วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โลกหมุนไป...แต่กฎหมายไทย(แทบจะ)ไม่หมุนตาม

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[*]

                    ยิ่งใกล้ปี 2558 เข้าไปเท่าไร ถ้าใครไม่พูดถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ออกจะเชยมาก เพราะไทยนั้นเป็นสมาชิกรุ่นลายครามของประชาคมอาเซียนมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นทีเดียว

                    ในแง่มุมกฎหมาย กูรูและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องปรับปรุงกฎหมายไทยของเราให้สอดคล้องกับหลักการและข้อตกลงต่าง ๆ บรรดามีของประชาคมอาเซียนด้วย แต่พอมีใครถามถามท่านผู้รู้เหล่านั้นว่าแล้วเราต้องแก้กฎหมายอะไรบ้าง และต้องแก้อย่างไรจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่านี้ คำตอบที่ได้คือต้องถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพราะหน่วยงานนี้เป็นที่ปรึกษาเรื่องกฎบัตรกฎหมายของรัฐบาล

                    คนไทยเรานั้นมีลักษณะที่โดดเด่นมากกว่าใคร ๆ ในเรื่องของความเชื่อ โดยเรามักจะเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดหรือส่งต่อ ๆ กันมา มากกว่าสืบเสาะว่าที่เขาพูดกันหรือส่งต่อ ๆ กันมานั้นมันเป็นเรื่องจริงหรือไม่  เมื่อเป็นดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือที่คนทั่วไปเรียกกันสั้น ๆ ว่า กฤษฎีกาบ้าง กิดดีกาบ้าง กิดสะดีกาบ้าง สุดแล้วแต่ว่าคนเรียกจะมีความสามารถในการออกเสียงควบกล้ำได้มากน้อยเพียงไร จึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎบัตรกฎหมายที่ต้องมี ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประชาคมอาเซียนไปในบันดลทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ร่วมกำหนดนโยบาย ไม่รู้แนวทางการเจรจา และไม่ได้ไปร่วมเจรจาต้าอ้วยอะไรกับใครเขา

                    แต่เมื่อสังคมมีความเชื่อเช่นนี้เสียแล้ว จะตีโพยตีพายไปก็ใช่ที่ สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพยายามทำก็คือแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยศึกษาหาข้อมูล แล้วพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวแก่สาธารณชน

                   ผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ได้รับมอบหมายให้สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้แก่ประชาชน และเรื่องแรกที่ผู้เขียนอยากจะเล่าให้ฟังก็คือเรื่องโลกหมุนไป แต่กฎหมายไทย(แทบจะ)ไม่หมุนตามนี่แหละ

                   พี่น้องประชาชนที่รักทั้งหลาย กฎหมายนั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้นเพื่อสร้างและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม (Good moral and public order) บทบัญญัติของกฎหมายทั้งในแง่เนื้อหา (Substance) และกระบวนการหรือกลไกของกฎหมาย (Legal mechanism) จึงต้องสอดคล้องกับ “ความต้องการที่แท้จริงของสังคม” (social reality)

                   หลักการที่ว่านี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ใคร ๆ ก็พูดถึงนั่นก็คือเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  ดังนั้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องยึดโยงกับความต้องการประชาชน หรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centre) นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public participation) จึงเป็น “แก่น” ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียง “กระพี้” หรือรูปแบบของประชาธิปไตย เรียกว่าถ้าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนเสียแล้ว การปกครองที่ว่าก็ไม่ถือเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแน่ ๆ ผู้เขียนจึงไม่ใคร่จะเห็นพ้องกับนักวิชาการที่ชอบพูดคำว่าประชาธิปไตย “แบบมีส่วนร่วม” เท่าไรนัก ก็ถ้าไม่มีส่วนร่วมเสียแล้วจะเป็นประชาธิปไตยไปได้อย่างไร? ชิมิ?

                   มีข้อสังเกตว่า ความต้องการของสังคมนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ (Dynamics) เนื่องจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โทรคมนาคม และการคมนาคมขนส่ง ที่ทำให้โลกสวยใสใบนี้กลายเป็นโลกที่ไร้พรมแดนไปแล้ว แต่ละประเทศไม่ได้หยัดยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือเป็นเอกเทศเหมือนเมื่อสองสามร้อยปีก่อนอีกต่อไป

                   ดังนั้น ทุกสังคมหรือทุกประเทศจึงมีการปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนากฎหมายอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ประเทศไหนมัวแต่โอ้เอ้หรือมะงุมมะงาหรากับเรื่องไม่เป็นเรื่องอยู่จนไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะหยุดอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศที่สามารถพัฒนากฎหมายให้ทันต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งความต้องการของสังคมภายในประเทศและสังคมโลก เขาก็จะเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ และทิ้งประเทศที่ยืนนิ่งอยู่ไว้เบื้องหลัง

