วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกร็ดการร่างกฎหมาย 7: การล้างมลทินกับการพระราชทานอภัยโทษ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์

           ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “มลทิน” เป็นคำนาม แปลว่า. “ความมัวหมอง, ความด่างพร้อย, ความไม่บริสุทธิ์.”  โดยทั่วไป การล้างมลทินจะกระทำโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติล้างมลทินเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และผู้ใดจะได้รับการล้างมลทินหรือไม่ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายล้างมลทินแต่ละฉบับบัญญัติไว้

           สำหรับผลทางกฎหมายของการล้างมลทินนั้น ถือว่าผู้นั้น “ไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้น” มาก่อน หรือถ้าเป็นกรณีการลงโทษทางวินัยก็ให้ถือว่าผู้นั้น “ไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น” มาก่อน การล้างมลทินจึงเป็นการ “ล้างโทษ” ที่เคยได้รับเพื่อไม่ให้มีมลทินติดตัว แต่ “การกระทำหรือความประพฤติที่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถูกลงโทษ” มิได้ถูกลบล้างไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2539 นอกจากนี้ การล้างมลทินไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ เว้นแต่กฎหมายล้างมลทินนั้นจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

           ส่วนการพระราชทานอภัยโทษถือเป็น “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ยืนยันพระราชอำนาจนี้ตลอดมา  ทั้งนี้ การพระราชทานอภัยโทษนั้นมิได้จำกัดเฉพาะโทษทางอาญาเท่านั้น พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษจึงครอบคลุมทั้งโทษทางอาญา โทษทางวินัย และโทษอื่นด้วย

              ในกรณีโทษอาญานั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการอภัยโทษมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ ตามมาตรา 259 ถึงมาตรา 267 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยผลของการอภัยโทษทางอาญานั้น กฎหมายห้ามมิให้บังคับโทษนั้นต่อไป หรือถ้าเป็นโทษปรับที่ชำระแล้วก็ให้คืนค่าปรับให้ไปทั้งหมด แต่มิได้ลบล้างโทษทางอาญาที่เคยได้รับมาก่อน

             ส่วนการอภัยโทษทางวินัยนั้นไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบัญญัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ การดำเนินการอภัยโทษทางวินัยและผลของการอภัยโทษทางวินัยจึงต้องเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย กล่าวคือ เมื่อมีพระบรมราชโองการให้อภัยโทษทางวินัยแก่ผู้ใด ก็ต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกระแสอภัยโทษทางวินัยต่อไป

                   อ้างถึง
                   เรื่องเสร็จที่ 1056-1057/2554

                   คำพิพากษาฎีกาที่ 694/2539

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น