นายปกรณ์
นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมานี้มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเกี่ยวกับ
“ยุทธศาสตร์ชาติ” กันอย่างมากมาย และมีการเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติขึ้นด้วย
โดยมุ่งหวังว่าถ้ามีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติขึ้นแล้ว สิ่งนี้จะทำให้ประเทศไทยเราหลุดพ้นจากกับดักต่าง
ๆ นา ๆ บรรดาที่ทำให้เราเชื่องช้ากว่าเพื่อนบ้านได้
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนอ่านคำอธิบายของผู้เสนอรวมทั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ตามสื่อมวลชนต่าง
ๆ แล้วก็ให้เกิดความสงสัย เพราะอยู่ ๆ ก็จะกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติขึ้น
โดยไม่มีใครกล่าวถึงสิ่งที่ต้องคิดถึงหรือกำหนดขึ้นก่อนที่จะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา
ซึ่งได้แก่ “วิสัยทัศน์ของชาติ”
ในทางตำรา วิสัยทัศน์ (Vision)
ต่างจากยุทธศาสตร์ (Strategy) โดยวิสัยทัศน์คือตำแหน่งหรือภาพของประเทศหรือองค์กรที่จะเป็นในอนาคตต่อไปข้างหน้า
ซึ่งจะสั้นหรือยาวก็สุดแล้วแต่ แต่โดยมากจะยาวหน่อยเพราะการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนลุคของประเทศหรือองค์กรให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์นั้นต้องใช้เวลาในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องต่าง
ๆ มากมาย ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียเขากำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศมาตั้งแต่ปี
๒๕๓๔ ที่รู้จักกันว่า “วิสัยทัศน์ ๒๐๒๐” ว่า เขาจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี
ค.ศ. ๒๐๒๐ (๒๕๖๓) เป็นต้น
ส่วนยุทธศาสตร์หรือที่นักวิชาการด้านบริหารจัดการเรียกอีกนัยหนึ่งว่า
“แผนกลยุทธ์” นั้นหมายถึงแผนปฏิบัติการโดยรวมเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
และเมื่อมียุทธศาสตร์แล้ว ก็จะมีการกำหนด “ยุทธวิธี” (Tactics)
หรือที่นักการบริหารจัดการเรียกว่า “กลวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการในรายละเอียดที่จะต้องนำมาใช้เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดอีกทอดหนึ่ง
ไหน ๆ ยกตัวอย่างมาเลเซียแล้ว
ผู้เขียนขออนุญาตถ่ายทอดข้อความส่วนหนึ่งที่ YAB Dato’ Seri
Dr. Mahathir Mohamad ได้แถลงเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ๒๐๒๐
ต่อสภาธุรกิจชาวมาเลเซีย (Malaysian Business Council) เป็นภาษาไทย
ดังนี้
“...[ข้าพเจ้า]หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวมาเลเซียซึ่งเกิดในวันนี้และในปีหนึ่งข้างหน้านี้
(๒๕๓๕) จะเป็นพลเมืองยุคสุดท้ายที่จะเกิดในยุคที่ประเทศของเราเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา.”
เป้าหมายสุดท้ายที่เราพึงมีร่วมกันคือมาเลเซียต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี
๒๐๒๐ (๒๕๖๓).
พวกท่านอาจมีคำถามว่าการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์เป็นอย่างไร.
ต้องถามกลับว่าเราต้องการที่จะเป็นอย่างประเทศ ๑๙
ประเทศที่เขาจัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่.
เราต้องการเป็นอย่างสหราชอาณาจักร อย่างแคนาดา อย่างฮอลแลนด์ อย่างสวีเดน
อย่างฟินแลนด์ หรืออย่างญี่ปุ่นหรือไม่. แน่นอนว่าทั้ง ๑๙ ประเทศจากทั้งหมดในโลกนี้กว่า
๑๖๐ ประเทศนั้นเขาต่างก็มีความเข้มแข็ง. แต่เขาต่างก็มีจุดอ่อนเช่นกัน. เราจึงสามารถที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้โดยไม่จำเป็นต้องเลียนแบบเขาทั้งหมด.
แต่เราควรต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในรูปแบบของเราเอง.
มาเลเซียต้องไม่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ.
หากเราต้องเป็นชาติที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ในทุก ๆ มิติ: เศรษฐกิจ
การเมือง สังคม ความเข้มแข็งของชนในชาติ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรม.
เราต้องพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ในแง่ความเป็นเอกภาพของชนในชาติและความเชื่อมโยงของผู้คนในสังคมทั้งในด้านเศรษฐกิจ
ความเป็นธรรมในสังคม ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ระบบการปกครอง คุณภาพชีวิต สังคม
และจิตวิญญาณ ตลอดจนมีความภูมิใจและเชื่อมั่นในชาติของเรา. ...”
เมื่อวางวิสัยทัศน์ของประเทศที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันแล้ว
มาเลเซียจึงไปกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ว่านั้น ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าการที่มาเลเซียสามารถวางและดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเขาได้นั้น
“ความมีเสถียรภาพทางการเมือง” ของมาเลเซียเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพรรคอัมโน
(United Malay National Organization: UMNO) เป็นแกนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลมาเลเซียมาตั้งแต่ปี
๑๙๔๖ (๒๔๘๙) และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียก็มาจากพรรคนี้นับแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะดังกล่าวก็ปรากฏในสิงคโปร์ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดวิสัยทัศน์และดำเนินยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่าที่ผ่านมาเรายังไม่มีวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจน
คงมีเฉพาะนโยบายของรัฐบาลในระยะสั้น ๆ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีอายุ
๕ ปี เท่านั้น ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนจึงไม่ทราบว่าประเทศของเราจะมีภาพอย่างไรในอนาคต
การดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง
ขาดการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งการเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเราจะเดินไปสู่จุดไหนซึ่งแตกต่างจากกรณีมาเลย์เซีย
สิงคโปร์ และชาติอื่นในภูมิภาค
กรณีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจนเพื่อให้ทุกหมู่ทุกฝ่ายดำเนินการให้เป็นไปตามทิศทางนั้น
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ
ใครควรเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ชาติ ในทัศนะของผู้เขียน การกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศ
รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติและยุทธวิธีที่จะทำให้เป็นไปตามที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องในทางบริหารโดยแท้
เพราะฝ่ายบริหารมี “ความรับผิดชอบที่จะบริหารประเทศเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์”
แต่การกำหนดดังกล่าวก็ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนด้วย ซึ่งผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตว่าถ้าฝ่ายบริหารกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความผาสุกของประชาชนแล้ว
ย่อมได้รับความเห็นชอบจากประชาชน โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานใหม่ ๆ ขึ้น
สำหรับการกำหนดยุทธวิธีหรือกลวิธีนั้น ควรต้องดำเนินการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ซึ่งปัจจุบันก็มีกลไกหรือช่องทางต่าง ๆ หลากหลายอยู่แล้ว ไม่จำต้องตั้งหน่วยงานใด
ๆ ขึ้นใหม่
อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าการทำให้วิสัยทัศน์ของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติเป็นที่ยอมรับร่วมกันของประชาชนและมีความผูกพันรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดที่จะต้องปฏิบัติตาม
เราสามารถใช้กลไกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีอยู่แล้วสร้างผลผูกพันทางกฎหมายขึ้นได้
โดยการจัดให้มีการลงประชามติในวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายบริหารจัดทำขึ้น ซึ่งจะสร้างความรับรู้ร่วมกันของคนในชาติให้ก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งมติมหาชนดังกล่าวจะมีผลบังคับโดยสภาพให้พรรคการเมือง หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน
และประชาชนสังคมต่างมีพันธกรณีที่จะต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ผ่านการลงประชามตินั้น
และเมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกฝ่ายย่อมติดตามและตรวจสอบได้ว่ามีการดำเนินการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์นั้นหรือไม่
หากจะต้องมีการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการประชามติไปแล้ว
ก็จะต้องมีการทำประชามติใหม่ด้วยเพื่อสร้างความรับรู้ร่วมกันเพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกันเพื่อความสุขสถาพรอย่างยั่งยืนของลูกไทยหลานไทยในอนาคต.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น