วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566

เกร็ดการร่างกฎหมาย มีนาคม 2566 ปกรณ์ นิลประพันธ์

 พระราชกฤษฎีกานี่มี 2 ประเภท


ประเภทที่หนึ่ง คือพระราชกฤษฏีกาที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเลย คือรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เช่น การเรียกประชุม การขยายระยะเวลาประชุม การปิดประชุมสภา การยุบสภา พระราชกฤษฎีกาประเภทนี้จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา


ประเภทที่สอง คือพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา เช่น มาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พระราชกฤษฎีกาประเภทนี้จะเป็นการกำหนดเรื่องต่าง ๆ ตามกฎหมายแต่ละฉบับ หรือไม่ก็กำหนดเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในทางบริหาร เป็นต้นว่า การจ่ายเงินเบี้ยประชุม ค่าเช่าบ้าน 


ความแตกต่างในรูปแบบของพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ประเภทคือ ประเภทแรกจะไม่มีเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกา เขาจะเขียนเหตุผลไว้ในคำปรารภเลย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำเป็นพระราชกฤษฏีกาอยู่แล้ว แต่ประเภทที่สองนี่จะมีเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วยเพราะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินงบประมาณตามกฎหมายแต่ละฉบับ


พระราชกฤษฎีกายุบสภานี่จัดอยู่ในประเภทที่หนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้เป็นพิเศษว่า “ให้กระทําได้เพียงคร้ังเดียว ในเหตุการณ์เดียวกัน”


ที่กระทำได้เพียงครั้งเดียวเพราะเมื่อยุบสภาแล้ว สภาก็สิ้นอายุเลย ก็ต้องจัดเลือกตั้งทั่วไปตามลำดับเพื่อให้มีสภาใหม่ ยุบแล้วยุบอีกคงไม่ได้ ส่วนที่บอกว่า “ในเหตุการณ์เดียวกันนั้น” ความมุ่งหมายคือเขาให้ระบุ “เหตุแห่งการยุบสภา” ไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาด้วย ไม่ใช่อ้างบทศัยอำนาจอย่างเดียวเหมือนพระราชกฤษฎีกาประเภทที่หนึ่ง เนื่องจากผลคือสภาจะสิ้นสุดลง ต้องบอกเหตุผลในการยุบสภาไว้ด้วย


เหตุการณ์ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ลงรอยกัน ระหว่างรัฐบาลกับสภา ถ้ารัฐบาลคะแนนเสียงดีอยู่ และจะยุบสภาเพื่อว่าเลือกตั้งใหม่แล้วจะได้ผู้แทนมากขึ้นก็ทำได้ อังกฤษ กับญี่ปุ่น ทำบ่อย ๆ ไป และไม่มีเงื่อนไขด้วยว่าจะต้องทำในระหว่างที่กำลังมีการประชุมสภา ระหว่างปิดสมัยประชุมก็ทำได้ เป็นมิติทางการเมืองในแต่ละกรณีโดยแท้ 


ยุบสภานี่ประชาชนไม่ได้เสียประโยชน์อะไรนะครับ ดีเสียอีกที่จะได้เลือกตั้งใหม่โดยไม่ต้องรอให้อายุสภาสิ้นสุดลงตามปกติ ได้มีโอกาสแก้เบื่อและได้ตั้งสติคิดทบทวนกันใหม่ว่าที่ผ่านมาใครทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะ จะได้เลือกให้ถูก


ลืมบอกไปอีกอย่าง การยุบสภานี่เป็น acte de gouvernement นะถ้าจำไม่ผิด เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสภา


ส่วนกระบวนการในการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาล่าสุดนี้ ก็เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี 28 มกราคม 2563 นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น