วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เหตุที่เด็กไม่อยากเรียน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เด็กเป็นอนาคตของชาติเพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสม เขาจะเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นกำลังที่มีคุณภาพของชาติในอนาคต สามารถดูแลรักษาชาติบ้านเมืองในบริบทโลกในยุคของเขาได้อย่างสง่างาม

การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพและเจริญเติบโตให้เหมาะสมกับวัย มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความรู้ถูก รู้ผิด รู้ว่าอะไรชอบ อะไรชั่ว อะไรดี จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าบ้านไหนเมืองไหนเขาจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่เยาว์วัยจนเติบใหญ่ หลายประเทศลงทุนดูแลมาตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์กันเลยทีเดียว ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติยืนยันหลักการนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 48 มาตรา 54 มาตรา 258 จ. และมาตรา 261

ผู้เขียนย้ำว่าประเทศที่พัฒนาไปไกล ๆ น่ะ เขาให้ความสำคัญกับ "คุณภาพในการพัฒนาเด็ก" นะครับ ไม่ใช่ "ปริมาณหรือจำนวนเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนา" เพราะถ้าใช้ปริมาณเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนามาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาเด็ก จะมีเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนามากมาย แต่ไม่รู้ว่ามีสักกี่มากน้อยที่มีคุณภาพ

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะใช้ตัวชี้วัดด้านปริมาณมากกว่าคุณภาพครับ เพราะมันง่าย ตัวเลขผลผลิตจะดูเยอะดี แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ผู้คนไร้ระเบียบวินัย เห็นแก่ตัว ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่าง ๆ แทนการคิดวิเคราะห์และใช้เหตุผลมาพูดคุยกัน ทีนี้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองก็จะตามมาเป็นพรวนทีเดียว

ดูสถิติอาชญากรรมของประเทศเหล่านี้ก็ได้ครับ เราจะตกใจที่พบว่าอายุของผู้กระทำความผิดกฎหมายในคดีต่าง ๆ ของประเทศที่ใช้ปริมาณหรือจำนวนเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาเด็กนั้น จะลดลงเรื่อย ๆ อันนี้น่ากลัวมากนะครับ เพราะเด็กรุ่นนี้เขาก็จะมีลูกมีหลานต่อไปอีก แถมมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยด้วย ถ้าเขาขาดคุณภาพ ลูกหลานของพวกเขาจะมีคุณภาพที่ดีได้อย่างไร

เรื่องนี่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการเมืองนะครับ แต่ประเด็นนี้คงขายไม่ได้ เพราะการพัฒนาต้องใช้เวลา เลยไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไร วัน ๆ จึงมีแต่ข่าวใครทะเลาะกับใคร ใครพูดจาส่อเสียดแดกดันใคร เพื่อให้อีกฝ่ายมาตอบโต้เพื่อจะได้เป็นข่าวในวันต่อ ๆ ไป ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่สร้างสรรค์ และน่าเบื่อจะตาย

วกกลับมาถึงเหตุที่เด็กไม่อยากเรียนตามที่ตั้งหัวข้อไว้ดีกว่า เดี๋ยวจะกู่ไม่กลับ

ญี่ปุ่นที่เราซูฮกว่าเขามีระบบการพัฒนาเด็กที่มีคุณภาพสูงเขาก็มีปัญหาเด็กไม่อยากเรียนนะครับ ไม่ใช่ไม่มี เขาเรียกอาการไม่อยากไปโรงเรียนว่า Futoukou ถ้าเป็นหนักเข้าจะกลายเป็นพวกเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หลีกหนีสังคม เอาแต่อยู่ในโลกเสมือน ท่องเน็ต เล่นเกมส์ หรือไม่ก็อ่านการ์ตูน หรืออาการ Hikikomori ทีเดียว

ผู้เขียนว่าสังคมไทยในยุคดิจิทัลนี่ถึงจะตามหลังญี่ปุ่นอยู่แบบห่าง ๆ แต่เราศึกษาเตรียมไว้ก่อนก็ดีนะครับ จะได้รับมือถูก