                   แต่สังเกตไหมครับว่ากฎหมายไทยแต่ละฉบับมีการแก้ไขน้อยครั้งมาก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสักสองฉบับพอเป็นกระษัย คือ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 นี้ใช้มา 14 ปีเศษแล้ว ยังไม่มีการแก้ไขสักครั้งเดียวทั้ง ๆ ที่ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าสภาพการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพที่เป็นอยู่ในปี 2542 แล้วอย่างเห็นได้ชัด หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ใช้มา 34 ปี มีการแก้ไขเพียง 3 ครั้งเท่านั้นเอง นี่ก็เป็นหลักฐานแบบดิบ ๆ ที่แสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่าเราทันหรือพร้อมแค่ไหนกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

                   ยิ่งเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วคงจะไปกันใหญ่ เพราะคราวนี้สินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานมีฝีมือจะไหลเข้าออกบ้านเราได้ง่ายขึ้น เราจะทำอย่างไรกันเพื่อให้การแข่งขันทางการค้าภายในประเทศมีเสถียรภาพและเป็นธรรม รวมทั้งสามารถคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายหรือให้บริการสินค้าหรือบริการราคาถูกแต่ไม่ค่อยมีคุณภาพที่อาจทะลักเข้ามาในบ้านเรา

                   ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจกันเท่าไรนักก็คือการปรับปรุง “กลไกตามกฎหมาย” ครับ ผู้เขียนกังวลในเรื่องนี้มากเพราะกลไกตามกฎหมายของไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเป็นจำนวนมากยังใช้ระบบควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ กับการประกอบกิจกรรมเกือบทุกชนิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน

                   จริง ๆ กลไกตามกฎหมายในระบบควบคุมผ่านการอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตต่าง ๆ นี้ก็ใช้มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว วัตถุประสงค์คือ ให้อำนาจและดุลพินิจแก่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนอย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่ควบคุมจะเกิดการกระด้างกระเดื่องขึ้นอยู่เสมอ ๆ ต่อมาในสมัยล่าอาณานิคม สมัยชาตินิยม หรือสมัยสงครามเย็น การอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตได้กลายเป็นมาตรการป้องกันความลับต่าง ๆ รั่วไหลไปยังฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งการกีดกันทางการค้า กฎหมายทั่วโลกจึงใช้ระบบการอนุญาตนี้กันตะพึดไปหมด

                   ระบบควบคุมแบบที่ว่านี้มันมีปัญหาในตัวเองอยู่อย่างหนึ่ง คือมันสร้างขยายภารกิจของรัฐไปอย่างกว้างขวางเพราะรัฐต้องควบคุมทุกเรื่อง ผลที่ตามมาก็คือรัฐต้องมีบุคลลากรจำนวนมาก ต้องใช้จ่ายเงินภาษีอากรเพื่อเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับม้ารถทศพลและสวัสดิการของข้าราชการทั้งที่ปฏิบัติราชการอยู่และเกษียณอายุไปแล้วเป็นจำนวนมาก และต้องซื้อและบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือสารพัดเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเป้าหมาย

                   พอมีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเข้า ปัญหาใหญ่ก็ตามมาอีกเป็นพรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเอาเงินที่ไหนไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องมาจากเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐเองมีรายได้หลักจากภาษีอากรที่บังคับเรียกเก็บจากประชาชน ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ที่ว่านี้เพิ่มขึ้นไม่มากนักในแต่ละปีขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงมากในแต่ละปี เมื่อค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างก็ต้องการให้มีการปรับปรุงเงินเดือนและบรรดาค่าตอบแทนต่าง ๆ แต่ถ้ารัฐจะเพิ่มเงินเดือนค่าจ้างให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องใช้เงินมหาศาลเพราะมีข้าราชการจำนวนมาก ทีนี้ก็ต้องไปเบียดงบลงทุนซึ่งมีน้อยอยู่แล้วในแต่ละปี ปัญหาตามมาก็คือ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศ แถมประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีอาจตั้งคำถามขึ้นได้ว่า เพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทนแล้วระบบราชการจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่

                   คำตอบก็คือหัวใจของระบบควบคุมตามกฎหมายนั้นเน้นไปที่การปฏิบัติตามขั้นตอนและกฎระเบียบ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมากในการทำงานภายใต้ระบบควบคุม เพียงทำตามขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติที่กำหนดก็พอแล้ว คนไฟแรงหรือคิดอะไรใหม่ ๆ จึงอยู่ในราชการไม่ค่อยจะได้เพราะอึดอัดและค่าตอบแทนต่ำ ที่สำคัญ หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่จริงจัง ระบบควบคุมนี้ก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ พูดง่าย ๆ ก็คือควบคุมไม่ได้อย่างที่คิด แถมเจ้าหน้าที่ที่มีเถยจิตเป็นโจรก็อาจใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือในทางที่ผิดหรือกระทำทุจริตได้โดยสะดวกเสียอีก

