ช่วงนี้ใครไม่พูดคำว่า new normal ออกจะเอ้าท์อยู่
บางคนแปลว่าเรื่องธรรมดาใหม่ บางคนแปลว่าวิถีชีวิตใหม่ ฟังแล้วก็งง ผู้เขียนไม่รู้จะแปลว่าอะไรดีเพราะไม่สันทัดภาษาต่างประเทศจึงขอใช้ทับศัพท์ไปก่อน รอให้ราชบัณฑิตท่านกำหนดมาน่าจะเหมาะกว่า
เหตุที่คำว่า new normal ติดปากคนทั้งโลกในเวลานี้เพราะการระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 คือโควิด 19 ทำให้คนเรามีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหะสถาน การหมั่นล้างมือบ่อย ๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ การกินร้อน ช้อนใครช้อนมัน แก้วใครแก้วมัน เรื่อยไปจนถึงปิดประเทศ ปิดพรมแดน ฯลฯ
ไม่เพียงเท่านี้ โควิด 19 ยังเปลี่ยนขนบในการทำงานใหม่จากเดิมที่ต้องมาทำงาน ณ ที่ทำงานทุกวันเป็นการทำงานที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางให้เมื่อยตุ้ม เปลืองทรัพยากร และก่อให้เกิดมลภาวะ ส่วนการประชุมแบบดั้งเดิมที่ผู้เข้าร่วมประชุมต้องฟันฝ่าการจราจรอันแสนสาหัสไปประชุม ณ สถานที่ที่จัดไว้สำหรับการประชุม เป็นการประชุมออนไลน์ ทั้งการเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนไปใช้การเรียนทั้งแบบออนแอร์และออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ ก็น่าจะทำเสียตั้งนานแล้ว ทำไมไม่สนใจทำกันก็ไม่รู้ โควิดมาแผล็บเดียวทำได้หมด แปลกแท้ ๆ
New normal นี้แรงส์มากจนถึงกับทำให้กำลังการผลิตน้ำมันล้นเกินความต้องการในการบริโภคเป็นครั้งแรกในโลก ล้นขนาดไม่มีที่จะเก็บ ราคาน้ำมันถึงขนาดติดลบ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันทรุดไปตาม ๆ กัน ล้มหายตายจากไปก็มาก ที่ต้องฟื้นฟูกิจการก็ไม่น้อย ขาใหญ่ที่เพื่อนบ้านเราเป็นตัวอย่าง มั่งคั่งมาเป็นสิบปี วืดเดียวต้องฟื้นฟูกิจการเลย
หากมองจากสายธารทางประวัติศาสตร์ new normal ไม่ใช่เรื่องใหม่อันใดเลย เพราะทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันขึ้นในโลก new normal มันก็จะเกิดตามมาทุกครั้ง อย่างในช่วงที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตสินค้าครั้งใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาโดยใช้เครื่องจักร ที่เขานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1760 เป็นต้นมา มันก็เกิด new normal ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรม แทนระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เกิดการพัฒนาแนวคิด economy of scale ขึ้น เน้นอะไรที่มากมายใหญ่ยักษ์ว่าคุ้มค่า ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางวัตถุมากกว่าความผาสุกของผู้คน ฯลฯ เพียงแต่ว่ากว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมมันจะเห็นเด่นชัด เข้ารูปเข้ารอย มันใช้เวลานานเกือบร้อยปี เจ้า new normal จึงไม่ชัดเจนนัก
หรืออย่างเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี 1945 มันก็เกิด new normal ขึ้นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสหประชาชาติ การเริ่มต้นของสงครามเย็น การเกิดขึ้นของแนวคิดการค้าเสรีในกรอบพหุภาคีตาม General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) ในปี 1947 รวมทั้งการรวมตัวของสหภาพยุโรป (European Economic Community : EEC) ตาม Treaty of Rome ปี 1957 (ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเลิกรบราฆ่าฟันกันในยุโรปเมื่อกลางปี 1945) แต่เราก็ไม่ได้สนใจเรียกมันว่า new normal
ตอนนั้นยังอาจไม่มีนักอนาคตศาสตร์ที่คอยผลิตคำเกร๋ ๆ ก็ได้
หรือหลังจากคลื่นลูกที่สามโหมพัดพามาอย่างแรงตั้งแต่ในช่วงปี 1980 new normal หลายต่อหลายเรื่องได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นชิปคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ PC คอมพิวเตอร์ Laptop โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต กระแส Globalization สกุลเงินดิจิทัล ฯลฯ โดยตัวเร่งสำคัญคือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี
เหล่านี้ล้วนเป็น new normal แห่งยุคสมัยทั้งสิ้น และมีแนวโน้มว่าจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าพูดเป็นภาษาพระ อาจเรียก new normal ได้ว่าเป็น “อนิจจัง” คือไม่เที่ยง หากเปลี่ยนแปลงไปตามกาล
ในทัศนะของผู้เขียน new normal ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ผู้เขียนพบว่ามันมีลักษณะร่วมกันที่สำคัญประการหนึ่งคือการมุ่งแสวงหาความมั่งคั่ง (Wealth) ในเชิงวัตถุนิยม (Materialism) มีการใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) เป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งและความมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้มุ่งเน้นความ “ผาสุก” ของผู้คนในสังคม
เมื่อใช้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำการพัฒนา จึงยากที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นได้เพราะหลักการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมุ่งเน้นกำไรสูงสุดของ "หน่วยการผลิต" ไม่ใช่ “ความพอประมาณ” เป้าหมายของหน่วยการผลิตจึงมุ่งที่จะทิ้ง “คู่แข่ง” ไว้ข้างหลังโดยทุกวิถีทาง การลงทุนและการดำเนินกิจการจึงส่อไปในทาง “ไม่รู้จักพอ” และการมุ่งแต่จะเอาชนะจึงมีความเสี่ยงสูง ขาด “ภูมิคุ้มกัน”
หากต้องการ new normal ที่ยั่งยืนภายหลังจากโควิด เราคงต้องยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มั่นคงในการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ นั่นจะทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ผูกติดกับค่ายใดค่ายหนึ่ง หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป พึ่งพาตนเองให้มาก พึ่งพาคนอื่นตามสมควร ใช้โควิดนี่แหละครับเป็น worst case senario ในการทำ stress test ของทุกกิจการ แล้วจะเห็นชัดว่ากิจการที่ต้องพึ่งคนอื่นมาก ๆนั้นมีความเสี่ยงสูงแค่ไหน
เราเสียศูนย์มาหลายรอบแล้วมาตั้งศูนย์ให้มั่นคงกันดีกว่าครับ
ไม่ต้องแข่งเร็วแข่งไวกับใครเขาหรอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น