วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567

ความเชื่อมั่น (Trust) ปกรณ์ นิลประพันธ์

 ความเชื่อมั่น (Trust)

ในวงสนทนาเล็ก ๆ วงหนึ่ง หลังจากขุดเรื่องหลังเมื่อครั้งวัยละอ่อนมาละเลงกันทั่วหน้าแล้ว มีคนถามผมว่าอะไรคือปัญหาที่ผมคิดว่าหนักที่สุดของเราในขณะนี้ ระหว่างการเมืองภายใน การเมืองระหว่างประเทศ  เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมชำรุด สังคมผู้สูงอายุ การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วจะแก้อันไหนก่อนดี

ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “ปัญหาความเชื่อมั่น” (Trust)

คนในวงถามว่ามันเกี่ยวอะไรกัน

ผมเลยถามเขากลับไปว่า นาทีนี้พวกเขาเชื่อมั่น “ในอะไร” ได้บ้าง

ทุกคนลังเลที่จะตอบ 

ผมรู้สึกว่ามีความอึดอัดเกิดขึ้นในการอภิปราย จึงเสนอความเห็นต่อไปว่า ปัญหาที่ยกมาหลายประการนั้นล้วนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รวมทั้งของโลกด้วยซ้ำไป 

โอเคละ เราทราบปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่ยกขึ้นมาเป็นอย่างดี มีผลงานศึกษาวิจัยมากมาย พูดกันซ้ำไปซ้ำมา  แต่ทำไมเราถึงยังแก้ไขอะไรในเชิงโครงสร้างไม่ได้เลย ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปะผุไปวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่คุยข่มกันว่าซุ่มศึกษากันล่วงหน้ามาหลายปี พร้อมทำทันที 100 วันเผา เอ๊ย 100 วันเห็นผลแน่ ๆ 

ผมบอกเพื่อนว่า ส่วนตัวผมคิดว่าพื้นฐานสำคัญคือไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะมีผู้ใดที่จะแก้ปัญหาได้  ทุกวันนี้ก็ยังรออัศวินขี่ม้าขาวกันอยู่ทั้งที่รู้ว่าคงไม่มีหรอก  ซึ่งถ้าผู้คนคิดเช่นนั้นกันหมด คนมีหน้าที่แก้ปัญหาที่ไม่ว่าจะตั้งใจมาหรือไม่ ก็จะถูกตั้งคำถาม (ด้วยความไม่เชื่อมั่น) ว่าจะทำได้จริงหรืออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าผู้มีหน้าที่จะร่ำเรียนมาจากสถาบันโด่งดัง มีปริญญายาวเฟื้อย มีประสบการณ์โชกโชนมาเพียงใด  และความไม่เชื่อมั่นของผู้คนก็จะทำให้ผู้มีหน้าที่ขาดแนวร่วม ขาดพลัง ขาดแรงสนับสนุน และขาดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพราะการแก้ไขปัญหาทุกอย่างนั้นมันต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทำคนเดียวไม่ได้ ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ มันก็จะมี stakeholders มาก ถ้า stakeholders ไม่เชื่อมั่นในผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหา มันก็จะไม่มีใครฟังใคร

ในการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ต้องการคนหน้าตาดี มาดดี พูดเก่ง แต่ต้องหนึ่งมีความมั่นคงแน่วแน่  สองคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก สามมีสติและปัญญาคู่กัน มีปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสติด้วย  สี่ต้องสุจริต เที่ยงธรรม  ห้าต้องตรงไปตรงมา ยึดมั่นในหลักการ  หกมีความรับผิดชอบ  และเจ็ดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย 

นี่ผมว่าตามตำราที่อ่านมานะ แต่เท่าที่เอามาลองใช้ดูในการทำงานจริงมันก็ได้ผลนะ

ถ้าเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมั่น เมื่อผู้คนเชื่อมั่น ก็จะแก้ทุกปัญหาไปพร้อม ๆ กันในลักษณะ structural change ได้เพราะทุกปัญหามันเกี่ยวโยงกัน

แต่มันก็ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในสังคมที่มีความเป็น individualism สูงมากตามการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีเช่นนี้  ขณะที่การทำลายความเชื่อมั่นโดยใช้เทคโนโลยีมันง่ายกว่าเยอะ

“เปลี่ยนเรื่องคุยเถอะวะ” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมา 

แล้วการสนทนาในประเด็นนี้ก็เป็นอันยุติลง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น