นายปกรณ์
นิลประพันธ์[1]
[1] สำหรับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
(Democratic regime) ในระบบรัฐสภา (Parliamentary
system) นั้น การพ้นจากตำแหน่ง (vacate office) ของคณะรัฐมนตรีเพราะเหตุยุบสภานั้นมิได้ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องกลับไปนอนอยู่บ้านเฉย ๆ
หรือออกไปตะลอน ๆ หาเสียงเลือกตั้ง
แต่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุยุบสภามีหน้าที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั่นเอง
[2] ในประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร
หน้าที่เช่นว่านี้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (Convention) ส่วนประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น
บางประเทศก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
(Constitutional Convention) เช่น เครือรัฐออสเตรเลีย
เป็นต้น แต่บางประเทศก็เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน เช่น ประเทศไทย (มาตรา 181[2]
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) เป็นต้น
[3] ปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ
เมื่อต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุยุบสภานั้น “ทำอะไรได้บ้าง"
[4] ในกรณีนี้ผู้เขียนจะขอยกธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของเครือรัฐออสเตรเลียเป็นกรณีศึกษา โดยสัญญาว่าจะไม่วุ่นวายหรือล่วงไปวิเคราะห์มาตรา 181
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มากไปกว่าที่กล่าวอ้างถึงข้างต้น
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเป็นกลางทางวิชาการ และอีกประการหนึ่งการดำเนินการตามมาตรา 181 ก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอแนะในเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว
[5] เครือรัฐออสเตรเลียนั้นถึงจะมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร[3]
แต่รัฐธรรมนูญของเขาซึ่งมีเพียง 128 มาตรา
ก็มิได้บัญญัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับประเทศในเครือจักรภพทั้งหลายว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุยุบสภามีหน้าที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่
[6] อย่างไรก็ตาม
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภานั้นอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ
กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภานั้นไม่มีอำนาจเต็ม (Full
accountability) ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอีกต่อไป คงมีเพียงหน้าที่กำกับดูแล
(Caretaker role)ให้การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่านคณะรัฐมนตรีเป็นไปได้โดยราบรื่นเท่านั้น
และเช่นเดียวกับประเทศในเครือจักรภพทั้งหลาย
เครือรัฐออสเตรเลียมีธรรมเนียมปฏิบัติในการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่านคณะรัฐมนตรีเป็นไปได้โดยราบรื่น (Caretaker
conventions) ว่า คณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภานั้นต้องหลีกเลี่ยง
(avoid) การดำเนินการที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้[4]
·
การตัดสินใจในเรื่องทางนโยบายหลัก (major
policy decisions) บรรดาที่อาจมีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
·
การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่าง ๆ (significant
appointments)
·
การทำสัญญาหรือดำเนินกิจการบรรดาที่มีความสำคัญ (major
contracts or undertakings)
[7] หากพิจารณาลึกลงไปจะเห็นได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติในการกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภาดังกล่าวนั้น
มิได้ผูกพันเฉพาะคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภาซึ่งเป็น “ผู้ตัดสินใจ” เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับข้าราชการประจำที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ (Agency
head) ที่เป็น “คนเสนอเรื่อง” ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยด้วย
เพราะหาไม่แล้วคณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภาก็คงต้องวุ่นวายพิจารณาว่าเรื่องที่หัวหน้าส่วนราชการเสนอขึ้นมานั้นเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงดังกล่าวข้างต้นหรือไม่
[8] เมื่อเป็นเช่นนี้
สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (Department of the Prime Minister and
Cabinet) ของรัฐบาลแห่งเครือรัฐออสเตรเลียจึงได้วางแนวปฏิบัติ (Guidance) ในการปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภาขึ้นไว้
แต่แนวปฏิบัติดังกล่าวก็หาได้ปลดความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการในการใช้ดุลพินิจของตนว่าสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติในการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่านคณะรัฐมนตรีหรือไม่
[9] แนวปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภา
วางหลักเกณฑ์ในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภา
ต้องหลีกเลี่ยงไว้ ดังนี้
ต้องหลีกเลี่ยงไว้ ดังนี้
กรณีการตัดสินใจในเรื่องทางนโยบายหลักบรรดาที่อาจมีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
[10] ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ผูกพันมิให้หัวหน้าส่วนราชการเสนอเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องในทางนโยบายหลักต่อคณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภา
และคณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภาต้องพิจารณาว่าเรื่องที่เสนอมานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายหลักที่อาจมีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หรือไม่
การพิจารณาว่าเรื่องใดเป็น “นโยบายหลัก” หรือไม่
มิได้พิจารณาเฉพาะในแง่นโยบายและทรัพยากรที่ใช้ (policy and resources) เท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาความไม่สอดคล้องกัน (contention) ของนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง (election campaign) ของพรรคการเมืองด้วย
โดยเฉพาะนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งของพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน
[11] ทั้งนี้
ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มุ่งหมายเฉพาะการเสนอให้มีการตัดสินใจและการตัดสินใจ (making
of decision) ของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายหลักที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภาแล้วเท่านั้น
ไม่รวมถึงการดำเนินการตามปกติประจำ และนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นคณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภา
แต่หากมีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภาจะต้องตัดสินใจในเรื่องทางนโยบายหลัก
ธรรมเนียมปฏิบัติของเครือรัฐออสเตรเลียกำหนดให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนั้นต้องหารือกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก่อนเพราะฝ่ายค้านอาจชนะเลือกตั้งและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็ได้ตามหลักการให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย
และเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีใช้การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายหลักดังกล่าวไปในทางหาเสียงอันเป็นการเอาเปรียบฝ่ายค้าน
[12] ในอดีตเคยเกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงขึ้นในประเทศและอยู่ในช่วงที่มีการยุบสภา
จำเป็นอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีต้องใช้เงินงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
คณะรัฐมนตรีก็มอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปหารือกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก่อนการอนุมัติ
[13] ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ผูกพันมิให้หัวหน้าส่วนราชการเสนอเรื่องที่เป็นการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่อคณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภา
แต่หากมีการเสนอขึ้นมา คณะรัฐมนตรีภายหลังการยุบสภาต้องพิจารณาในลำดับแรกก่อนว่าเข้ากรณีดังกล่าวหรือไม่
โดยการพิจารณาว่าตำแหน่งใดสำคัญหรือไม่นั้น
คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าการแต่งตั้งนั้นอาจก่อให้เกิดข้อครหาหรือความขัดแย้ง
(Controversial) ขึ้นหรือไม่
[14] การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญตามธรรมเนียมปฏิบัตินี้มิได้จำกัดแต่เฉพาะตำแหน่งที่
“คณะรัฐมนตรี” เป็นผู้แต่งตั้งเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงตำแหน่งที่ “รัฐมนตรี”
มีอำนาจแต่งตั้งหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนั้นด้วย
หากกรณีมีความจำเป็นต้องแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนั้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
แนวปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภาเสนอให้แต่งตั้งผู้นั้นรักษาการในตำแหน่งไปก่อน
แต่หากต้องการแต่งตั้งถาวร คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนั้น
แล้วแต่กรณี ต้องหารือกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก่อนดังเหตุผลที่ได้กล่าวแล้วใน [11]
การทำสัญญาหรือดำเนินกิจการบรรดาที่มีความสำคัญ
[15] ตามแนวปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภาวางหลักเกณฑ์การพิจารณาในกรณีนี้ว่า
นอกจากจะพิจารณาจากมูลค่าของสัญญาหรือกิจการแล้ว ต้องพิจารณาด้วยว่าการทำสัญญาหรือดำเนินกิจการนั้นกระทำเป็นงานปกติประจำ
(routine work)
หรือมีลักษณะไปในทางการผลักดันนโยบายการเมืองเป็นผลสำเร็จ หากไม่แน่ใจ
คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนั้น แล้วแต่กรณี
ต้องหารือกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก่อนดังเหตุผลที่ได้กล่าวแล้วใน [11]
[16] นอกจากจะต้องหลีกเลี่ยง
(avoid) การดำเนินการที่มีลักษณะสามประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว
แนวปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภามีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
· คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการภายหลังจากการยุบสภานั้นไม่ควรแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ
และงดเยือนรัฐต่างประเทศ ส่วนการรับรองอาคันตุกะนั้นสามารถทำได้
แต่ต้องชี้แจงให้อาคันตุกะทราบถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งด้วย
·
ให้ทุกหน่วยงานพิจารณาทบทวนการประชาสัมพันธ์ภาครัฐในช่วงยุบสภาจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่
โดยไม่ควรเผยแพร่ข่าวหรือประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลในลักษณะที่อาจเป็นการชี้นำผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
·
การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐต้องไม่มีการเชื่อมโยง
(link) ไปยังพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีข้อความที่เป็นการประชาสัมพันธ์ประวัติหรือผลงานของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
· ส่วนราชการต้องเปิดให้ทุกพรรคเข้าไปหาเสียงได้ตามหลักความเสมอภาค
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกันครับ
[2]มาตรา ๑๘๑
คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง
ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘๐ (๒)
คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
ดังต่อไปนี้
(๑) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่
หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง
หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(๒)
ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(๓)
ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
(๔)
ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
[4]Department of the
Prime Minister and Cabinet, Guidance on Caretaker Conventions 2013.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น