วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

การบริหารจัดการขยะและของเสียของญี่ปุ่น

การบริหารจัดการขยะและของเสีย
และการรักษาความสะอาดที่สาธารณะของประเทศญี่ปุ่น
นางสาววรรธน์มน สุกใส[๑]
นางสาวปิยวรรณ ซอน[๒]
ความนำ

                   ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะและของเสียต่าง ๆ อย่างรุนแรง จากข้อมูลตามร่างรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี ๒๕๕๕[๓] จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษว่าประเทศไทยมีขยะถึงวันละ ๖๗,๕๗๗ ตัน หรือปีละ ๒๔,๖๖๕,๖๐๕ ตัน และมีขยะจำนวนมากถูกทิ้งไว้ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ซึ่งสามารถพบเห็นได้มากมายตามท้องถนนซึ่งหากคำนวณปริมาณขยะดังกล่าวต่อจำนวนประชากรไทยในปี ๒๕๕๕ ที่มีจำนวน ๖๔,๔๕๖,๖๙๕ คน[๔] จะพบว่าคนไทยสร้างขยะเฉลี่ย ๓๘๒.๖๖ กิโลกรัมต่อคนต่อวันทีเดียว อย่างไรก็ดี แม้ค่าเฉลี่ยดังกล่าวจะเกิดจากการคำนวณโดยยังมิได้แยกที่มาของขยะว่าเป็นขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมหรือขยะจากครัวเรือน แต่ปริมาณขยะที่มากมายถึงปีละ ๒๔,๖๖๕,๖๐๕ ตัน ก็เป็นตัวเลขที่น่าตระหนกมิใช่น้อย และทำให้เกิดปัญหาที่จะต้องขบคิดต่อไปเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ประเทศไทยจะบริหารจัดการขยะและของเสียปริมาณมหาศาลเหล่านี้อย่างไร รวมทั้งการรักษาความสะอาดสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วย

                   ผู้เขียนเห็นว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและพิบัติภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่และกลายเป็นปัญหาสากล (Trans-national problem) ไปแล้ว ดังนั้น การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการขยะและของเสีย รวมทั้งการรักษาความสะอาดสถานที่สาธารณะของต่างประเทศจึงเป็นประโยชน์และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ และผู้เขียนเห็นว่าประเทศที่สมควรยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาน่าจะได้แก่ประเทศที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรแต่มีระบบการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

                   ผู้เขียนเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัดแต่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และประสบกับปัญหาการจัดการขยะและของเสียอย่างรุนแรงในอดีตเนื่องจากขาดแคลนสถานที่ฝังกลบขยะและของเสีย เพราะแม้เทคโนโลยีจัดการขยะและของเสียจะก้าวหน้าเพียงไร แต่สุดท้ายจะยังเหลือ “กาก” ที่จะต้องนำมาฝังกลบในสถานที่สำหรับการฝังกลบต่อไป ในขณะเดียวกันสถานที่จัดการขยะและของเสียและฝังกลบกากนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ประสงค์จะให้มีในเขตท้องที่ของตน จนแอบมีการลักลอบนำขยะและของเสียต่าง ๆ ไปทิ้งในท้องถิ่นอื่น ๆ รวมทั้งการแอบนำไปทิ้งทะเลลอยเกลื่อนกลาด และการทิ้งขยะอุตสาหกรรมได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาเมื่อบริษัทอุตสาหกรรมเคมียักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งปล่อยน้ำในกระบวนการผลิตที่เจือปนด้วยสารปรอททิ้งลงไปในอ่าวมินะมะตะจนทำให้ผู้คนจำนวนมากมีอาการวิกลจริตอย่างอ่อน ๆ กรีดร้อง นัยน์ตาดำขยายกว้างเล็กน้อย ลิ้นแห้ง แต่ไม่พบสาเหตุของการผิดปกติ แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง เพราะโรคนี้แสดงผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง กว่าที่จะมีการพิสูจน์ได้ว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใดก็ต้องใช้เวลาหลายปีเนื่องจากอิทธิพลของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโรคนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในเวลาต่อมาในชื่อ “โรคมินะมะตะ” (水俣) การค้นพบสาเหตุของโรคทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่าการจัดการขยะและของเสียและการรักษาความสะอาดที่สาธารณะนั้นเป็นปัญหาระดับชาติที่ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือกันแก้ไข และทางออกที่ดีที่สุดมิใช่การกำจัดขยะ หากแต่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด (Efficient use) เพื่อให้เหลือขยะหรือของเสียน้อยที่สุด และรัฐบาลญี่ปุ่นเองได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศว่าในที่สุดแล้วญี่ปุ่นต้องหลุดพ้นจากการเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีขยะและของเสียมาก เพื่อเป็นสังคมที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด[๕] ผู้เขียนจึงได้ยกกฎหมายญี่ปุ่นขึ้นเป็นกรณีศึกษา

                   ในบทความนี้ ผู้เขียนแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ส่วน คือ การบริหารจัดการขยะและของเสีย (Waste Management) และการรักษาความสะอาดที่สาธารณะ (Public Cleansing) ทั้งนี้ ในส่วนการบริหารจัดการขยะและของเสีย ผู้เขียนจะศึกษาถึงการแบ่งประเภทของขยะและของเสีย อำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการขยะและของเสีย ขั้นตอนการจัดการขยะและของเสีย มาตรฐานการกำจัดขยะและของเสียเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนผู้อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งการกำหนดแรงจูงใจ (Incentives) เพื่อลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรใช้ใหม่ (Recycle) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าหลัก “3R”  สำหรับการรักษาความสะอาดที่สาธารณะนั้น โดยที่เป็นอำนาจของปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เขียนจะได้ยกเทศบัญญัติของ Nagasaki City และเทศบัญญัติของ City of Sapporo อันเป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ แต่สามารถรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยไว้ได้เป็นอย่างดี ขึ้นเป็นกรณีศึกษา

ส่วนที่หนึ่ง
การบริหารจัดการขยะและของเสีย
                  

                    ประเทศญี่ปุ่นมีระบบการบริหารจัดการขยะและของเสีย[๖]ตามประเภทของเสีย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของเสียได้กำหนดมาตรฐานการจัดการของเสีย อำนาจหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และบทลงโทษไว้ชัดเจน โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะของประเทศญี่ปุ่นมีหลายฉบับ แต่ที่สำคัญได้แก่
·       Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970)[๗]
·       Enforcement Ordinance of Waste Management and Public Cleansing Act (Ordinance No. 300 of 1971)[๘]
·       Act on Promotion of Effective Utilization of Resources (Act No. 48 of 1991)[๙]
·       Basic Environment Act (Act No. 91 of 1993)[๑๐]
·               Act on the Promotion of Sorted Collection and Recycling of Containers and Packaging (Act No.112 of 1995)[๑๑]
·       The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society (Act No. 110 of 2000)[๑๒]
                        ทั้งนี้ Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) นั้นถือว่าเป็นกฎหมายหลักในการบริหารจัดการของเสียของประเทศญี่ปุ่น

๑.๑ การแบ่งประเภทของเสีย

                   ก่อนการตรากฎหมาย Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) ญี่ปุ่นไม่มีการแบ่งแยกประเภทของเสีย และใช้วิธีทิ้งรวม ๆ กันแล้วนำไปฝังกลบ (waste landfill) หรือเผาทำลายในพื้นที่ที่กำหนดไว้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่การฝังกลบนี้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก และนับวันปริมาณขยะก็เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเป็นเช่นนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ของตนเป็นพื้นที่ฝังกลบของเสียที่มิได้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของตน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการลักลอบนำขยะและของเสียต่าง ๆ ไปทิ้งในท้องถิ่นอื่นอยู่เสมอ จนเกิดข้อพิพาทระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่นครหลวงโตเกียวในปี ๑๙๖๕ (๒๕๐๘) ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่า “สงครามขยะแห่งโตเกียว” รวมทั้งการแอบนำไปทิ้งทะเลจนก่อให้เกิดโรคมินะมะตะขึ้นดังกล่าวข้างต้น

