นายปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ช่วงนี้มีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาอย่างครึกโครม
ประกอบกับผู้เขียนมีบุตรที่กำลังอยู่ในวัยเรียนและอยู่ในระบบการศึกษา
ผู้เขียนและบุตรจึงนับเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในประเด็นนี้
จึงขอเสนอข้อมูลและความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องด้วย
บังเอิญว่าผู้เขียนมีโอกาสอ่านรายงานฉบับหนึ่งของ OECD รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะ
สรุปความได้ว่าโลกในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นจะเป็น "โลกเสมือนไร้สัญชาติ" เพราะความก้าวหน้าของระบบการสื่อสารและการคมนาคมทำให้การอพยพย้ายถิ่นเป็นเรื่องที่ง่ายดายมาก
ประกอบกับแรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาตามสภาวะการณ์ของสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น
และระบบเศรษฐกิจโลกจะโน้มเอียงไปในทางการให้บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
เมื่อเป็นเช่นนี้
รายงานฉบับนี้จึงเสนอแนะว่าทุกประเทศจึงต้องพัฒนาการศึกษาให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ว่า
กล่าวคือ ต้องพัฒนาบุคคลากรของตนให้มีลักษณะ 3 ประการเรียงตามลำดับดังนี้
(1)
มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เพราะความคิดสร้างสรรค์จะนำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรม
(Innovation) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากกว่าการผลิตพื้นฐาน
หรือการเป็นโรงงานรับจ้างประกอบ ที่เห็นได้ชัดเจนคืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ Digital
Contents ทั้งหลาย
(2)
มีความสามารถในการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ
ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ ได้อย่างดี (Collaboration) ดังนั้น
คนยุคหน้าจึงต้องมีความฉลาดทางอารมณ์สูง เข้ากับผู้อื่นได้ดี มีอัตตาต่ำ เข้าใจและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
(3)
มีความฉลาด (Talent)
สังเกตไหมครับว่าเขาจัดความฉลาดอยู่ในลำดับสุดท้าย
เพราะผู้มีความฉลาดหากเข้ากับผู้อื่นไม่ได้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่การอยู่ร่วมกันและการทำงานเป็นทีม
ทั้งยังอาจสร้างปัญหาขึ้นอีก
โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าการพยากรณ์และข้อเสนอแนะของ OECD สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกและมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
ประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมบุคคลากรของเราให้มีคุณลักษณะทั้งสามประการดังกล่าว
มิฉะนั้นประเทศไทยเราอาจต้องไปแอบอยู่มุมใดมุมหนึ่งในเวทีโลก
ผู้เขียนสังเกตว่าการศึกษาไทยที่ผู้เขียนประสบมาเองและที่บุตรชายของผู้เขียนกำลังประสบอยู่นั้นเหมือนกัน
เราทั้งสองรุ่นถูกสังคมรายล้อมปลูกฟังให้ต้อง "เรียนเก่ง" ไว้ก่อน
เก่งที่ว่านี้คือต้องได้คะแนนสูง ๆ เข้าไว้ ประกอบกับหลักสูตรการศึกษายังคงเป็นหลักสูตรที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบน
ดังจะเห็นได้ว่าทุกคนในแต่ละระดับชั้นต้องเรียนเหมือนกันทุกวิชา
และแต่ละห้องต้องเรียนโดยใช้ตารางสอนเดียวกันหมดราวกับปลาทูในเข่ง ทั้ง ๆ
