วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

เกร็ดการร่างกฎหมาย 12: ว่าด้วยเสียงข้างมาก

                                                                                                 นายปกรณ์ นิลประพันธ์

           นักกฎหมายไทยจำนวนหนึ่งมีความสามารถมากในการทำลายกฎหมายด้วยการให้ความเห็นทางกฎหมาย "แบบไทย ๆ " ที่เน้นการ "เล่นคำ" มากกว่าการคำนึงถึง "หลักกฎหมาย" และ "ความยุติธรรม" อันเป็น "หลักสากล" และนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวต่างประเทศมองระบบกฎหมายไทยในเชิงลบ และไม่เชื่อมั่นในระบบกฎหมายไทยโดยรวม

          ตัวอย่างที่ยกเป็นกรณีศึกษาคือการอธิบายความหมายของคำว่า "โดยเสียงข้างมาก" ตามหลักเสียงข้างมากธรรมดา หรือที่รู้จักเป็นสากลว่า Simple majority rule หรือ Majority rule

          ตาม Black's Law Dictionary 5th Ed (1979)  นั้น เขาอธิบาย Majority rule ว่าหมายถึง Rule by the choice of the majority of those who actually vote, irrespective of whether a majority of those entitled participate. ถ้าจะสรุปอย่างงู ๆ ปลา ๆ ตามแบบฉบับของผู้เขียนที่ไม่ได้จบด๊อกเตอร์อะไรกับเขา ก็คือ "การชี้ขาดโดยเสียงที่มากกว่าของผู้ที่มาออกเสียงจริง ๆ โดยไม่คำนึงว่าผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่จะมาร่วมออกเสียงด้วยหรือไม่"

          สรุปง่าย ๆ ว่านับเฉพาะเสียงที่มาลงคะแนนเท่านั้น และดูเพียงว่าระหว่างคะแนน Yes กับ No นั้น ฝ่ายไหนมากกว่ากัน คนที่มาออกเสียงแต่งดออกเสียงหรือไม่ตัดสินใจว่าจะ Yes หรือ No ดีนั้นไม่ต้องนับ เพราะไม่รู้จักตัดสินใจ 

          อย่างไรก็ดี นักกฎหมายไทยจำนวนหนึ่งพยายามอธิบายว่าคำว่า "โดยเสียงข้างมาก" นั้น หมายถึงเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งนับรวมผู้มีสิทธิออกเสียงแต่ไม่ได้มาออกเสียง และผู้มาออกเสียงแต่ใช้สิทธิงดออกเสียงด้วย!!!!!!

          ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่อง "พื้นฐาน" ที่นักกฎหมายต้องเข้าใจมาตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ เพราะทุกคนต้องเรียนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 และคำว่า "โดยเสียงข้างมาก" หรือ "ตามเสียงข้างมาก" นั้นก็ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มานับตั้งแต่นั้นแล้ว แต่ปีนี้อันเป็นปีที่ 90 ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับ ยังมีนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจเรื่องดังกล่าว และทำให้สังคมเกิดความไขว้เขว

          ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 1178/2558 สรุปความได้ว่า เสียงข้างมากนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เสียงข้างมากธรรมดา (Simple Majority) กับเสียงข้างมากเด็ดขาด (Absolute Majority) โดยเสียงข้างมากธรรมดา (ที่กฎหมายเขียนว่า โดยเสียงข้างมากบ้าง ตามเสียงข้างมากบ้าง ให้ถือเสียงข้างมากบ้าง โดยไม่มีสร้อยต่อท้ายว่าของนั่นของนี่ - ผู้เขียน) เสียงข้างมากหมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งมีสิทธิลงคะแนนและได้ออกเสียงลงคะแนนว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ การงดออกเสียงหรือไม่มาออกเสียงย่อมไม่ถือเป็นการออกเสียง และไม่สามารถนับได้  ส่วนเสียงข้างมากเด็ดขาด หมายถึง คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยูู่ (เช่น ที่กฎหมายเขียนว่าสองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิกหรือกรรมการทั้งหมดหรือเท่าที่มีอยู่) คะแนนเสียงจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งในกรณีเช่นนี้จำนวนคนไม่มาใช้สิทธิหรือใช้สิทธิงดออกเสียงต้องนำมานับด้วยเพื่อประกอบการนับ 

          ในกรณีเสียงข้างมากธรรมดา หากให้นับคนไม่มาใช้สิทธิหรือใช้สิทธิงดออกเสียงด้วย จะก่อให้เกิดผลประหลาด เพราะจะทำให้คนไม่มาใช้สิทธิ (ไม่มาเลย) กับคนที่มาใช้สิทธิแต่ไม่ตัดสินใจว่าจะ Yes หรือ No ดีนั้น (มา + ไม่ตัดสินใจ) สามารถ "ทำลาย" ผลการตัดสินใจลงคะแนนของคนที่มาใช้สิทธิโดยสมบูรณ์ (มา + ตัดสินใจ) ได้ 

          ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ดังกล่าว เป็นการยืนยันหลักการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 266/2553 ว่าต้องนับเฉพาะผู้มีสิทธิที่ลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบเท่านั้น คนไม่มาใช้สิทธิก็ดี หรือมาใช้สิทธิแต่งดออกเสียงหรือทำบัตรเสียก็ดี นั้นหานับไม่

          ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่านี้เขาเผยแพร่ในเวปไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยนะครับ หาอ่านได้ไม่ยากที่ www.krisdika.go.th ขอเพียงใฝ่หาความรู้บ้าง ไม่ใช่เอาแต่เล่นไลน์หรือเฟซบุ๊ค แล้วพูดไปเรื่อยเปื่อย   

          ในสถานการณ์เช่นนี้ สถาบันนักกฎหมาย และเรา เหล่านักกฎหมาย ควรร่วมมือกันจัดการกับนักกฎหมายที่มีพื้นฐานทางกฎหมายไม่แข็งแรงเหล่านี้เพื่อมิให้ไปเที่ยวพูดจาสร้างความสับสนให้แก่สังคมและทำลายความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายไทยได้อีกต่อไป .. ให้สมกับที่เป็นยุคปฏิรูป ..

          ไม่ใช่ยุคเลอะเทอะ... 


ที่มา
Black's Law Dictionary 5th Ed (1979)  
เรื่องเสร็จที่ 266/2553
เรื่องเสร็จที่ 1178/2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น