทัลและเงินกระดาษ

                    เมื่อเราทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นของการสร้างเงินดิจิทัลแล้ว เพื่อความเข้าใจในการทำงานของนวัตกรรมการเงินดิจิทัลนี้มากยิ่งขึ้น แนวคิดพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ความเป็น เงิน (moneyness) ของเงินดิจิทัล หากว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เงินมีลักษณะสำคัญอยู่อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ ความมีจำนวนจำกัด (scarcity) และ การได้รับการยอมรับเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (universal acceptance) ผู้สนับสนุนระบบเงินดิจิทัลเชื่อว่าเงินดิจิทัลมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสองประการ

                   ประการแรก เงินดิจิทัลมีจำนวนจำกัด เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ท่านผู้อ่านคงได้ยินชื่อบ่อย ๆ นั้น แรกเริ่มเดิมทีผู้ออกแบบระบบบิทคอยน์ได้ตั้งค่าของระบบไว้ว่า จำนวนเหรียญบิทคอยน์มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ประมาณ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งเงินสกุลนี้มีซื้อขายกันอยู่ในตลาดเป็นส่วนน้อยมาก แต่กลับมี นักถลุงแร่ ไล่ขุดหาเหรียญใหม่อยู่ตลอด และโจทย์คณิตศาสตร์ที่นักถลุงแร่เหล่านี้จะต้องแก้ก็จะเพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ มีผู้คาดการณ์ว่าบิทคอยน์เหรียญสุดท้ายน่าจะถูกขุดพบและถูกนำมาใช้ประมาณปี พ.ศ. 2683 เลยทีเดียว 

                   ในการนำบิทคอยน์หรือเงินดิจิทัลสกุลใด ๆ ก็ตามไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ เจ้าของเงินดังกล่าวต้องดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นพิเศษที่เปรียบเสมือนกระเป๋าสตางค์เก็บเงินดิจิทัล (e-wallet) โดยเจ้าของเงินจะได้รับรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่กระเป๋าเงินดังกล่าว หลังจากตกลงทำธุรกรรมแล้ว คอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อและผู้ขายจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมนั้นเข้าสู่ระบบเพื่อไปรอการอนุมัติจากคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทั้งหมด เมื่อได้รับการอนุมัติ ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมนั้น ๆ จะถูกบันทึกเป็นตัวต่อตัวใหม่ในสายรหัสเงินดิจิทัลตามหลักการที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น ข้อสำคัญที่ต้องเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ ในธุรกรรมหนึ่ง ๆ ไม่มีใครถือตัวเงินที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญ หรือแม้กระทั่งจำนวนเงินฝากในธนาคารก็ไม่มีปรากฏ การเรียกนวัตกรรมการเก็บข้อมูลเข้ารหัสแบบกระจายส่วนนี้ว่า เงิน ก็เป็นเพียงการสมมติขึ้นมาเท่านั้น

                   ประการที่สอง เงินดิจิทัลได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็นตัวกลางในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นสองระดับ
                   ระดับแรก เป็น การได้รับการยอมรับจากสมาชิกภายในเครือข่าย การเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเงินดิจิทัลสกุลใด ๆ การมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อเหรียญเงินดิจิทัล ล้วนเป็นการส่งสัญญาณไปยังสมาชิกรายอื่น ๆ ในเครือข่ายว่า ตนเองยอมรับเงินดิจิทัลเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน (consideration) ในการทำธุรกรรมใด ๆ ในอนาคต
                   ระดับที่สอง เป็นการได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปและบริษัทห้างร้านที่ทำการค้าแบบดั้งเดิมและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินดิจิทัล ในส่วนนี้เอง ผู้สนับสนุนระบบการเงินดิจิทัลมักอ้างว่า แม้ว่าเงินดิจิทัลจะยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับเงินกระดาษ (fiat money) ที่ออกและควบคุมโดยรัฐ แต่ภาคเอกชนในประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็เริ่มยอมรับให้ลูกค้าของตนชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิทคอยน์ บริษัทข้ามชาติชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้บิทคอยน์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยแล้ว ตัวอย่างเช่น เดลคอมพิวเตอร์ (Dell Computer) ไมโครซอฟ (Microsoft) เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ซับเวย์แซนวิช (Subway Sandwich) และซุปเปอร์มาร์เก็ตโฮลฟู้ดส์ (Whole foods) เป็นต้น

                   อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติความเป็นเงิน (moneyness) ของเงินดิจิทัลยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ในวงกว้าง โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายอกุสแต็ง คาร์สเท็นส์ ผู้จัดการทั่วไปของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement - BIS) และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศเม็กซิโก ได้ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งว่า บิทคอยน์และเงินดิจิทัลอื่น ๆ ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นเงิน กล่าวคือ ไม่ใช่ตัวกลางที่ใช้ในการชำระหนี้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม นายอกุสแต็งยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า หากประชาคมโลกไม่ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลระบบการเงินดิจิทัล นวัตกรรมทางการเงินนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของระบบการเงินของโลกในอนาคตก็เป็นได้

                   สำหรับตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์ผลกระทบของการเงินดิจิทัลต่อระบบการเงินหลัก ความมั่นคงด้านพลังงาน การป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลดังกล่าวจะสามารถช่วยกำหนดแนวทางในการออกแบบระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะตอบรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย

------
*Doctor of the Science of Law (J.S.D.), Columbia University, นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (narun.popat@gmail.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น