ที่ผู้เรียนแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะ ทักษะ และความถนัดที่แตกต่างกันตั้งแต่เกิด
บางคนไม่ถนัดการคำนวณ บางคนไม่ถนัดภาษา บางคนถนัดพละศึกษา ฯลฯ
แต่ทุกคนต้องเรียนเหมือนกันและต้องสอบข้อสอบเดียวกัน คะแนนตัดสินคือคะแนนรวม
นัยว่าเพื่อความเป็นธรรม
ซึ่งผู้เขียนสงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่ามันเป็นธรรมสำหรับผู้เรียนจริงหรือไม่ในเมื่อทุกคนถนัดแตกต่างกัน
เรื่องความสามารถในการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ
ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ นั้น
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่
ผู้เขียนพบว่าเรายังมีค่านิยมที่ว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครอย่างเหนียวแน่น
และค่านิยมนี้ทำให้เราไม่สนใจที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจชาติอื่น
ไม่ต้องเอาอื่นไกล ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ไม่ใส่ใจที่จะรู้
เรามักเรียนรู้เรื่องตะวันตกที่อยู่ห่างไกลมากกว่าเรื่องตะวันออกที่ใกล้กับตัวเรา
แต่ก็ไม่แน่ใจว่ารู้ลึกรู้จริงหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าเรายังไม่ได้เตรียมระบบการเรียนการสอนเพื่อรองรับพหุสังคม
(Multicultural Society) เท่าที่ควร
คงมีแต่ธงของชาติอาเซียนที่ติดตั้งปลิวไสวในสถานศึกษาเท่านั้น
สำหรับเรื่อง Creativity ผู้เขียนเห็นว่าระบบการศึกษาไทยเน้นความเก่งตามตำรา
ทำอย่างไรจะได้คะแนนสูง ๆ เป็นเป้าหมายหลัก
ผู้เรียนจึงจึงขาดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต
ปีก่อนบุตรของผู้เขียนได้รับโอกาสไปเรียนร่วมกับนักเรียนชั้น ม. 2 ในโรงเรียนธรรมดา ๆ แห่งหนึ่งของออสเตรเลีย
เมื่อกลับมาผู้เขียนได้ขอสมุดจดวิชาต่าง ๆ ของเขามาดูและสัมภาษณ์ว่าเขาเรียนอะไรอย่างไรบ้าง
พบว่าเขาจัดการศึกษาตามความถนัดของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่ใช่ความสะดวกของผู้สอน
ผู้เรียนในห้องเดียวกันไม่ต้องเรียนเหมือน ๆ กันทุกวิชา
แต่ให้เรียนตามความสนใจของตัวเอง เช้าเรียนวิชาการแบบเดินเรียน
ช่วงบ่ายเป็นวิชากิจกรรมและพลศึกษาก่อนกลับบ้าน
ว่าด้วยภาควิชาการ
ในวิชา Geography ผู้เขียนถึงกับตกใจเมื่อพบว่าเขาสอนนักเรียนเกี่ยวกับ Kyoto Protocol ซึ่งว่าด้วย Carbon emission ในฐานะที่พลเมืองออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก
เขามอบให้เด็กไปอ่านหนังสือแล้วมาพูดคุยถกเถียงกันในชั้น
ไม่ใช่จดตามที่ครูเขียนบนกระดานดำเพื่อให้ไปท่องมาสอบให้ตรงตามครูสอน
ครั้นเมื่อผู้เขียนไปสอนระดับปริญญาโทในสาขาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและนิสิตล้วนแล้วแต่ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
จึงลองให้นิสิตช่วยกันอธิบายเกี่ยวกับ Protocol ดังกล่าว
ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้เลย!
ผู้เขียนไม่ใช่นักการศึกษาแต่เป็นนักกฎหมาย
จึงไม่รู้ว่าจะพัฒนาการศึกษาท่าไหนดีจึงจะบรรลุถึงสิ่งที่ชาวโลกเขากำลังเดินไป
จึงขอฝากข้อมูลเหล่านี้ไว้เพื่อประกอบการพิจารณาของนักปฏิรูปการศึกษา .. ไม่ใช่ไม่ใช่ .. นักพัฒนาการศึกษาด้วย
เราเหลาะแหละต่อไปไม่ได้แล้ว
และช้ากว่านี้อีกไม่ได้แล้ว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น