วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“ป้ายทะเบียนเพื่อความปลอดภัย” ปกรณ์ นิลประพันธ์

หลายวันที่ผ่านมามีเหตุการณ์สร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองหลายจุด แม้ทางราชการจะระมัดระวังอย่างไร พวกกวนเมืองก็ยังหาช่องทางลงมืออยู่เนืองๆ ยิ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุร้ายเหล่านี้ยิ่งเป็นที่สะเทือนใจ 

หากมีใครบอกว่าการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำต่อประชาชนเท่านั้น ด้วยความเคารพ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างแรงส์

ในทัศนะของผู้เขียน บรรดาการก่อการร้ายที่กระทบต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่นเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่งและสมควรถูกประนาม และใครก็ตามที่เอาประเด็นเหล่านี้ไปสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง นับว่าเป็นผู้มีรสนิยมที่ไม่น่าพิศมัยเอามากๆ จนถึงขั้นน่ารังเกียจทีเดียว

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่ๆ หลายท่านเกี่ยวกับระบบราชการในยุค disruptive technology จึงลองใช้เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ขึ้นเป็นกรณีศึกษา เชื่อไหมครับว่าได้ข้อคิดดีๆ มากมาย 

หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจก็คือ บัดนี้เราทำใบขับขี่ดิจิทัลได้แล้ว (แม้จะยังใช้แทนใบขับขี่จริงไม่ได้เสียทีหากเราทำป้ายทะเบียนรถดิจิทัลได้ ก็จะใช้ประโยชน์เสริมในการตรวจสอบรถต้องสงสัยได้ง่ายขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากคาร์บอมหรือมอเตอร์ไซค์บอม

ถามว่าเจ้าป้ายทะเบียนรถดิจิทัลที่ว่านี้มันมีหลักการอย่างไร พี่ท่านเสนอว่าเรามีนักวิจัยเยอะแยะ ข้อมูลการจดทะเบียนรถทั้งหลายก็มีครบ จึงน่าจะเป็นไปได้สูงที่ในป้ายทะเบียนทุกป้ายจะฝังชิพข้อมูลเกี่ยวกับรถคันนั้นลงไป เหมือนฝังชิพสุนัข จะต่อทะเบียนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียน หรือจะจำหน่ายจ่ายโอนรถ ก็ต้องนำทะเบียนมาอัปเดตข้อมูลในชิพด้วย

เจ้าชิพที่ว่านี้เมื่อใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือสแกน หรือใช้เครื่องสแกน มันจะแสดงผลขึ้นมาทันทีว่ารถคันนี้มีข้อมูลตรงตามที่ระบุไว้ในป้ายทะเบียนจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงก็ถือเป็นรถต้องสงสัย เช่น ในเมื่อสแกนดูปรากฏว่าชิพระบุว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ สีแดง แต่ป้ายทะเบียนที่ว่าดันผ่ามาติดไว้กับรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ .  สีน้ำเงิน หรือว่าเป็นรถไม่มีชิพ อย่างนี้ต้องมีปัญหาแน่ ๆ แจ้ง EOD ไว้ก่อนเลย อันนี้ใช้ในแง่การรักษาความมั่นคงนะครับ

ในแง่การตรวจสอบรถขาดต่อทะเบียน ก็ใช้เครื่องสแกนเอา ไม่ตรงกับชิพหรือไม่มีชิพก็ออกใบสั่งเลย เจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปคอยยืนตากแดดมันทั้งร้อนทั้งเหนื่อย … พี่เขาเห็นใจเจ้าหน้าที่ขนาดนั้นนะครับ

สำหรับการลงทุนชิพ พี่ท่านว่าถ้าให้ทางราชการออกข้อกำหนดทางเทคนิค แล้วให้ start up บ้านเรานี่แหละเสนอโครงการมาแข่งกัน เลือกเจ้าที่ตรงกับข้อเสนอทางเทคนิคไว้สองเจ้า ให้เงินไปทำชิพตัวอย่างพร้อมโปรแกรมสแกนมาให้ทางราชการทดสอบ เจ้าไหนตรงกับความต้องการของทางราชการมากที่สุดทำสัญญาสั่งจ้างจากเจ้านั้น แบบเดียวกับที่การจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ทางเทคนิคชั้นสูงของ DARPA ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเลย โปร่งใสดี แต่คงต้องยกเว้นกฎหมายการพัสดุก่อน เพราะกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างบ้านเรายังทำแบบกระทรวงกลาโหมสหรัฐไม่ได้

ผู้เขียนฟังดูแล้วรู้สึกว่าเข้าท่ามาก เป็นประโยชน์ทั้งการพัฒนาระบบการดูแลรักษาความมั่นคง การพัฒนาระบบราชการ การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การพัฒนาระบบกฎหมาย และที่สำคัญคือการส่งเสริมstart up ด้วยหลายต่อทีเดียว 

นี่ยังทำอย่างอื่นต่อได้ด้วยนะครับ เช่น จ่ายค่าทางด่วน บริหารการจราจร ฯลฯ

ไหน ๆ คิดกันแล้ว ก็นำมาเล่าสู่กันฟังครับ 

เผื่อจะเป็นประโยชน์

1 ความคิดเห็น: