วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"กว่างซี : ประตูสู่อาเซียน" โดย นางสาวธิดาพร ทองเรือง*


นาทีนี้ เมื่อกล่าวถึงประเทศที่มีความน่าสนใจในแง่ของการมีบทบาทหลากหลายมิติต่อประเทศต่าง ๆ คงหนีไม่พ้นประเทศจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี รวมถึงทางการทหารในภูมิภาค สำหรับบทบาทของจีนต่ออาเซียน จีนได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับอาเซียนในปี 2546 และปัจจุบันมีความร่วมมือกันครอบคลุม 12 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง การลงทุน พลังงาน การขนส่ง วัฒนธรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม

รัฐบาลจีนได้มีการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกเพื่อมุ่งสร้างความสัมพันธ์แบบรอบด้านกับอาเซียน โดยกำหนดให้กว่างซีเป็น ประตูสู่อาเซียน” (Gateway to ASEAN) จากความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เหนือมณฑลอื่นของจีน (เหนือยูนนานที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศในอาเซียนถึง 3 ประเทศด้วยกัน) โดยมีช่องทางเชื่อมต่อกับอาเซียนทั้งทางบกผ่านประเทศเวียดนาม ทางทะเลผ่านอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) และทางอากาศ รวมถึงการเป็นจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับ Greater Bay Area – GBA (กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า) และภาคตะวันออกจีนได้อีกด้วย และรัฐบาลเขตฯ กว่างซีได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายดังกล่าวโดยมีรัฐบาลจีนกลางเป็นผู้ชี้นำ อาทิ “มหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Expo - CAEXPO) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ของจีน-อาเซียนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง เมืองเอกของกว่างซี รวมถึงโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ “จีน-อาเซียน” อีกมากมาย

การเกิดขึ้นของโครงการ “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ที่มีโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) “เรือ+รถไฟ”เป็นหัวใจสำคัญ โดยมีนครฉงชิ่ง กว่างซี กุ้ยโจว กานซู่ เสฉวน ยูนนาน ชิงไห่ และส่านซี เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญตามเส้นทางไปยังสิงคโปร์ ได้กลายเป็นเส้นทางการค้าใหม่ที่เชื่อมยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative - BRI) ระหว่างแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมเดิม (นครฉงชิ่ง-เขตฯ ซินเจียง-ทวีปยุโรป) ไปยังอาเซียนและภูมิภาคอื่นทั่วโลก ทำให้กว่างซีเป็นข้อต่อสำคัญของ BRI อีกทั้งการเป็นฐานการผลิตของจีนที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้ากับประเทศอาเซียน และการเป็นศูนย์โลจิสติกส์สินค้าเกษตรระหว่างจีนและอาเซียน ด้วยการจัดตั้งตลาด Guangxi Hi-Green International Agricultural Logistics ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกของจีน โดยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กระจายผลไม้อาเซียนไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ยิ่งทำให้กว่างซีทวีบทบาทสำคัญในการเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ของจีน

ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร...

ด้านเศรษฐกิจและการค้า

·       การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม ระบบงานโลจิสติกส์ มหกรรมแสดงสินค้า และกิจกรรมต่าง ๆ ในการเจาะตลาดจีนผ่านกว่างซี รวมถึงการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce)

ในปี 2561 จีนมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) เท่ากับ 90.0 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 13.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตถึงร้อยละ 6.6 ในปี 2561 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 (YoY)) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.0 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย มีการนำเข้าผลไม้จากไทยมากที่สุดถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.7 (YoY)) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.3 ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดของจีน โดยนำเข้าผลไม้ผ่านกว่างซีปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของจีน และมีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของจีน รองจากเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกว่างซีมีมูลค่าประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.3 (YoY)) โดยไทยได้ดุลการค้า อีกทั้งไทยและจีนยังได้มีการยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (Comprehensive Framework on Enhancing Trade and Economic Partnership between the Thailand and China) เพื่อขยายมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 อีกด้วย

จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่อย่างภูมิภาคจีนตะวันตกและภาคกลางตอนล่างที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสในการขยายการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ผลผลิตภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ซึ่งไทยสามารถเจาะตลาดจีนโดยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม ระบบงานโลจิสติกส์ มหกรรมแสดงสินค้า และกิจกรรมต่าง ๆ ของกว่างซี รวมถึงกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเป็นประตูสู่อาเซียน

