๑. ความเป็นมา
เขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ หรือที่เรียกว่า "National
Strategic Special Zone" หมายถึง "เขตพื้นที่ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาลกลางบนพื้นฐานของแนวคิดในการส่งเสริมการแข่งขันในด้านอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติ รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ" โดยจัดตั้งในลักษณะของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการกำหนดเงื่อนไขที่มีความเป็นมิตรต่อการประกอบธุรกิจ โดยมีการส่งเสริมให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบ
หรือ Deregulation อย่างไรก็ตาม
แนวทางการปฏิรูปกฎระเบียบในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้นไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นกฎระเบียบทางด้านเศรษฐกิจและกฎระเบียบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเท่านั้น
แต่ยังได้มีการปฏิรูปกฎระเบียบทางด้านสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา
ผู้สูงอายุ การจ้างงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยการปฏิรูปกฎระเบียบเหล่านี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศญี่ปุ่นให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก
เขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติได้ถูกริเริ่มขึ้นในรัฐบาลของนายอาเบะและเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของยุทธศาสตร์แห่งชาติที่เรียกว่า
“Japan
Revitalization Strategy” ซึ่งนโยบายเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติมีเป้าหมายในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของญี่ปุ่น "โดยการปฏิรูปกฎระเบียบดั้งเดิม" ความริเริ่มดังกล่าวได้รับอนุมัติในปี
ค.ศ. ๒๐๑๓ และต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๑๔ ได้มีการกำหนดเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติจำนวน ๖
เขต ได้แก่ โตเกียว คันไซ นีกาตะ ยูบะ ฟุคุโอกะ และโอกินาว่า
สำหรับความแตกต่างระหว่างเขตพิเศษดั้งเดิม
กับเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้น ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้มีการจัดตั้งเขตพิเศษที่มีลักษณะที่คล้ายกัน
เช่น “Structural
Reform Special Zones” ที่จัดตั้งขึ้นในปี
ค.ศ. ๒๐๐๓ โดยรัฐบาลนายโคอิซุมิ และ “Comprehensive Special Zones” ที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ อย่างไรก็ตาม
เขตพิเศษดั้งเดิมนั้นไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยมีอุปสรรคสำคัญคือกฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ เขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติจึงมุ่งการปฏิรูปกฎระเบียบ
กล่าวคือ
เขตพิเศษแบบดั้งเดิมนั้นเป็นการริเริ่มโดยการปฏิรูปกฎระเบียบอย่างจำกัดบนพื้นฐานความต้องการของภาคเอกชน
แต่สำหรับเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้นจะได้รับการกำหนดยุทธศาสตร์จากนายกรัฐมนตรี
และในการดำเนินการปฏิรูปกฎระเบียบนั้นก็ผ่าน "การปรึกษาหารือร่วมกัน" ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลท้องถิ่น
รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งกรอบการดำเนินการและกระบวนการดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ผลสำเร็จที่ดีขึ้นกว่าเขตพิเศษแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้
การกำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปกฎระเบียบของแต่ละเขตพื้นที่นั้นยังแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น เขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติโตเกียวจะมุ่งเน้นการปฏิรูปกฎระเบียบในด้านการประกอบธุรกิจเพื่อเป็นการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติและเพื่อให้โตเกียวเป็นศูนย์กลางธุรกิจของโลก แต่สำหรับเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติคันไซจะเน้นการส่งเสริมการปฏิรูปกฎระเบียบในด้านการแพทย์ แรงงาน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้
แนวคิดในการปฏิรูปกฎระเบียบในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาตินี้เป็นเสมือนการทดลองปฏิรูปกฎระเบียบในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติก่อน เนื่องจากการปฏิรูปกฎระเบียบที่ใช้บังคับกับทั้งประเทศจะดำเนินการได้ยาก หากการปฏิรูปกฎระเบียบในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติประสบผลสำเร็จ รัฐบาลก็จะดำเนินการปฏิรูปกฎระเบียบหรือยกเลิกกฎระเบียบนั้น ๆ
ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต
๒. กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง
National Strategic Special Zone Act (Act No. 107 of 2013)
ญี่ปุ่นตรากฎหมาย National Strategic Special
