เมื่อก่อนจำได้ว่าเมื่อตอนที่การสื่อสารของบ้านเรากำลังเปลี่ยนจากยุค 2G เป็น 3G มีโฆษณาชิ้นหนึ่งบอกว่าเทคโนโลยี 3G 4G 5G และอีกหลาย ๆ G จะทำให้ผู้คนเข้าใกล้ (convergence) กันมากขึ้น
แต่จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผู้เขียนเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้คนถ่างออกจากกัน (Divergence) มากกว่าเข้าใกล้กันอย่างที่เคยคิดโฆษณากันไว้
โฆษณาไม่ผิดหรอกครับ เพราะการสื่อสารที่ดีขึ้นทำให้เราติดต่อกันได้สะดวกในราคาต่ำอย่างที่พูดไว้จริง ๆ และทำให้รุ่นใหญ่อย่างผู้เขียนสามารถตามหาเพื่อนเก่าแก่ที่แยกย้ายกันไปตามกรรมของแต่ละคนเมื่อเรียนจบชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เมื่อหลายสิบปีก่อนได้อย่างง่ายดาย
คงจำได้นะครับว่าเมื่อก่อนมือถือจะหน้าตาเหมือนกันหมดทั้งรูปร่างหน้าตาและโปรแกรมต่าง ๆ วางรวม ๆ กันไม่รู้ของใครเป็นของใคร เสียงเรียกเข้าดังทีทุกคนตบกระเป๋าโดยพร้อมเพรียง ของเราหรือเปล่านะ จนต้องไปหาสติกเกอร์มาติดบ้างเปลี่ยนเคสบ้าง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ ต่อมาก็เริ่มพัฒนาให้ปรับแต่งหน้าจอได้บ้างเริ่มเปลี่ยนเสียงเรียกเข้าและเสียงรอสายได้บ้างก็เก๋ขึ้น มาถึงตอนนี้มีแต่โครงมือถือเท่านั้นที่เหมือนกัน ทุกอย่าง customize ได้หมดตามความชอบส่วนตัว มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ออกมาให้ใช้มากมายมหาศาล
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เองทำให้แต่ละคนมี “โลกส่วนตัว” ขึ้นอีกคนละใบหรืออาจจะหลายใบ เพราะเราสามารถ customize ฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างที่เราต้องการ บางคนมีอุปกรณ์สื่อสารหลายชิ้น ก็มีโลกหลายใบหน่อย เพราะจะตั้งค่าต่าง ๆ ไว้ไม่เหมือนกัน ลำบากจำด้วย
โลกส่วนตัวที่ว่านี้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีจริตต่างกันไป โซเชี่ยลเน็ตเวอร์คนี่ยิ่งสามารถตอบสนองจริตของแต่ละคนได้ง่ายเพราะเขาใช้ alghorithm ที่ทำให้เราสามารถเลือกเสพย์เรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบหรือสนใจ ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะใครเล่าจะเสพย์เรื่องหรือข้อมูลที่ตัวเองไม่สนใจ และเจ้า alghorithm นี่ก็แสนจะฉลาดและฉลาดขึ้นทุกวัน เพราะรู้ใจด้วยว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มันก็จะสรรหาเรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบมา “ป้อน” เราอยู่ตลอดเวลา
ข้อไม่ดีของเรื่องนี้ก็คือว่ามันทำให้เราแทบจะไม่ได้รับฟังข้อมูลหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง อันนี้นี่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของประชาธิปไตยเอาเสียเลย เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ทุกคนในสังคมต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล และร่วมกันตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯท่านหนึ่งถึงกับออกปากว่าสิ่งที่ท่านไม่ชอบในระบอบประชาธิปไตยคือมันบังคับให้ท่านต้องฟังในเรื่องที่ท่านไม่อยากฟัง แต่ท่านก็เห็นว่าข้อดีของมันก็คือการฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ละเอียดรอบคอบมากขึ้น
การเสพย์เฉพาะเรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบอย่างเดียวนี่ทำให้เกิดอคติ (Bias) ได้ง่ายมาก ๆ เพราะข้อมูลที่ชอบก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาซ้ำ ๆ หรือคล้าย ๆ กันอยู่ตลอดเวลา แทบไม่แตกต่างจากการ propaganda ในยุคสงครามเย็น กรอกหูทุกวัน เผลอๆ จะเชื่อเอาโดยไม่รู้ตัว ทีนี้ถ้ามีใครแหลมเข้ามาแสดงความเห็นต่างในเรื่องที่เราชอบ ก็มีทางที่จะทำอยู่สองสามทาง ถ้าไม่ตอบโต้กลับไปแรง ๆ (เพราะต่างไม่รู้จักมักจี่กัน) หรือ delete ข้อความนั่นทิ้งไปไม่ให้รกหูรกตา หนักหน่อยด่าตอบเสร็จก็unfollow หรือ unfriend มันไปเสีย จะได้ไม่มีข้อความแสลงใจเข้ามารบกวนโสตประสาทอีก คือปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างไปเลย ซึ่งพฤติกรรมนี้จะกลายไปเป็นการสร้าง “กลุ่มความคิดสุดโต่ง” ขึ้นได้ง่าย ๆ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
เรียกว่า alghorithm สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งความคิดและพฤติกรรมของคน จากเดิมที่ยังต้องฟังเรื่องหรือความเห็นที่แตกต่างบ้างจากวิทยุ AM หรือ FM หรือทีวี ที่นั่งล้อมวงฟังกันในอดีต เป็นฟังเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบหรือสนใจจากอุปกรณ์ส่วนตัวของตนเองที่ราคาถูกเหลือเชื่อ
ดังนั้น ในยุคดิจิทัลนี้ คนซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเดียวกันจึง divergence ออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และนับวันกลุ่มของความเห็นที่แตกต่างนี้จะหลากหลายมากขึ้น เพราะเจ้า alghorithm มันฉลาดขึ้นทุกที จึงแยกคนเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามจริตของแต่ละคนได้ง่ายมาก อีกหน่อยจะเป็น Metaverse แล้วคงจะหนักหนากว่านี้เพราะโลกเสมือนมันตอบสนองความพึงพอใจหรือความสุขส่วนบุคคลที่โลกในความเป็นจริงไม่สามารถมีได้ และถ้าใช้มันมากเข้า ก็น่าจะมีอาการเหมือนคนติดยาเสพติด ไม่สนใจโลกจริง ติดอยู่ในโลกเสมือนที่จะทำอะไรก็ได้ “ตามใจฉัน” สำนึกต่อส่วนรวมจะขาดหายไป
เดี๋ยวนี้ไปไหนต่อไหนจะเห็นมนุษย์แต่ละคนก้มหน้าก้มตาถูไถอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองกันอย่างเมามันในทุกที่ทุกโอกาส ผู้เขียนเห็นหลายครอบครัวไปกินข้าวกันตามร้าน แต่ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัว ไม่คุยกันเอง คุยกับใครอยู่ก็ไม่รู้ เงียบกริบเชียว ไม่เหมือนเมื่อตอนที่ยังไม่ล้ำสมัย เสียงคุยกันในร้านอาหารนี่จ้อกแจ๊กจอแจกันทีเดียว
การที่ผู้คนถ่างออกจากกันหรือ Divergence นี้ ผู้สันทัดกรณีจำนวนมากพยายามอธิบายโดยใช้ Generation gap แบ่งกลุ่มคนเป็นเจ็นนั้นเจ็นนี้ และอธิบายว่าแต่ละเจ็นอยู่ใน context ที่แตกต่างกัน จึงมีทัศนคติและแนวคิดที่แตกต่างกัน และเป็นรากฐานของความไม่เข้าใจกัน
ด้วยความเคารพ ผู้เขียนมิได้คัดค้านแนวคิดนี้ เพียงแต่ต้องการนำเสนอว่ามันอาจไม่ได้เกิดจาก Generation gap อันเป็นข้อสรุปแบบกว้าง ๆ เท่านั้น ปัจจัยอย่างการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล alghorithm และ Social network ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ถ่างออกจากกันมากขึ้น แม้กระทั่งใน Generation เดียวกันหากมีความชอบแตกต่างกัน และเป็นรากฐานของการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง อันนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคมเหมือนกับที่ทีวีในยุคทีวีเสรีเคยทำได้มาแล้วในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่การใช้เทคโนโลยีและ social network โดยขาดความรับผิดชอบจะส่งผลลึกถึงในระดับปัจเจก และทุกช่วงวัย
ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ digital literacy ให้แก่ผู้คนในสังคม และความรู้เท่าทันผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว
เผื่อจะช่วยกันคิดแก้ไขต่อครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น