วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การสร้างนักร่างกฎหมาย: ด้วยความระลึกถึงท่านอาจารย์รองพล เจริญพันธุ์


ปกรณ์ นิลประพันธ์[๑]

                    เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ไม่มีใครขอให้ผมเขียน แต่ผมเขียนขึ้นเองเพื่อบอกเล่าความทรงจำของผมเกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจากไป ชายคนนี้เป็นครูคนแรกที่ก่อสร้างรากฐานที่มั่นคงในการประกอบวิชาชีพการร่างกฎหมายให้แก่ผม จนทำให้ผมมีความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพการงานและสามารถทำงานรับใช้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมาจนถึงทุกวันนี้

*        *        *

                    ในการประกอบวิชาชีพนั้น คนที่จะเริ่มต้นประกอบวิชาชีพต้องมี “ครู” ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นอยู่เดิม มีความรอบรู้ในวิชาชีพ ตลอดจนมีวัตรปฏิบัติดีไว้คอยอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิด ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งกริยามารยาทต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในการประกอบวิชาชีพให้แก่ศิษย์ซึ่งมีพันธกิจที่จะต้องธำรงเกียรติและศักดิ์ศรีของวิชาชีพรุ่นต่อ ๆ ไป

*        *        *

                    “อาจารย์รองพล เจริญพันธุ์” คือ “ครู” คนที่ว่านี้ของผม และเป็นผู้ชายคนที่ผมจะเล่าให้ฟังว่า ท่านได้กรุณาสร้างรากฐานในการประกอบวิชาชีพร่างกฎหมายให้ผมอย่างไร

*        *        *

                    เรียนตามตรงว่าผมไม่เคยได้ยินชื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาก่อนเลยในชีวิต จนกระทั่งได้เรียนวิชากฎหมายปกครองในปีที่สี่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงพอรู้เลา ๆ ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และมีหน้าที่ให้ความเห็นทางกฎหมาย ตลอดจนยกร่างและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้แก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย ส่วนว่าจะตั้งอยู่ที่ไหนนั้น ผมไม่รู้จริง ๆ จนเมื่อเรียนจบและไปขอใบ Transcript ที่สำนักทะเบียนอาคารเอนกประสงค์ จึงทราบจากเพื่อนว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเขาเปิดรับนิติกรและชวนไปสมัคร ผมจึงเพิ่งรู้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คืออาคารที่อยู่ติดกับห้องสมุดกลางด้านประตูรัฐศาสตร์นี่เอง

*        *        *

                    การสอบเข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นออกจะแปลกกว่าการสอบเข้ารับราชการที่อื่น ๆ เพราะมีการสอบภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย เหตุที่ว่าแปลกก็เนื่องจากภาษาอังกฤษถือเป็น “ยาขม” ของนักเรียนกฎหมายยุคของผม แต่เมื่อต้องสอบภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายด้วย ผมจึงต้องขวนขวายหาว่าเขาสอบอะไรกันบ้าง และบังเอิญว่าเพื่อนสนิทคนหนึ่งของผมเขารู้จักกับรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ที่สำนักงานฯจึงอาสาพาไปหาพี่คนนี้ซึ่งบังเอิญทำงานอยู่ที่กองกฎหมายต่างประเทศพอดีเพราะภาษาต่างประเทศของท่านดีมากทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส พี่ที่น่ารักคนนี้ก็ได้กรุณาให้ยืมคำแปลกฎหมายและรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับเพื่อมาฝึกแปลไทยเป็นอังกฤษ และอังกฤษเป็นไทย เพราะ “อาจารย์รองพลฯ” ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายต่างประเทศและรับผิดชอบการออกข้อสอบภาษาอังกฤษชอบออกข้อสอบแนวนี้ เพราะภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศนั้นทำงานแปลกฎหมายและงานค้นความเปรียบเทียบกฎหมายเป็นหลัก ผมจึงได้ยินชื่ออาจารย์รองพลฯเป็นครั้งแรก

