วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข้อพิจารณาทางกฎหมายในการปฏิบัติต่อโดรนที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางทหาร โดย พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์


                                                        พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
                                                              ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

                   ปัจจุบันมีการใช้โดรนเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ โดรนฝ่าฝืนกฎหมายที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทหาร ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ดังเช่นปรากฏเป็นข่าวการใช้โดรนบินในระดับความสูงเข้ามาใกล้บริเวณสนามบินดอนเมืองเพื่อถ่ายคลิปซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามประกาศกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ออกตามความในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองความลับในราชการ พ.ศ. 2483 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากนั้นมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวในภายหลัง  

                       สำหรับผู้ที่มีโดรนไว้ในครอบครองที่ไม่มาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 9 มกราคม 2561 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2560  เรื่อง การขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ออกตามความในมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 14 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่หากมีการดัดแปลงโดรนให้มีการติดอาวุธเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสำคัญของทางราชการทหาร ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์สอดแนมสถานที่สำคัญของทางราชการทหาร ถือได้ว่าเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อความมั่นคงทางทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่เกี่ยวข้องจะสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นภัยคุกคามดังกล่าวได้อย่างไรทันท่วงทีไม่ให้เกิดเหตุร้ายภายใต้หลักกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด เพราะไม่ทันการแน่นอนหากหลังจากเกิดเหตุขึ้นแล้วมาดำเนินคดีในภายหลัง แต่การสูญเสียหรือความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

                   จากการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แต่มีหลักกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่สามารถพิจารณาปรับใช้หรือเทียบเคียงได้ ดังนี้

                   1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2553 สรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร (เจ้าหน้าที่ทหารอากาศหรือเจ้าหน้าที่ทหารอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันภัยทางอากาศ) สามารถสกัดกั้นหรือทำลายโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรืออาจเป็นภัยต่อสาธารณะ ตามที่บัญญัติในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 13 โดยมีขั้นตอนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม  ดังนี้ รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกรุณาพิจารณาประกาศกำหนดว่า "การใช้โดรนเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสำคัญของทางราชการทหาร ตลอดจนสอดแนมสถานที่สำคัญของทางราชการทหาร เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรืออาจเป็นภัยต่อสาธารณะ" ตามที่มาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 11 วรรคสาม บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศได้ และมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ทหารบก และเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ไว้ในแผนป้องกันภัยทางอากาศด้วย  ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นแล้วดำเนินการส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ดำเนินการต่อไป ตามที่บัญญัติในมาตรา 17 และมาตรา 19  อนึ่ง การสกัดกั้นหรือการทำลายโดรนนั้นควรคำนึงอยู่ภายใต้สัดส่วนที่เหมาะสมตามหลักกฎหมายซึ่งจะกล่าวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิใช่สามารถทำลายโดรนได้เลยในทุกกรณี

                   2. ประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติในมาตรา 68 สรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดรนนั้นได้ หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจำเป็นต้องป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตรายโดยเฉพาะที่ใกล้จะถึงแก่ชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด สรุปหลักเกณฑ์ที่สำคัญได้ ดังนี้
                      (1) มีภยันตรายเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย กล่าวคือภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ และผู้ป้องกันต้องไม่มีส่วนให้เกิดภยันตรายนั้น
                      (2) เป็นภยันตรายใกล้จะถึง กล่าวคือเป็นภยันตรายที่กระชั้นชิดขนาดที่หากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เป็นหนทางปฏิบัติสุดท้าย และ
                      (3) การกระทำเพื่อป้องกันนั้นจะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น ซึ่งพิจารณาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าขอบเขตการปฏิบัติได้ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายใต้หลักการป้องกันตนเองตามกฎหมายข้างต้นค่อนข้างจำกัด หากโดรนนั้นไม่ก่อให้เกิดภยันตรายที่ใกล้จะถึงแก่ชีวิต เช่น ติดตั้งอาวุธที่ไม่ร้ายแรงเพื่อประทุษร้าย หรือเพียงสอดแนมสถานที่สำคัญทางทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่อาจระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตดังกล่าวได้

                   หน่วยงานทหารและหน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2553 เพื่อให้มีบทบัญญัติชัดเจนโดยตรงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ส่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือสถานที่ของทางราชการทหารได้ทันท่วงที หรือจะพิจารณาตรากฎหมายรองรับกรณีนี้ขึ้นมาใหม่โดยตรงต่างหาก ทั้งนี้ เห็นควรมีบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ต้องรับผิดทั้งทางวินัย อาญา และแพ่ง หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิ ผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังเช่นบทบัญญัติในมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 นอกจากนั้นหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการเสริม (อนุญาตการปฏิบัติและจำกัดการปฏิบัติ) ภายใต้กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 59/50 ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 เรื่อง กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎการใช้กำลังเฉพาะการปฏิบัติการทางอากาศ เนื่องจากกฎการใช้กำลังดังกล่าวเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ซึ่งในปีดังกล่าวยังไม่มีการใช้โดรนอย่างแพร่หลายหรือใช้โดรนที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทหารแต่อย่างใด  ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการปฏิบัติต่อโดรนที่ผิดกฎหมายภายใต้กรอบของกฎหมาย  ในส่วนของการระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ส่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือสถานที่ของทางราชการทหารจะมีวิธีการและขั้นตอนตลอดจนการใช้อุปกรณ์หรือเทคนิคอะไรบ้างของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานปฏิบัติ หน่วยงานด้านเทคนิค และหน่วยงานด้านกฎหมายควรร่วมกันพิจารณากำหนดในรายละเอียดเพื่อให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เกินกว่าเหตุ

                   สรุป ปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถระงับ ยับยั้ง หรือยุติการปฏิบัติการของโดรนที่ส่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือสถานที่ของทางราชการทหารได้ทันท่วงทีโดยตรง ต้องพิจารณาปรับใช้หรือเทียบเคียงกฎหมายอื่น ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในขณะนี้ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง คือ การปรับใช้หรือเทียบเคียงการปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2553 ซึ่งมีขอบเขตสามารถรองรับได้มากหลักการป้องกันตนเองภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา  โดยมีขั้นตอนต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามที่กล่าวข้างต้น แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังเป็นปัญหาอุปสรรคของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ สมควรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือตรากฎหมายออกมาใหม่โดยเฉพาะ รวมทั้งพิจารณากำหนดมาตรการเสริมภายใต้กฎการใช้กำลังของกองทัพไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย กฎหมายและกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยควรจะต้องเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ทันการณ์ และรองรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารต่อภัยคุกคามรูปแบบต่างๆต่อความมั่นคงทางทหารที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลา  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น