วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการน้ำ และกฎหมาย

นายปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   ในราวสิบปีก่อน ผู้เขียนเคยมีโอกาสร่วมทำงานวิจัยเรื่องพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองร่วมกับศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับว่าเป็นโอกาสอันดีในชีวิตของลูกหลานชาวสวนที่เกิดและโตมากับต้นไม้ใบหญ้า

                   ตอนที่ทำวิจัยนั้น ป่าไม้ยังมากกว่านี้ ชุมชนเมืองยังมีพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ แต่จำได้แม่นยำว่าในวันที่แถลงผลการศึกษาวิจัย คณะผู้วิจัยนำเสนอว่าอีกสิบปีข้างหน้าชุมชนเมืองระดับเทศบาลขึ้นไปเกือบทุกแห่งทั่วประเทศจะมีพื้นที่สีเขียวน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราส่วนกับประชากร เพราะการใช้ประโยชน์ในที่ดินในยุคบริโภคนิยมจะมุ่งเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เห็นผลได้ในระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

                   เมื่อเราแถลงผลการทำนายว่าจะมีการเปลี่ยนสีผังเมืองกันอย่างมากและพื้นที่สีเขียวจะลดลงในอัตราที่น่าตกใจ และเมื่อถึงเวลานั้นชุมชนเมืองจะประสบปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งซ้ำซากและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพื้นที่สีเขียวอันเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจะเหลือน้อยมาก พลันก็มีเสียงหัวเราะอย่างขบขันดังกระหึ่มขึ้นในหอประชุม

                   ผู้เขียนก็ได้แต่หวังใจว่าเมื่อคณะผู้วิจัยได้แสดงทัศนะในทางวิชาการที่วางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ต่อสาธารณะไปแล้ว ก็คงได้แต่รอว่าจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง

                   จวบจนถึงวันนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นไปตามการพยากรณ์ของคณะผู้วิจัย ผู้คนจำนวนมากเริ่มโหยหาพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แต่มีจำนวนไม่มากนักที่ตระหนักว่าพื้นที่สีเขียวมิได้มีประโยชน์เพียงแค่สร้างความสวยงามให้เมืองหรือเป็นเครื่องฟอกอากาศให้แก่ชุมชนเมือง หรือเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนเมือง หากแต่เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ไม่ต้องลงทุนให้มากมายอะไร แต่อาจขัดใจ Capitalists อยู่บ้าง

                   ในยามน้ำมาก พื้นดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างปกคลุมและพื้นที่สีเขียวจะเป็นช่องทางในการที่ดินจะดูดซับน้ำผิวดินลงไปใต้ดินโดยไม่ต้องใช้ท่อระบายน้ำ

                   ในยามน้ำน้อย น้ำที่ถูกดูดซับลงไปใต้ดินผ่านพื้นดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างปกคลุมและพื้นที่สีเขียวจะช่วยรักษาสภาพโครงสร้างของชั้นดินไม่ให้แห้งจนเกินไปจนกระทั่งชั้นดินทรุดตัวลงเกิดเป็นหลุมยุบหรือถนนยุบ

                   น่าเสียดายที่ไม่มีใครสนใจข้อเท็จจริงนี้มากนัก

                   ปัจจุบัน ชุมชนเมืองมีสิ่งปลูกสร้างที่ปกคลุมพื้นดินมากมายที่ทำจากคอนกรีตและแอสฟัสต์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูดซับน้ำได้น้อยมาก เมื่อเกิดฝนตก น้ำจึงขังอยู่บนพื้นผิว ไม่มีที่ไป การระบายน้ำจึงต้องอาศัยท่อระบายน้ำเป็นหลัก ถ้าท่อตันก็จบกัน ส่วนน้ำที่ไหลลงท่อระบายน้ำได้ก็จะถูกส่งผ่านไปยังแม่น้ำลำคลองทันที พื้นดินข้างใต้แทบไม่มีโอกาสได้ดูดซับน้ำจนอิ่มตัวเหมือนเช่นที่เคยเป็นตามธรรมชาติ ระดับน้ำใต้ดินก็น้อยลง พื้นดินก็ทรุดลง  ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเวลาฝนตกทีหนึ่งจึงเกิดน้ำขังในเขตชุมชนเมืองและพื้นที่ในเขตชุมชนเมืองทรุดลงไปเรื่อย ๆ

                   สังเกตไหมครับว่าชุมชนติดทะเลบางแห่ง เช่น เมืองพัทยา เป็นต้น ฝนตกหนักหลายถึงกับทำให้เกิดสภาพน้ำขังบนถนนท่วมหลังคารถเก๋งทีเดียว เพราะนอกจากสภาพพื้นจะเปลี่ยนไปโดยเต็มไปด้วยคอนกรีตและแอสฟัสต์ปิดทับหน้าดินแล้ว การสร้างถนนหนทางมากมายนั้นยังขวางทางน้ำไหลตามธรรมชาติอีกด้วย

                   ถ้าเราเปลี่ยนพื้นที่ที่มีคอนกรีตและแอสฟัสต์ปิดทับหน้าดินให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวก็จะเป็นช่องทางในการดูดซับน้ำที่ว่านี้ลงไปสู่ดินที่กำลังแห้งใต้พื้นคอนกรีต ก็คงจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นไปได้มิใช่น้อย

                   อังกฤษเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2007 และมีการศึกษาอย่างจริงจังถึงมาตรการตามธรรมชาติที่สามารถบรรเทาหรือลดความรุนแรงปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่มาคู่กันอยู่เสมอ ผลการศึกษาของเขาประการหนึ่งก็แนะนำให้มีการควบคุมการก่อสร้างสิ่งปกคลุมหน้าดินโดยให้ก่อสร้างเท่าที่จำเป็นโดยเหตุผลอย่างที่ว่าเหมือนกัน แถมยังออกกฎหมายด้วยว่าการออกแบบก่อสร้างต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาติด้วย แถมด้วยกฎหมายที่กำหนดให้ใช้เฉพาะวัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติที่ยอมให้น้ำไหลผ่านลงไปใต้ดินได้ตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดต่อได้ในอินเตอร์เน็ตโดยใช้คำค้นว่า “Sir Michael Pitt’s Review of the Summer 2007 Floods

                   สำหรับบ้านเรา ถ้าถามว่ากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเอื้อให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองหรือไม่ คณะผู้วิจัยศึกษาแล้วพบว่าตัวบทกฎหมายต่าง ๆ นั้นเอื้ออยู่แล้ว ยิ่งถ้าทางราชการทำให้เป็นตัวอย่างก็จะเป็นการชี้นำสังคมได้ดียิ่งขึ้นโดยใช้เพียง “มติคณะรัฐมนตรี” เท่านั้น แต่ลองสำรวจการใช้พื้นที่ของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ดูสิครับว่ามีสักกี่แห่งที่มีพื้นที่สีเขียวอันประกอบด้วยไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละสิบห้าของพื้นที่?? ส่วนใหญ่พื้นที่ที่ไม่มีหลังคาคลุมจะถูกเทปูนเพื่อจัดเป็น “ที่จอดรถ” เสียสิ้น  

                   ส่วนกฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้มีที่ว่างจริง แต่เจ้าของจะใช้ที่ว่างนั้นปลูกต้นไม้ ทำบ่อน้ำ หรือที่จอดรถก็ได้ ผู้คนจึงเทปูนที่ว่างนั้นทำเป็นที่จอดรถเสียหมดเช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐ ห้องแถวแบบไทย ๆ จึงไม่มีทั้ง Front yard และ Backyard แต่จะไปโทษชาวบ้านเขาก็ลำบากเพราะการปลูกต้นไม้ในบ้านนั้นมีต้นทุนในการบำรุงรักษา บางทีรากไม้ไชบ้านแตกก็มี กิ่งไม้หักหล่นไปนอกบ้านไปโดนคนโดนรถที่จอดอยู่นอกรั้วบ้านก็ต้องรับผิดชอบอีก แถมเมื่อตัดแต่งกิ่งแล้วนำไปทิ้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาก็ไม่รับขนไปทิ้งเสียอีก นัยว่าไม่เป็นขยะ ต้องจ้างกันเป็นพิเศษ

                   วัดวาอารามต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ก็เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างพะรุงพะรัง พื้นที่ที่มีอยู่ก็เทปูนกันหมดเพื่อสะดวกแก่การจอดรถของญาติโยมที่จะมาทำบุญ หรือไม่ก็เพื่อประโยชน์ในการเปลี่ยนลานวัดเป็นตลาดนัด จะหาวัดที่เป็นพื้นที่สีเขียวได้ยากเย็นเต็มทีแม้กระทั่งวัดป่า

                   กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนเมืองเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการบริหารจัดการน้ำเช่นกัน โดยเป็นมาตรการควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรมาก แม้ไม่ได้เป็นโครงการใหญ่ แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรต้องทำอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย เพราะทุกคนมีส่วนร่วมดำเนินการได้ ทั้งนี้ ส่วนราชการควรทำให้เป็นตัวอย่างเพื่อชี้นำให้ประชาชนเดินตาม และกฎหมายที่มีอยู่ก็อำนวยให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว


                   ผมขอนำเสนอครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น