·       การใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ของกว่างซี

ไทยสามารถขนส่งสินค้าไปยังตลาดจีน หรืออาจต่อไปถึงตลาดเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง ทั้งทาง “เรือ+รถไฟ” และ “รถบรรทุก+รถไฟ” โดยเส้นทาง “เรือ+รถไฟ” จะเป็นการขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือชินโจวของกว่างซี และขนส่งต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของจีนโดยทางรถไฟ มีข้อดีด้านต้นทุนในการขนส่งที่ต่ำ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีความคล่องตัวสูงเมื่อเทียบกับท่าเรือใหญ่แห่งอื่น ๆ ที่มีความแออัด ซึ่งเส้นทางนี้ถือเป็นตัวเลือกการขนส่งสินค้าไปยังจีนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพื้นที่จีนตอนในอย่างภูมิภาคจีนตะวันตกและภาคกลางตอนล่าง สำหรับเส้นทาง “รถบรรทุก+รถไฟ” จะเป็นการขนส่งทางถนนจากไทยไปยังกว่างซีผ่านลาวและเวียดนาม (เส้นทาง R8 R9 และ R12) และขนส่งต่อทางรถไฟ มีข้อดีด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่าทางเรือ จึงเหมาะสำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยต้องการขนส่งไปยังจีนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

ด้านการศึกษา

·       การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา

กว่างซีได้มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและการวิจัยร่วมกับประเทศอาเซียน โดยมีการแลกเปลี่ยนทั้งบุคลากรผู้สอน นักวิจัย และนักศึกษาระหว่างกัน ทำให้การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและการวิจัยมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดความร่วมมือด้านการศึกษาให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาประเทศของไทย

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

·       การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางข้อมูลสารสนเทศ

กว่างซีได้มีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China – ASEAN Information Harbor - CAIH) และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Bilateral Technology Transfer Centers – CATTC) และในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจะมีการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ผลักดันการพัฒนา CAIH สนับสนุนให้ธุรกิจชั้นนำด้าน Big Data ออกไปลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาความร่วมมือการสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศที่จีนไปลงทุนได้รับองค์ความรู้ด้านดังกล่าว

·       การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ

กว่างซีได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะดาวเทียมเป่ยโต้วจีน-อาเซียนขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้งานระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต้ว ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ลงนามข้อตกลงการติดตั้งระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต้วของจีนเมื่อปี 2556 และได้มีการจัดงาน China-ASEAN “Belt and Road” Space Information Corridor Cooperation Development Forum เมื่อปี 2561 ที่นครหนานหนิง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างจีน-อาเซียน อีกทั้งองค์กรอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration - CNSA) กำลังเร่งผลักดันการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ และสร้าง China Solution ด้านภูมิสารสนเทศให้กับอาเซียน

ด้านอื่น ๆ

·       การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการเกษตรอัจฉริยะ

กว่างซีได้เล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการเกษตรอัจฉริยะ โดยในปี 2561 ได้มีการจัดประชุมว่าด้วยโครงการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรมทางอาหารจีน-อาเซียน ขึ้นที่นครหนานหนิง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้แทนองค์การส่งเสริมและศึกษาการลงทุน ตลอดจนนักธุรกิจจีนและอาเซียนได้เข้าร่วมหารือกันในประเด็น “โอกาสใหม่ทางการเกษตรและอาหารจีน-อาเซียน” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรมทางอาหารระหว่างกัน ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างกว้างขวางในเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่มีประชากรมากที่สุดของโลก อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการอาหารในปริมาณสูงขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโอกาสในการลงทุนและความร่วมมือมากขึ้นในภูมิภาค

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าจีนมีความมุ่งมั่นสร้างเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านต่าง ๆ กับอาเซียน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้า การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งจีนยังมีนโยบายเพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคตโดยผ่านกว่างซีตามยุทธศาสตร์การเป็นประตูสู่อาเซียน ส่งผลให้เกิดโอกาสหลากหลายมิติสำหรับประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อม หากผู้ประกอบการไทยมีความพร้อม ก็จะได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้อย่างมาก

                                             ---------------------

*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น