ส่วนราชการ สำนักกฎหมายต่างประเทศ โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๘๔๒๐-๓ โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๘๔๒๖
ที่
วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๒
เรื่อง ต้นฉบับอันเป็นที่มาของเอกสาร
“กฎหมายฝรั่งเศส พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แปล จ.ศ. ๑๒๓๑ (พ.ศ. ๒๔๑๒)”
เรียน ท่านเลขาธิการฯ
ตามที่มอบหมายให้กระผมสืบค้นต้นฉบับอันเป็นที่มาของเอกสาร “กฎหมายฝรั่งเศส พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แปล จ.ศ.
๑๒๓๑ (พ.ศ. ๒๔๑๒)” ที่มีการอ้างถึงในหนังสือ ๑๒๕ ปี Council of State สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
(วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม ๑๘ ตอน ๓) (เอกสารหมายเลข ๑) ในการประชุมข้าราชการระดับสูงของสำนักงานฯ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ นั้น
กระผมดำเนินการเสร็จแล้ว
และขอเรียนชี้แจงดังนี้
๑.
จากการตรวจสอบเอกสาร
“กฎหมายฝรั่งเศส พระยาภาสกรวงศ์
(พร บุนนาค) แปล จ.ศ. ๑๒๓๑ (พ.ศ. ๒๔๑๒)” ที่มีการอ้างถึงในหนังสือ ๑๒๕ ปี Council of State สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม
๑๘ ตอน ๓) กระผมพบจุดอ้างอิง ๓ ประการ ดังนี้
๑.๑
ปีที่พระยาภาสกรวงศ์ทำเอกสารดังกล่าวขึ้น ซึ่งระบุว่าเป็นปี
จ.ศ. ๑๒๓๑ (พ.ศ. ๒๔๑๒ หรือ ค.ศ. ๑๘๖๙)
๑.๒
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับที่พระยาภาสกรวงศ์อ้างถึงในเอกสารดังกล่าว โดยพระยาภาสกรวงศ์อ้างถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส
ฉบับปี ค.ศ. ๑๘๕๑ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสพบว่าการอ้างถึงรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส
ฉบับปี ค.ศ. ๑๘๕๑ น่าจะไม่ถูกต้อง โดยที่ถูกต้องควรเป็นรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับปี ค.ศ. ๑๘๕๒ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส
ฉบับปี ค.ศ. ๑๘๕๒ มีการประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๒
(เอกสารหมายเลข ๒) แต่ได้รับความเห็นชอบจากสภาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๑ ซึ่งอาจทำให้พระยาภาสกรวงศ์มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน
๑.๓
มีการอ้างถึงเอกสารภาษาต่างประเทศฉบับหนึ่งในเอกสารของพระยาภาสกรวงศ์ คือ “...ตามพระราชกำหนดในหนังสือพิมพ์ชื่อ มอนิเตอร์ ลงวันที่ ๒๑ เดือนดิเซมเบอร์ กฤษตศักราช ๑๘๖๐...”
๒.
จากข้อมูลตาม ๑.๑ และ ๑.๒ กระผมสันนิษฐานว่าต้นฉบับอันเป็นที่มาของเอกสารที่พระยาภาสกรวงศ์จัดทำขึ้น ควรเป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างปี
ค.ศ. ๑๘๕๒ อันเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับปี ค.ศ. ๑๘๕๒ มีผลใช้บังคับ ถึงปี
ค.ศ. ๑๘๖๙ อันเป็นปีที่พระยาภาสกรวงศ์จัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้น
๓.
โดยที่พระยาภาสกรวงศ์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ
มิใช่ภาษาฝรั่งเศส ต้นฉบับอันเป็นที่มาของเอกสารที่พระยาภาสกรวงศ์จัดทำขึ้นจึงน่าจะเป็นเอกสารภาษาอังกฤษ
มิใช่ภาษาฝรั่งเศส
๔.
จากการตรวจสอบเอกสารภาษาอังกฤษในช่วงปี ๑๘๕๒-๑๘๖๙ พบว่าในปี ค.ศ. ๑๘๖๔ (ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย) อังกฤษได้จัดทำหนังสือรวมข้อมูลของประเทศต่าง
ๆ โดยละเอียดขึ้นชื่อ Statesman’s Year-Book โดยมีข้อมูลทั่วไป การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และกฎหมายของทุกประเทศ และเป็นหนังสืออ้างอิงของข้าราชการอังกฤษที่ไปประจำการในต่างประเทศและในอาณานิคม
หนังสือนี้ยังคงพิมพ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
กระผมจึงสันนิษฐานว่าพระยาภาสกรวงศ์ในฐานะที่เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษและมีหน้าที่อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งไปเจรจากับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงน่าที่จะทราบถึงความมีอยู่ของหนังสือดังกล่าว
๕.
จากการตรวจสอบเอกสารที่พระยาภาสกรวงศ์จัดทำขึ้น กระผมพบว่าตรงกับข้อมูลที่ปรากฏใน Statesman’s Year-Book ๑๘๖๗ ในส่วนข้อมูลประเทศฝรั่งเศส (เอกสารหมายเลข ๓)
ดังนี้
กฎหมายฝรั่งเศส พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แปล จ.ศ. ๑๒๓๑
|
Statesman’s
Year-Book ๑๘๖๗
|
ว่าด้วยกอฟชติตุติอย
|
Constitution
and Government หน้า ๖๓-๖๔
|
ว่าด้วยรูปแบบคอเฟอร์เม้นต์
|
Constitution
and Government หน้า ๖๓-๖๔
|
ว่าด้วยอำนาจและการชอบธรรม
สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอราชาธิราช |
Reigning
Sovereign and Family หน้า ๖๑-๖๓
|
ว่าด้วยมินิศเตอร์เสนาบดี
|
Constitution
and Government หน้า ๖๕-๖๘
|
๖.
นอกจากนี้ ดังได้กล่าวถึงใน ๑.๓ ข้างต้นว่าเอกสารที่พระยาภาสกรวงศ์จัดทำขึ้นมีการอ้างถึงเอกสารภาษาต่างประเทศฉบับหนึ่ง คือ “...ตามพระราชกำหนดในหนังสือพิมพ์ชื่อ มอนิเตอร์ ลงวันที่ ๒๑ เดือนดิเซมเบอร์ กฤษตศักราช ๑๘๖๐...” โดยเป็นการอ้างถึงเกี่ยวกับการแบ่งกระทรวงของฝรั่งเศสออกเป็น
๑๑ กระทรวง ซึ่งกระผมพบว่าเป็นการแปลตรงมาจากย่อหน้าที่ ๔ ของหน้า ๖๕ ของ Statesman’s Year-Book ๑๘๖๗ ที่ระบุว่า “There are
eleven ministerial departments.
According to an Imperial Decree, promulgated in the ‘Moniteur’ of Dec.
21, 1860, ….” นอกจากนี้ ข้อความขยายการอ้างถึงดังกล่าวก็เป็นการแปลตรงมาจากข้อความที่เหลือของย่อหน้าที่
๔ ของหน้า ๖๕ โดยไม่ตกหล่น
๗.
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น กระผมจึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าต้นฉบับอันเป็นที่มาของเอกสาร “กฎหมายฝรั่งเศส พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แปล จ.ศ. ๑๒๓๑ (พ.ศ. ๒๔๑๒)”
นั้นน่าจะเป็นข้อมูลจากหนังสือ Statesman’s Year-Book แต่โดยที่กระผมไม่สามารถหาข้อมูล Statesman’s Year-Book ปี ค.ศ. ๑๘๖๔, ๑๘๖๕, ๑๘๖๖, ๑๘๖๘ และ
๑๘๖๙ ได้ จึงยังไม่สามารถยืนยันในชั้นนี้ได้ว่าต้นฉบับอันเป็นที่มาของเอกสารที่พระยาภาสกรวงศ์จัดทำขึ้นนั้น มาจาก Statesman’s
Year-Book
ในปีใดระหว่างปี ๑๘๖๔-๑๘๖๙
หากต้องการข้อมูลชัดเจนมากกว่านี้ต้องสมัครเป็นสมาชิกของสำนักพิมพ์ Statesman’s Year-Book ทางเว็บไซต์ http://www.statesmansyearbook.com/public/ ซึ่งต้องเสียค่าสมาชิก
๘.
อนึ่ง กระผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากพระยาภาสกรวงศ์ ใช้ Statesman’s Year-Book เป็นต้นฉบับเอกสารจริง คงใช้คำว่า “แปล” มิได้ แต่ควรใช้คำว่า “สรุปความ” มากกว่า
เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีข้อความบางส่วนเท่านั้นที่เป็นการแปลตรง แต่ส่วนอื่นเป็นการสรุปความ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
(นายปกรณ์ นิลประพันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น