*        *        *

                    เมื่อมีการประกาศผลสอบ ปรากฏว่าผมเป็นคนเดียวในรุ่นที่เพิ่งจบที่สามารถสอบเข้าทำงานได้ และได้รายงานตัวเข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ ตอนนั้นสำนักงานฯมีข้าราชการทั้งสายนิติกรและสายสนับสนุนรวมกันราว ๆ แปดสิบคนเศษเท่านั้น ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เล็กแต่อบอุ่นมาก  ในวันแรกที่เข้ารับราชการ ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ส่งผมไปอยู่ที่กองกฎหมายไทย ขณะที่เพื่อนรุ่นพี่อีกคนหนึ่งซึ่งตอนนี้เป็นผู้พิพากษาไปแล้วถูกส่งไปอยู่กองกฎหมายต่างประเทศ ตอนกลางวันเมื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันระหว่างบรรดานิติกรใหม่ เพื่อนรุ่นพี่ที่ถูกส่งไปอยู่กองกฎหมายต่างประเทศบ่นพึมพำว่าต้องเปิด Dictionary ทั้งวันจนเมื่อยมือไปหมดเพราะอ่าน Legal Opinion ไม่รู้เรื่อง พวกเราจึงรู้สึกโชคดีเป็นอันมากที่ไม่ต้องถูกส่งไปอยู่กองกฎหมายต่างประเทศ หรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า “กองเทศ”แต่พอวันรุ่งขึ้น พี่ฝ่ายการเจ้าหน้าที่คนเดียวกันมาบอกว่าผมต้องไปอยู่กองกฎหมายต่างประเทศสลับกับเพื่อรุ่นพี่คนนั้นเพราะเหตุส่งตัวผิดเนื่องจากเขาเห็นหน้าคล้าย ๆ กัน ระหว่างเก็บของเพื่อย้ายที่ตั้ง เราสองคนเดินสวนกันบริเวณบันได เพื่อนรุ่นพี่คนนั้นอวยพรผมว่าขอให้โชคดี ตอนแรกผมก็นึกเคืองเขาอยู่เหมือนกัน แต่หลายปีผ่านไป ผมกลับรู้สึกว่าผมโชคดีจริง ๆ ที่ได้อยู่กองเทศ

*        *        *

                    กว่าที่ผมจะได้พบกับท่านอาจารย์รองพลฯนั้นก็เป็นเวลาหลังจากที่ผมทำงานแล้วหนึ่งสัปดาห์ เพราะอาจารย์รองพลฯซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองไปราชการต่างประเทศ วันนั้นผมไปถึงที่ทำงานราว ๗.๐๐ นาฬิกา ซึ่งนับว่าเช้ามาก ทุกอย่างคงเหมือนเดิมยกเว้นกระจกห้องผู้อำนวยการกองที่มีไอเย็นจับจนเป็นฝ้า และเมื่อผมเดินเข้าไปในกอง ท่านเปิดประตูออกมาและเรียกผมเข้าไปทำงานในห้องของท่านที่พวกเรามักแอบเรียกลับหลังว่า “ห้องเย็น” เพราะเป็นห้องเดียวในชั้นห้าที่ติดแอร์นอกจากห้องสมุด วันแรก ๆ ที่ทำงานกับท่านนั้น อาจารย์รองพลฯให้ผมนั่งโต๊ะเดียวกับท่านโดยนั่งฝั่งตรงกันข้าม ทำหน้าที่สำคัญคือตรวจปรู๊ฟคำผิดคำถูกให้งานที่ท่านทำขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  พอเริ่มคุ้น ๆ กับงาน ท่านก็เริ่มให้ผมออกกำลังในระหว่างทำงานด้วยการวิ่งไปค้นและหยิบยืมหนังสือต่าง ๆ จากห้องสมุดให้กับท่าน บางทีก็ต้องไปค้นและยืมตำรากฎหมายภาษาต่างประเทศจากห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งฉีกหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่เกี่ยวกับกฎหมายออกมารวมแยกไว้เพื่อเย็บเป็นเล่มอ้างอิงชุดที่เก็บไว้ในห้องสมุด

*        *        *

                    หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผมก็คือการเป็นเด็กถ่ายเอกสาร ทำเอกสารโรเนียวและจัดสารบบเอกสารของกองเทศทั้งหมด รวมทั้งเป็นคนรับโทรศัพท์และประสานงานทางโทรศัพท์แทนอาจารย์รองพลฯเกือบทุกเรื่อง ขณะที่เพื่อนรุ่นพี่ที่เข้าทำงานพร้อม ๆ กันเกือบทุกคนเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานตรวจร่างกฎหมายกันบ้างแล้ว บางคนก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการกรรมการร่างกฎหมายอันเป็นตำแหน่งในฝันของพวกเราเพราะได้เบี้ยประชุมด้วย นับว่าผมแทบจะไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานเลย แถมผมยังต้องมาทำงานเช้ามาก เพราะท่านอาจารย์รองพลฯจะมาถึงที่ทำงานเป็นคนแรกของกองเสมอ โดยจะมาถึงประมาณ ๖.๓๐ น. ส่วนผมก็ยึดตำแหน่งที่สองเหนียวแน่นเช่นกันที่ประมาณ ๗.๐๐ น. และทันทีที่ไปผมถึง กองเทศก็จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่แม้จะยังไม่ถึง ๘.๓๐ น. ก็ตาม  ดังนั้น ใครที่พูดกับผมว่าราชการเช้าชามเย็มชาม จึงต้องถูกผมโต้เถียงคอเป็นเอ็นเสมอ

*        *        *

                    อาจารย์รองพลฯไม่เคยบอกผมสักทีว่าทำไมจึงมอบให้ผมทำงานเป็นม้าใช้เช่นนั้น เพียงแต่บอกว่าอะไรที่หยิบยืมมาให้จำชื่อผู้แต่งไว้ แถมบางเล่มท่านยังบังคับให้อ่านและสรุปสดให้ท่านฟังด้วยซึ่งทำให้ผมอายแสนจะอายเพราะภาษาอังกฤษของผมในตอนนั้นจัดอยู่ในขั้นอ่อนแอ ขณะที่ท่านจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโมแนช เครือรัฐออสเตรเลีย ส่วนที่มอบหมายให้ตรวจปรู๊ฟก็อย่าให้ผิดพลาด การถ่ายเอกสารหรือโรเนียวกระดาษต้องสะอาดและใช้ของหลวงทุกอย่างให้คุ้มค่า อย่าให้เสียเปล่า เพราะเงินที่ซื้อนั้นมาจากภาษีของประชาชน และเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ผมก็ได้แต่นึกน้อยใจว่าทำไมเราช่างอาภัพเช่นนี้หนอ ผลการเรียนที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้ขี้เหร่ แต่ต้องมาทำงานอะไรก็ไม่รู้ อยู่กรมร่างกฎหมายแท้ ๆ วัน ๆ หนึ่งได้แต่ตรวจปรู๊ฟ วิ่งไปวิ่งมาระหว่างห้องสมุดกับห้อง ผอ. หรือไม่ก็ไปทำเอกสารในห้องโรเนียว ทำเรื่องตั้งงบประมาณ ทำเรื่องเบิกพัสดุ ว่างนักก็นั่งฉีกราชกิจจานุเบกษาไปอ่านไปเพื่อฆ่าเวลา ซึ่งงานอย่างหลังนี้พอจะทำให้ผมมีความสุขอยู่บ้างเพราะผมชอบอ่านหนังสือ และการฉีกราชกิจจานุเบกษาก็ทำให้ผมรู้ว่ากฎหมายแต่ละระดับนั้นมีวิธีการเขียนแตกต่างกัน ส่วนเรื่องเจรจาทางโทรศัพท์แทนท่านนั้นก็เป็นอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งของผมเช่นกัน แต่ผมเองก็ไม่เคยถามท่านเหมือนกันว่าทำไมจึงให้ผมทำงานเบ๊เช่นนี้

*        *        *

                 จนเมื่อวันหนึ่งท่านจัดโต๊ะทำงานให้ผมนอกห้องเย็นและให้ผมทำงานที่โต๊ะนั้นได้ อาจารย์รองพลฯจึงเฉลยให้ผมฟังว่า การเป็นนักร่างกฎหมายที่ดีนั้นต้องมีความละเอียดรอบคอบ เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความรู้ทางวิชาการแน่น และต้องมีศิลปะในการเขียนและการพูดให้กระชับและชัดเจนไม่เยิ่นเย้อ การที่ท่านให้ผมจัดระบบเอกสารของกองใหม่ทั้งหมด นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่การค้นของกองแล้ว ยังทำให้ผมรู้จักการจัดทำ Documentary System ด้วยเพราะผมอายุยังไม่มากนักและหากได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ การจัดระบบเอกสารที่ดีจะเป็นประโยชน์ในการเขียน Essay หรือ Dissertation ในระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกต่อไป (และผมก็ได้ใช้ประโยชน์จากการรู้จักทำ Documentary System จริง ๆ เมื่อได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศซึ่งทำให้ผมสำเร็จการศึกษาก่อนกำหนดหนึ่งภาคการศึกษา) การฉีกราชกิจจานุเบกษาก็ไม่ใช่แค่ฉีกให้ขาด แต่ต้องอ่านไปพร้อมกันด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ฉีกทราบถึงเนื้อหาสาระและแบบการเขียนกฎหมายแต่ละระดับที่แตกต่างกัน หรือการที่ท่านใช้ให้ผมไปหยิบยืมหนังสือห้องสมุดก็เพื่อให้ผมคุ้นเคยกับระบบห้องสมุดและตำราที่เป็น Authority ของแต่ละสาขาวิชาเพื่อประโยชน์ในการทำงานและผลิตผลงานวิชาการของผมเองในอนาคต การให้เจรจาโทรศัพท์แทนท่านก็เพื่อจะได้รู้จักการติดต่อประสานงานและการพูด การรับผิดชอบจัดทำงบประมาณและการเบิกพัสดุของกอง รวมทั้งไปโรเนียวหรือถ่ายเอกสาร ก็เพื่อเตรียมให้รู้จักการบริหารจัดการทรัพยากรและการบริหารพัสดุ เพราะสายงานนิติกรส่วนใหญ่อ่อนด้านการบริหารจัดการและการพัสดุ ผมจึงมาถึงบางอ้อว่าท่านพยายามสร้างพื้นฐานในการทำงานร่างกฎหมายให้กับผม แม้จะเป็นงานที่ดูต่ำต้อยกว่างานของคนอื่นก็ตาม

*        *        *

                    เมื่อมีโต๊ะนั่งเป็นของตัวเองแล้ว อาจารย์รองพลฯจึงมอบหมายงานให้ทำเป็นเรื่องเป็นราวกับเขาบ้าง นั่นก็คือ การเขียนหนังสือโต้ตอบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำได้ว่าหนังสือที่ทำฉบับแรกเป็นภาษาไทยถูกแก้เสียจนดำปื๊ดเต็มหน้ากระดาษไปหมด อาจารย์มีความสามารถในการใช้เส้นโยงไปโยงมาเพื่อเชื่อมความเดิมกับความที่ท่านแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไป ท่านสั่งให้แก้ด่วนเพราะต้องส่งออก ผมเห็นต้นฉบับแล้วก็สะเทือนใจ รู้สึกว่าตัวเองใช้การไม่ได้เลย แต่พี่ที่อยู่กองเทศด้วยกันเห็นเข้าก็ปลอบว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่แก้สิแปลก ผมจึงพอมีแก่ใจแก้แล้วนำไปเสนอท่าน ท่านคงเห็นผมหน้ามุ่ยจึงสอนว่าวิธีการหนังสือราชการต้องสั้นกระชับได้ใจความ ย่อหน้าแรกเป็นการท้าวความ ย่อหน้าที่สองจะเป็นสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร ส่วนย่อหน้าที่สามจะเป็นข้อเสนอ ไม่ใช่นึกอยากเขียนอะไรก็เขียน และให้ไปศึกษารูปแบบการเขียนหนังสือราชการจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณฯ นอกจากนี้ สำนวนที่ผมเขียนนั้นเป็นภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียน ท่านจึงปรับให้เป็นภาษาเขียน สิ่งที่สำคัญคือ ขอให้ผมจำสำนวนที่ท่านแก้ไว้และนำไปใช้ในคราวต่อไป ท่านบอกว่าท่านเป็นผู้อำนวยการกองแล้ว การแก้หนังสือโต้ตอบถือเป็นภาระของท่าน เพราะท่านไม่สามารถนำไปประเมินเพื่อเลื่อนระดับได้ และการแก้มากมายนั้นก็มิใช่เพื่อความสะใจหรือสนุกสนาน แต่เพื่อสอนน้อง ๆ ให้ทำงานดีขึ้น เพราะถ้าลูกน้องทำงานเก่ง ท่านซึ่งเป็นหัวหน้าย่อมสบายในภายหลัง การสอนแบบของท่านทำให้ผมพัฒนาวิธีการเขียนมากขึ้นและได้นำมาใช้จนถึงบัดนี้ และเมื่อมีโอกาสเป็นหัวหน้างาน ก็พยายามสอนน้อง ๆ แบบเดียวกับที่ท่านสอนผมด้วย ซึ่งก็มีคนเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ทั้งที่ได้อธิบายเหตุผลอย่างที่ท่านเคยอธิบายให้ผมฟังแล้วก็ตาม

*        *        *

                   การแก้หนังสือถือเป็นเรื่องที่ผมโดนเป็นปกติ จนมาวันหนึ่งท่านให้ผมเขียนหนังสือถึงเอกอัครราชทูตประเทศหนึ่งเพื่อเสนอท่านเลขาธิการฯลงนาม ผมก็ทำไปตามปกติ คิดว่าประเดี๋ยวก็โดนแก้อีก แต่คราวนี้ท่านเซ็นผ่านเสียเฉย ๆ แบบไม่ดูเลย แล้วให้ผมนำไปเสนอท่านเลขาธิการฯ ลงนามทันทีเพราะเป็นเรื่องด่วนที่สุด ผมจึงทักขึ้นว่าท่านจะไม่ดูเสียหน่อยหรือ ท่านบอกว่าท่านดูมานานแล้ว ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องแก้ และก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปโดยไม่ใส่ใจผมอีก ผมจึงนำหนังสือนั้นออกมาจากห้องเย็นมาโชว์ใครต่อใครก่อนแล้วจึงวิ่งไปเสนอท่านเลขาธิการฯลงนาม วิธีการของท่านทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ระมัดระวังมากขึ้นเช่นกันเพราะไม่อยากทำให้ครูต้องมาเสียหายไปกับผม หากว่าผมทำงานบกพร่อง

*        *        *

                    การแก้งานด้วยลายมือพร้อมเส้นโยงใยไปมาน่าเวียนหัวนั้น ผมทึกทักเอาเองว่าเป็น “อัตลักษณ์” ของชาวกฤษฎีกา เพราะเมื่อเข้ารับราชการก็พบเห็นวัตรปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด ยิ่งถ้าไปค้นเรื่องเสร็จเก่า ๆ ดูก็จะพบว่าเป็นสิ่งที่พวกเราปฏิบัติมาตลอดตั้งแต่เป็น “กรมร่างกฎหมาย” สังกัดกระทรวงยุติธรรม ในสมัยล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖ ทีเดียว ในทัศนะของท่านอาจารย์รองพลฯ ท่านบอกกับผมว่าการปรับปรุงแก้ไขผลงานให้ดีที่สุดที่จะทำได้นั้นถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ เพื่อให้งานที่ส่งออกไปจากสำนักงานฯนั้นมีคุณภาพดีที่สุด และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องทำภายในระยะเวลาที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย เพราะหน่วยงานที่ขอหารือมาที่สำนักงานฯนั้นประสบปัญหาในการปฏิบัติราชการอันเนื่องมาจากปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น หากเราทำงานล่าช้า นั่นย่อมหมายถึงความเสียหายแก่ราชการ ท่านจึงเข้มงวดกับผมเสมอว่าการทำงานต้องดีที่สุดและเร็วที่สุด และผมไม่เคยพบแม้แต่ครั้งเดียวว่าท่านสั่งแก้งานด้วยวาจา ทุกครั้งที่แก้ไข ท่านอาจารย์รองพลฯจะแก้งานเองด้วยปากกาหมึกซึมทั้งสิ้น และไม่มีการแก้ด้วยดินสอแล้วลบออกในภายหลัง

*        *        *

                   เรื่องกริยามารยาทท่านก็อบรมสั่งสอนเช่นกัน แต่เป็นการอบรมภาคปฏิบัติ โดยท่านจะพาพวกเราไปรับประทานอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ และคอยดูกริยามารยาทของแต่ละคน แล้วจึงค่อย ๆ สอนว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ การรับประทานอาหารฝรั่งต้องใช้อุปกรณ์อะไรก่อนหลัง หรือสมควรรับประทานอะไรก่อนหลัง น้อง ๆ หน้าใหม่มักโดนอยู่เสมอเวลาท่านพาไปรับประทานบุปเฟ่ต์อาหารฝรั่ง แต่ดันวกไปตักข้าวผัด หรือขนมจีนแกงไก่ ว่า “ของแบบนั้นไปกินแถวท่าพระจันทร์ก็ได้” และที่สำคัญ ท่านห้ามพวกเรานำของกินเล่นต่าง ๆ มารับประทานในระหว่างเวลาราชการเด็ดขาด เหตุผลคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็น “มืออาชีพ” ด้านการร่างกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมาย การพัฒนากฎหมาย และการร้องทุกข์ (สมัยนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับผิดชอบงานร้องทุกข์ด้วย) เป็นสถานที่ราชการ จึงอาจมีผู้เข้ามาติดต่อประสานงานอยู่ตลอดเวลา ท่านให้ผมคิดเอาเองว่าหากผมไปติดต่องานกับ “มืออาชีพ” ที่อื่น แล้วไปเห็นว่า “มืออาชีพ” เหล่านั้นกำลังนั่งโจ้ของขบเคี้ยวอยู่อย่างเพลิดเพลินในระหว่างเวลาทำงาน หรือนั่งกอดตุ๊กตาหมี ผมจะให้ “ความเชื่อถือ” แก่ “มืออาชีพ” เหล่านั้นต่อไปหรือไม่ และอีกประการหนึ่งนั้นต้องคิดด้วยว่ากลิ่นอาหารที่เรานำไปรับประทานนั้นอาจรบกวนผู้ร่วมงานได้ ถ้ามีผู้ใดอุตรินำปลาหมึกปิ้ง ทุเรียน หรือของที่มีกลิ่นรุนแรงเข้ามารับประทานในห้องทำงาน อาจมีผู้ร่วมงานบางคนซึ่งไม่ชอบกลิ่นอาหารดังกล่าวเขาจะพอใจหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นห้องทำงานที่ติดเครื่องปรับอากาศ หรือถ้าต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าประชุมไม่ว่าจะที่ใด กลิ่นอันไม่พึงประสงค์นี้ก็อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าและตามไปหลอกหลอนเจ้าของเสื้อผ้านั้นตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมได้กลิ่นอาหารในห้องทำงาน มันจะเตือนผมให้นึกถึงท่านอาจารย์ทุกครั้ง

*        *        *

                   “การดำรงตน” เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ท่านสอน ที่สำคัญคือให้ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ใครเขาจะให้อะไรเพื่อตอบแทนการทำงานในหน้าที่ราชการของเรา ห้ามรับเด็ดขาด ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่เพราะที่เราทำเราได้รับเงินเดือนจากทางราชการตอบแทนแล้ว อยากได้อะไรก็ใช้เงินเดือนไปซื้อเอา อีกอย่างหนึ่งคืออย่าไป “ขอ” อะไรจากใคร เพราะจะทำให้เราติดหนี้เขา ถ้าเขามา “ขอ” เราคืนบ้าง อาจทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการได้ จำได้ว่าเรื่องนี้เคยมีปัญหาขึ้นครั้งหนึ่งสมัยที่ผมยังเป็นซีสามอยู่ ครั้งนั้นท่านอาจารย์รองพลฯสั่งให้ผมไปประสานงานกับสถานทูตประเทศหนึ่งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายของประเทศนั้น เพราะสมัยนั้นยังไม่มีกูเกิ้ล พอดีท่านทูตเพิ่งมารับตำแหน่งและมีเวลาว่าง จึงได้กรุณามาคุยด้วย หลังจากพูดคุยกันจนเมื่อยมือแล้ว ผมจึงขอตัวกลับ วันต่อมา ท่านทูตได้กรุณาให้พนักงานขับรถของสถานทูตนำของขวัญมาให้ผมหนึ่งกล่อง ผมไม่รู้จะทำอย่างไร จึงถือของขวัญที่ว่านั้นไปปรึกษาอาจารย์รองพลฯ ท่านบอกว่ารับไว้ไม่ได้เพราะไม่มีเหตุที่จะรับไว้ได้ เนื่องจากช่วงนั้นก็ไม่ใช่ช่วงเทศกาล จะเรียกว่าให้ตามเทศกาลก็ไม่ได้ และสั่งให้ผมนำไปคืนทันที ผมก็รีบนำไปคืนท่านทูตที่สถานทูตพร้อมอธิบายเหตุผลให้ท่านฟัง ท่านทูตดูท่าจะงง ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ เพราะเมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาสปีนั้น ท่านทูตส่งของขวัญมาให้อีก คราวนี้มาพร้อมจดหมายที่ระบุตัวผู้รับของขวัญ ผมไม่รู้จะทำอย่างไรจึงหารือท่านอีก ท่านจึงสั่งให้ผมทำบันทึกเสนอท่านเลขาธิการฯวินิจฉัยเพราะไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อน ท่านเลขาธิการฯเห็นว่าเป็นช่วงเทศกาลจึงมีคำสั่งให้รับไว้ได้ และให้ผมมีหนังสือไปขอบคุณท่านทูตตามมารยาทด้วย

*        *        *
 
                   นอกจากความซื่อสัตย์สุจริต ท่านสอนผมเสมอว่าอย่าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสุรานารีพาชีบัตร สำหรับสิ่งมึนเมานั้นท่านไม่ได้ห้าม แต่สอนให้ดื่มแบบมีสติยั้งคิด ให้ดื่มเป็นมารยาทหรือตามธรรมเนียม และให้หยุดเมื่อควรต้องหยุด ไม่ใช่ต้องเมาก่อนหรือหมดสติก่อนจึงหยุด เพราะนอกจากจะเสียงานเสียการแล้วยังเสียชื่อเสียงด้วย ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ไม่เคยด่างพร้อยในเรื่องนี้

*        *        *

                   ในฐานะนักวิชาการ ท่านสอนผมเสมอว่าต้องซื่อสัตย์ สิ่งใดรู้ต้องรู้ให้จริง ถ้าสิ่งใดไม่รู้ ต้องยอมรับว่าไม่รู้ เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง อย่า “จินตนาการ” เอาเอง เพราะจะทำให้ระบบการให้เหตุผลตามตรรกะเสียหาย ท่านสั่งนักหนาว่าถ้าไม่รู้เรื่องใด ให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ต้องหาหลักฐานเอกสารทางวิชาการมาอธิบายให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นมาหรือวิวัฒนาการของเรื่องนั้นตามหลัก Historical Approach นอกจากนี้ ที่ท่านกรุณาพร่ำสอนอีกอย่างหนึ่งคือเด็กกองเทศต้องเป็น “นักสังเกตการณ์สังคม” เพื่อจะได้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหมายความว่าเด็กกองเทศต้องอ่านหนังสือมาก ๆ ทั้งหนังสือตำรากฎหมายและหนังสือสาขาอื่น รวมทั้งต้องติดตามข่าวสารต่าง ๆ ตลอดเวลาเพื่อให้เป็น “คนทันโลก” เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าเราตามโลกไม่ทันเราจะกลายเป็นคนเชย ๆ พูดกับใครไม่รู้เรื่อง และจะไม่สามารถร่างกฎหมายให้ใคร ๆ ได้เลย ซึ่งผมรู้ในภายหลังว่าสิ่งที่ท่านสอนนั้นเป็นหลักกฎหมายเปรียบเทียบของศาสตราจารย์ Ernst Rabel นักกฎหมายเปรียบเทียบผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนั่นเอง

*        *        *

                    เมื่อผมได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ อาจารย์รองพลฯได้เลือกมหาวิทยาลัยและวิชาที่จะร่ำเรียนให้ผมเสร็จสรรพ เหตุที่ท่านทำเช่นนี้เพราะท่านต้องการให้ผมไปเรียนในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของสำนักงานฯมากที่สุด ไม่ใช่เพื่อให้ผมเรียนง่ายที่สุด แถมวิชาที่ท่านเลือกให้เรียนนั้นยังเป็นวิชาสุดหินที่สอนโดยศาสตราจารย์ที่ดังที่สุดในยุคนั้นของออสเตรเลียอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิชา Consumer Protection Law ของ Professor David J. Harland[๒] หรือวิชา Labor Law ของ Professor Ronald C. McCallum[๓] ซึ่งคนหลังนี้เป็นเพื่อนนักศึกษาของท่านที่ Monash University มาก่อน และก่อนที่จะไปเรียนต่อนั้น ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอว่าอย่าไปเรียนอย่างเดียว ให้ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับฝรั่งด้วย เราจะได้รู้ว่าเขามีวิธีคิดในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรเพราะเป็นพื้นฐานอันจำเป็นในการทำกฎหมายเปรียบเทียบ ประโยชน์ที่สำคัญนอกจากนี้ก็คือเพื่อให้เรา “รู้ทันฝรั่ง” นั่นเอง ท่านบอกว่าท่านพบนักเรียนนอกหลายคนที่เชื่อฝรั่งทุกเรื่องราวกับอภิชาติบุตร ท่านเห็นว่าวิธีคิดดังกล่าวทำให้เราต้อง “ตาม” ฝรั่งทุกเรื่องโดยลืมวิถีของตนเองและวิถีตะวันออก เมื่อไปเรียน ผมได้พบ Professor McCallum จึงเรียนให้ทราบว่าท่านอาจารย์รองพลฯฝากความระลึกถึงมา ผมยังจำติดหูมาจนถึงวันนี้เมื่อ Professor McCallum พูดถึงท่านอาจารย์รองพลฯว่า Rongphol is the cleverest man I’ve ever met.”  และเมื่อมาเล่าให้ท่านอาจารย์รองพลฯฟัง ท่านบอกว่า Professor McCallum เป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้สวยที่สุดเท่าที่ท่านเคยพบมา และเล่าให้ฟังต่อไปว่าท่านสอบได้คะแนนดีเด่นทุกวิชา แต่ Professor McCallum เป็นเพียงคนเดียวที่สามารถทำให้ท่านสอบได้คะแนนแบบผ่านในวิชาศาลจำลอง เพราะความสามารถในการพูดและไหวพริบอันโดดเด่นของ Professor McCallum นั่นเอง

*        *        *

                   ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของท่านอาจารย์รองพลฯที่ผมรู้จักในฐานะผู้บังคับบัญชาคนแรกในชีวิตราชการของผม และเป็นผู้ที่วางรากฐานอันแน่นหนาให้แก่ผมในการรับราชการ ยังมีความทรงจำดี ๆ เกี่ยวกับท่านอีกมากมายที่ยังคงสว่างสุกใสอยู่ในใจผมโดยไม่สามารถบรรยายออกมาได้หมด ผมไม่ทราบว่าผู้อื่นจะมีทัศนะต่อท่านอย่างไรเพราะชีวิตคนเรามิได้แตกต่างจากเหรียญที่มีสองด้าน แต่สำหรับผม ท่านอาจารย์รองพลฯยังคงเป็นผู้บังคับบัญชาที่เคารพและเป็นครูที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของผมเสมอ

*        *        *


[๑]กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรกฎาคม ๒๕๕๔)
[๒]Former Professor, Faculty of Law, The University of Sydney Former Editor ของ Consumer Law Journal ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
[๓]AO, Senior Australian Award, Professor Emeritus, Faculty of Law, The University of Sydney ปัจจุบันเป็น Chair of the United Nations Committee on the Rights of Persons with Disabilities

2 ความคิดเห็น: