วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เป้าหมายการพัฒนามนุษย์ของโลก 2030 โดย OECD

รายละเอียดโปรดดู http://www.oecd.org/education/2030/oecd-education-2030-position-paper.pdf?utm_source=Adestra&utm_medium=email&utm_content=Future%20of%20Education%20and%20Skills%3A%20Education%202030&utm_campaign=OECD%20Education%20%26%20Skills%20Newsletter%3A%20February%202018&utm_term=demo

วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Cryptocurrency สำหรับนักกฎหมาย โดย นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัย (ตอนที่ 2)*


               ตอนที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอนวัตกรรมการเก็บข้อมูลแบบกระจายส่วนในรูปของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัล ในตอนนี้ จะเป็นการอธิบายหลักการเบื้องต้นและวิธีการสร้างเงินดิจิทัล โดยจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ คือ ลักษณะของเงินดิจิทัล การสร้างเงินดิจิทัล และความเหมือน (ที่แตกต่าง) ระหว่างเงินดิจิทัลกับเงินกระดาษ (fiat money)

ลักษณะของเงินดิจิทัล

                    เงินดิจิทัลมีคุณลักษณะหลักสามประการ ดังนี้

                   ประการที่หนึ่ง ไม่มีลักษณะทางกายภาพ (digital matter) กล่าวคือ ไม่สามารถจับต้องได้ ต่างจากธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ หากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการเกิดขึ้น ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินที่จับต้องได้ให้แก่ผู้ขาย การชำระหนี้จะเกิดขึ้นจากการที่คอมพิวเตอร์ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทำการประมวลผลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ

                   ประการที่สอง มีการกระจายข้อมูล (distributed ledger) โดยหลักฐานการซื้อขายที่เกิดขึ้นจะได้รับการบันทึกลงไปในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ “ทุกเครื่อง” ที่เชื่อมโยงกันในเครือข่ายเงินดิจิทัลนั้น เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกหรือลงบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานก็คือ บล็อกเชน ซึ่งได้นำเสนอไปในคราวที่แล้วนั่นเอง

                   ประการที่สาม มีการเข้ารหัส (encryption) แม้ว่าหลักฐานของการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สมาชิกของระบบซึ่งไม่ใช่ผู้ซื้อหรือผู้ขายในธุรกรรมดังกล่าว (counterparties) จะสามารถเข้าถึงได้ก็แต่เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ไม่ได้ถูกเข้ารหัส (unencrypted) เท่านั้น เช่น การกล่าวแจ้งว่ามีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น แต่จะไม่สามารถเข้าถึง “ข้อมูลลับ” ที่ถูกเข้ารหัส (encrypted) ไว้ได้เลย เช่น ลักษณะของสินค้าหรือบริการที่ซื้อขาย ราคาของสินค้า หรือที่อยู่ของผู้เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น  ทั้งนี้ ผู้ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลลับเหล่านี้ได้จะต้องมีรหัสผ่านเฉพาะตัวเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ เงินดิจิทัลในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า cryptocurrency หรือ เงินเข้ารหัส นั่นเอง

การสร้างเงินดิจิทัล

                    จริง ๆ เงินดิจิทัลหรือ cryptocurrency เป็นเพียงแค่ข้อความหนึ่งบรรทัดที่ปรากฏอยู่ในสมุดบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ แถมจับต้องไม่ได้เสียอีก  คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องนี้จึงมีคำถามว่าเจ้าเงินดิจิทัลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธ่อร์ (Ether) หรือ ริปเปิ้ล (Ripple) มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ที่ใด และเพราะเหตุใดจึงได้รับความนิยมจากทั้งนักลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังถึงหลักการเบื้องต้นและวิธีการสร้างเงินดิจิทัล รวมถึงการระดมทุนเพื่อไขรหัสและนำเงินดิจิทัลออกจำหน่าย หรือที่เรียกกันติดปากว่า ICO (Initial Coin Offering)

                   การสร้างสายรหัสเงินดิจิทัลหรือตัวต่อ (block) ขึ้นนั้นเปรียบเสมือนการเล่นเกมส์ตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์ระดับสูง ผู้ตอบถูกก็จะได้รางวัลเป็นสายรหัสหรือตัวต่อเงินดิจิทัลดังกล่าว ระบบเงินดิจิทัลแบบบล็อกเชนทุกสกุลปฏิบัติการโดยใช้ “ระบบรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ” (incentive-driven model of security) กล่าวคือ จะต้องมีการตั้งค่ากลางสำหรับการคัดเลือกสายรหัสหรือตัวต่อตัวใหม่ในเครือข่าย โดยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบจะต้องมีฉันทามติว่าสายรหัสที่เลือกนั้นเป็นสายรหัสที่เสนอปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุด ผู้ที่แก้โจทย์ได้ก่อนก็จะได้รับเงินดิจิทัลเป็นรางวัลตอบแทน การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องใช้ความสามารถในการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ขั้นสูง โดยผู้ชนะจะต้องเขียนแสดงคำตอบ (proof of work) ไว้ในตัวต่อตัวใหม่เพื่อให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเครื่องอื่น ๆตรวจการบ้าน เพื่อตรวจสอบว่า คำตอบที่ส่งมานั้นได้มาโดยใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่ และไม่มีวิธีการอื่นใดที่สามารถหาคำตอบหรือเส้นทางเดิน (nonce) อื่นที่ดีกว่านี้ได้อีกต่อไปแล้ว

                   ทั้งนี้ สมาชิกในเครือข่ายทุกรายสามารถอาสาเป็นผู้แก้โจทย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มายเนอร์” (miner นักถลุงแร่) ได้ โดยรางวัลตอบแทนจะมีมูลค่าเป็นสัดส่วนกับระดับความยากง่ายของโจทย์คณิตศาสตร์ที่ได้รับ ผลพลอยได้ประการหนึ่งของการสร้างเงินดิจิทัลในลักษณะนี้ คือ การเพิ่มตัวต่อให้สายรหัสยาวขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มความมั่งคงปลอดภัยให้กับระบบเครือข่าย เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มระดับความยากของโจทย์คณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความซับซ้อนทำให้ยากต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลอีกด้วย

                   การพัฒนาความมั่งคงปลอดภัยให้กับระบบเครือข่ายนี้เองที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางสำหรับการระดมทุนได้ โดยใช้วิธีการที่เรียกกันว่าการทำ Initial Coin Offering หรือ ICO ซึ่งเป็นการล้อคำศัพท์ที่ใช้เรียกการออกขายหุ้นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ (หรือ Initial Public Offering: IPO) นั่นเอง โดยบริษัทผู้ระดมทุนจะตั้งเงินดิจิทัลสกุลใหม่ขึ้น แล้วนำออกขายในราคาต่อหน่วยที่บริษัทผู้ระดมทุนเป็นผู้กำหนด และนักลงทุนสามารถซื้อได้ด้วยเงินกระดาษ

                   ในต่างประเทศ การทำ ICO ได้รับความนิยมเพราะเป็นวิธีการระดมทุนโดยไม่ต้องพึงเงินลงทุนจาก Venture Capitals หรือ VCs (บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน) ซึ่งมักทำให้ผู้ก่อตั้งเสียอำนาจการควบคุมบริษัทไปจากการออกหุ้นเพิ่มเพื่อรองรับการลงทุนของ VCs หรือแม้แต่การทำ IPO เองก็มีค่าใช้จ่ายสูง  อย่างไรก็ตาม บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีการระดมทุนด้วย ICO มากขึ้น ในบ้านเราก็เพิ่งมีบริษัทแห่งหนึ่งประกาศระดมทุนด้วยการออก ICO เป็นรายแรกเมื่อไม่นานมานี้ โดยให้เห็นผลของการระดมทุนว่า ต้องการนำเงินมาพัฒนาระบบปล่อยสินเชื่อด้วยเทคโนโลยีบล๊อกเชน เป็นต้น

ความเหมือน (ที่แตกต่าง) ระหว่างเงินดิจิทัลและเงินกระดาษ

                    เมื่อเราทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นของการสร้างเงินดิจิทัลแล้ว เพื่อความเข้าใจในการทำงานของนวัตกรรมการเงินดิจิทัลนี้มากยิ่งขึ้น แนวคิดพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ความเป็น เงิน (moneyness) ของเงินดิจิทัล หากว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เงินมีลักษณะสำคัญอยู่อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ ความมีจำนวนจำกัด (scarcity) และ การได้รับการยอมรับเพื่อใช้ในการชำระหนี้ (universal acceptance) ผู้สนับสนุนระบบเงินดิจิทัลเชื่อว่าเงินดิจิทัลมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสองประการ

                   ประการแรก เงินดิจิทัลมีจำนวนจำกัด เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ท่านผู้อ่านคงได้ยินชื่อบ่อย ๆ นั้น แรกเริ่มเดิมทีผู้ออกแบบระบบบิทคอยน์ได้ตั้งค่าของระบบไว้ว่า จำนวนเหรียญบิทคอยน์มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ประมาณ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งเงินสกุลนี้มีซื้อขายกันอยู่ในตลาดเป็นส่วนน้อยมาก แต่กลับมี นักถลุงแร่ ไล่ขุดหาเหรียญใหม่อยู่ตลอด และโจทย์คณิตศาสตร์ที่นักถลุงแร่เหล่านี้จะต้องแก้ก็จะเพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ มีผู้คาดการณ์ว่าบิทคอยน์เหรียญสุดท้ายน่าจะถูกขุดพบและถูกนำมาใช้ประมาณปี พ.ศ. 2683 เลยทีเดียว 

                   ในการนำบิทคอยน์หรือเงินดิจิทัลสกุลใด ๆ ก็ตามไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ เจ้าของเงินดังกล่าวต้องดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นพิเศษที่เปรียบเสมือนกระเป๋าสตางค์เก็บเงินดิจิทัล (e-wallet) โดยเจ้าของเงินจะได้รับรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่กระเป๋าเงินดังกล่าว หลังจากตกลงทำธุรกรรมแล้ว คอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อและผู้ขายจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมนั้นเข้าสู่ระบบเพื่อไปรอการอนุมัติจากคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทั้งหมด เมื่อได้รับการอนุมัติ ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมนั้น ๆ จะถูกบันทึกเป็นตัวต่อตัวใหม่ในสายรหัสเงินดิจิทัลตามหลักการที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น ข้อสำคัญที่ต้องเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ ในธุรกรรมหนึ่ง ๆ ไม่มีใครถือตัวเงินที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญ หรือแม้กระทั่งจำนวนเงินฝากในธนาคารก็ไม่มีปรากฏ การเรียกนวัตกรรมการเก็บข้อมูลเข้ารหัสแบบกระจายส่วนนี้ว่า เงิน ก็เป็นเพียงการสมมติขึ้นมาเท่านั้น

                   ประการที่สอง เงินดิจิทัลได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็นตัวกลางในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นสองระดับ
                   ระดับแรก เป็น การได้รับการยอมรับจากสมาชิกภายในเครือข่าย การเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเงินดิจิทัลสกุลใด ๆ การมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อเหรียญเงินดิจิทัล ล้วนเป็นการส่งสัญญาณไปยังสมาชิกรายอื่น ๆ ในเครือข่ายว่า ตนเองยอมรับเงินดิจิทัลเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน (consideration) ในการทำธุรกรรมใด ๆ ในอนาคต
                   ระดับที่สอง เป็นการได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปและบริษัทห้างร้านที่ทำการค้าแบบดั้งเดิมและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินดิจิทัล ในส่วนนี้เอง ผู้สนับสนุนระบบการเงินดิจิทัลมักอ้างว่า แม้ว่าเงินดิจิทัลจะยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับเงินกระดาษ (fiat money) ที่ออกและควบคุมโดยรัฐ แต่ภาคเอกชนในประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็เริ่มยอมรับให้ลูกค้าของตนชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิทคอยน์ บริษัทข้ามชาติชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้บิทคอยน์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยแล้ว ตัวอย่างเช่น เดลคอมพิวเตอร์ (Dell Computer) ไมโครซอฟ (Microsoft) เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ซับเวย์แซนวิช (Subway Sandwich) และซุปเปอร์มาร์เก็ตโฮลฟู้ดส์ (Whole foods) เป็นต้น

                   อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติความเป็นเงิน (moneyness) ของเงินดิจิทัลยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ในวงกว้าง โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายอกุสแต็ง คาร์สเท็นส์ ผู้จัดการทั่วไปของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement - BIS) และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศเม็กซิโก ได้ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งว่า บิทคอยน์และเงินดิจิทัลอื่น ๆ ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นเงิน กล่าวคือ ไม่ใช่ตัวกลางที่ใช้ในการชำระหนี้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม นายอกุสแต็งยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า หากประชาคมโลกไม่ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลระบบการเงินดิจิทัล นวัตกรรมทางการเงินนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของระบบการเงินของโลกในอนาคตก็เป็นได้

                   สำหรับตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์ผลกระทบของการเงินดิจิทัลต่อระบบการเงินหลัก ความมั่นคงด้านพลังงาน การป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลดังกล่าวจะสามารถช่วยกำหนดแนวทางในการออกแบบระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะตอบรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย

------
*Doctor of the Science of Law (J.S.D.), Columbia University, นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (narun.popat@gmail.com)

วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Cryptocurrency สำหรับนักกฎหมาย โดย นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัย (ตอนที่ 1)*


               ในยุค Disruptive technology คงไม่มีนวัตกรรมทางการเงินใดที่จะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางไปมากกว่าระบบการเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนมากประสบการณ์ ประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่องค์กรกำกับดูแลของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

               หากดูจากการเคลื่อนไหวของราคาเงินดิจิทัลสกุลบิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกและเป็นที่นิยมที่สุดในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าราคาซื้อขายต่อหนึ่งเหรียญพุ่งทะยานกว่าสามหมื่นเปอร์เซ็นต์ในรอบห้าปีที่ผ่านมา อีกทั้งบริษัทห้างร้านต่างๆ เริ่มรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จนมีความรู้สึกว่าเป็นไปได้สูงที่เงินดิจิทัลจะกลายเป็นคู่แข่งกับเงินสกุลดั้งเดิมที่ออกและควบคุมโดยรัฐ 

              แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดกรณีเงินดิจิทัลมูลค่า 534 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หายไปอย่างไร้ร่องรอยจาก Coincheck อันเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลของญี่ปุ่น ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินการธนาคารของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับระบบการเงินดิจิทัลมากขึ้น และแน่นอน นักกฎหมายก็ต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจต้องมีมาตรการทางกฎหมายมารองรับไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

                อย่างไรก็ตาม โดยที่ระบบเงินดิจิทัลยังคงเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่บูรณาการศาสตร์หลายแขนง อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง การบริหารจัดการฐานข้อมูล (database management) เศรษฐศาสตร์การเงิน รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับการทำนิติกรรมและสัญญาต่าง ๆ ในตลาดการเงิน จึงเป็นการจุดประกายให้ผู้เขียนจัดทำซีรี่ส์สั้นสำหรับนักกฎหมาย เรื่อง เงินดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายแนวคิดพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินดิจิทัล และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบและความเสี่ยงของนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ชนิดนี้ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และแนวทางการกำกับดูแลในปัจจุบัน


คำศัพท์ทางเทคนิคที่ควรรู้

         เรามาเริ่มต้นด้วยการอธิบายคำศัพท์เบื้องต้นที่หลายคนคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ กันก่อน 

         คำแรกที่ควรรู้ คือคำว่า บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการเข้ารหัสลับทางคอมพิวเตอร์ (cryptographic computing) ที่เป็นพื้นฐานของระบบเงินดิจิทัลและนวัตกรรมด้านการเข้ารหัสลับทางคอมพิวเตอร์อื่น ๆ 

        คำศัพท์อีกคำที่เราคุ้นหู คือคำว่า บิทคอยน์ (Bitcoin) ตามที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกและยังคงเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน (กล่าวคือมีสภาพคล่องสูงที่สุดและได้รับการยอมรับให้เป็นสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ทางกฎหมายอย่างกว้างขวางพอสมควร) 

         และสุดท้ายคือคำว่า เงินดิจิทัล (cryptocurrency) ซึ่งเป็นตัวกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและชำระหนี้ (medium of exchange and mean of payment) ในโลกดิจิทัล เงินดิจิทัลจึงไม่มีรูปทางกายภาพ (กล่าวคือไม่มีออกมาในรูปเหรียญหรือธนบัตร) และใช้ระบบการเข้ารหัสในการควบคุมการผลิตหน่วยการเงิน (monetary unit) และการยืนยันการถ่ายโอนเงิน

 ที่มาของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)

               สมมติว่า นาย ก ต้องการซื้อสินค้าจากนาย ข หลังจากทราบว่านาย ข ได้ประกาศขายสินค้าดังกล่าวบนเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ปัญหาและความท้าทายอย่างแรกที่นาย ก ประสบ คือ นาย ก จะรู้ได้อย่างไรว่านาย ข มีตัวตนจริงหรือไม่ และจะมีวิธีการยืนยันตัวตนได้อย่างไร นอกจากนั้น นาย ก ยังต้องแน่ใจด้วยว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีระบบปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินของตนที่รัดกุมหรือไม่ ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรหัสลับส่วนตัว (password) การใช้เครื่องมือทางคอมพิวเตอร์เพื่อแยกระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นหุ่นยนต์กับมนุษย์ (CAPTCHA) หรือการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (two-step verification) ยังไม่มีความสมบูรณ์ ข้อมูลต่าง ๆ จึงเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมโดยแฮ็กเกอร์ (hackers) ได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการคิดค้นเครื่องมือใหม่เพื่อพัฒนาระบบปกป้องข้อมูลที่มีความทันสมัยและก้าวทันอาชญากรไซเบอร์ (cyber criminals) เครื่องมือดังกล่าว คือ ระบบการจัดการข้อมูลในเครือข่ายด้วยบล็อกเชน


ระบบจัดการข้อมูลด้วยบล็อกเชนทำงานอย่างไร

             การทำความเข้าใจระบบการเงินดิจิทัลควรเริ่มจากการทำความเข้าใจระบบการจัดการข้อมูลด้วยบล็อกเชนเป็นอันดับแรก 

             ที่ผ่านมา วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ใช้ระบบจัดการข้อมูลแบบรวมศูนย์ (centralised system) กล่าวคือ มีศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดในเครือข่าย (repository) เพียงแห่งเดียว หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า เซิร์ฟเวอร์ (server) โดยมีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูลดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูล การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงข้อมูล ตลอดจนการกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดเก็บข้อมูล (ทั้งหมดนี้จะปรากฏอยู่ในข้อตกลงผู้ใช้ user agreement/terms of use

           ระบบรวมศูนย์ดังกล่าวนี้เองเป็นพื้นฐานของโลกยุคอินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรวมศูนย์ช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทันความต้องการของเจ้าของข้อมูล 

         อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์ในลักษณะนี้มีข้อเสีย กล่าวคือ นอกจากระบบรวมศูนย์จะใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดูแลรักษาและดำเนินการแล้ว ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นการรวมศูนย์ความเสี่ยงต่าง ๆ (centralisation of risks) ซึ่งเป็นภัยต่อความปลอดภัยของข้อมูลด้วยเช่นกัน ผลคือ เมื่อมีการโจรกรรมข้อมูลเกิดขึ้น อาชญากรจะสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ทันที ตัวอย่างของการโจรกรรมข้อมูลจากระบบศูนย์กลางที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ จากระบบศูนย์ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ หรือเว็บไซต์ของบริษัทห้างร้านที่มีการทำการพาณิชย์ออนไลน์ ซึ่งนอกจากปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว ระบบรวมศูนย์ในปัจจุบันยังใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาและดำเนินการเป็นอย่างมากอีกด้วย

           แต่ระบบการจัดการข้อมูลด้วยบล็อกเชนเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง บล็อกเชนเปลี่ยนจากการรวมศูนย์เป็นการกระจายข้อมูลไปสู่คอมพิวเตอร์ "ทุกเครื่อง" ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูลชิ้นใหม่จะต้องได้รับความยินยอมจากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงอยู่กับระบบ โดยเป็นไปตามกฎของระบบเครือข่ายที่ได้ตั้งค่าไว้ตั้งแต่แรก 

           หากลองเปรียบเทียบ ชุดข้อมูลก็เปรียบเสมือนตัวต่อเลโก้ชิ้นเล็ก ๆ หลายชิ้นต่อกัน การเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อมูลใด ๆ ในแต่ละครั้งเปรียบเสมือนการต่อตัวต่อเลโก้ที่มีรูปร่างและขนาดเหมือนกันทุกประการอีกหนึ่งตัวเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงอยู่กับระบบเครือข่าย โดยจะต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งหมดทุกเครื่อง เมื่อมีการเพิ่มเติมข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบข้อมูลก็จะมีลักษณะเป็นห่วงโซ่ของตัวต่อ จึงเป็นที่มาของชื่อ Blockchain” 

             ทั้งนี้ ข้อดีของบล็อกเชนก็คือ ระบบสามารถดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์กลางในการดูแลรักษา ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ

ความไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutability)

             ความไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของบล็อกเชน ที่ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยจากการถูกโจรกรรมมากกว่าเมื่อเทียบกับระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์ กล่าวคือ ความสมบูรณ์และถูกต้องของฐานข้อมูลขึ้นอยู่กับความเหมือนกันของตัวต่อข้อมูลทุกชิ้นที่ได้ถูกจัดเก็บไว้แล้วก่อนหน้านี้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกันในระบบเครือข่าย ดังนั้น ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลใด ๆ จึงกระทำได้ยากมากและง่ายต่อการตรวจเจอ หากต้องการแก้ไขข้อมูล ต้องกระทำโดยการเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ (เปรียบได้กับการวางตัวต่อเลโก้ชิ้นใหม่) ทบเข้าไปอีกในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกันในระบบเครือข่ายเท่านั้น 


           ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการนำระบบจัดการข้อมูลด้วยบล็อกเชนไปเปรียบเทียบกับการลงบัญชีในสมุดบัญชี ต่างกันเพียงว่า คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบของบล็อกเชน (ซึ่งทำหน้าที่เสมือนนักบัญชี) จะถือสมุดบัญชีเล่มเดียวกัน หากจะต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ ก็จะต้องบันทึกข้อมูลลงในสมุดบัญชีเล่มเดียวกันไปพร้อม ๆ กัน หรือเรียกว่า สมุดบัญชีกระจายส่วน (distributed ledger)  

           เมื่อไม่มีผู้ควบคุมศูนย์ข้อมูลกลาง (central gatekeeper) และเมื่อการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจะต้องได้รับการยอมรับจากคอมพิวเตอร์ในระบบทุกเครื่องตามกฎของระบบที่ได้ตั้งค่าไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว บล็อกเชนจึงก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของระบบข้อมูล (trust protocol) ด้วยเหตุผล 2 ประการ ดังต่อไปนี้ 

         ประการที่หนึ่ง ระบบไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกและจัดเก็บไว้แล้วในระบบก่อนหน้านี้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

        ประการที่สอง การเพิ่มเติมชุดหรือตัวต่อข้อมูลใหม่ต้องได้รับความยินยอมจากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบเครือข่ายเท่านั้น ซึ่งอาจมีจำนวนหลักพันหรือหมื่น ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบนั้น หากแฮ็กเกอร์ต้องการใส่ข้อมูลใหม่ (เช่น คำสั่งให้โอนเงินจากบัญชีของบริษัทเข้าบัญชีส่วนตัวของตน) ก็จะต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย และจะต้องทำพร้อมกันทุกเครื่อง ซึ่งยากกว่าการโจรกรรมข้อมูลจากศูนย์กลางข้อมูลหรือเซิร์ฟเวอร์มาก

           หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับหลักการเบื้องต้นของการจัดเก็บข้อมูลด้วยบล็อกเชนแล้ว ในโอกาสต่อไป ผู้เขียนจะได้นำเสนอวิธีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในระบบการเงินดิจิทัล รวมถึงความแตกต่างของเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งนักลงทุนและธุรกิจการพาณิชย์สมัยใหม่ในขณะนี้

---------------

*Doctor of the Science of Law (J.S.D.), Columbia University, นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (narun.popat@gmail.com)

วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การเพิ่มโทษแก้ปัญหาได้จริงหรือ? โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ทุกครั้งที่เกิดเรื่องเกิดราวสะเทือนใจอะไรขึ้นในสังคมไทย เรามักจะได้ยินกระแสเสียงเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดอยู่เสมอ นัยว่าโทษที่มีอยู่นั้นมันยังไม่รุนแรงพอที่จะปรามมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นได้

