วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“ประหยัดงบ” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ประหยัดถ้าเป็นภาษากฎหมายจะฟังยากนิดหน่อยคือใช้จ่ายตามควรแก่ฐานานุรูป แต่ถ้าจะเอาแบบเข้าใจง่าย ก็น่าจะใช้ตามพจนานุกรม ซึ่งท่านว่าหมายถึงการใช้จ่ายแต่พอสมควรแก่ฐานะคือใช้ฐานะเป็นเกณฑ์ มีน้อยก็ใช้น้อย ถ้ามีมากก็อาจใช้มากได้ มีมากใช้น้อยไม่ว่ากัน ดีเสียอีกมีเหลือเก็บ แต่มีน้อยใช้มากนี่ไม่ประหยัดหรือสุรุ่ยสุร่าย

การรู้จักประหยัดนี้เป็นความรู้ด้านการเงิน (financial literacy) เรื่องหนึ่ง (ยังมีอีกหลายเรื่อง) ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก   ยิ่งในสังคมบริโภคนิยมยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ปลูกฝังให้ติดตัวมาตั้งแต่เป็นละอ่อน มาปลูกฝังในตอนโตแล้ว จะต้านทานแนวคิดบริโภคนิยมได้ยากมาก และถ้ามองในภาพรวม สังคมใดที่ผู้คนขาด financial literacy หรือมีแต่น้อย สังคมนั้นยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) ได้

เหมือนกับที่เราจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลนั่นแล ถ้าคนของเรายังขาด digital literacy เราก็จะไม่สามารถสถาปนา digital society ที่มั่นคงและยั่งยืนได้ ไม่ว่าเราจะมีสตางค์ซื้ออุปกรณ์ทันสมัยไฮเทครุ่นล่าสุดก็ตาม

Digital literacy นี่ไม่ใช้แค่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ใช้ smart phone เป็น เล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ค คล่องนะครับ ถ้าเอาแบบง่าย ไม่ลึกซึ้งนัก มันหมายถึงความสามารถของบุคคลในการค้น ประมวล วิเคราะห์ สร้าง และสื่อสารข้อมูลที่เคลียร์คัตชัดเจนผ่าน digital platform ต่าง คือต้องมีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่ใครส่งอะไรมาก็แชร์กันเรื่อยเปื่อยไป 

การสร้าง digital literacy นี่ฝรั่งให้ความสำคัญมากนะครับ อยู่ในบทเรียนระดับมัธยมเลย แฝงอยู่ในหลายวิชา ไม่ได้ตั้งเป็นวิชาเฉพาะ เช่น ในวิชาประวัติศาสตร์ เขาจะมีชุดข้อมูลสั้นบ้างยาวบ้างมาให้ 4-5 ชุด แล้วให้ผู้เรียนเขียนวิเคราะห์ว่าข้อมูลใดเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไรเพราะเหตุใด ไม่ใช่แค่ให้ท่องว่าเสียกรุงเมื่อไร เป็นต้น อันนี้เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของชีวิตในยุคดิจิทัลเลยนะครับ

ว่าจะเขียนเรื่องประหยัดงบประมาณ มาถึงนี่ได้ยังไงไม่รู้ กลับไปเรื่องประหยัดดีกว่า

พูดถึงเรื่องประหยัดงบประมาณนี่ ถ้าเป็นในภาคราชการทั่วไปมักจะคิดกันว่าหมายถึงการที่หน่วยงานสามารถใช้จ่ายเงินได้น้อยกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับเป็นหลัก ซึ่งการคิดเพียงเท่านั้นมันกลับได้ผลประหลาดมากถึงมากที่สุดในทัศนะของผู้เขียน ที่ประหลาดก็เนื่องจากว่ามันทำให้ทุกหน่วยงานพยายามใช้จ่ายให้น้อยกว่าวงเงินที่ได้รับทุกเรื่องไปเพื่อให้ได้คะแนนความประหยัด การจึงกลายเป็นว่าเงินงบประมาณที่ขอไปนั้นมีเหลือทุกปี สร้างปัญหาในการบริหารงบประมาณอีก แทนที่งบประมาณจะไปถึงชาวบ้านเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่น่าขำก็คือตอนของบประมาณนี่แต่ละโครงการขอเสียสูงเชียว ตอนได้งบประมาณมาก็จะน้อยกว่าที่ขอไปราว 10-15% ตอนทำจริงดันผ่ามีเงินเหลือเพราะประหยัดได้ เรียกว่าขอเผื่อถูกตัดว่างั้น ตลกร้ายจริงเชียว

ที่จริงแล้วคำว่าประหยัดของหลวงท่านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่จ่ายให้น้อยกว่าเงินที่ได้รับนะครับ เขามุ่งหมายถึงความคุ้มค่ามากกว่า คือการใช้เงินนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือแผนงานที่กำหนด เว้ากันซื่อ นั้นการใช้จ่ายเงินต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้อะไรและถ้าใช้เงินคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์แถมประหยัดได้อีกนี่เรียกว่าชาญฉลาดมาก สมควรได้คะแนนความประหยัดเยอะ

นี่กำลังคิดว่าตัวชี้วัดเรื่องการประหยัดจะไม่ใช้เกณฑ์การใช้เงินน้อยกว่าวงเงินงบประมาณที่ขอไปและได้รับอย่างเดิม อีกแล้ว แต่จะใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าแทน คือต้องตอบให้ได้ว่าที่ใช้เงินไปน่ะ ประชาชนได้อะไร มีผลงานที่จับต้องได้ มีผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการมาประกอบชัดเจน

ดีไหมครับ?



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น