วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กฎหมายแบนเกมส์โหด


ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้เขียนพบข่าวกรอบเล็ก ๆ ที่น่าสนใจข่าวหนึ่งในหน้า 8 ของหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune ซึ่งรายงานว่า สภาของรัฐชิวาว่าที่เป็นหนึ่งใน 31 รัฐของเม็กซิโกซึ่งมีพื้นที่มากกว่าเกาะอังกฤษเล็กน้อย และอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโกติดกับรัฐเท็กซัสของสหรัฐ ได้ผ่านกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ห้ามนำเข้า จำหน่าย และครอบครองเกมส์คอมพิวเตอร์เกมส์หนึ่งที่มีชื่อว่า “Call of Juarez: The Cartel” ผลิตโดยยูบิซอฟ์ท ยักษ์ใหญ่ในวงการเกมส์ และกำหนดจำหน่ายทั่วโลกประมาณกลางปีนี้ 

                   เกมส์นี้ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรมากไปกว่าฉากยิงกันเลือดสาดอย่างง่าย ๆ บนถนนหนทางและร้านรวงต่าง ๆ ในเมืองซิอูดัด ซัวเรซ ของรัฐชิวาว่า อันสืบเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดที่ระบาดอย่างรุนแรงในเมืองซิอูดัด ซัวเรซ นั่นเอง

                   จะว่าไปเกมส์นี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงเท่าใดนัก เพราะเมืองซิอูดัด ซัวเรซ ซึ่งอยู่ติดกับเมืองเอล ปาโช ของรัฐเท็กซัส เป็นเมืองที่ยาเสพติดระบาดอย่างรุนแรง และในปี 2552-2553 มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามยาเสพติด “อย่างเอาจริงเอาจัง” ของเจ้าหน้าที่ในเมืองนี้ถึงกว่า 6,000 คน จนทำให้เมืองนี้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่อันตรายที่สุดในโลก

                   ถามว่าทำไมต้องแบนเกมส์นี้ด้วย เพราะเกมส์อื่น ๆ ก็มีที่ยิงกันเลือดสาดเหมือนกัน

                 เอ็นริเก้ เซอราโน ประธานสภาของรัฐชิวาว่า อธิบายว่ามันไม่เกี่ยวกับ “ภาพลักษณ์” ของเมืองซิอูดัด ซัวเรซ แต่อย่างใด แต่สมาชิกสภาของรัฐชิวาว่าเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวเมืองส่วนใหญ่ต้องทำมาหากินจึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกหลานอย่างเหมาะสม เวลาว่างของเด็กและเยาวชนจึงอยู่กับโทรทัศน์และเกมส์ และสื่อทั้งสองประเภทนี้เองที่ทำให้เด็กและเยาวชน “ซึมซับ” และ “ชิน” กับความรุนแรงและอาชญากรรม และเห็นการทำร้าย การใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธ และการฆ่าผู้อื่นเป็นเรื่องธรรมดา จึงเท่ากับเป็นการปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งสมาชิกสภาของรัฐชิวาว่าเห็นว่าเป็นปัญหาสังคมในระยะยาวและต้องจัดการอย่างเร่งด่วน และนอกจากเกมส์นี้แล้ว คงจะมีการแบนเกมส์อื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้ด้วยในอนาคต

                   ผู้เขียนเห็นว่านี่ก็ใกล้จะเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ของนักเรียนไทยแล้ว และช่วงเวลาเช่นนี้ เด็กและเยาวชนจำนวนมากของเราก็คงใช้เวลานี้ในการเล่มเกมส์ทั้งที่บ้านและตามร้านเกมส์ต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นไม่ต่างจากเด็กเม็กซิกัน และเท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับเกมส์คอมพิวเตอร์อยู่บ้างเพราะลูกชายของผู้เขียนก็อยู่ในวัยที่กำลังเล่มเกมส์คอมพิวเตอร์เช่นกัน ผู้เขียนพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกมักจะซื้อเครื่องเล่มเกมส์ต่าง ๆ ให้ลูกเล่น แต่มีน้อยมากที่จะรู้ว่าลูกเราเล่นเกมส์อะไรบ้าง ผู้เขียนเคยลองขอยืมเครื่องเล่มเกมส์ของเพื่อนลูกชายมาดูหลายครั้งและพบว่าเกมส์ที่เด็กเล่นจำนวนมากเน้นไปที่การใช้ความรุนแรงในการ “กำจัด” คู่ต่อสู้  การทำร้ายคู่ต่อสู้จนเลือดสาดหรือตายด้วยวิธีแปลกประหลาดเท่าที่ผู้สร้างเกมส์จะสรรคิดขึ้นมาได้ และการฆ่าสัตว์ คน หุ่นยนต์ หรือซอมบี้ กลายเป็น “เรื่องธรรมดา” ที่มีอยู่ในเกมส์ที่เด็กและเยาวชนของเรากำลังเล่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่ตำราที่ลูกหลานของเราใช้เรียนอยู่นั้นสอนว่าเราควรต้องมีความเมตากรุณาต่อผู้อื่น ควรเคารพผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่พ่อแม่กลับยัดเยียดความรุนแรงให้แก่เด็ก ๆ โดยไม่รู้ตัว และธรรมชาติของเด็กชอบเล่นมากกว่าเรียนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็ก ๆ ที่น่ารักของเราโตขึ้นโดยคุ้นชินกับความรุนแรงและความโหดร้ายได้อย่างไร???

                   ผู้เขียนในฐานะที่เป็นพ่อของเด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่งจึงอยากสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อข่าวที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในตอนต้นว่า เราควรจะมีกฎหมายที่ “แบน” เกมส์ที่มีลักษณะโหด ๆ เช่นเดียวกับรัฐชิวาว่าของเม็กซิโกบ้างหรือไม่?? และควรจะมีการปิดกั้น (Block) การเล่มเกมส์แบบนี้ทางอินเตอร์เน็ตด้วยหรือไม่?? และถ้าเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะแบนหรือปิดกั้นเกมส์โดยไม่มีเหตุผล ก็ควรกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจแบนหรือปิดกั้นเกมส์ไว้ในกฎหมายเสียให้ชัดเจน

               ผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีการเสนอให้มีการออกกฎหมายจัดเรตติ้งเกมส์ แต่ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการดังกล่าวก็คงจะไม่สำเร็จเช่นเดียวกับเรตติ้งภาพยนต์และหนังทีวี เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นว่าในความเป็นจริงนั้นผู้ปกครองแทบไม่มีเวลาให้บุตรหลานเพราะต้องทำมาหากิน จะเอาเวลาที่ไหนไปแนะนำลูกเวลาดูภาพยนต์ ดูทีวี หรือเล่นเกมส์ ฝรั่งเขาใช้มาตรการแบบนี้ได้สำเร็จเพราะพ่อแม่เขามีเวลาดูแลลูก ไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเหมือนพ่อแม่บ้านเรา วิธีการที่ฝรั่งใช้แล้วสำเร็จจึงอาจไม่สำเร็จในบ้านเราก็ได้ ถ้าหากจะออกกฎหมายจัดเรตติ้งเกมส์กันจริง ๆ ผู้เขียนขอเสนอให้ประเมินผลการทดสอบการจัดเรตติ้งภาพยนต์และหนังทีวีเสียก่อนว่าประสบความสำเร็จจริงหรือไม่

                   นอกจากการมีกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ให้ “มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ เพราะความจริงคือผู้ปกครองแทบไม่มีเวลาให้บุตรหลาน สถาบันครอบครัวจึงอ่อนแอ ผู้เขียนจึงเห็นว่ารัฐมีความชอบธรรมและสมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อรักษาสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง และเพื่อให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้านำพาประเทศชาติไปในทิศทางที่เหมาะสมและแข่งขันกับเด็กและเยาวชนชาติอื่นได้อย่างทัดทียม

                  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น