แต่หากพิจารณากันอย่างจริง จัง แล้ว จะพบว่าการกำหนดโทษรุนแรงแทบไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการกระทำความผิด เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบปี ก็ยังมีการฆ่ากันตายทุกวี่ทุกวัน หรือการข่มขืนกระทำชำเราก็โทษไม่เบานะครับ จำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี ปรับอีกแปดหมื่นถึงสี่แสนบาท ก็ยังมีข่าวข่มขืนกันรายวัน เมืองพุทธเมืองพระนะนี่

ความคิดเรื่องการกำหนดโทษหนัก แรง เพื่อ "ปราม" มิให้กระทำความผิดจึงไม่ค่อยมีผลสักเท่าไร ยิ่งกำหนดโทษหยุม หยิม  ก็รังแต่จะสร้างปัญหาใหม่ ทำอะไรก็ผิดไปหมด อยู่เฉย ๆ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ดีกว่า ประกอบกับกฎหมายนั้น "เข้าถึงยาก" "เข้าใจก็ยาก" แถมยัง "มีเยอะ" เหลือเกิน คนเลยไม่รู้ทำอะไรเป็นความผิดบ้าง และจะได้รับโทษอย่างไร เผลอ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำผิดเพราะไม่รู้ว่ามีกฎหมายนั้นอยู่ก็มี เช่น ต้นไม้ล้มทับบ้าน เจ้าหน้าที่ไปจับ ชาวบ้านก็งง กว่าจะเข้าใจว่าต้นไม้ที่ว่านี้เป็นไม้ต้องห้าม จะตัดต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เขาก่อน ก็ทะเลาะกันเป็นเรื่องเป็นราวเสียหลายวันแล้ว 

แต่หลายเรื่องนั้น รู้ทั้งรู้ก็ยังทำผิด อันนี้แย่มาก ที่เห็นคาตาก็พวกทำผิดกฎจราจร ขับรถย้อนศร จอดในที่ห้าม  ปาดหน้า ฯลฯ นับวันยิ่งมากขึ้น พวกนี้ถึงจะเพิ่มโทษก็ไม่ได้ลดการกระทำผิดลง เพราะที่ทำลงไปไม่ใช่ไม่รู้กฎหมาย แต่เป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม 

ผู้เขียนจึงเห็นว่าข้อเสนอในการกำหนดโทษต่าง ให้หนักขึ้นนั้นเป็นเพียงข้อเสนอเพื่อบรรเทาอารมณ์ร่วมกันของสังคมที่กำลังโมโหกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ถ้าจะเกาให้ถูกที่คันจริง ข้อเสนอควรเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก หรือทำอย่างไรปัญหานี้จะเบาบางลง ไม่ใช่ยิ่งมากขึ้น ยิ่งรุนแรงขึ้น

ในทัศนะของผู้เขียน ทางออกของเรื่องนี้จึงไม่ใช่เอะอะก็เพิ่มโทษ มันน่าจะเป็นการปลูกฝังให้คนเราตระหนักรู้ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่สังคม ให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ 

ผู้เขียนเห็นว่ายิ่งสมาชิกของสังคมมีความละอายต่อบาป หรือมีความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำความชั่วร้ายหรือทำอะไรที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่นมากขึ้นเท่าไร การกระทำผิดก็จะยิ่งลดน้อยลง หรือแค่มักง่ายให้น้อยลง คนอื่นก็จะเดือดร้อนน้อยลง ซึ่งการปลูกฝังความละอายต่อบาปนี่เกี่ยวกับการอบรมมาตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียน เรื่อยมาจนกลายเป็นนิสัยของคนและค่านิยมของสังคม ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว ครอบครัวก็มีส่วน โรงเรียนก็มีส่วน สังคมก็มีส่วน

ในทางตรงข้าม ถ้าคนในสังคมขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากเท่าไร ปัญหาสังคมก็จะมากมายขึ้นเพียงนั้น เพิ่มโทษจึงไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แถมอาจทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นด้วย

จะว่าไปเรื่องนี้ครอบครัวมีความสำคัญไม่น้อย เพราะเด็กจะซึมซับสิ่งที่พ่อแม่ทำและกลายมาเป็นตัวตนของเขา เช่น ถึงกฎหมายจะบอกว่าห้ามปาดเส้นทึบ ครูสอนว่าต้องเคารพกฎจราจร แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีหิริโอตัปปะ หรือขาดความละอายต่อบาป ขับรถปาดเส้นทึบเป็นประจำ ขอฉันไปก่อน นิดเดียวเท่านั้น เด็กเขาเห็นทุกวันเขาก็ชิน กลายเป็นเรื่องปกติไป ไม่ผิดหรอก ก็พ่อแม่ฉันทำประจำ มันจะผิดได้อย่างไรกัน พอโตมาเขาก็ทำอย่างที่พ่อแม่ทำนั่นแหละ 

แต่ถ้าตอบข้อสอบละก็ เด็กเขาจะตอบชัดเจนตามที่ครูบอกว่าต้องเคารพกฎจราจรเพื่อให้ได้คะแนน นี่เรากำลังสอนลูกสอนหลานให้มีนิสัยพูดอย่างทำอย่างนะครับ     

ที่สำคัญ กระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรมจริง ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ต้องแยกให้ออกระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นความยุติธรรมไม่บังเกิด การดำเนินคดีต้องเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ไม่ล้าช้า การบังคับโทษต้องจริงจัง การลดหย่อนผ่อนโทษควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่หลักทั่วไป เพราะเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการลงโทษ

ผมว่าการคิดเพื่อการปฏิรูปต้องมองในองค์รวม เป้าหมายคือเพื่อแก้ปัญหาให้เป็นระบบ ถ้าคิดแบบแยกส่วน ก็จะแก้แบบเล็ก น้อย  เรื่องไหนมีปัญหาก็เฮโลไปมุ่งที่จุดนั้น แล้วก็ปะผุกันไป นั่นคงยากที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน.

วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข้อพิจารณาทางกฎหมายในการปฏิบัติต่อโดรนที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางทหาร โดย พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์


                                                        พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
                                                              ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

                   ปัจจุบันมีการใช้โดรนเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ โดรนฝ่าฝืนกฎหมายที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทหาร ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ดังเช่นปรากฏเป็นข่าวการใช้โดรนบินในระดับความสูงเข้ามาใกล้บริเวณสนามบินดอนเมืองเพื่อถ่ายคลิปซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามประกาศกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ออกตามความในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองความลับในราชการ พ.ศ. 2483 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากนั้นมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวในภายหลัง  

                       สำหรับผู้ที่มีโดรนไว้ในครอบครองที่ไม่มาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 9 มกราคม 2561 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2560  เรื่อง การขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ออกตามความในมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 14 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่หากมีการดัดแปลงโดรนให้มีการติดอาวุธเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสำคัญของทางราชการทหาร ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์สอดแนมสถานที่สำคัญของทางราชการทหาร ถือได้ว่าเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อความมั่นคงทางทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่เกี่ยวข้องจะสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นภัยคุกคามดังกล่าวได้อย่างไรทันท่วงทีไม่ให้เกิดเหตุร้ายภายใต้หลักกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด เพราะไม่ทันการแน่นอนหากหลังจากเกิดเหตุขึ้นแล้วมาดำเนินคดีในภายหลัง แต่การสูญเสียหรือความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

                   จากการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แต่มีหลักกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่สามารถพิจารณาปรับใช้หรือเทียบเคียงได้ ดังนี้

                   1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2553 สรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร (เจ้าหน้าที่ทหารอากาศหรือเจ้าหน้าที่ทหารอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันภัยทางอากาศ) สามารถสกัดกั้นหรือทำลายโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรืออาจเป็นภัยต่อสาธารณะ ตามที่บัญญัติในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 13 โดยมีขั้นตอนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม  ดังนี้ รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกรุณาพิจารณาประกาศกำหนดว่า "การใช้โดรนเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสำคัญของทางราชการทหาร ตลอดจนสอดแนมสถานที่สำคัญของทางราชการทหาร เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรืออาจเป็นภัยต่อสาธารณะ" ตามที่มาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 11 วรรคสาม บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศได้ และมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ทหารบก และเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ไว้ในแผนป้องกันภัยทางอากาศด้วย  ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นแล้วดำเนินการส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ดำเนินการต่อไป ตามที่บัญญัติในมาตรา 17 และมาตรา 19  อนึ่ง การสกัดกั้นหรือการทำลายโดรนนั้นควรคำนึงอยู่ภายใต้สัดส่วนที่เหมาะสมตามหลักกฎหมายซึ่งจะกล่าวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิใช่สามารถทำลายโดรนได้เลยในทุกกรณี

                   2. ประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติในมาตรา 68 สรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดรนนั้นได้ หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจำเป็นต้องป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตรายโดยเฉพาะที่ใกล้จะถึงแก่ชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด สรุปหลักเกณฑ์ที่สำคัญได้ ดังนี้
                      (1) มีภยันตรายเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย กล่าวคือภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ และผู้ป้องกันต้องไม่มีส่วนให้เกิดภยันตรายนั้น
                      (2) เป็นภยันตรายใกล้จะถึง กล่าวคือเป็นภยันตรายที่กระชั้นชิดขนาดที่หากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เป็นหนทางปฏิบัติสุดท้าย และ
                      (3) การกระทำเพื่อป้องกันนั้นจะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น ซึ่งพิจารณาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าขอบเขตการปฏิบัติได้ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายใต้หลักการป้องกันตนเองตามกฎหมายข้างต้นค่อนข้างจำกัด หากโดรนนั้นไม่ก่อให้เกิดภยันตรายที่ใกล้จะถึงแก่ชีวิต เช่น ติดตั้งอาวุธที่ไม่ร้ายแรงเพื่อประทุษร้าย หรือเพียงสอดแนมสถานที่สำคัญทางทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่อาจระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตดังกล่าวได้

                   หน่วยงานทหารและหน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2553 เพื่อให้มีบทบัญญัติชัดเจนโดยตรงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ส่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือสถานที่ของทางราชการทหารได้ทันท่วงที หรือจะพิจารณาตรากฎหมายรองรับกรณีนี้ขึ้นมาใหม่โดยตรงต่างหาก ทั้งนี้ เห็นควรมีบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ต้องรับผิดทั้งทางวินัย อาญา และแพ่ง หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิ ผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังเช่นบทบัญญัติในมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 นอกจากนั้นหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการเสริม (อนุญาตการปฏิบัติและจำกัดการปฏิบัติ) ภายใต้กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 59/50 ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 เรื่อง กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎการใช้กำลังเฉพาะการปฏิบัติการทางอากาศ เนื่องจากกฎการใช้กำลังดังกล่าวเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ซึ่งในปีดังกล่าวยังไม่มีการใช้โดรนอย่างแพร่หลายหรือใช้โดรนที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทหารแต่อย่างใด  ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการปฏิบัติต่อโดรนที่ผิดกฎหมายภายใต้กรอบของกฎหมาย  ในส่วนของการระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ส่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือสถานที่ของทางราชการทหารจะมีวิธีการและขั้นตอนตลอดจนการใช้อุปกรณ์หรือเทคนิคอะไรบ้างของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานปฏิบัติ หน่วยงานด้านเทคนิค และหน่วยงานด้านกฎหมายควรร่วมกันพิจารณากำหนดในรายละเอียดเพื่อให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เกินกว่าเหตุ

                   สรุป ปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ส่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือสถานที่ของทางราชการทหารได้ทันท่วงทีโดยตรง ต้องพิจารณาปรับใช้หรือเทียบเคียงกฎหมายอื่น ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในขณะนี้ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง คือ การปรับใช้หรือเทียบเคียงการปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2553 ซึ่งมีขอบเขตสามารถรองรับได้มากหลักการป้องกันตนเองภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา  โดยมีขั้นตอนต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามที่กล่าวข้างต้น แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังเป็นปัญหาอุปสรรคของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ สมควรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือตรากฎหมายออกมาใหม่โดยเฉพาะ รวมทั้งพิจารณากำหนดมาตรการเสริมภายใต้กฎการใช้กำลังของกองทัพไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย กฎหมายและกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยควรจะต้องเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ทันการณ์ และรองรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารต่อภัยคุกคามรูปแบบต่างๆต่อความมั่นคงทางทหารที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลา  

วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Thailand Education Reform: An Evolution or A Dying Dream by Panwa Nilprapunt

                                                                                            Panwa Nilprapunt 

Tanakrit is a year 12 high school student in one of the higher level schools in Bangkok, Thailand. Every day he needs to wake up at 5.30 am to catch a ride from the other side of Bangkok to the school before 7.30 am to attend the school assembly; the school usually starts at 8.30 am and lasts until around 4.45 pm; but that is not all, after the school he needs to go to a cram school at the other side of the city and stay there until 9.00 pm and grab the bus back home. To make it better he need to go to that school at 7.00 am and study there until 7.30 pm every weekend and even during the summer break.

“Have you ever feel like stopping all of this?” I asked Tanakrit during one of our phone conversation in December 2017. He was my old classmates and we went through Junior high together, until I decided to resign and enroll at Macleans College earlier in January. 

“Heck yes,” said he, “It feels like living in hell, dude, all the assignments and college day works just keep flooding over, I am being torn apart here,” He laughed distressfully.

“But well, not that I can complain though,” he continued, “It is kinda necessary after all. I mean, all of us here are trying to stay alive , and that’s all really matter...” 

The conversation ended soon after that, Tanakrit revealed to me that he got a huge load of homework to do and wished to take his leave, so I decided to drop the line. But just before the call dropped he said something to me, something that still haunting me ever since….

“Man, sure it is nice being out of all of this fest, don’t you think?”

Tanakrit wants to be an engineer, his reasons are that engineer, along with doctor, are currently being held in high regards in Thai society. He believes that graduating in these fields from a prestigious university could provide him with a stable job, along with bring a pride to his family. This mindset also being shared with millions of Thais teenagers, craving, twitching and struggling to bring themselves to the top.

Tanakrit’s fate is a common sight in modern Thai society, many students embark on this harsh journey, either by their own ambition or being forced by their families, just to make sure that they could be able to withstand an obstacle which preventing them from achieving their goals, an inefficiency in Thailand education system.

Thailand education system has been a controversial subject for decades. Many governments, both civilian and military, have been trying to solve this Gordian knot, only to be defeated and escalate the problem even further. The roots of the problem including a social mindsets which considering engineering and medical field to be superior than other carriers, and that teaching is a job for the people who can’t afford to enroll in a better faculties; the ever-expanding tutoring industry which extends its roots deeper into the core of the society, undermining an attempts to reform and making the basic education in the school become redundant; an extremely huge gap between the education in a high level school and the local one. The results of these are catastrophic: an utterly inefficient education system with a low quality teachers and unnecessarily competitive. 

In 2015, the Organisation for Economic-Cooperation and Development (OECD) hosted a Programme for International Student Assessment (PISA) which was an international examination which tested worldwide students’ scholastic performance in Science, Mathematics, and Reading. Of all 72 countries joining the test, Thailand’s ranks plunged to 50 - one of the worst in Asia - as the candidates’ scores were underperformed in ALL of the subjects. The result reveals that Thailand education was in the state of deterioration in an alarming rate along with raising the public awareness on the need of educational reform.

After the promulgation of 2016 constitution, in May 2017 the royal Thai government founded an Independent Committee for Educational Reform (ICER) to collaborate with the Ministry of Education for a collective goals - to provide a stable, reliable, and sustainable education system for Thailand. ICER’s main principles focus on something unfamiliar to Thai society - a reform in the education system in order to provide the student a skills in creativity and collaboration along with the academic development, in accordance with the rising global demand for such traits; a better education for the people in an early childhood, with an intention to that make them become more susceptible to a progressive development and to be a productive member of the society. 

ICER’s objectives are being supported by contents in the 2016 constitution, which shares the same concept that in order to provide a sustainable development, the changes must be made from the very foundation of the education system. Nevertheless, considering the current situation, the obstacles that awaiting Thailand are tedious. Yet time is running short, and something has to be done in order to make sure that we are not stepping at the same place, and that we are ready to move forward to the brighter future.

It might be too late for people of mine and Tanakrit’s generation. But at least we still have a flickering hope that someday, Thailand’s newer generation wouldn’t suffer in a same fate their predecessor are enduring at this exact moment. That one day, we would be no longer considered by the world as a second rate Asians, that we could stand proudly in this ever-changing world.

Only time will tell….

วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รัฐธรรมนูญกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราชการทหาร โดย พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์


พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ของประเทศไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ มี ๑๖ หมวด กับบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น ๒๗๙ มาตรา ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีบางประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจเกี่ยวข้องกับทางราชการทหาร ที่สมควรนำมาสรุปเพื่อเป็นการเผยแพร่ให้กับส่วนราชการทหารและเจ้าหน้าที่ทหารได้ทราบประกอบการปฏิบัติราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ได้ผลดีต่อไป ดังนี้

        ๑. การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการทหารด้วย ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวมตามมาตรา ๓ วรรคสอง กล่าวคือ ส่วนราชการทหารต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติ มิใช่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจ ทุกปฏิบัติการหรือภารกิจจะต้องมีกฎหมายรองรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจใช้อำนาจได้ หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยกฎหมายที่บัญญัติขึ้นนั้นต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม กล่าวคือ ทันสมัย เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคม ดังนั้น การบริหารราชการแผ่นดินและราชการทหารต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ กล่าวคือ ต้องบริหาราชการแผ่นดินและราชการทหารตามกฎหมาย จะดำเนินการใดได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจชัดแจ้ง ในเรื่องใดที่กฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้ จะกระทำการนั้นมิได้ และในเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจดำเนินการแล้ว ต้องใช้อำนาจนั้นในทางที่เป็นประโยชนต่อประชาชนมากที่สุด โดยจำกัดสิทธิและเสรีภาพหรือสร้างภาระแก่ประชาชนน้อยที่สุดด้วย

         ๒. ทหารย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นที่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรมตามมาตรา ๒๗ วรรคห้า ซึ่งหมายความว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรมของข้าราชการทหารสามารถแตกต่างจากของประชาชนทั่วไปได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เนื่องมาจากภารกิจหน้าที่ของข้าราชการทหารจำเป็นจะต้องเข้มข้นหรือเคร่งครัดในบางเรื่องมากกว่าที่ใช้กับบุคคลธรรมดา เช่น ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๙ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ และระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้น

        ๓. บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของส่วนราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ และสามารถเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อส่วนราชการทหารและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ตลอดจนฟ้องส่วนราชการทหารให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของข้าราชการทหาร พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการทหาร ตามมาตรา ๔๑ โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก ตามมาตรา ๕๙ ซึ่งเรื่องข้อมูลข่าวสารของราชการจะเปิดเผยได้หรือไม่เพียงใดเป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ และเมื่อมีการร้องทุกข์ส่วนราชการทหารจะต้องรีบตรวจสอบแล้วแจ้งผลการตรวจสอบให้บุคคลหรือชุมชนที่ร้องทุกข์ทราบโดยเร็ว และหากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยกระทำหรืองดเว้นการกระทำอาจถูกฟ้องร้องทั้งทางปกครอง อาญา หรือแพ่งได้

         ๔. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ สามารถจำกัดเสรีภาพการชุมนุมข้างต้นได้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ตามมาตรา ๔๔ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในที่นี้โดยตรง คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบหลักโดยทั่วไป แต่ในบางกรณีส่วนราชการทหารอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้

        ๕. การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวด ๕ ตั้งแต่มาตรา ๕๑ ถึงมาตรา ๖๓ ประชาชนและชุมชนมีสิทธิที่จะติดตามและเร่งรัด รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในทุกมาตราดังกล่าวบัญญัติใช้คำว่ารัฐ "ต้อง" ดำเนินการ ซึ่งจะแตกต่างจากหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ ตั้งแต่มาตรา ๖๔ ถึงมาตรา ๗๘ ซึ่งในทุกมาตราดังกล่าวใช้คำว่ารัฐ"พึง"ดำเนินการ ประชาชนและชุมชนไม่อาจมีสิทธิที่จะติดตามและเร่งรัด รวมตลอดทั้งไม่อาจฟ้องร้องได้เช่นที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ  ซึ่งในหมวด ๕ นี้มีมาตราที่สำคัญยิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมและส่วนราชการทหาร คือ มาตรา ๕๒ ที่บัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยรัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้กำลังทหารเพื่อพัฒนาประเทศได้ การที่รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพนั้นหมายความรวมถึงรัฐต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อสามารถพิทักษ์รักษาตามที่กล่าวข้างต้นด้วย รวมทั้งในการพิทักษ์รักษาดังกล่าวไม่อาจใช้เฉพาะการทหารเพียงอย่างเดียว ต้องใช้หรือคำนึงถึงการทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย และมีบทบัญญัติชัดเจนให้ใช้กำลังทหารเพื่อพัฒนาประเทศได้ กฎหมายที่มีบทบัญญัติโดยตรงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ส่วนการใช้กำลังทหารเป็นไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม พ.ศ. ๒๕๔๕

       ๖. รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน ซึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ตามมาตรา ๖๕ ซึ่งต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศหรือยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ

        ๗. รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินและงานของรัฐให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และให้บริการแก่ประชาชนให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือการกระทำโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  รวมทั้งการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๗๖ ซึ่งหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมีบัญญัติในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้ 
           (๑) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน 
           (๒) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ 
          (๓) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  
          (๔) ไม่มีขั้นตอนปฏิบัติงานเกินความจำเป็น 
          (๕) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ 
          (๖) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และ 
          (๗) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ 
       ส่วนคุณธรรมหมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงามของศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมที่สังคมยอมรับว่าพึงปฏิบัติ ที่ควรรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม โดยรวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย  ส่วนจริยธรรมหมายถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติ อะไรเป็นสิ่งดี อะไรเป็นสิ่งไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ สำหรับการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามระบบคุณธรรมหมายถึงการพิจารณาที่เสมอภาค เที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ  โปร่งใส พิจารณาจากความสามารถโดยยึดผลงานและสมรรถนะเป็นหลัก นอกจากนั้น สามารถชี้แจงเหตุผลกับอธิบายตอบประเด็นข้อสงสัยให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในองค์กรนั้นได้อย่างแท้จริง

         ๘. คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กำลังกระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้  และให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือ ในกำกับ ไปให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก ตามมาตรา ๑๒๙ ในกรณีดังกล่าวคณะกรรมาธิการจะมีหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทุกครั้ง ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนในพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ และพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนด้วย

         ๙. การห้ามไม่ให้กระทำการใดๆ อันเนื่องมาจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายอันมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา ๑๔๔  เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณ โดยรู้ว่ามีการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการ หรือมีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ให้พ้นจากความรับผิด

           ๑๐. พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ตามมาตรา ๑๗๖ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวหมายถึงพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ สรุปได้ว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกและการเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมีประกาศพระบรมราชโองการ ซึ่งการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว เนื่องมาจากมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร ส่วนผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพันสามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เนื่องมาจากมีสงครามหรือจลาจลขึ้นในพื้นที่ที่รับผิดชอบเท่านั้น โดยผู้บังคับบัญชาทหารที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งไม่อาจประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งดังกล่าวได้เอง ต้องเสนอเรื่องตามสายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อมีประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้ต่อไป

             ๑๑. หนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ มี ๔  ประเภท ได้แก่ ๑) หนังสือสัญญาทีมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ๒) หนังสือสัญญาทีมีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ๓) หนังสือสัญญาที่รัฐบาลจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และ ๔) หนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายกำหนด  ตามมาตรา ๑๗๘ ซึ่งบทบัญญัติในมาตรานี้มีผลให้กระทรวงกลาโหมและคณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าต้องเสนอหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีบทบัญญัติให้หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาซึ่งเดิมถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ รวมทั้งบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไประหว่างราชอาณาจักรไทยกับมิตรประเทศก็ไม่จำเป็นต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไปเช่นกัน

            สรุป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบและแนวทาง     การปกครองประเทศ มีบทบัญญัติในบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการทหารและเจ้าหน้าที่ทหาร ที่จะต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จึงจำเป็นที่ส่วนราชการทหารและเจ้าหน้าที่ทหารควรมีความรู้ความเข้าใจบทบัญญัติดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่งการที่กำลังพลของกองทัพทุกนายทุกระดับชั้นมีความรู้ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบันเป็นอย่างดี จะมีส่วนส่งเสริมให้การปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมและทางราชการทหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น