ในโลกยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตของประชาชน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ผูกติดกับดิจิทัลมากขึ้น จะเห็นได้จากข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2563 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที ด้วยเหตุผลหลักก็คือ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และมีเครือข่ายที่ครอบคลุม ส่วนสาเหตุรองลงมาคือมีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะต้องเดินทางออกจากบ้านหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนโดยเฉพาะในที่สาธารณะ
หากถามถึงบริการภาครัฐ ไม่ว่าใครก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที และหากเป็นไปได้ผู้รับบริการต่างต้องการบริการที่เกินความคาดหวัง ดังนั้น ภาครัฐต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าวและปรับตัวให้การทำงานหรือส่งมอบบริการที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกต่าง ๆ ของการอนุมัติ อนุญาตที่ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการให้บริการภาครัฐ ภายใต้แนวคิด เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้นหรือสะดวกขึ้น (Easier) ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (Cheaper) และทันสมัย (Smarter) ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกงานบริการในหลายๆ เรื่อง เช่น
การจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดของการให้บริการที่ผู้รับบริการอยากจะรู้ ทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขในการยื่นคำขอ ขั้นตอน ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) และรายการเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งให้ระบุช่องทางร้องเรียนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ที่นำไปสู่การให้บริการที่มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส
การลดขั้นตอน ระยะเวลาการให้บริการ ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนงานลดความซ้ำซ้อนในการอนุมัติ อนุญาต ลดโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนเพื่อจะให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้นสามารถลดขั้นตอน ระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 - 50 ของระยะเวลาในการให้บริการเดิม
การพัฒนาการอนุมัติอนุญาตไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เพื่อลดการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ช่วยให้การอนุมัติ อนุญาตเป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วยการพัฒนาการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) โดยปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ 325 งานบริการ แบ่งเป็นการให้บริการได้ครบวงจร 92 งานบริการ การยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 90 งานบริการ การยื่นคำขอและจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำนวน 119 งานบริการ และการบริการข้อมูลหรือตรวจสอบสิทธิ์ 24 งานบริการ ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การให้บริการของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
การชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแล้วถือว่าได้รับการต่ออายุใบอนุญาตในทันที ทำให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีใบอนุญาตที่สามารถทำได้ตามกฎหมายแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564 จำนวน 31 ประเภทใบอนุญาต ซึ่งนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งผลต่อการลดช่องว่างของระยะเวลาในการต่อใบอนุญาตเพื่อเรียกรับผลประโยชน์อีกด้วย
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ในปี 2563 และผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD อยู่อันดับที่ 28 ของโลก ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางการให้บริการของรัฐในก้าวต่อไปยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายจึงจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญก็คือ การปรับ Mindset ของข้าราชการในการคิดให้เป็น “ดิจิทัล” คิดให้ทันต่อ “การเปลี่ยนแปลง” มิใช่การนำเทคโนโลยีมาครอบวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ แต่ต้องก้าวข้ามผ่านขั้นตอน กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น โดยต้องตั้งคำถามว่า กฎระเบียบที่มีอยู่นั้น “มีไว้เพื่อใคร และเพื่ออะไร” รวมถึงการบูรณาการการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ การวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
เหล่านี้จึงจะสามารถปลดล็อกความยุ่งยาก อํานวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็ง (Stronger) ประสิทธิภาพการให้บริการ (Smarter) และส่งผลให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better life) ในท้ายที่สุด
****************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น