                   นอกจากจะสร้างต้นทุนในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายให้รัฐต้องวุ่นวายดังได้กล่าวมาแล้ว ระบบควบคุมผ่านการอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตนี้ยังสร้างขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบขึ้นมากมายซึ่งเป็นการสร้างต้นทุนในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน (Administrative Burden) อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารเพื่อประกอบคำขออนุญาต ค่าคำขอ ค่าธรรมเนียมการอนุญาต ค่าต่อใบอนุญาต ฯลฯ และต้นทุนที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ เช่น เวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการหรือรอรับใบอนุญาตต่าง ๆ การเสียโอกาสในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ

                   ดังนั้น เมื่อสงครามเย็นอันเป็นเหตุผลสุดท้ายที่รัฐอ้างเพื่อควบคุมการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนแทบทุกเรื่องยุติลงในปี 1991 อันเป็นปีที่กำแพงเบอร์ลินถูกทุบ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจึงเริ่มปรับเปลี่ยนกลไกตามกฎหมายของเขาเสียใหม่จากการใช้ระบบควบคุมที่ว่านี้มาเป็นระบบกำกับดูแลและระบบส่งเสริมเป็นส่วนใหญ่ และใช้ระบบควบคุมเฉพาะเพียงเรื่องเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

                   อย่างสิงคโปร์ที่ใคร ๆ ก็ชอบยกเป็นตัวอย่างนั้น เมื่อแรกที่แยกเป็นรัฐอิสระจากมาเลเซียในปี 1965 เขาใช้ระบบควบคุมเข้มข้นกับทุกเรื่องเหมือนกันนะครับ แต่หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีลีกวนยูมองเห็นปัญหาของระบบควบคุมผ่านการอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้น ท่านจึงปรับปรุงระบบกฎหมายของสิงคโปร์เสียใหม่ เขายังใช้ระบบควบคุมเข้มข้นกับบางเรื่องที่จำเป็น เช่น การจำกัดจำนวนรถยนต์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวก (Facilitator) แก่เอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ และเป็นกรรมการคอยกำกับดูแล (Regulator) ให้ผู้ประกอบการประกอบกิจการให้เป็นไปตามกติกาที่วางไว้เท่านั้น

                   การเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของสิงคโปร์เกี่ยวกับระบบกฎหมายที่ว่านี้ทำให้ประเทศเขาพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะภาครัฐวุ่นวายเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น จึงลดจำนวนข้าราชการและขั้นตอนที่สร้างความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจได้มากมายมหาศาล รัฐกลายเป็นผู้กำหนดกติกา ส่งเสริม อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลให้ผู้ประกอบกิจการภาคเอกชนทำตามกติกา รวมทั้งลงโทษผู้กระทำผิดกติกาอย่างจริงจังโดยไม่มีการหยวน หรืออ้างว่าพรรคพวกกัน หรือผู้ใหญ่ขอมา ฯลฯ ผลทางอ้อมทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National competiveness) ของเขาสูงขึ้นจนติดอันดับโลก สร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล และไม่แปลกที่เขาจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการในอัตราที่สูงมาก

                   จากข้อมูลของสิงคโปร์ที่ปรากฏใน Global Competitiveness Report 2013-2014 ที่จัดทำโดย World Economic Forum ขีดความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 2 ของโลกรองจากสวิตเซอร์แลนด์ (จากทั้งหมด 148 ประเทศ) โดยเขาได้คะแนนในหัวข้อ Burden of government regulation เป็นอันดับ 1 ของโลก (หน้า 341) ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 37 และได้คะแนนในหัวข้อ Burden of government regulation เป็นอันดับที่ 90 ของโลกเท่านั้น (หน้า 365)

                   ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิงคโปร์จึงไม่ต้องปรับปรุงกฎหมายอะไรเลย เพราะทำมานมนานแล้ว เรียกว่า Singapore goes beyond AEC ไปแล้ว

                   สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันระบบราชการไทยเรายังคงยึดมั่นอยู่กับระบบควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ กับการประกอบกิจกรรมเกือบทุกชนิด ดังจะเห็นได้จากการที่ร่างกฎหมายใหม่ ๆ ที่มีการเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อพิจารณานั้นยังคงอุดมไปด้วยการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ดังนั้น เราจึงค่อนข้างวุ่นวายกว่าใคร ๆ ในการที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกปีกว่า ๆ ที่จะถึงนี้

                   ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรล่ะเพื่อให้กฎหมายไทยตามทันโลก?