                   “สงครามขยะแห่งโตเกียว” เกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งเกี่ยวกับที่ผังกลบขยะและโรงจัดการขยะ ๓ กรณีหลัก ดังนี้
·       กรณีที่ฝังกลบขยะในเขต Koto (江東区)
                             โตเกียวได้สร้างที่ทิ้งและเก็บขยะไว้ในเขต Koto ของกรุงโตเกียวตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๖๕๕ โดยนับแต่นั้นมาเป็นระยะเวลากว่า ๓๐๐ ปี เขต Koto ได้ถูกจัดให้เป็นเขตสำหรับการจัดการขยะขั้นสุดท้ายมาโดยตลอด ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ ได้มีการสร้างเกาะ Yume no Shima (เกาะแห่งความฝัน) เพื่อใช้สำหรับฝังกลบขยะไว้ในบริเวณชายฝั่งในเขต Koto โดยก่อนการก่อสร้างจังหวัดโตเกียวได้ให้สัญญากับประชาชนในพื้นที่ว่าจะระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนยินยอมให้จังหวัดโตเกียวจัดตั้งสถานที่ดังกล่าวในเขตของตน แต่ภายหลังจังหวัดโตเกียวไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และได้สร้างสถานที่ฝังกลบขยะที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเขต Koto เป็นอย่างมาก ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ เมื่อจังหวัดโตเกียววางแผนการสร้าง New Yume no Shima เพื่อเป็นสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่ในเขต Koto ประชาชนจึงได้รวมตัวกันต่อต้านการสร้างสถานที่ฝังกลบขยะดังกล่าว[๑๓]
·       โรงจัดการขยะในเขต Suginami (杉並区)
                             โตเกียวได้ริเริ่มแผนโครงการก่อสร้างโรงจัดการขยะในเขต Suginami (ประเทศญี่ปุ่นใช้คำว่า 清掃工場 ซึ่งแปลว่า โรงทำความสะอาด แต่เนื่องจากเป็นสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อการแยกขยะ การเผาขยะเผาได้ รวมถึงการจัดการขยะโดยรวม ผู้เขียนจึงได้แปลว่า โรงจัดการขยะ สำหรับบทความนี้) โดยในปี ๑๙๖๖ ได้มีแผนการจัดตั้งโรงจัดการขยะ โดยได้คัดเลือกสถานที่ให้เป็น Takaido ในเขต Suginami แต่มิได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ จึงทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนว่าโตเกียวไม่เลือกสร้างโรงจัดการขยะในเขตอื่นโดยมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากแรงกดดันทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล[๑๔]
·       ความขัดแย้งระหว่างเขต Koto และเขต Suginami
                             ในปี ๑๙๗๑ จังหวัดโตเกียวได้ขอให้มีการฝังกลบขยะต่อเนื่องที่ New Yume no Shima ไปจนถึงปี ๑๙๗๕ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขต Koto ได้ต่อต้านอย่างรุนแรงเนื่องจากเป็นเขตเดียวในโตเกียวที่มีการจัดการฝังกลบขยะ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษและความเดือนร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก โดยในขณะนั้น ขยะร้อยละ ๗๐ ในทั้งหมด ๒๓ เขตในโตเกียวจะถูกขนโดยรถขยะผ่านตัวเมืองของเขต Koto ไปยัง New Yume no Shima ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเน่าเหม็น แมลงวัน การจราจรติดขัด อุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งนำความเดือนร้อนมาสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นอย่างรุนแรง ในการนี้ สภาเขต Koto ได้เสนอหลักการใหม่เกี่ยวกับการจัดการขยะแก่เขตต่าง ๆ ในโตเกียว โดยเสนอให้แต่ละเขตจัดการขยะของเขตตนภายในเขตของตนเอง โดยได้ดำเนินการแจ้งเวียนคำถามเกี่ยวกับการจัดการขยะต่อเขตอื่นๆ และประกาศว่าหากเขตอื่นไม่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถาม เขต Koto จะไม่อนุญาตให้รถขนขยะเข้ามาในเขต Koto ซึ่งทำให้นาย Ryokichi Minobe ผู้ว่าราชการจังหวัดโตเกียวในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและออกมาประกาศสงครามกับขยะเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในเดือนตุลาคมปีเดียวกันได้มีการยอมรับในหลักการของเขต Koto ที่เสนอหลักการการให้แต่ละเขตจัดการขยะภายในเขตของตนเอง ในขณะเดียวกันในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับการสร้างโรงจัดการขยะในเขต Suginami นั้น ได้มีการเสนอชื่อใหม่ ๕ แห่งโดยรวม Takaido ในเขต Suginami ไว้ด้วย แต่เนื่องจากประชาชนในสถานที่ใหม่ที่ถูกเสนอชื่อได้ต่อต้านการก่อสร้างอย่างรุนแรง การก่อสร้างโรงจัดการขยะจึงได้หยุดไปชั่วคราว[๑๕]
                   ต่อมาในปี ๑๙๗๒ โตเกียวได้จัดให้มีที่รวมขยะเป็นการเฉพาะสำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีปริมาณขยะมากขึ้น โดยจัดตั้งในเขตทั้งสิ้น ๘ แห่ง และจะให้เป็นที่พักขยะก่อนการนำในรวมในที่จัดการขยะต่อไป โดยประชาชนในเขต Suginami ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อเขตที่ได้รับการเสนอชื่อได้ต่อต้านการสร้างสถานที่อย่างรุนแรง โดยเขต Koto ซึ่งมีข้อพิพาทอยู่ ได้ต่อต้านเขต Suginami ว่าเป็นเขตที่มี “Territory Egoism” และได้ขัดขวางการเข้าออกของรถขนขยะจากเขต Suginami ซึ่งทำให้สงครามต่อขยะ กลายมาเป็นสงครามขยะระหว่างเขต Koto และเขต Suginami ทั้งนี้ ความขัดแย้งในครั้งนี้นำมาซึ่งการปรับใช้หลักการจัดการขยะของเขตตนภายในเขตของตนเองตามที่เขต Koto เสนอ โดยในปัจจุบัน โตเกียวมีโรงจัดการขยะทั้งสิ้น ๒๑ แห่งกระจายอยู่ในเขตต่างๆ ของโตเกียว และไม่ได้จำกัดอยู่ในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเช่นที่ผ่านมา[๑๖]

                   ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตระหนักว่า การจัดการของเสียและการรักษาความสะอาดที่สาธารณะนั้นเป็น “ปัญหาระดับชาติ” ที่ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือกันแก้ไข ทำให้เกิดแนวคิดในการตรากฎหมายจัดการของเสียและการรักษาความสะอาดในที่สาธารณะขึ้น โดยในชั้นแรกจะต้องมีการจำแนกประเภทของเสียก่อน เนื่องจากของเสียแต่ละประเภทนั้นใช้วิธีการจัดการและกำจัดที่แตกต่างกัน เช่น ของเสียครัวเรือนทั่ว ๆ ไปสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้หรือกำจัดโดยการฝังกลบได้ การขนส่งของเสียไปกำจัดก็ไม่ต้องใช้กรรมวิธีที่ยุ่งยากมากนัก แต่ถ้าเป็นขยะอุตสาหกรรมอาจต้องใช้กรรมวิธีพิเศษทั้งในการขนส่ง เป็นต้น จากนั้นจะกำหนดชัดเจนว่าใครมีหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไรในการบริหารจัดการของเสีย และการจัดการของเสียมีขั้นตอนอย่างไร และมีมาตรฐานอย่างไร

                   ดังนั้น มาตรา ๒ ของ Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) จึงบัญญัติบทนิยามคำว่า “ของเสีย” ไว้ชัดเจนว่าหมายถึง ขยะ ขยะขนาดใหญ่ ถ่าน โคลน สิ่งปฏิกูล ของเสียประเภทน้ำมัน ของเสียประเภทกรด ของเสียประเภทที่เป็นด่าง ซากสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว รวมถึงของสกปรกและของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะที่เป็นของแข็งหรือของเหลว และได้แบ่งของเสียออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ ดังนี้
·       ของเสียทั่วไป (General waste) ซึ่งหมายถึงของเสียที่นอกเหนือจากของเสียจากอุตสาหกรรม
·       ของเสียทั่วไปที่ต้องควบคุมพิเศษ (Special control general waste) ซึ่งหมายถึง ของเสียทั่วไปที่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการระเบิด มีพิษ แพร่เชื้อ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนหรือสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตตามที่กำหนดไว้ใน Cabinet Order[๑๗]
·       ของเสียจากอุตสาหกรรม (Industrial Waste) ซึ่งหมายถึงของเสียที่เกิดจากการประกอบกิจการตามที่กำหนดไว้ใน Cabinet Order เช่น ถ่าน โคลน ของเสียประเภทน้ำมัน ของเสียประเภทกรด ของเสียประเภทที่เป็นด่าง ของเสียประเภทพลาสติก เป็นต้น รวมตลอดทั้งของเสียที่มีการนำเข้ามา (Import) หรือของเสียที่ผู้ที่เข้าประเทศญี่ปุ่นนำติดตัวเข้ามา
·       ของเสียจากอุตสาหกรรมที่ต้องควบคุมพิเศษ (Special Control industrial waste) ซึ่งหมายถึงของเสียจากอุตสาหกรรมที่มีลักษณะอาจก่อให้เกิดระเบิด มีพิษ แพร่เชื้อ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนหรือสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตตามที่กำหนดไว้ใน Cabinet Order
                   อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติได้มีการแบ่ง “ของเสียทั่วไป” ออกเป็น ของเสียทั่วไปจากบ้านเรือน ของเสียทั่วไปจากสถานประกอบการ และของเสียทั่วไปที่ต้องควบคุมพิเศษ ส่วน “ของเสียจากอุตสาหกรรม” แบ่งเป็น ของเสียจากอุตสาหกรรมตามคำนิยามในกฎหมาย ของเสียจากอุตสาหกรรมที่กำหนดใน Cabinet Order และของเสียจากอุตสาหกรรมที่ต้องควบคุมพิเศษ[๑๘]

๑.๒ อำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการของเสีย

                   ตาม Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) การบริหารจัดการของเสียเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาล โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และกฎหมายกำหนดหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนไว้ดังนี้
 










                   ประชาชน - มีหน้าที่ลดการปล่อยของเสีย นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (recycle) แยกประเภทของเสีย กำจัดของเสียที่ตนก่อให้เกิดขึ้นเท่าที่จะสามารถกระทำได้ (มาตรา ๒ (๒))
                   ผู้ประกอบการ – ผู้ประกอบการต้องทิ้งหรือปล่อยของเสียน้อยที่สุด นำของเสียกลับมาใช้ซ้ำและแปรใช้ใหม่เท่าที่จะกระทำได้ ต้องรับผิดชอบในการจัดการของเสียที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของตนอย่างเหมาะสม (มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง) ต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการ จัดการและกำจัด และต้องจัดให้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นของเสียหรือของใช้แล้วให้อยู่ในสภาพที่สามารถจัดการได้ง่าย (มาตรา ๓ วรรคสอง) และต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลดการปล่อยของเสียและการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม (มาตรา ๓ วรรคสาม) เช่น การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้นาน ๆ ลดการปล่อยของเสียในสถานประกอบการ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากเกินความจำเป็น ลดการปล่อยของเสียประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับจำหน่ายสินค้า จัดเก็บคืนและแปรใช้ใหม่เองซึ่งของเสียจากผลิตภัณฑ์ของตน การใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรใช้ใหม่ การวางแผนลดการปล่อยของเสีย เป็นต้น[๑๙] 
                   รัฐบาล - มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับของเสีย การวางแผนการจัดการของเสียในภาพรวม พัฒนาเทคนิคการจัดการของเสีย กำหนดมาตรการเพื่อให้มีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสม และสนับสนุนทางเทคนิคและการเงินในการจัดการของเสียแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลกลางจะต้องปรับปรุงระบบการจัดการของเสียในภาพรวมของประเทศให้เหมาะสมอยู่เสมอ (มาตรา ๔ วรรคสาม)
                   องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการของเสีย แต่เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจ ผู้เขียนจึงขออธิบายโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นเพื่อความเข้าใจในเบื้องต้นก่อน
                   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นนั้น แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับโทโดฟุเคน (都道府県)[๒๐] ซึ่งเทียบเคียงได้กับจังหวัดของไทย (ผู้เขียนขอเรียกว่า “จังหวัด”) กับระดับชิโจซง (市町村)[๒๑] ซึ่งเทียบเคียงได้กับเทศบาลของไทย (ผู้เขียนขอเรียกว่า “เทศบาล”) ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดจะครอบคลุมพื้นที่เทศบาลหลายแห่ง
                   คำว่าจังหวัดหรือ “โทโดฟุเคน” นั้นประกอบด้วยตัวอักษรคันจิ ๔ ตัวที่ต่างก็แปลว่าจังหวัดทั้งสิ้น แต่การใช้คำโท โด ฟุ หรือเคนประกอบชื่อเฉพาะของจังหวัดนั้นเป็นไปตามขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร โดยคำว่า “โท” ใช้กับจังหวัดที่เป็นนครหลวง จำนวน ๑ แห่ง ได้แก่ “โตเกียวโท” คำว่า “โด” ใช้กับจังหวัดขนาดใหญ่แต่มีประชากรน้อย จำนวน ๑ แห่ง ได้แก่ “ฮอกไกโด” คำว่า “ฟุ” ใช้กับจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นมาก จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ “เกียวโตฟุ” และ “โอซากะฟุ” ส่วนคำว่า “เคน” ใช้กับจังหวัดที่มีประชากรไม่หนาแน่น จำนวน ๔๗ แห่ง เช่น “จิบะเคน” “อิบะระกิเคน” “ฟุกุโอกะเคน” เป็นต้น
                   ส่วนคำว่าเทศบาลหรือ “ชิโจซง” นั้น ประกอบด้วยตัวอักษรคันจิ ๓ ตัวที่ต่างก็แปลว่าเทศบาลทั้งสิ้น แต่การใช้คำชิ โจ หรือซงประกอบชื่อเฉพาะของเทศบาลนั้นเป็นไปตามขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร[๒๒] โดยคำว่า “ชิ” จะหมายถึงเทศบาลขนาดใหญ่และมีประชากรหนาแน่นมากทำนองเทศบาลนครของไทย คำว่า “โจ” จะมีลักษณะทำนองเดียวกับเทศบาลเมืองของไทย ส่วน “ซง” จะมีลักษณะทำนองเดียวกับเทศบาลตำบลของไทย และการเรียกชื่อเทศบาลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือขนาดพื้นที่และความหนาแน่นของประชากรเปลี่ยนแปลงไป เช่น “ซง” อาจเปลี่ยนเป็น “โจ” ได้เมื่อความหนาแน่นของประชากรสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อมีการแปลคำว่า “ชิ-โจ-ซง” เป็นภาษาอังกฤษ ผู้แปลจะใช้คำภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันคือ City-Town-Village ตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนได้ว่า “ชิ-โจ-ซง” มีสถานะทางกฎหมายแตกต่างกัน นอกจากนี้ ในจังหวัดโตเกียว (โตเกียวโท) ยังมีเขตปกครองพิเศษที่เรียกว่า “คุ” ()[๒๓] ด้วย โดย “คุ” มีสถานะเทียบเท่า “ชิ” หรือเทศบาลนครของไทย แต่มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองมากกว่าและมีการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตโดยตรง ทั้งนี้ “คุ” ที่เป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ ชิโยดะคุ (千代田区) ชินจุคุ (新宿区) ชิบุยะคุ (渋谷区) ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเทศบาลทุกระดับรวม ๑,๗๑๙ เทศบาล แบ่งเป็น ๗๘๙ ชิ ๗๔๖ โจ ๑๘๔ ซง กับอีก ๒๓ คุ ทั้งนี้ เขตปกครองพิเศษทั้ง ๒๓ คุนั้นอยู่ในโตเกียวทั้งหมด
                   อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “โทโดฟุเคน” กับ “ชิโจซง” นั้นมิได้เป็นความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ กล่าวคือ “โทโดฟุเคน” มิได้มีอำนาจเหนือ “ชิโจซง” แต่เป็นความสัมพันธ์ในเชิงการบริหารจัดการพื้นที่ที่ต้องร่วมมือกัน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความสัมพันธ์ระหว่าง “จังหวัด” และ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ของไทย

                   ในการบริหารจัดการของเสีย โทโดฟุเคน (จังหวัด) มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่จำเป็นแก่ชิโจซง (เทศบาล) เพื่อให้เทศบาลสามารถดำเนินการตามหน้าที่ของตนได้ผลเพียงพอ ในขณะเดียวกันก็ควบคุมสภาพการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมของพื้นที่ในเขตจังหวัด รวมทั้งการกำหนดมาตรการที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม (มาตรา ๔ วรรคสอง)

                   ส่วนเทศบาลแต่ละแห่งมีหน้าที่กำหนดแผนในการส่งเสริมกิจกรรมในการลดการปล่อยของเสียทั่วไป (reduce) ของประชาชนในเขตพื้นที่ของตน กำหนดมาตรการที่จำเป็นสำหรับการจัดการของเสียทั่วไปอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันสำหรับการดำเนินการกิจการเกี่ยวกับการจัดการของเสียทั่วไป เทศบาลจะต้องวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเจ้าหน้าที่ จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการของเสียและปรับปรุงวิธีการดำเนินการจัดการของเสีย นอกจากนี้ เทศบาลจะต้องพยายามบริหารกิจการจัดการของเสียให้ประสบผลสำเร็จด้วย (มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้ Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) ยังได้บัญญัติให้รัฐบาลกลาง จังหวัดและเทศบาลมีหน้าที่ร่วมกันในการป้องกันการปล่อยของเสีย ดูแลเพื่อให้มีการจัดการของเสียที่เหมาะสม และกำหนดแผนในการสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ ในการจัดการของเสียด้วย (มาตรา ๔ วรรคสี่)

                   การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการของที่เกิดขึ้นภายในเขตพื้นที่ของตน หรือ Principal of disposal refuse within the boundaries of each ward นี้เกิดขึ้นภายหลัง “สงครามขยะ” ในกรุงโตเกียวในช่วงปี ๑๙๖๔-๑๙๗๕  ดังกล่าวข้างต้น โดยเริ่มแรกเขตปกครองพิเศษทั้ง ๒๓ คุนั้นต้องรับผิดชอบจัดการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ของตนเอง แต่ละเขตจึงต้องจัดให้มีสถานที่เผาขยะของตนเอง ซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหา “สงครามขยะ” ได้ และได้มีการใช้หลักการนี้กับเทศบาลและจังหวัดด้วย  อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการบริโภคมากขึ้นปริมาณของเสียจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจึงต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการจัดการของเสีย จึงเกิดแนวคิดในการจ้างเอกชนที่ประกอบธุรกิจกำจัดขยะที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในท้องที่อื่นให้เป็นผู้จัดการของเสียแทนในลักษณะ Outsourcing จากสถิติในปี ๑๙๙๔ (๒๕๓๗) ปรากฏว่ามีขยะจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ ตัน ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้จัดการแทน โดยในจำนวนนี้เป็นขยะจากเทศบาลในเขตเมืองใหญ่ ได้แก่ จังหวัดอิบารากิ จังหวัดโทชิกิ จังหวัดกุมมะ จังหวัดไซตามะ จังหวัดจิบะ กรุงโตเกียว และจังหวัดคานากาว่า มากถึง ๒๙๐,๐๐๐ ตัน และได้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณของเสียที่จะถูกนำออกมากำจัดขั้นสุดท้ายนอกเขตพื้นที่การปกครองของเทศบาลจะมีจำนวนมากขึ้น

๑.๓ กระบวนการจัดการของเสีย

                   กระบวนการจัดการของเสียในประเทศญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ดังนี้
                   ๑. การเก็บของเสีย (Collection)
                   ๒. การขนส่งของเสียไปยังสถานที่จัดการของเสีย (Transportation)
                   ๓. การคัดแยกและย่อยสลาย (Intermediate treatment)
                   ๔. การกำจัดของเสีย (Disposal)
                   ทั้งนี้ ของเสียแต่ละประเภทจะมีวิธีการจัดการและผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

                   ๑) กระบวนการจัดการของเสียทั่วไป (General waste)

                   ตาม Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) นั้น ถ้าเป็นของเสียทั่วไปจากครัวเรือน เทศบาลมีหน้าที่จัดเก็บมาดำเนินการ แต่หากเป็นของเสียทั่วไปที่เกิดจากสถานประกอบการ มาตรา ๓ กำหนดให้สถานประกอบการจัดการของเสียขั้นกลางโดยการเผา การสลายด้วยความร้อน และการนำกลับมาใช้ใหม่อันเป็น “การดูแลขั้นกลาง” (Intermediate treatment) แต่การจัดการกำจัดของเสียขั้นสุดท้ายจะต้องส่งมาที่สถานที่กำจัดของเสียที่ทางเทศบาลได้จัดไว้[๒๔] ทั้งนี้ เทศบาลแต่ละแห่งสามารถใช้วิธีการจัดการของเสียได้เอง ส่วนขั้นตอนในการจัดการของเสียของเทศบาลนั้นแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
·       การจัดทำแผนการจัดการของเสียทั่วไป (มาตรา ๖) โดยเทศบาลมีหน้าที่ต้องกำหนดแผนในการจัดการของเสียทั่วไปในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้อง
มีรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินปริมาณของเสียที่จะเกิดขึ้นและปริมาณที่จะกำจัด กำหนดนโยบายในการป้องกันการปล่อยของเสีย แบ่งประเภทการจัดเก็บของเสียโดยแบ่งตามประเภทของเสีย กำหนดมาตรฐานสำหรับการจัดการของเสียอย่างเหมาะสมและวิธีการสำหรับผู้ปฏิบัติ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการสถานที่จัดการของเสียทั่วไป
·       การเก็บของเสีย ตามมาตรา ๖ (๒) ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลในการจัดเก็บของเสียจากครัวเรือนที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตน ซึ่งเป็นของเสียที่มีการแยกประเภทโดยครัวเรือนในขั้นต้นมาแล้ว ทั้งนี้ ครัวเรือนต้องแยกของเสียตามประเภทที่เทศบาลกำหนด ซึ่งเทศบาลแต่ละแห่งอาจกำหนดแตกต่างกันได้
·       การขนส่งของเสีย ตามมาตรา ๖ (๒) การขนส่งของเสียที่จัดเก็บจากครัวเรือนเพื่อนำไปกำจัดต้องดำเนินการตามวิธีที่กำหนด
·       การกำจัดของเสีย มาตรา ๖ (๒) มิได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าเทศบาลจะต้องดำเนินการกำจัดของเสียด้วยวิธีการใด แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับ Enforcement Ordinance of Waste Management and Public Cleansing Act (Ordinance No. 300 of 1971) บทที่ ๒ (ขยะทั่วไป) แล้วพบว่ามีการกำหนดมาตรฐานการกำจัดของเสียในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การเผา (Incineration) การสลายด้วยความร้อน (Pyrolysis) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการฝังกลบ (Landfill) เป็นต้น โดยการเผา การสลายด้วยความร้อน และการนำกลับมาใช้ใหม่นั้นเป็นการดูแล
ขั้นกลาง (
Intermediate treatment) ส่วนการฝังกลบถือเป็น “การกำจัดของเสียขั้นสุดท้าย” (Final Disposal)

                   อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะกำหนดให้เทศบาลมีหน้าที่ในการจัดการของเสีย แต่หากเทศบาลไม่สามารถดำเนินการจัดการของเสียได้หรือดำเนินการได้ลำบาก เช่น การจัดการของเสียทั่วไปจากโรงงานหรือสถานประกอบการที่มีปริมาณมาก ๆ หรือการจัดเก็บของเสียที่หากดำเนินการในเวลากลางวันอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจร หรือมีความจำเป็นประการอื่นอันทำให้ต้องดำเนินการจัดเก็บในช่วงเวลากลางคืน หรือการจัดเก็บของเสียประเภทถังเกรอะที่ตามปกติจะต้องทำความสะอาดตัวถังด้วย เป็นต้น[๒๕]  ในกรณีดังกล่าว เทศบาลสามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ดำเนินการแทนได้ (มาตรา ๗ () และ (๑๐)) และการจัดให้มีสถานที่จัดการของเสียทั่วไปนั้น ตามปกติแล้วเป็นหน้าที่ของเทศบาลในการลงทุน แต่ในกรณีที่เทศบาลไม่สามารถจัดการได้ ก็สามารถที่จะอนุญาตให้บุคคลอื่นมาดำเนินการได้ โดยใช้ระบบการอนุญาตทางปกครอง ดังนั้น ในกรณีที่ภาคเอกชนที่ประสงค์จะจัดตั้งโรงจัดการของเสียจะต้องยื่นขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดของพื้นที่นั้น (มาตรา ๘)

                   ๒) กระบวนการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม (Industrial waste)

                   Waste Management and Public Cleansing Act กำหนดให้ผู้ซึ่งก่อให้เกิดของเสียหรือผู้ประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดของเสียมีหน้าที่จัดการของเสียที่ตนก่อให้เกิดขึ้น (มาตรา ๓ และมาตรา ๑๑) แต่ผู้ซึ่งก่อให้เกิดของเสียอาจจ้างผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกำจัดของเสียจากจังหวัดต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินการได้ แต่กรณีที่จำเป็นหรือกรณีที่ต้องการให้มีการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องและเหมาะสม เทศบาลหรือจังหวัดสามารถดำเนินการกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมได้ (มาตรา ๑๑)

                   ในกรณีที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการขนส่งและกำจัดของเสียด้วยตนเอง ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน Cabinet Order  นอกจากนี้ ในขั้นตอนการจัดการของเสียตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนการขนส่งของเสียไปกำจัด ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานด้านเทคนิคตามที่กฎกระทรวงสิ่งแวดล้อมกำหนด โดยการจัดการของเสียนั้น จะต้องไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กฎหมาย Waste Management and Public Cleansing Act ก็ได้กำหนดมาตรการในการตรวจสอบและกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ (๕) และมาตรา ๑๙ (๖) กล่าวคือ ในกรณีที่มีการทิ้งของเสียหรือการจัดการของเสียที่ผิดกฎหมาย และเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมหรืออาจจะก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะกำหนดระยะเวลาให้มีการกำหนดมาตรการในการกำจัดสิ่งที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นต่อผู้ที่ทำหน้าที่กำจัดของเสีย  นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินการจัดการของเสียอย่างผิดกฎหมายด้วย

                   ส่วนการที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (จังหวัดและเทศบาล) จะดำเนินการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมเองการจัดเก็บ การขนส่ง การดูแลขั้นกลาง และการกำจัดของเสียขั้นสุดท้าย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด  สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติของจังหวัดหรือข้อบัญญัติของเทศบาล

                   อนึ่ง แม้กฎหมายจะกำหนดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดการของเสียก็ตาม แต่ก็เปิดช่องให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้ามาเป็นผู้จัดการของเสียได้ และใน Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) บทที่ ๓ – ๒ ได้กำหนดให้มี “ศูนย์จัดการของเสีย” (Waste Management Center)[๒๖] ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสมและสามารถจัดการของเสียร่วมกันของหลายเขตพื้นที่ ตามมาตรา ๑๕ (๕) กำหนดให้รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุนหรือบริจาคเงินเพื่อจัดตั้งศูนย์จัดการของเสีย โดยจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลที่เป็นมูลนิธิหรือบริษัทจำกัดก็ได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ แก่ศูนย์จัดการของเสีย

                   ศูนย์จัดการของเสียมีหน้าที่ในการจัดการของเสียประเภทต่าง ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๑๕ – ๖)
·       จัดการของเสียทั่วไปที่ต้องควบคุมพิเศษและจัดตั้ง ปรับปรุง บำรุงรักษา และกระทำการอื่น ๆ ที่เป็นการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจัดการของเสียดังกล่าวตามที่เทศบาลมอบหมาย
·       จัดการของเสียทั่วไปที่ไม่สามารถจัดการอย่างเหมาะสมได้โดยง่ายและจัดตั้ง ปรับปรุง บำรุงรักษา และกระทำการอื่น ๆ ที่เป็นการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดการของเสียดังกล่าวตามที่เทศบาลมอบหมาย
·       จัดการของเสียทั่วไปและจัดตั้ง ปรับปรุง บำรุงรักษา และกระทำการอื่น ๆ ที่เป็นการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดการของเสียดังกล่าวตามที่เทศบาลมอบหมาย
·       จัดการของเสียจากอุตสาหกรรมที่ต้องดูแลเป็นพิเศษและและจัดตั้ง ปรับปรุง บำรุงรักษา และกระทำการอื่น ๆ ที่เป็นการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดการของเสียดังกล่าว
·       จัดการของเสียจากอุตสาหกรรมและจัดตั้ง ปรับปรุง บำรุงรักษา และกระทำการอื่น ๆ ที่เป็นการดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดการของเสียดังกล่าว

๑.๔ การจัดการของเสียของมหานครโตเกียว (Tokyo Metropolitan)

                   ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่ามหานครโตเกียวเป็น “Regional Government” ที่ประกอบด้วย ๒๓ เขตการปกครองพิเศษ (special wards) ๒๖ นคร (city) ๕ เมือง (town) และ ๘ หมู่บ้าน (village) มหานครโตเกียวมีระบบการปกครองที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ เป็นการปกครองที่มีทั้งรัฐบาลมหานคร (Metropolitan) กับเขต (wards) ซึ่งมีความแตกต่างจากความสัมพันธ์ของจังหวัด (prefectures) กับเทศบาล (municipalities) โดยระบบการปกครองดังกล่าวเป็นระบบที่สร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นที่ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการปกครอง การควบคุมเขตพื้นที่ทั้งหมด และความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลเขตท้องถิ่น (local ward governments) ที่มีความใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยในเขตนั้น ๆ และให้ความช่วยเหลือการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย

                   ระบบเขตการปกครองพิเศษของประเทศญี่ปุ่น ได้มีการปรับปรุงหลายครั้ง แต่เดิมเขตการปกครองมีสถานะเป็น Special Local Public Entities ในมหานครโตเกียว แต่เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้มีการเปลี่ยนสถานะเป็น Basic Local Public Entities โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความเป็นอิสระและการปกครองตนเองของเขตการปกครอง นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง Metropolitan-Ward Council ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาสำหรับการติดต่อสื่อสารและการประสานงานระหว่างรัฐบาลมหานครและเขตการปกครองต่าง ๆ ผ่านการประชุมสภา[๒๗]

                   สำหรับระบบการจัดการของเสียของมหานครโตเกียวนั้น ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา มีการถ่ายโอนหน้าที่ในการจัดการของเสียทั่วไปจากจังหวัดมาเป็นเขตการปกครองพิเศษ แต่ในทางปฏิบัติจะมีผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนการจัดการของเสียที่แตกต่างกัน ได้แก่ การเก็บของเสีย การขนส่งของเสีย การจัดการขั้นกลาง และการกำจัดของเสียขั้นสุดท้าย[๒๘]
·       การเก็บและขนส่งของเสีย เป็นหน้าที่ของแต่ละเขตการปกครองพิเศษต้องดำเนินการ โดยที่แต่ละเขตการปกครองพิเศษจะต้องกำหนดแผนการจัดการของเสียทั่วไปและแผนการคัดแยกและจัดเก็บของเสีย ดำเนินการเก็บและขนส่งของเสีย และการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปล่อยของเสียแก่กิจการที่ถูกระงับและผู้ประกอบการที่ปล่อยของเสียออกมาในปริมาณมาก เป็นต้น
·       การจัดการของเสียขั้นกลาง (การจัดการของเสียประเภทที่เผาไหม้ไม่ได้ และการจัดการเผาของเสียที่เผาไหม้ได้) เขตการปกครองพิเศษ ๒๓ เขตได้จัดตั้ง Clean Association of Tokyo 23 Wards ขึ้นตาม Local Autonomy Act (Act No. 67 of 1947) มาตรา ๒๘๔[๒๙] เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๐ เพื่อดำเนินการจัดการของเสียขั้นกลางสำหรับของเสียที่เผาไหม้ได้ ของเสียที่เผาไหม้ไม่ได้ ของเสียขนาดใหญ่ และการจัดการน้ำเสียที่เป็นสิ่งปฏิกูลจากร่างกายมนุษย์ร่วมกันในเขตพื้นที่เขตการปกครองพิเศษ ๒๓ เขต[๓๐] และบริหารการจัดการโรงงานกำจัดของเสีย ศูนย์กำจัดของเสียที่เผาไหม้ไม่ได้ โรงย่อยและกำจัดของเสียขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่เขตการปกครองพิเศษ[๓๑]
·       การกำจัดของเสียขั้นสุดท้าย ตาม Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) มาตรา ๖ – ๒ กำหนดให้
มหานครรับหน้าที่ในการจัดการฝังกลบของเสียที่เป็นกากเหลือจากการจัดการขั้นก่อนหน้าจากเขตการปกครองพิเศษทั้ง ๒๓ เขต โดยมีการนำของเสียไปฝังกลบไว้ที่อ่าวโตเกียว

๑.๕ มาตรฐานการกำจัดของเสียเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนผู้อยู่ใกล้เคียง

                   สำหรับการจัดการของเสียประเภทต่าง ๆ ทั้งของเสียทั่วไปและของเสียจากอุตสาหกรรมอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางในการจัดการของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด สำหรับประเทศญี่ปุ่นที่อนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการของเสียด้วยนั้น ยิ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการจัดการขยะเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

                   เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ได้มีการปรับปรุงแก้ไข Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) ในส่วนของขั้นตอนการจัดตั้งสถานที่จัดการของเสีย การดำเนินการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบเอกสารในการยื่นขอจัดตั้งและเอกสารเกี่ยวกับการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และนายกเทศมนตรี นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้จัดตั้งสถานที่จัดการของเสียใหม่ คือการกำหนดให้ต้องมี “การพิจารณาความเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่”

                   “การสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้จัดตั้งสถานที่จัดการของเสียประเภทที่ต้องได้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการ โดยผู้จัดตั้งจะต้องสำรวจผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงสถานที่จัดการของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน โดยนำผลการสำรวจที่ได้มาเป็นพื้นฐานในการกำหนดแผนการจัดตั้งที่มีการวางนโยบายระดับย่อยเพื่อให้มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ กล่าวคือ ผู้จัดตั้งสถานที่จัดการของเสียจะต้องกำหนดแผนการจัดตั้งและแผนการดูแลบำรุงรักษาบนพื้นฐานของผลการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในขั้นตอนการยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตจะต้องกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแนบเอกสารการสำรวจผลกระทบต่อผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

                   สำหรับการจัดตั้งสถานที่เผาของเสียและสถานที่กำจัดของเสียขั้นสุดท้าย (การฝังกลบ) หลังจากยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องตรวจสอบเอกสารยื่นสมัครและเอกสารผลการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นจะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และนายกเทศมนตรี

                   “เงื่อนไขการได้รับใบอนุญาต” จะใช้เงื่อนไขเดียวกันทั้งประเทศซึ่งเป็นมาตรฐานทางด้านเทคนิคที่ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงสิ่งแวดล้อม มาตรฐานดังกล่าวจะเป็นการกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาว่าแผนในการจัดตั้งและแผนในการบำรุงรักษาสถานที่จัดการของเสียนั้นมีการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบคอบ และถูกต้องเหมาะสม[๓๒] โดยระบบการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะคำนึงถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ เสียงดังรบกวน ความสั่นสะเทือน กลิ่นเหม็นรบกวน คุณภาพน้ำ และนำใต้ดิน

                   นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรฐานในการจัดการโดยแยกแต่ละขั้นตอนไว้ใน Enforcement Ordinance of Waste Management and Public Cleansing Act (Ordinance No. 300 of 1971) ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดไว้จะโดยส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดเพื่อไม่ให้การจัดการขยะแต่ละขั้นตอนเกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณที่มีการจัดการขยะขั้นตอนต่าง ๆ

๑.๖ Incentives เพื่อให้เกิดการ reduce reuse และ recycle (3R)

                   The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society (Act No. 110 of 2000) เป็นกฎหมายที่เป็นกรอบพื้นฐานในการส่งเสริมการสร้างสังคมในรูปแบบการหมุนเวียน โดยกฎหมายนี้ได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการขยะและการรีไซเคิล และอยู่ภายใต้ Basic Environment Act (Act No. 91 of 1993) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น ส่วนในเรื่องการจัดการของเสียนั้นประเทศญี่ปุ่นได้ตรากฎหมาย Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) ขึ้นเฉพาะ และได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง แต่ทั้งนี้ เนื่องจากต่อมาได้เกิดปัญหาปริมาณของเสียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาโรงกำจัดของเสียขั้นสุดท้ายที่หาได้ยากขึ้นทุกปี และปัญหาการปล่อยทิ้งของเสียอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ การหลุดพ้นจากการเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีปริมาณการผลิต การบริโภค และการปล่อยของเสียเป็นปริมาณมากมาเป็นสังคมที่มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร โดยนโยบายนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๐

                   ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มต้นการส่งเสริมสังคมในรูปแบบการหมุนเวียนจาก Act on Promotion of Effective Utilization of Resources (Act No. 48 of 1991) และได้พัฒนาระบบกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลดของเสียและการรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากกฎหมายแล้ว ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลอื่น ๆ เช่น Food Recycling Act (Act No., 116 of 2000), Home appliance Recycling Act (Act No. 97 of 2001), Construction Materials Recycling Act (Act No. 104 of 2002) และ Automobile Recycling Act (Act No. 87 of 2002) รวมถึง guideline ของภาครัฐสำหรับสินค้าในแต่ละประเภทอีกด้วย[๓๓]

                   นโยบาย 3R ในประเทศญี่ปุ่นประเทศญี่ปุ่นได้นำแนวคิดเรื่อง 3R มาใช้ใน The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society (Act No. 110 of 2000) มาตรา ๖ และมาตรา ๗[๓๔] ในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการ ๑) Reduce ๒) Reuse ๓) Recycle ๔) Thermal Recycling[๓๕] และ ๕) การจัดการของเสียและรีไซเคิลให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามลำดับความสำคัญ โดยนับตั้งแต่มีการตรากฎหมายดังกล่าวขึ้น ได้มีการรณรงค์เรื่อง 3R อย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐและเอกชน

                   สำหรับหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับ 3R มีทั้งสิ้น ๘ หน่วยงาน[๓๖] ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสิ่งแวดล้อม และ Consumer Affairs Agency ซึ่งสังกัดอยู่ใน สำนักงานคณะรัฐมนตรี (Cabinet Office) โดยทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยกำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่ง 3R และมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ เช่น การจัดโครงการรณรงค์ ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านค้าต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติใน Act on the Promotion of Sorted Collection and Recycling of Containers and Packaging[๓๗] (Act No.112 of 1995) เป็นต้น

                   การส่งเสริมนโยบาย 3R ซึ่งเป็นรากฐานของการส่งเสริมการสร้างสังคมในรูปแบบการหมุนเวียนตาม The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ ๕ อย่าง[๓๘] ได้แก่ ๑) การตระหนักถึงความสำคัญของนโยบาย ๒) การร่วมมือกันแบบหุ้นส่วน (Partnership) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓) การมีข้อมูลข่าวสารที่ทั่วถึงร่วมกัน ๔) การศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และ ๕) Incentives เพื่อให้เกิดการ reduce reuse และ recycle

                   ๑) การตระหนักถึงความสำคัญของนโยบาย รัฐต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยมีการจัดทำโปสเตอร์ การประกวดวาดภาพ การจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนร่วมเก็บขยะกระป๋องใช้แล้ว การจัดงานประกวดจัดทำโปสเตอร์เรื่องการรณรงค์การลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ การจัดกิจกรรม eco club ของเด็กและเยาวชนเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ

                   ๒) การร่วมมือกันแบบหุ้นส่วน (Partnership) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลกลาง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องตระหนักถึงหน้าที่ของตน รวมถึงการเริ่มต้นลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองเพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ในเมืองเกียวโต องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการร่วมมือระหว่างประชาชน นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ในการจัดโครงการนำเอาน้ำมันเหลือใช้ในครัวเรือนมาทำเป็น Biodiesel ซึ่งจะนำมาเป็นเชื้อเพลิงของรถเก็บขยะและรถโดยสารประจำทางในเมืองเกียวโต โดยปัจจุบัน มีจุดรวบรวมน้ำมันเหลือใช้ทั้งสิ้นกว่า ๘๐๐ จุด คิดเป็นปริมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ลิตรต่อปี[๓๙]

                   ๓) การมีข้อมูลข่าวสารที่ทั่วถึงร่วมกัน เนื่องจากการดำเนินการตามนโยบาย 3R ผู้ออกแบบและผลิตสินค้าต้องมีเครือข่ายและความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น โทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการในประเทศส่งออกต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ทั่วถึงร่วมกันกับผู้ประกอบการในประเทศที่นำเข้าสินค้า ทั้งนี้ เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน ประเทศญี่ปุ่นจะมีการตีพิมพ์สมุดปกขาว (Whitepaper) เป็นประจำทุกปีเพื่อเผยแพร่กิจกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับ 3R ที่ผ่านมา โดยมีฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการระบุประเภทของการรีไซเคิล ในเว็บไซต์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม[๔๐]

                   ๔) การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จัดการศึกษาวิจัยในระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับการไหลเวียนของวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการรีไซเคิลทั้งระบบ เช่น การออกแบบรถยนต์บางประเภทจะมีการออกแบบในเรื่องการรีไซเคิลไว้ตั้งแต่ต้น โดยออกแบบให้แต่ละส่วนง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลต่อไป

                   ๕) Incentives เพื่อให้เกิดการ reduce reuse และ recycle Incentives สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ดังต่อไปนี้
·       Incentives ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการลดหย่อนภาษี การให้กู้เงินลงทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เป็นต้น โดยเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้มีการสนับสนุนเงินแก่ผู้ผลิตสินค้า เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงาน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ นโยบายลักษณะนี้เป็นการเพิ่มอุปสงค์ของสินค้าที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ อันจะเป็นภาระทางการเงินแก่รัฐมากขึ้น
·       Incentives ด้านสังคม ประกอบด้วย การให้ความรู้แก่ประชาชน การมอบรางวัลการจัดซื้อสีเขียวตาม Law Concerning the Promotion of Procurement of Eco-Friendly Goods and Services by the State and Other Entities (Act No.100 of 2000) โดยนอกจากนี้ ยังมีนโยบายการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น การจัดพื้นที่เขตพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ 3R การจัดทำแผนการตลาด เป็นต้น โดยประเทศญี่ปุ่นจะมีการรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการในประเทศที่มีบทบาทในการส่งเสริมการสร้างสังคมในรูปแบบการหมุนเวียน และมีนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อการส่งเสริม 3R ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ได้ มารวมเป็น Eco Town

                   ตัวอย่าง Incentives เพื่อส่งเสริมนโยบาย 3R
                   (ก) โครงการ Eco Town
                   Eco Town เป็นโครงการส่งเสริมการรีไซเคิลและสร้างพื้นที่ชุมชนให้มีความน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยรัฐรับรองและให้การสนับสนุนโครงการ Eco Town ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ[๔๑] Eco Town เป็นโครงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นริเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การยืดอายุการใช้งานของโรงจัดการของเสียขั้นสุดท้าย การเพิ่มความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ การกำจัดขยะที่ถูกต้อง และการพัฒนาอุตสาหกรรมการรีไซเคิล 
                   ทั้งนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะให้การสนับสนุนเงินให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้ในการพัฒนาการรีไซเคิลในชุมชน และสนับสนุนแก่ NPO หรือประชาชนในการทำกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในโครงการนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการรีไซเคิล โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๗ มีโครงการ Eco Town ที่ได้ริเริ่มแล้วทั้งสิ้น ๒๗ โครงการ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนเงินเฉลี่ยร้อยละ ๓๖ ในแต่ละโครงการ โดยคิดเป็นลงทุนทั้งสิ้นประมาณ ๑,๖๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐแก่โครงการนวัตกรรมรีไซเคิลทั้งสิ้น ๖๑ โครงการ ทั้งนี้ มีโครงการ Eco Town ขนาดย่อยอีกกว่า ๑๐๗ โครงการที่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล โดยโครงการรีไซเคิลจะประกอบด้วยโครงการที่เกี่ยวกับพลาสติก ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยะอุตสาหกรรม นับได้ว่าโครงการ Eco Town ได้สร้างรากฐานการคิดค้นนวัตกรรมการรีไซเคิลแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการจ้างงานอีกด้วย
                   (ข) โครงการ Eco Town - North Kyushu Eco Town Project
                   หนึ่งในโครงการ Eco Town ที่ประสบความสำเร็จ คือ โครงการ North Kyushu Eco Town ของ North Kyushu City แห่งจังหวัด Fukuoka ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ โดยเป็น Eco Town ที่มีพื้นที่เพื่อการศึกษาทดลอง (Experimental study) เกี่ยวกับการรีไซเคิลของผู้ประกอบการทั่วไปรวมถึงมหาวิทยาลัย และพื้นที่ที่รวมผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรีไซเคิลไว้ด้วยกัน[๔๒] โดยโครงการ Eco Town นี้ส่งเสริมนโยบาย 3R ของรัฐ และการหมุนเวียนของเสียไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์สุดท้าย คือ เพื่อให้การปล่อยของเสียในพื้นที่เป็นศูนย์ (Zero Emission) และเพื่อการส่งเสริมสังคมในรูปแบบการหมุนเวียน
                   โครงการ Eco Town ของ North Kyushu City ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมและกระทรวงสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มแรกในคราวเดียวกับ Kawasaki City, Iida City และจังหวัด Gifu โดยเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของ North Kyushu City ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองแห่งสิ่งแวดล้อม และมีประชาชนเข้าเยี่ยมชมจากทั่วประเทศ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในพื้นที่โครงการจะประกอบด้วยผู้ประกอบกิจการรีไซเคิลขวดเพ็ท (PET) กิจการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ยานพาหนะ หรือเครื่องเล่นปาจิงโกะ เป็นต้น โดยศูนย์ Eco Town ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการจัดการขยะ การรีไซเคิลทรัพยากรและพลังงานทดแทน เช่น สถาบันวิจัยการหมุนเวียนทรัพยากรและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมแห่ง Fukuoka University ศูนย์เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของ North Kyushu ของบริษัท Shin-Nittetsu Engineering เป็นต้น

ส่วนที่ ๒
การรักษาความสะอาดที่สาธารณะ (Public Cleansing)
                  

                   องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกเทศบัญญัติเพื่อกำหนดบทบาทของหน่วยงานและประชาชนในการรักษาความสะอาดที่สาธารณะ[๔๓] โดยมาตรา ๙๔ ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น[๔๔] ได้ให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกเทศบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตาม อำนาจในการออกบทกำหนดโทษในเทศบัญญัติขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกจำกัดไว้โดย Local Autonomy Law[๔๕] มาตรา ๑๔ (๓) โดยโทษจำคุก กักขัง ต้องไม่เกิน ๒ ปี ปรับต้องไม่เกิน ๑ ล้านเยน โทษยึดหน่วงทรัพย์ (detention) ริบทรัพย์ (confiscation) และปรับแบบ minor fine หรือ administrative fine ต้องไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ เยน โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทุกจังหวัดของประเทศญี่ปุ่นได้ออกเทศบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสะอาดที่สาธารณะไว้ โดยมีตัวอย่างการออกเทศบัญญัติ ดังนี้
  
                   ๑) เทศบัญญัติของ Nagasaki City เกี่ยวกับการป้องกันการกระจัดกระจายของของเสียและการควบคุมการสูบบุหรี่ (เทศบัญญัติฉบับที่ ๓๖ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒)[๔๖]

                   เทศบัญญัตินี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ และ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในร่วมมือเพื่อควบคุมปัญหาการทิ้งของเสีย สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ (ข้อ ๑) โดย Nagasaki City มีหน้าที่บรรลุเป้าหมายโดยการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน การกำหนดนโยบายการรักษาความสะอาด และการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อนำนโยบายมาดำเนินการจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ข้อ ๓) ส่วนประชาชนในพื้นที่มีหน้าที่ในการร่วมควบคุมการทิ้งของเสีย และให้ความร่วมมือกับเทศบาล โดยประชาชนต้องพยายามเก็บของเสียของตนกลับออกจากสถานที่ท่องเที่ยว สวนสาธารณะ แหล่งพักผ่อนหยอนใจ หรือสถานที่อื่นๆ (ข้อ ๔) สำหรับผู้ประกอบการนั้นต้องดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการกระจัดกระจายของของเสีย และต้องให้ความร่วมมือกับเทศบาลในการดำเนินการตามนโยบาย โดยผู้ประกอบการที่ผลิตหรือขายเครื่องดื่มที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ บุหรี่ หมากฝรั่ง หรือสินค้าอื่นๆที่มีสามารถกระจัดกระจาย และต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการป้องกันการกระจัดกระจายของของเสีย (ข้อ ๕) ผู้จำหน่ายสินค้าที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ต้องจัดทำที่ทิ้งเพื่อคืนบรรจุภัณฑ์ในสถานที่จำหน่ายสินค้า และต้องดำเนินการให้การเก็บบรรจุภัณฑ์คืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (ข้อ ๖) และผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่และผู้บริหารจัดการที่ดินหรืออาคาร ต้องให้ความรู้แก่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินหรืออาคารเกี่ยวกับการควบคุมการกระจัดกระจายของของเสีย และให้ความร่วมมือกับเทศบาลในการดำเนินการตามนโยบาย (ข้อ ๗)

                   สำหรับการห้ามทิ้งของเสียนั้น เทศบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดทิ้งของเสียลงในที่สาธารณะ (ข้อ ๘) สำหรับพื้นที่ห้ามทิ้งของเสียและห้ามสูบบุหรี่ ข้อ ๑๐ กำหนดให้หัวหน้าส่วนบริหารเทศบาลสามารถกำหนดพื้นที่ห้ามทิ้งของเสียและห้ามสูบบุหรี่หากเห็นว่ามีความจำเป็น ทั้งนี้ ก่อนกำหนดพื้นที่ดังกล่าวต้องรับฟังความเห็นของประชาชน และหารือกับหน่วยงานทางปกครองที่ที่เกี่ยวข้อง และหลังจากกำหนดพื้นที่ต้องมีการประกาศให้ประชาชนได้รับทราบด้วย ในการนี้ Nagasaki City ได้กำหนดพื้นที่ห้ามทิ้งของเสียไว้หลายพื้นที่ด้วยกัน โดยส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่ที่มีร้านค้าและร้านอาหาร พื้นที่บริเวณวัดวาอาราม โบสถ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอื่น ๆ และสวนสาธารณะ เป็นต้น ผู้ใดทิ้งของเสียในพื้นที่ที่ห้ามไว้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เยน (ข้อ ๒๐)

                   ๒) เทศบัญญัติของ City of Sapporo เกี่ยวกับการควบคุมการกระจายของเถ้าบุหรี่ กระป๋องเปล่าและของเสียอื่น ๆ (เทศบัญญัติฉบับที่ ๔๔ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๔)[๔๗]

                   เทศบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการกระจายของเถ้าบุหรี่ กระป๋องใช้แล้ว ของเสียอื่น ๆ รวมถึงมูลสัตว์เลี้ยง และการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้มีระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย และน่าอยู่อาศัย (ข้อ ๑) และได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ City of Sapporo ในการกำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมเถ้าบุหรี่ กระป๋องใช้แล้ว ของเสียอื่น ๆ รวมถึงมูลสัตว์เลี้ยง และการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ประชาชนและผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ และต้องให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อรักษาความสะอาดและสภาพแวดล้อมของบุคคลดังกล่าวด้วย (ข้อ ๓) ส่วนผู้ประกอบการมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องที่และการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การทำกิจกรรมการทำความสะอาด เพื่อควบคุมเถ้าบุหรี่ กระป๋องใช้แล้ว ของเสียอื่น ๆ รวมถึงมูลสัตว์เลี้ยง และการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยผู้ประกอบการที่จำหน่ายบุหรี่ เครื่องดื่มบรรจุในบรรจุภัณฑ์ หมากฝรั่ง และอื่น ๆ ต้องจัดให้มีที่เขี่ยบุหรี่ ที่ทิ้งก้นบุหรี่ และที่ทิ้งกระป๋องเปล่า และดำเนินมาตรการเพื่อให้การเก็บขยะเหล่านี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (ข้อ ๔) สำหรับประชาชนในพื้นที่มีหน้าที่เก็บเถ้าบุหรี่ กระป๋องเปล่า หรือขยะอื่น ๆ ของตนกลับ หรือทิ้งในที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น และต้องเข้าร่วมกิจกรรมการรักษาความสะอาด และต้องให้ความร่วมมือกับเทศบาลในการส่งเสริมการสร้างเมืองให้น่าอยู่อาศัย (ข้อ ๕) ส่วนเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีอำนาจบริหารจัดการที่ดินหรืออาคารต่าง ๆ ต้องควบคุมการกระจายของเถ้าบุหรี่ กระป๋องใช้แล้ว ของเสียอื่น รวมถึงมูลสัตว์เลี้ยง และการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยการให้ความรู้แก่ผู้อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์จากอาคารเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด และต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การทำความสะอาด (ข้อ ๖)

                   ทั้งนี้ City of Sapporo ห้ามมิให้บุคคลใดทิ้งเถ้าบุหรี่ กระป๋องใช้แล้ว และของเสียอื่น ๆ (ข้อ ๗) และข้อ ๑๐ กำหนดเกี่ยวกับการเก็บมูลสุนัขในที่สาธารณะเป็นการเฉพาะ โดยให้ผู้เลี้ยงสุนัขต้องเก็บมูลสุนัขกลับให้เรียบร้อยเมื่อสุนัขถ่ายในที่สาธารณะ

                   ส่วนการกำหนดพื้นที่หลักในการรักษาความสะอาด เทศบัญญัติกำหนดว่า ในกรณีที่มีความจำเป็น หัวหน้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดพื้นที่หลัก สำหรับการรักษาความสะอาด ทั้งนี้ ก่อนกำหนดต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆในพื้นที่[๔๘] และต้องประกาศการกำหนดพื้นที่ให้ประชาชนได้รับทราบโดยถ้วนกัน (ข้อ ๑๑)

                   ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๗ (ทิ้งของเสียในที่สาธารณะ) หรือข้อ ๑๐ (ไม่เก็บมูลสุนัข) ในพื้นที่หลักสำหรับการรักษาความสะอาด ต้องระวางโทษปรับทางปกครอง (Administrative fine) ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ เยน หากเป็นการกระทำในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากพื้นที่หลักในการรักษาความสะอาด ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เยน (ข้อ ๑๘)

สรุป

                   จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมาที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นสังคมที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง ทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องมีการกำหนดนโยบาย กฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ในการบริหารจัดการของเสียและการรักษาความสะอาดที่สาธารณะอย่างเป็นระบบ และมีลักษณะที่เป็นการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากกฎหมายหลักเกี่ยวกับการบริการจัดการของเสียและเทศบัญญัติของแต่ละเทศบาลที่ได้มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการของเสีย โดยแบ่งเป็นทั้งระดับรัฐบาลกลาง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และประชาชน  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการตรากฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดมากเพียงใด แต่หากประชาชนในประเทศไม่มีจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดและการจัดการของเสียอย่างถูกวิธีแล้ว ก็คงไม่สามารถทำให้นโยบายของรัฐบาลบรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ได้  ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มีการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนในประเทศในการรักษาความสะอาดและการจัดการของเสียอย่างถูกวิธี รวมทั้งกำหนดให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีหน้าที่ในการบริหารจัดการของเสียที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน และรักษาความสะอาดในที่สาธารณะไปพร้อมกันด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนในลักษณะที่ให้ประชาชนเริ่มต้นจากการรักษาความสะอาดในพื้นที่ส่วนตัวของตนเองและรับผิดชอบในการจัดการของเสียที่ตนเองก่อให้เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงขยายขอบเขตความรับผิดชอบไปสู่ที่สาธารณะที่ตนได้ใช้ประโยชน์ เมื่อประชาชนทุกคนมีจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดและมีความรับผิดชอบในส่วนตัวแล้ว ก็จะส่งผลต่อการบริหารจัดการโดยรวมของประเทศให้ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการประยุกต์ใช้หลักคิดเช่นนี้ไว้ในร่างกฎหมายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการปลูกจิตสำนึกสาธารณะให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ กฎหมายจึงมิใช่การบังคับให้ทำหรือห้ามมิให้กระทำการใดแต่เพียงอย่างเดียว และนอกจากการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนแล้ว การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการของเสียอย่างถูกต้องและการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐอย่างชัดเจนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและเข้มแข็งระหว่างภาครัฐกับเอกชนด้วย

                  



[๑]LL.B. (Chiba University), LL.M. (Kobe University) นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ สำนักกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒]LL.B. (Hitosubashi University), LL.M. (Waseda University), Doctor of Laws (Waseda University)
นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ สำนักกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๔]ที่มา: กรมการปกครอง เผยแพร่ใน http://stat.dopa.go.th/xstat/pop55_1.html
[๕]Professor Katsumi Yorimoto, Local Autonomy waste and recycle issue Faculty of Waseda University Political Science and Economics <http://www.chiiki-dukuri-hyakka.or.jp/book/monthly/ 0605/html/t00.html>)
[๖]โดยที่บทนิยามของคำว่า “waste” ใน Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) อันเป็นกฎหมายหลักว่าด้วยการบริหารจัดการขยะและของเสียของญี่ปุ่นได้นิยามให้ waste หมายถึง ขยะในความหมายอย่างแคบด้วย ผู้เขียนจึงจะใช้คำว่า “ของเสีย” แทน “ขยะและของเสีย”
[๗]Waste Management and Public Cleansing Act (Act No. 137 of 1970) (Japanese) <http://law.e-gov.go.jp/htmldata/S45/S45HO137.html>
[๘]Enforcement Ordinance of Waste Management and Public Cleansing Act (Ordinance No. 300 of 1971) (Japanese) <http://law.e-gov.go.jp/htmldata/S46/S46SE300.html>
[๙]Act on Promotion of Effective Utilization of Resources (Act No. 48 of 1991) (English) <http:// www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail/?id=80&vm=04&re=02>
[๑๐]Basic Environment Act (Act No. 91 of 1993) (Japanese) <http://law.e-gov.go.jp/htmldata/H05/ H05HO091.html>
[๑๑]Act on the Promotion of Sorted Collection and Recycling of Containers and Packaging (Act No.112 of 1995) (English) < http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail_main?id=88&vm= 2&re=>
[๑๒]The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society (Act No. 110 of 2000) (English) <http://www.env.go.jp/en/laws/recycle/12.pdf>
[๑๓]Hokkaido University Collection of Scholarly and Academic Papers: HUSCAP 52(2):143-171 2001-7-31 doc URL http://hdl.handle.net/2115/15085 The Mass Media function in Political dispute process-focusing on Tokyo Waste War, Hokudai Hogaku Ronshu (Hokkaido Law Review) Shibata Teruyoshi หน้า ๕๗๖)
[๑๔]เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๗๗.
[๑๕]เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๗๘. 
[๑๖]Waste disposal of Tokyo’s 23 Cities. 11 September 2013. <http://www.union.tokyo23-seisou.lg.jp/kojo/index.html>  
[๑๗]Cabinet order มีสถานะทางกฎหมายคล้ายคลึงกับกฎกระทรวงของไทย
[๑๙]Meku City -向日市一般廃棄物処理基本計 <http://www.city.muko.kyoto.jp/shisei/ haikibutsu/ haikibutsu.html>
[๒๐]เทียบเคียงได้กับจังหวัดของไทย เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษผู้แปลใช้คำว่า “Prefecture”
[๒๑]เทียบเคียงได้กับเทศบาลของไทย เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษผู้แปลใช้คำว่า “Municipalities”
[๒๒]หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าเขตพื้นที่ใดเป็นเทศบาลประเภทใดนั้น ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา ๘ ของ Local Autonomy Act (Act No. 67 of 1947) ซึ่งกำหนดให้ เงื่อนไขการเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นปกติประเภท “ชิ” (หรือเทศบาลนคร) ได้แก่ (๑) มีจำนวนประชากร ๕๐,๐๐๐ คนขึ้นไป (๒) มีบ้านเรือนในเขตเมืองที่เป็นศูนย์กลางของเทศบาลนครไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของบ้านเรือนทั้งหมด (๓) มีจำนวนประชากรที่ถูกจ้างงานในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและประกอบอาชีพต่าง ๆ ในเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของประชากรทั้งหมด (๔) หลักเกณฑ์อื่น ตามข้อบัญญัติของจังหวัด แต่สำหรับเงื่อนไขของการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปกติประเภทเทศบาลเมือง กำหนดไว้ในข้อบัญญัติของจังหวัด (ที่มา: 地方自治法 <http://law.e-gov.go.jp/htmldata/ S22/S22HO067.html>)
[๒๓]เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษผู้แปลใช้คำว่า “Wards”
[๒๖]廃棄物処理センター制度について <http://www.env.go.jp/recycle/waste/center/setsumei. pdf>
[๒๗]Tokyo Metropolitan Government “Overview of Tokyo” P 11 <http://www.metro.tokyo.jp/ ENGLISH/PROFILE/IMG/2012_en_13-38.pdf>
[๒๘]Department of Advanced Social and International Studies Graduate School of Arts and Sciences, University of Tokyo - 清掃事業の都から区への移管 <http://www.kiss.c.u-tokyo.ac.jp/docs/kss/ vol16/vol1610fujii.pdf>
[๒๙]Local Autonomy Act (Act No. 67 of 1947)
Article 284.  Unions of local public bodies shall be classified into partial unions, wide-area unions, Total Unions and clerical unions.
2. With the exception of the case provided for in paragraph 6, local public bodies or special wards may agree by consultation and with the approval of the Minister of Home Affairs in the case of a To, Do, Fu or Ken or of the governor of the To, Do, Fu or Ken in the case of other local public bodies, to establish a partial union of local public bodies for the purpose of managing jointly a part of the affairs of the local public bodies. In such case, if all the functions under the authority of an executive organ of a local public body which is a member of the union are transferred to the union, that executive organ shall cease to exist at the time of the establishment of the partial union.
3.Ordinary local public bodies and special wards may, with regard to those affairs which are considered suitable for wide area management, agree with the approval of the Minister of Home Affairs or the governor of the To, Do, Fu or Ken as outlined in the preceding paragraph, to establish a wide-area union, for the purpose of drawing up a general wide area plan (hereafter referred to as the "Wide-Area plan"), implementing the necessary liaison and coordination for the implementation of the Wide-area plan and the administration of its affairs, and also in order to implement a part of the affairs in a generally well-planned manner. In such case, the provisions of the last sentence of the same paragraph shall apply mutatis mutandis.
4. The Minister of Home Affairs shall consult with the chiefs of the national administrative agencies concerned before giving the approval mentioned in the preceding paragraph.
[๓๐]Clean Association of Tokyo 23 Wards -東京二十三区清掃一部事務組合設立 <http://www. union.tokyo23-seisou.lg.jp/somu/somu/kumiai/gaiyo/setsuritsu.html>
[๓๑]Clean Association of Tokyo 23 Wards - <http://www.union.tokyo23-seisou.lg.jp/kojo/index.html>
[๓๒]廃棄物処理施設生活環境影響調査指針 http://www.env.go.jp/recycle/misc/facility_assess/ main01.pdf
[๓๓]Ministry of Economy, Trade and Industry. “3R Policies”. 2 June 2013  <http://www.meti.go.jp/ policy/recycle/main/admin_info/law/index.html#>.
[๓๔]The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society. “Unofficial translation”. 2 June 2013. <http://www.env.go.jp/en/laws/recycle/12.pdf>.
Article 6 (Cyclical use and Disposal of Circulative Resources)
(1) Circulative resources must be put into cyclical use to the greatest extent possible, in light of the need to reduce environmental load by decreasing the quantity disposed of.
(2) The cyclical use and disposal of circulative resources must be undertaken properly so as not to pose impediments to environmental conservation.
Article 7 (Basic Principles of the Cyclical use and Disposal of Circulative Resources) The cyclical use and disposal of circulative resources must be undertaken to the extent technologically and economically possible, taking it into full consideration that, for the reduction of environmental load, it is necessary to proceed under the provisions of the following items. However, consideration must be given to not proceeding under the provisions of the following items if it is deemed effective in reducing environmental load not to proceed under those provisions.
(i) Regarding the entirety of, or one part of, circulative resources, that what can be reused must be reused.
(ii) Regarding the entirety of, or one part of, circulative resources, that what are not reused under the preceding item (i) and can be reclaimed must be reclaimed.
(iii) Regarding the entirety of, or one part of, circulative resources, that what is not reused under the above item (i) nor reclaimed under the preceding item (ii), and from which heat recovery is possible, heat recovery must be undertaken.
(iv) Regarding the entirety of, or one part of, circulative resources, that what does not undergo cyclical use under the foregoing three items must be disposed of.
[๓๕]Thermal Recycling คือ การรีไซเคิลโดยการเผาและนำความร้อนกลับมาใช้ได้ 70% ที่มา การรีไซเคิลและเทคโนโลยีการรีไซเคิลในอนาคต” 2 June 2013. <http://www.thailandindustry.com/guru/view.php?id=17196&section=9>.
[๓๖] Ministry of Economy, Trade and Industry. “3R Policies”. 2 June 2013. <http://www.meti.go.jp/ policy/recycle/main/outline_24fy.html>.
[๓๗]Act on the Promotion of Sorted Collection and Recycling of Containers and Packaging Act No.112 of 1995 ตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณและส่งเสริมการใช้ซ้ำของบรรจุภัณฑ์และหีบห่อสินค้า โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ได้มีการบังคับใช้เกี่ยวกับขวดแก้วและขวดเพ็ท (PET) แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ และตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้ขยายขอบเขตโดยรวมถึงบรรจุภัณฑ์และหีบห่อที่ทำจากกระดาษ และบรรจุภัณฑ์และหีบห่อที่ทำจากพลาสติก โดยเริ่มบังคับใช้กับผู้ประกอบการรายย่อยด้วยหลังจากที่ได้มีการผ่อนผันมาเป็นระยะเวลาหลายปี กฎหมายนี้กำหนดหน้าที่ของประชาชน ผู้ประกอบการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการรีไซเคิล เช่น ผู้บริโภคจะให้ความร่วมมือในการแยกและเก็บขยะ ผู้ประกอบการจะให้ความร่วมมือกับเทศบาล โดยการใช้ซ้ำหรือมอบหมายให้บริษัทอื่นทำแทนในเรื่องของเสียที่เป็นบรรจุภัณฑ์และหีบห่อที่เทศบาลได้แยกและเก็บไว้ และเทศบาลมีหน้าที่แยกและเก็บบรรจุภัณฑ์ โดยเทศบาลต้องจัดทำแผนการแยกและเก็บของเสียของเทศบาล
[๓๘]Ministry of Environment. “Japan’s Experience of 3R”. 2 June 2013. <http://www.env.go.jp/recycle/3r/approach/02.pdf>.
[๓๙]Kyoto City Homepage. 17 June 2013. <http://www.city.kyoto.lg.jp/kankyo/page/0000065549. html>
[๔๐]Environment Label database. 17 June 2013. <http://www.env.go.jp/policy/hozen/green/ ecolabel/>
[๔๑]OECD Environmental Performance Review. “Japan”. 2 June 2013 <http://www.oecd.org/env/country-reviews/46411737.pdf>.
[๔๒]North Kyushu City. “North Kyushu Eco Town Project”. 2 June 2013 <http://www.kitaq-ecotown.com/>.
[๔๓]Ministry of Environment. “Recycle.” 2 June 2013 <http://www.env.go.jp/recycle/waste/local_regulation.html>.
[๔๔]Prime Minister of Japan and His Cabinet. “The Constitution of Japan”. 1 June 2013  <http://www.kantei.go.jp/foreign/constitution_and_government_of_japan/constitution_e.html>.
Article 94 Local public entities shall have the right to manage their property, affairs and administration and to enact their own regulations within law.
[๔๕]The Nippon Foundation Library. “Revised Local Autonomy Law” 1 June 2013 <http://nippon.zaidan.info/ seikabutsu/1999/00168/contents/013.htm>.
Article 14.
Each ordinary local public body shall have the power to enact a bylaw on any subject contemplated in paragraph 2 of Article 2, insofar as not in conflict with law.
2. Each ordinary local public body shall be able to impose duties or restrict rights only by bylaw, unless otherwise prescribed by law.
3. An ordinary local public body may include in its bylaw penal provisions the imposition of imprisonment with or without hard labor not exceeding two years, fine not exceeding 1,000,000 yen, detention, minor fine, confiscation or administrative fine not exceeding 50,000 yen for a violation of its bylaws, unless otherwise specified bylaw.
[๔๖]Nagasaki City. “Regulations”. 1 June 2013 <http://www.city.nagasaki.lg.jp/shimin/140000/149000/p022883.html>.
[๔๗]City of Sapporo. “Regulations”. 1 June 2013 <http://www.city.sapporo.jp/seiso/poisute/poisute_jourei.html>.
[๔๘]City of Sapporo ได้รับความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศบัญญัตินี้ ทั้งสิ้น ๓๙๒ ความเห็นข้อมูลจาก City of Sapporo. “Public Comment”. 2 June 2013 <http://www.city.sapporo.jp/index.html>. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น