Zone Act (Act No. 107 of 2013) ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติของไทยขึ้นเมื่อปี
ค.ศ. ๒๐๑๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ผ่านการกำหนดการดำเนินการที่จำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายหรือกระบวนการต่าง ๆ
ในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทำให้มีความจำเป็นที่จำต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศให้มากยิ่งขึ้น
National Strategic Special Zone Act มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติและเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีการกำหนดบทยกเว้นของกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิรูปกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ โดยกำหนดให้จัดตั้งสภา ๒ สภาด้วยกัน ได้แก่ ๑) สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ
ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
เพื่อพิจารณาและรับรองข้อเสนอรวมถึงแผนการดำเนินโครงการของเขตพิเศษยุทธศาสตร์ชาติต่าง
ๆ และ ๒) สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติระดับภูมิภาค เช่น
สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์ชาติคันไซ เป็นต้น ซึ่งมีหน้าที่จัดเตรียมแผนการดำเนินโครงการ
รวมถึงแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎระเบียบในเขตพิเศษยุทธศาสตร์ของตน
National Strategic Special Zone Act ประกอบด้วย ๖
หมวด ได้แก่ หมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ นโยบายพื้นฐานเขตยุทธศาสตร์ชาติพิเศษ หมวด ๓
การรับรองแผนเขตยุทธศาสตร์ หมวด ๔
มาตรการพิเศษเพื่อกำกับดูแลกิจการตามแผนเขตยุทธศาสตร์ หมวด ๕
สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ หมวด ๖ บทเบ็ดเตล็ด กฎหมายฉบับนี้กำหนดนโยบายเบื้องต้นเกี่ยวกับเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติไว้ว่า รัฐจะต้องกำหนดนโยบายพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางของเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านขีดความสามารถในการแข่งขันภายในเขตยุทธศาสตร์พิเศษ
นอกจากนี้
ในกฎหมายดังกล่าวได้มีการกำหนดบทยกเว้นของกฎหมายหลายฉบับด้วยกันเพื่อการปฏิรูปประเทศ
สำหรับในส่วนของเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซมีตัวอย่างมาตรการปฏิรูปกฎระเบียบหลายประการซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในลำดับต่อไป
๓. การทดลองการปฏิรูปกฎหมายในเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ
เขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติคันไซครอบคลุมพื้นที่ของโอซาก้า
เกียวโต และเฮียวโกะ ซึ่งได้มีการทดลองการปฏิรูปกฎหมายในหลายประเด็นด้วยกัน
ในบทความนี้ ผู้เขียนได้นำการปฏิรูปกฎระเบียบในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติคันไซ ๘
ประการ เป็นกรณีศึกษา
๓.๑ การขยายระยะเวลาพำนักในประเทศญี่ปุ่นของนักวิจัยต่างชาติด้านรังสีแบบอนุภาคอิออน
(Ion Beam Radiotherapy)
ในอดีตแพทย์ชาวต่างชาติหรือผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีที่เป็นชาวต่างชาติสามารถพำนักในประเทศญี่ปุ่นด้วยสถานะ “นักวิจัย” ได้ในระยะเวลาไม่เกิน ๑ ปี ตาม Immigration
Control and Refugee Recognition Act (Cabinet Order No. 319 of October 4, 1951) อย่างไรก็ตาม
โดยที่ในปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาการศึกษาวิจัยเรื่องการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีแบบอนุภาคอิออน
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเห็นควรให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับระยะเวลาการพำนักของนักวิจัยหรือแพทย์ชาวต่างชาติ
โดยประเทศญี่ปุ่นได้ปฏิรูปกฎระเบียบสำหรับแพทย์ พยาบาล แพทย์ด้านรังสีวินิจฉัย
รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านรังสี โดยให้สามารถพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นระยะเวลา
๒ ปี แทนระยะเวลาเดิม ๑ ปี เพื่อให้นักวิจัยต่างชาติสามารถเข้ามาศึกษาการรักษาโรคด้วยวิทยาการรังสีแบบอนุภาคอิออนของประเทศญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การรักษาดังกล่าวได้รับการยอมรับและเผยแพร่ไปในระดับนานาชาติ
และเพื่อให้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ระบบรังสีแบบอนุภาคอิออนซึ่งเป็นนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่นสามารถส่งออกทำรายได้เข้าประเทศได้ในอนาคตอีกด้วย
๓.๒ การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะในตัวเมือง
ในประเด็นเรื่องการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะในตัวเมืองนั้น เพื่อมิให้การใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะในตัวเมืองเป็นไปอย่างไม่มีระบบและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสวนสาธารณะซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่มาใช้บริการเพื่อสุขภาพ ใน Enforcement Ordinance of Special provision on Urban Park Act
regarding permission for occupancy of urban park ซึ่งออกตาม Urban
Park Act (Act No. 79 of 1956) จึงได้มีการกำหนดประเภทของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่อนุญาตให้จัดตั้งภายในพื้นที่ของสวนสาธารณะในตัวเมืองไว้ อย่างไรก็ตาม ประเภทของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่กำหนดไว้ใน Enforcement
Ordinance ฉบับนี้ไม่ได้หมายความรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจอดและให้ยืมจักรยาน
รวมถึงไม่ได้อนุญาตให้จัดตั้งศูนย์แนะนำนักท่องเที่ยว (information center) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติไว้แต่อย่างใด
ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจัดให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะในตัวเมือง
โดยในมาตรา ๒๐-๒ ของ National Strategic Special Zone Act (Act No. 107 of 2013) ได้กำหนดบทยกเว้นของ Enforcement Ordinance of Special provision
on Urban Park Act regarding permission for occupancy of urban park ไว้ว่า ให้สามารถจัดพื้นที่บริการจอดและให้ยืมจักรยาน
รวมถึงศูนย์แนะนำนักท่องเที่ยว
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย โดยบัญญัติว่าหากแผนการดำเนินการของเขตพิเศษยุทธศาสตร์ใดได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี และได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้แล้ว
ก็ให้ถือว่าเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของ Urban Park Act ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจอดและให้ยืมจักรยาน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์แนะนำนักท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในสวนสาธารณะได้
๓.๓ การปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับจำนวนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล
ตามหลักการทั่วไปใน Medical Care Act กำหนดให้มีการกำหนดมาตรฐานของจำนวนเตียงคนไข้ โดยแต่ละจังหวัดจะประมาณการมาตรฐานจำนวนเตียงคนไข้
โดยใช้หลักการเดียวกันทั้งประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์จะเปิดสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล
คลินิก และสถานีอนามัย
จะต้องเสนอแผนการรักษาพยาบาลที่มีการกำหนดจำนวนเตียงคนไข้ที่จำเป็นสำหรับสถานพยาบาลนั้น ๆ ต่อจังหวัด
เพื่อขอรับใบอนุญาตสำหรับเปิดสถานพยาบาลหรือเพิ่มจำนวนเตียงคนไข้
สำหรับเขตพื้นที่ที่มีจำนวนเตียงคนไข้เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
จังหวัดอาจไม่อนุญาตให้เปิดสถานพยาบาลหรือไม่อนุญาตให้เพิ่มจำนวนเตียงคนไข้ได้
และสำหรับกรณี ของสถานพยาบาลของเอกชนนั้นจังหวัดอาจรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบสถานพยาบาลระดับจังหวัดเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดและเพิ่มจำนวนเตียงคนไข้ได้
สำหรับหลักการของการปฏิรูปกฎระเบียบตาม
Medical
Care Act มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองต่อความต้องการในการรักษาพยาบาลของคนในโลก โดยได้มีการพัฒนาให้การบริการรักษาพยาบาลอยู่ในมาตรฐานสากล
โดยพระราชบัญญัติเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ มาตรา ๑๔
ได้กำหนดให้มีการยกเว้นการบังคับใช้ Medical Care Act ในส่วนของการกำหนดจำนวนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาลสำหรับการจัดตั้งกิจการที่ให้บริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูง
โดยกำหนดให้คณะกรรมการเขตพิเศษยุทธศาสตร์ชาติจัดทำแผนเขตพื้นที่เสนอต่อหัวหน้ารัฐบาลเพื่อให้การอนุมัติ
เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ในวันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติ จังหวัดสามารถอนุญาตให้ผู้ที่ยื่นขอจัดตั้งโรงพยาบาลที่ได้มีการยื่นแผนการรักษาพยาบาลที่ได้กำหนดจำนวนเตียงคนไข้ที่จำเป็นที่เกินจำนวนเตียงมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน
Medical Care Act มาตรา ๒๐ วรรคสอง (๒) ได้
๓.๔ การปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่เกี่ยวกับถนน
ตามหลักทั่วไปของการใช้ถนนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้ถนนสามารถสัญจรตามท้องถนนได้อย่างอิสระและเป็นไปอย่างราบรื่น
ดังนั้น การจะเข้าครอบครองพื้นผิวถนนแล้วส่งผลให้ไม่มีพื้นที่ถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น
ตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ ของพระราชบัญญัติถนน (Road Act)
กำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บริหารจัดการถนนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้
ซึ่งตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ได้กำหนดประเภทของกิจกรรม สิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สิน
หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่นำมาใช้ในพื้นผิวถนน
ที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ และสำหรับมาตรา ๓๓ กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับการให้อนุญาตในการครอบครองพื้นผิวถนนได้
แนวคิดของ Area Management หรือการครอบครองพื้นผิวถนนเพื่อใช้ในการประกอบกิจการในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ
คือ การให้ประชาชนที่อาศัยในท้องที่
รวมถึงผู้ประกอบการและผู้มีสิทธิในที่ดินในท้องที่เป็นผู้ริเริ่มในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการรักษาและพัฒนาท้องที่ของตน
ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเป็นท้องที่ที่มีมูลค่า
โดยผ่านการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมของพื้นที่ถนนให้มีเสน่ห์
มีรูปแบบของร้านรวงที่สวยงาม โดยยังคงรักษาและเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สิน
สร้างท้องที่ให้เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยและวางใจของผู้อยู่อาศัย
รวมทั้งเป็นรูปแบบของสังคมที่เป็นที่ปรารถนา มีการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ
มาตรา ๑๗ ได้บัญญัติข้อยกเว้นการบังคับใช้มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งและสาม และมาตรา ๓๓
วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติถนน โดยกำหนดให้ผู้ที่จะประกอบกิจการโดยครอบครองพื้นผิวถนนในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ
จะต้องเสนอแผนพื้นที่ต่อหัวหน้ารัฐบาลเพื่อให้การอนุมัติ
และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว
หลังจากวันที่ได้รับอนุมัติกิจการที่จะดำเนินการโดยครอบครองพื้นผิวถนนในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติที่เข้าลักษณะตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา
๑๗ ของพระราชบัญญัติเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติจะสามารถได้รับใบอนุญาตโดยผู้ประกอบกิจการไม่จำเป็นต้องยื่นขอรับใบอนุญาตต่อผู้บริหารจัดการถนน
ตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติถนน
๓.๕ การจัดตั้ง Employment
Consultation Center (ECC)
ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการจ้างงาน
หรือ Employment
Consultation Center: ECC จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๓๗ ของ the
National Strategic Special Zones Act
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเป็นการสร้างกลไกการป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาทด้านแรงงานขึ้น
เพื่อให้มีภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น
รวมทั้งยังช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนสามารถพัฒนาได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้มีการจัดตั้ง ECC ขึ้นในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติขึ้น
โดย ECC ทำหน้าที่ในการให้การสนับสนุนความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ทำวิสาหกิจเริ่มต้น
(Start up)
และ/หรือบริษัทต่างชาติที่ขยายธุรกิจเข้ามาในในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้น ๆ
ให้มีความเข้าใจกฎระเบียบด้านการจ้างแรงงานของญี่ปุ่น
รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับการรับสมัครงานและการจ้างแรงงาน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
ในขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัทเหล่านั้นให้สามารถทำงานเต็มความสามารถและมีแรงกระตุ้นในการทำงาน
โดย ECC ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทด้านแรงงานขึ้น
ในปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง ECC แล้วจำนวน ๖ แห่ง ได้แก่ ECC
เขตโตเกียว ECC นีกาตะ ECC คันไซ ECC ฟุคุโอกะ ECC ไอจิ
และ ECC เซนได
๓.๖
การปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับคุณสมบัติของครูสำหรับเด็กเล็ก
ตามพระราชบัญญัติเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. ๒๐๑๓ มาตรา ๑๒ – ๔
ได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งระบบ “ครูระดับเตรียมอนุบาลในเขตพื้นที่เฉพาะ”
ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูระดับเตรียมอนุบาลในเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ
โดยตามมาตรา ๑๒ – ๔
ได้กำหนดให้มีการยกเว้นการบังคับใช้พระราชบัญญัติสวัสดิการเด็ก (Child
Welfare Act) บทที่ ๑ ส่วนที่ ๗ และมาตรา ๔๘ – ๔ วรรคสอง และให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา
๑๒ – ๔ ของพระราชบัญญัติเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. ๒๐๑๓ แทน
สำหรับสาระสำคัญของการยกเว้นการบังคับใช้พระราชบัญญัติสวัสดิการเด็กนั้น
จะเป็นในส่วนของการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการสอบคัดเลือกเป็นครูระดับเตรียมอนุบาล
การสอบคัดเลือกที่มีการเพิ่มจำนวนการสอบจากปกติปีละ ๑ ครั้ง เป็นปีละ ๒ ครั้ง
อายุการขึ้นทะเบียนและบทกำหนดโทษ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการกำหนดให้ระบบ “ครูระดับเตรียมอนุบาลในเขตพื้นที่เฉพาะ” ใช้เฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดคานากาวะ นาริตะ โอซากา โอกินาวะ และเซนได
เท่านั้น
๓.๗ การปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับงานแม่บ้านทำความสะอาด
ใน National Strategic Special Zone Act มาตรา ๑๖-๓
ได้กำหนดบทยกเว้นของ Immigrant control and refugee recognition Act (Cabinet Order No. 319
of 1951) ไว้ว่า ในกรณีที่สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์ชาติระดับภูมิภาคได้เสนอแผนการดำเนินการและแผนการปฏิรูปกฎระเบียบภายในเขตพิเศษยุทธศาสตร์
และนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนดำเนินการดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องรับรองคนต่างด้าวตามแผนดำเนินการดังกล่าวว่าเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองให้ทำงานเกี่ยวกับแม่บ้านทำความสะอาดได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติใน
Immigrant control and refugee recognition Act
เพื่อเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับแม่บ้านทำความสะอาดที่เป็นคนต่างด้าว
เพื่อให้สามารถรองรับงานทำความสะอาดที่ประเทศญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานอยู่ในปัจจุบัน
๓.๘
การปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับโรงแรมที่พัก
ในประเด็นเรื่องโรงแรมที่พักในประเทศญี่ปุ่นนั้นโดยทั่วไปจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน
Inns and Hotels Act (Act
No. 138 of 1948) โดยมาตรา ๓ ของ Inns and Hotels Act กำหนดว่า
ผู้ที่จะประกอบกิจการที่พักแบบญี่ปุ่นจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด เว้นแต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมที่พักแบบญี่ปุ่น
หรือที่พักขนาดเล็ก (เช่น โรงแรม capsule)
แล้วและต้องการที่จะประกอบกิจการที่พักแบบ lodging business
ในพื้นที่เดียวกันจะไม่ต้องขอรับใบอนุญาตอีก
อย่างไรก็ตาม
เพื่อปฏิรูปกฎระเบียบของประเทศเกี่ยวกับโรงแรมที่พักเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงแรมที่พัก
National Strategic Special Zone Act (Act No. 107 of 2013) ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓ ว่า เขตพิเศษยุทธศาสตร์ชาติระดับภูมิภาคที่สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติพิเศษได้รับรองแล้ว
สามารถเสนอแผนการดำเนินโครงการรวมถึงแผนการปฏิรูปกฎหมายเพี่อรับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา
๘(๗) โดยภายหลังจากวันที่ได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้ที่ต้องการจะประกอบกิจการโรงแรมที่พักสำหรับชาวต่างชาติภายในเขตพิเศษยุทธศาสตร์ดังกล่าวสามารถขอรับการรับรองตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงจากผู้ว่าราชการจังหวัด
และให้ถือว่าการประกอบการดังกล่าวเข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ซึ่งหมายความว่า หากเขตพิเศษยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคใดเสนอแผนการปฏิรูปกฎระเบียบและนายกรัฐมนตรีได้รับรองแผนดังกล่าวแล้ว
เขตพิเศษยุทธศาสตร์ชาติระดับภูมิภาคดังกล่าวก็จะไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ Inns
and Hotels Act ซึ่งหากไม่อยู่ภายใต้บังคับของ Inns and
Hotels Act แล้ว ก็จะไม่ต้องมีการจัดทำพื้นที่ Reception อย่างเป็นทางการ และไม่ต้องมีการจัดทำรายชื่อผู้เข้าพัก
การรักษาสุขอนามัยและความสะอาดของที่พัก
รวมถึงไม่ต้องได้รับการเข้าตรวจสอบที่พักจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น
ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ภายใต้ Inns and Hotels Act
นอกจากนี้ สำหรับที่พักแบบญี่ปุ่น (Ryokan)
ตัวอย่างเช่นใน Yabu City ใน Hyogo Prefecture ได้มีการปฏิรูปกฎระเบียบสำหรับที่พักแบบญี่ปุ่นที่เป็นที่พักในเชิงประวัติศาสตร์โดยการไม่ใช้บังคับ Inns and Hotels Act (Act
No. 138 of 1948) โดยสำหรับสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการระบุโดย Ordinance ท้องถิ่นนั้น
หากรายละเอียดอยู่ในแผนการปฏิรูปกฎระเบียบของเขตพิเศษยุทธศาสตร์ระดับท้องถิ่นซึ่งได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีแล้ว
ก็สามารถไม่ใช้บังคับบทบัญญัติใน Inns and Hotels Act
ที่กำหนดให้ที่พักต้องจัดตั้งบริเวณที่เป็น Reception ได้
หากได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด
และมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินไว้แล้ว
**************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น