เมื่อสักสิบปีก่อน เขาศึกษาพบว่าเหตุที่เด็กไม่อยากเรียนหรือไม่อยากไปโรงเรียนนี่มีหลายสาเหตุ ยิ่งพวกลูกคนเดียวที่บ้านนอบอุ่นนี่ยิ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะไปโรงเรียนแล้วเจอประสบการณ์ถูกเพื่อนแกล้งหรือทำร้ายเลยเกิดอคติต่อการไปโรงเรียน นอกจากนี้ เขาว่าระบบการเรียนและค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นสร้างความเครียดให้เด็กสูงมากตั้งแต่ก่อนอนุบาลด้วยซ้ำไป มีการแข่งขันสูงมาก โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยมที่มีชื่อเสียงต้องสอบเข้า บริษัทห้างร้านนี้จะรับคนเข้าทำงานจากโรงเรียนหรือมาหวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้น อีกทั้งพ่อแม่คาดหวังในตัวลูกสูงมากว่าต้องสำเร็จการศึกษาในสาขาที่มีรายได้ดี มีเกียรติ จากโรงเรียนดี ๆ มหาวิทยาลัยดี ๆ โดยมองข้ามความถนัดของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ถ้าเทียบกับบ้านเราคือเด็กเก่งต้องเป็นหมอหรือเป็นวิศวกรกันตะพึดไป เด็กเรียนเก่งครูจะรักเป็นพิเศษ ถ้าเรียนได้คะแนนไม่ดี จะต้องถูกเคี่ยว เขามีเรียนพิเศษเหมือนกันนะครับ โรงเรียนกวดวิชานี่เรียกว่า Juku เด็กก็เบื่อที่ต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด พาลเครื่องดับเอาดื้อ ๆ ทะเลาะกับพ่อแม่อีกต่างหาก เป็นปัญหาครอบครัวไปอีก นี่ยังไม่รวมปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ขายบริการทางเพศ และอบายมุขทั้งปวงนะครับ

วิเคราะห์ได้ดังนี้เขาจึงพยายามปรับปรุงทั้งระบบการศึกษาและทัศนคติของทั้งพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และบริษัทห้างร้านไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่ปรับแต่หลักสูตรหรือโครงสร้าง เขามุ่งพัฒนาเด็กเล็กให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีทักษะทางสังคม มีความรู้พื้นฐานทางการคำนวณและทางภาษาในการใช้ชีวิตประจำวัน มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงตามวัย พอเป็นวัยรุ่นรู้ทางตัวเองว่าชอบทางไหน ถนัดทางไหน ก็ส่งเสริมไปทางนั้น ไม่ต้องจบมหาวิทยาลัยได้ปริญญากันทั่วทุกหัวระแหง เมื่อจบภาคบังคับแล้ว ถ้าชอบกีฬาก็ไปเป็นนักกีฬา เขาสนับสนุนการกีฬาอาชีพเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ จนมีนักกีฬาญี่ปุ่นไปเล่นในลีกดัง ๆ ทั่วโลกมากมาย หรือไม่ก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาไปเลย ถ้าชอบทำอาหาร ชอบออกแบบ ชอบดนตรี ชอบการแสดง ฯลฯ ก็ไปทางนั้น ไปประกอบอาชีพเลย เขาสนับสนุนการประกอบการในทุกด้าน ไม่ต้องมุ่งเรียน ม ปลาย เพื่อเข่้ามหาวิทยาลัยให้ได้ปริญญาแล้วไปเป็นลูกจ้างเหมือนยุค Baby Boomer อีก ไม่รู้เขาเรียกว่า Start up หรือเปล่า แต่ให้เรียนรู้จากกิจการเล็ก ๆ เดี๋ยวเขาก็พัฒนากิจการของเขาเองได้ เรียกว่าเข้มแข็ง ไม่ต้องง้อรัฐ หรืออย่างชอบเกษตร ก็ไปทำเกษตร รัฐเขาพัฒนาระบบสหกรณ์รองรับ ยิ่งเดี่ยวนี้มีดิจิทัลเข้ามา ขายผ่านระบบดิจิทัลได้อีก มีการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data มาใช้ในการคิดวิเคราะห์วางแผนการผลิตและการตลาดด้วย ไปนั่นเลย

ใครชอบดูรายการทีวีเกี่ยวกับอาหารจะพบว่าเด็กญี่ปุ่นที่ชอบทำอาหารนั้น เมื่อจบภาคบังคับเขาจะออกไปทำงานหาประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ แล้วมาตั้งร้านอาหารเลี้ยงตัวเองและครอบครัว มีเชพญี่ปุ่นมากมายที่ได้มิชลินสตาร์ เป็นอาทิ

ดูเขาไว้เป็นแนวทางบ้างก็ไม่น่าจะเสียหายนะครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น