วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

CPI ในทัศนะผม : ปกรณ์ นิลประพันธ์

ส่วนตัวผมเห็นอันดับของประเทศไทยใน corruption perception index หรือ cpi ที่ต่ำลงแล้ว ไม่ได้คิดเหมือนคนอื่นที่ว่าประเทศไทยเรามีคอรัปชั่นมากขึ้น

ตรงข้าม ผมกลับเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนทนไม่ได้กับการทุจริตมากขึ้น และกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใครหลายคนไม่ชอบนี่แหละ กำลังทำงานอย่างได้ผล เพราะมีกลไกที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเปิดเผยข้อมูลมาก ลองใช้คอมพิวเตอร์ค้นดูก็ได้ จะเห็นว่ามีคำว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเปิดเผย อยู่ทั่วไปหมด ไม่ได้เขียนเอาไว้ในมาตราเดียวเหมือนฉบับอื่น ๆ รวมทั้งการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะ “ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ” ตามมาตรา 50(10) ด้วย

นอกจากนี้ มาตรา 63 ยังบัญญัติว่า “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจาก การทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริม ให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง จากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

กลไกและมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ จึงมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ประชาชน “ไม่ทน” ต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอีก มีช่องทางร้องเรียนต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งการใช้สื่อดิจิทัลต่าง ๆ ในการแสดงออกว่าเขาถูกกระทำการอันเป็นการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอย่างไรบ้าง 

ส่วนตัวผมจึงไม่แปลกใจที่อันดับของประเทศไทยใน cpi ต่ำลง และเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเมื่อก่อนนั้น เราต้องทนอยู่กับเรื่องการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเหมือนกับเป็น frog in the broiler เพราะสังคมปิดมาก หลายคนไม่กล้าที่จะแสดงออก เพราะกลัวอำนาจมืดจากผผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ที่จะมาข่มขู่หรือพยายามปกปิดความชั่วร้ายเอาไว้ แต่เดี๋ยวนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น เสรีภาพมีมากขึ้น ถึงยังไม่สว่างจ้า แต่ก็ไม่ใช่สังคมมืด ๆ ดำ ๆ อย่างสมัยสามสี่สิบปีก่อน มีช่องทางแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องทน

จริง ๆ เรื่อง corruption นี่ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐนะครับ corrupt คือ lack of integrity อะไรที่ lack of integrity นี่เขาถือว่าเป็น corruption ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการขับรถที่ไม่เป็นไปตามกฎจราจร ขี่มอเตอร์ไซค์สวนทาง หรือขี่บนฟุตบาทนี่เขาก็เป็น corrupt act อย่างหนึ่ง และพฤติการณ์เหล่านี้เองที่มันจะนำไปสู่การ corruption อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ เข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง

อย่างนาย เอ ขี่มอเตอร์ไซค์สวนทาง เจ้าหน้าที่จับเข้าก็ต้องดำเนินคดี นาย เอ ไม่อยากถูกดำเนินคดีก็พยายาม “ต่อรอง” โดยขอความกรุณาหรือโดยการเสนอว่าจะให้สินบน เมื่อมีช่องทางการเจรจาแบบนี้เกิดขึ้น มันจึงง่ายที่จะเกิด corrupt act ขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ แต่จริง ๆ corrupt act มันเริ่มตั้งแต่มีการต่อรองที่ว่านั้นโดยนาย เอ แล้วแหละ หรือถ้านาย เอ ไม่เสนอ เจ้าหน้าที่ก็จะอาศัยช่องทางที่นาย เอ ทำผิดในการเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีนาย เอ … ภาษาเก่าเรียกว่าเจ้าหน้าที่มี “ไถยจิต” หรือ “เถยจิต” ก็เรียก ซึ่งคงเป็นที่มาของคำว่า “ไถ” ในกาลต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อก่อนไม่มีเทคโนโลยี สังคมปิด ทำกันลับ ๆ ล่อ ๆ และไม่มีใครกล้าเปิดเผยเรื่องแบบนี้ กลัวสิครับ กลัวว่าจะถูกเอาคืน แต่พอเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีมาตรการเปิดช่องร้องเรียนมากเข้า เรื่องราวผิด ๆ ต่าง ๆ นาๆ ที่เคยปิดที่เคยเป่ากันได้ง่าย ๆ ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา ซึ่งนั่นยิ่งทำให้สังคม “เลิกทน” กับการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

หากติดตามดูดี ๆ corruption perception นี่ขยายไปนอกภาครัฐแล้วนะครับ การงุบงิบกันในภาคเอกชนด้วยกันเองก็ไม่น้อย อย่างโครงการที่ต้องแข่งขันกันระหว่างเอกชนนี่ก็มีหลายโครงการที่มี corrupt practice เกิดขึ้นจนเป็นที่กล่าวขานกันในวงการก็หลายเรื่อง ในภาคประชาสังคมก็มี เช่นรับเงินบริจาคจะไปช่วยทำนั่นทำนี่ แต่รับเงินไปแล้วหายไปเลยก็มาก หรือเอาไปใช้ส่วนตัวก็เยอะ เป็นการต้มตุ๋นโดยใช้ความโอบอ้อมอารีของคนในสังคมเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ก็ corrupt เหมือนกันนะครับ เป็นข่าวเป็นคราวโด่งดังก็หลายเคส

ส่วนตัวผมว่า root cause ของเรื่องก็คือ lack of integrity ของคน มันต้องปลูกฝังจิตสำนึกกันเป็นเรื่องเป็นราว ต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปแก้กฎหมายนั่นเป็นปลายเหตุ ช่วยได้บ้างตรงกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูล การนำดิจิทัลมาใช้เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ได้ อันนี้ทุกรัฐบาลพยายามทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ governance ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน แม้แต่ในภาคประชาชนเอง 

Governance ในภาครัฐและภาคเอกชนนี่ไปไกลแล้วนะครับ สังคมตรวจสอบภาครัฐและภาคเอกชนผ่านกลไกต่าง ๆ มากมาย  อย่างภาครัฐก็มีการรายงาน การเปิดเผยข้อมูลในอินเตอร์เน็ต  การตรวจสอบจากองค์กรอิสระ ศาล และจากประชาชน ภาคเอกชนก็ผ่านการรายงานต่อกระทรวงพาณิชย์ หรือต่อสำนักงาน กลต การเปิดเผยข้อมูลในอินเตอร์เน็ต การประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น แต่ภาคประชาสังคมนี่ยังไม่ชัดเจนถึงเกิดกรณีต้มตุ๋นอะไรกันบ่อย ๆ คงต้องช่วยกันคิดครับว่าจะทำให้การดำเนินการของตัวเองเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบอย่างไร

อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวครับ ว่าอันดับที่เป็นอยู่มันสะท้อนว่าคนไทยไม่ทนต่อ corruption มากขึ้น แต่เราจะโยนภาระให้รัฐฝ่ายเดียวคงจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่คงต้องช่วยกันขบคิดและลงมือทำต่อไปว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ corrupt practice ในทุกวงการมันจืดจางลง

แค่นี้ก่อนนะครับ แบตหมดแล้ว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น