วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ความซื่อตรงในภาครัฐ (Public Integrity) โดย นางโชติมา สงวนพันธุ์ เวชพร*


ผ่านพ้นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ท่านนายกรัฐมนตรีได้ปลุกดีเอ็นเออาเซียนให้ร่วมมือสร้างภูมิภาคเข้มแข็งประเทศไทยกันไปแล้ว วันนี้ผู้เขียนจะขอชวนมาปลุกดีเอ็นเอ Public Integrity หรือ "ความซื่อตรงในภาครัฐ" กันบ้าง

เมื่อพูดถึงคำว่า Public Integrity ชวนให้สงสัยและงงงวยกับคำแปลภาษาไทยที่เหมาะสม ที่สามารถสะท้อนถึงแก่นแท้ความหมายที่แท้จริง ในบ้านเรานั้นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ให้นิยามของคำว่า Integrity ไว้มากมาย ตั้งแต่ สุจริตธรรมภาครัฐ คุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์สุจริต และอีกมากซึ่งล้วนอ่านแล้วมึนทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้ไปทบทวนความหมาย คำนิยามของคำว่า Integrity ในคำแปลภาษาอังกฤษ พบว่า หมายถึง "คุณลักษณะของความซื่อสัตย์สุจริต" และ "ยึดมั่นในคุณธรรมอย่างจริงจัง" (the quality of being honest and having strong moral principles) (Cambridge Dictionary) และเมื่อเพิ่มคำว่า Public เข้าไป OECD (2005) ได้ให้คำจัดกัดความไว้ว่า Public Integrity หมายถึง "การวางตน ดำรงตำแหน่งโดยยึดมั่นในคุณค่า หลักการ บรรทัดฐานของคุณธรรมจริยธรรมโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน"

ดังนั้น จากคำนิยามที่อธิบายกันแบบยาว ๆ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้สามารถหาความหมายที่ใกล้เคียงกับคำในภาษาไทยที่สุด คือ หมายถึง "ความซื่อตรงในภาครัฐซึ่งรวมทั้งซื่อสัตย์ สุจริต และประพฤติตนตั้งมั่นในบรรทัดฐานของคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ความซื่อตรงในภาครัฐนับว่าเป็นหัวใจหลักของหลักธรรมาภิบาล เพราะจะเป็นหลักประกันที่สำคัญว่าหน่วนงานภาครัฐจะดำเนินการต่าง ๆ อย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นและไว้วางใจในรัฐบาล (Trust in Government) และนี่เป็นเหตุผลประการสำคัญที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญกับความซื่อตรงในภาครัฐ 

บ้านเราตระหนักถึงความสำคัญของความซื่อตรงในภาครัฐเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และการป้องกันและขจัดการทุจริตในทุกมิติ รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนอกจากการเสนอกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังออกมาตรการทางบริหารจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างให้เกิดความซื่อตรงในภาครัฐ  

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินความร่วมมือกับ OECD เพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีของนานาอารยะประเทศด้วย เรียกว่า OECD-Thailand Country Partnership  โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักได้เปิดมิติใหม่ของการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารราชการของสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบราชการไทยให้เกิดความโปร่งใส มีความสมดุลและบูรณาการหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น พัฒนาแนวทางการสร้างความโปร่งใสตามยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งปลูกจิตสำนึก เสริมสร้างวัฒนธรรมความซื่อตรงในภาครัฐให้แก่ข้าราชการ เพิ่มประสิทธิภาพกลไกการป้องกันกำกับ ติดตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาความซื่อตรงในภาครัฐ โดยดำเนินการร่วมกับ OECD มาตั้งแต่ ปี 2555

การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทย (Thailand Integrity Review) นับเป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ได้มีการนำกรอบแนวทางปฏิบัติของ OECD ด้านความซื่อตรงในภาครัฐมาผลักดันให้บังเกิดผลในภาคราชการทุกระดับในวงกว้าง เพื่อเสริมสร้างและยกระดับความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทยให้เทียบเคียงสากล ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย

สำหรับการดำเนินการในระยะแรกนั้น ได้กำหนดขอบเขตของการดำเนินการใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่หนึ่ง การประมวลภาพรวมและการบูรณาการหน่วยงานขับเคลื่อนการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐ มิติที่สอง วัฒนธรรมการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ และมิติที่สาม การควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งสามมิติได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงานทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานในการดำเนินการด้านความซื่อตรงในภาครัฐ เพื่อแสดงให้นานาประเทศได้รับรู้ถึงเจตนารมย์และความมุ่งมั่นของหน่วยงานภาคราชการไทยในการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฏหมาย รวมไปถึงการดำเนินการในด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ OECD ได้จัดทำขึ้นเพื่อวางแนวทางให้ประเทศไทย รัฐบาลไทยได้นำไปใช้ในการกำหนดนโยบายด้านความซื่อตรงในภาครัฐต่อไปนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น อาทิ บูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาขยายระบบการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ให้ครอบคลุมถึงผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริต  และพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเป็นการเฉพาะ ที่นอกเหนือจากการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ในหลายๆ ประเทศได้ มีกฎหมายลักษณะเช่นนี้แล้ว เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้นับเป็นการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีความซื่อตรงและเข้มแข็ง มีการบ่มเพาะ ปลุกฝังวัฒนธรรม ด้านคุณธรรม จริยธรรมในสังคม มีกลไกด้านการป้องกัน กำกับและติดตามการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในภาครัฐ ตลอดจนมีมาตรการในการเสริมสร้างภาระรับผิดชอบให้กับหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเดินหน้าดำเนินการส่งเสริมความซื่อตรงในภาครัฐระยะที่สอง โดยมุ่งเน้นการออกแบบและเพิ่มศักยภาพนโยบายด้านการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ พร้อมขยายขอบเขตการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทยภายใต้บริบทการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อความซื่อตรงในภาครัฐ การตรวจสอบภายในและกลไกการตรวจสอบจากภายนอก ความซื่อตรง ความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ และ มาตรการทางวินัย จริยธรรมและคุณธรรมของข้าราชการ

          ความพยายามในการสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทย เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์เกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน โดยการยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยด้านความซื่อตรงในภาครัฐให้เทียบเคียงสากล มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในภูมิภาคอาเซียนที่มีภาพลักษณ์ของการดำเนินงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลและข้าราชการบริหารงานบนรากฐานความซื่อตรงอันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในการดำเนินงานของภาครัฐแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ความเจริญก้าวหน้าของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better Life) ของประชาชน

          ดังนั้น หากพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ ร่วมมือกันปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ความซื่อตรงในภาครัฐอย่างแน่วแน่ จริงจัง ลดการหวงอาณัติอำนาจ อาณาเขตของตนเองลง พร้อมปรับเปลี่ยน และบูรณาการทำงานร่วมกัน ก็จะนำไปสู่ระบบราชการที่มีความซื่อตรง ไม่คดไม่โกง การทำงานก็จะร่วมกันทำโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในภาพรวม อันจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด และเมื่อเป็นเช่นนั้นภาพลักษณ์ของประเทศไทยก็จะดีตามขึ้นไปเองโดยไม่จำเป็นต้องสร้างภาพ  ไม่ว่าจะเป็นดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) หรือดัชนีความซื่อตรงในภาครัฐ (Index of Public Integrity) 



---------------------------
*นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น