วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดการร่างกฎหมาย 5: แนวทางการใช้คำว่า "รัฐบาล" กับ "คณะรัฐมนตรี"

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

ความเป็นมา

                   ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ นั้น ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้คำว่า “รัฐบาล” “คณะรัฐมนตรี” และการระบุชื่อส่วนราชการอยู่เนือง ๆ โดยกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ที่ ฏ. 1799/2485 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2485 ถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ได้มีหน่วยราชการบางหน่วยประกาศโฆษณาหรือแสดงปาฐกถาซึ่งแทนที่จะอ้างชื่อหน่วยราชการหรืออ้างตนเองกลับไปอ้างรัฐบาลเสมอ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2485 ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่า เรื่องใดควรใช้คำว่า "รัฐบาล" เรื่องใดควรใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" และเรื่องใดควรระบุชื่อส่วนราชการ

แนวทางการใช้ถ้อยคำ

                   คณะกรรมการกฤษฎีกา (อนุกรรมการร่างกฎหมายชุดที่ 3 พร้อมด้วยกรรมการร่างกฎหมายชุดที่ 1 ชุดที่ 2 และชุดที่ 4 บางท่าน) ได้วางแนวทางการใช้ถ้อยคำดังกล่าวทั้งในร่างกฎหมายและในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้

                   "1. คำว่า "รัฐบาล" นอกจากมีความหมายว่า "ลักษณะการปกครองแห่งรัฐ" (Form of Polity) เช่น รัฐบาลแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือแบบรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อันเป็นความหมายที่มักใช้ในทางวิชาการแล้ว ยังมีความหมายที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปอีก 2 นัยด้วย คือ
                             (ก) หมายถึงรัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศชาติ เช่นคำว่า "รัฐบาลไทย" ซึ่งพิมพ์ไว้ในธนบัตร และคำว่า "คลังออมสินของรัฐบาล. ........" ในมาตรา 1570 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
                             (ข) หมายถึงคณะบุคคลซึ่งปกครองประเทศโดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในอันที่จะดำเนินนโยบายของประเทศ ได้แก่คณะรัฐมนตรีในฐานะที่บริหารกิจการในนามของรัฐ เช่น
ในข้อ 26 แห่งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477 บัญญัติว่า "...การเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติใด ๆ ถ้ารัฐบาลเป็นผู้เสนอไม่ต้องมีผู้รับรอง" เป็นต้น

                   2. ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นควรวางระเบียบการใช้คำว่า "รัฐบาล" ดังต่อไปนี้

                             (ก) ถ้าในกรณีใดมีความประสงค์จะให้มีความหมายเป็นประการหนึ่งประการใด คือ ลักษณะการปกครองแห่งรัฐ (Form of Polity) รัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศชาติ หรือคณะบุคคลซึ่งปกครองประเทศ ดั่งได้กล่าวแล้วข้างต้น ในกรณีเช่นนั้นก็ย่อมใช้คำว่า "รัฐบาล" ได้ ถ้าหากมิได้มีความหมายดั่งกล่าวนั้น ก็ไม่ควรใช้คำว่า "รัฐบาล"
                             (ข) คำว่า "รัฐบาล" กับ "คณะรัฐมนตรี" ควรแยกใช้ให้ต่างกันเพราะถึงแม้คำว่า "รัฐบาล" ในบางกรณีจะมีความหมายถึง "คณะรัฐมนตรี" ได้ก็จริงแต่สองคำนี้ก็ยังมีความหมายแยกออกจากกันได้ ฉะนั้นถ้ากรณีใดมีความประสงค์จะหมายถึงคณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งโดยได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้บริหารกิจการของประเทศ ในกรณีนั้นควรใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" เช่นคณะรัฐมนตรีไปในงานพระราชพิธีเป็นต้น แต่ถ้าในกรณีใดประสงค์จะหมายถึงคณะรัฐมนตรีในฐานะที่บริหารกิจการในนามของรัฐ จะใช้คำว่า "รัฐบาล" ก็ได้
                             (ค) ในบทกฎหมายที่จะประกาศใช้ต่อไปในภายหน้า ถ้ามีความประสงค์จะให้ราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่ง มีอำนาจหรือหน้าที่ปฏิบัติกิจการใด เป็นต้นว่าให้เป็นโจทก์หรือจำเลยในศาล ซึ่งราชการหน่วยนั้นจะต้องกระทำในฐานะที่เป็นนิติบุคคล ก็ควรจะบัญญัติไว้ให้ชัดว่าให้อำนาจหรือหน้าที่เช่นนั้นแก่กระทรวงหรือกรมนั้น ๆ ไม่ควรบัญญัติว่ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชื่อในการเป็นโจทก์หรือจำเลยในศาล"

                   ต่อมา กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ที่ ว.ว. 131/2485 ลงวันที่ 30 เมษายน 2485 แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติต่อไป

                  เผื่อไว้เรียกรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปก็แล้วกันนะ...

ข้อมูลอ้างอิง

                   เรื่องเสร็จที่ 116/2485




[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น