                   ผู้เขียนเห็นว่าเราสามารถแบ่งได้ 2 กรณี

                   1. กรณีร่างกฎหมายใหม่

                   ผู้เขียนพบว่าหลายประเทศกำหนดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบจากการตรากฎหมาย (Regulatory Impact Analysis: RIA) โดยละเอียดและจริงจังก่อนการยกตัวบทร่างกฎหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของการทำ RIA นี้จะต้องมีการกำหนดปัญหาให้ชัดเจน วิเคราะห์ที่มาของปัญหาว่าเกิดจากอะไร มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง และทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด หรือต้องใช้หลายทางเลือกประกอบกัน หากต้องมีการตรากฎหมายขึ้น หลักการและกลไกตามกฎหมายควรเป็นอย่างไร ผลกระทบต่อด้านอื่นมีไหมเพราะเหรียญมีสองด้านเสมอ เช่น การเพิ่มสวัสดิการแรงงานในระบบ อาจทำให้มีการจ้างงานน้อยลง เพราะผู้ประกอบการอาจเลือกที่จะนำเครื่องจักรมาใช้แทนเพราะมีต้นทุนที่ถูกว่าการจ้างแรงงานคน เป็นต้น ต้องมีการวิเคราะห์ Cost-benefit relationships และ Cost-effectiveness relationships ของข้อเสนอให้มีกฎหมายโดยละเอียด รวมทั้งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อย่างกว้างขวางและทั่วถึง และไม่ใช่เพียงแค่รับฟัง แต่ต้องให้คำตอบที่มีเหตุผล (Reasonable responses) ต่อข้อกังวลหรือความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจังด้วย หากฝ่ายบริหารเห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายนั้นจริงก็จะอนุมัติหลักการของร่างกฎหมายแล้วส่งให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดำเนินการต่อไป

                   ในการร่างกฎหมาย ผู้เขียนพบว่าบางประเทศกำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกรอบระยะเวลา 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง แล้วแต่สภาพของเรื่อง โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียประกอบด้วย และต้องทำรายงานเสนอรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องเปิดเผยรายงานนั้นและต้องเสนอรายงานต่อรัฐสภาภายในเวลาที่กำหนดเพื่อให้รัฐสภาและสาธารณชนตรวจสอบด้วย ไม่อย่างนั้นเรื่องก็จะเงียบหายไป ซึ่งในการร่างกฎหมายเราเรียกบทบัญญัติทำนองนี้ว่า Sunset Clause ครับ

                   2. กรณีกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว

                   ผู้เขียนพบว่าบางประเทศใช้วิธีกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความสัมฤทธิ์ผลของกฎหมาย (Ex post evaluation of legislations) ไว้ แต่ให้เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะกำหนดให้มีการประเมินกฎหมายใด เมื่อใด และโดยหน่วยงานใด แต่ต้องประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียประกอบการดำเนินการ รวมทั้งต้องทำรายงานเสนอรัฐบาลหรือรัฐสภา และรัฐบาลหรือรัฐสภาต้องเปิดเผยรายงานนั้นต่อสาธารณชนด้วย

                   บางประเทศให้เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่บางประเทศ เช่น สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ มีหน่วยงานสังกัดรัฐสภาทำหน้าที่นี้เป็นการเฉพาะ หน่วยงานนี้แม้จะสังกัดรัฐสภาก็จริง แต่ผู้ตรวจสอบจะเป็นคณะนักวิชาการ 8-16 คน แล้วแต่กรณี และคณะนักวิชาการเหล่านี้มีอิสระในการดำเนินงานและเป็นกลางทางการเมือง ที่ทำงานไม่ได้ใหญ่โตโอ่โถงหรือมีป้ายใหญ่ยักษ์เหมือนอย่างหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา แต่เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินการ

                   เรื่องวิธีการประเมินความสัมฤทธิ์ผลของกฎหมาย (Ex post evaluation of legislations) นี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจังและเป็นระบบ เราเน้นการออกกฎหมายใหม่ ๆ มากกว่าที่จะไปทบทวนว่ากฎหมายที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นมันเหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร หรือควรจะยกเลิกเสีย ยกตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับภาษี หากมีการทำ RIA อย่างจริงจัง เราอาจได้ระบบภาษีที่เหมาะสมเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ เพราะผู้เขียนต้องถามตัวเองทุกปีว่าแต่ละปีนั้นผู้เขียนใช้เงินเลี้ยงดูบุตรที่ยังเรียนหนังสืออยู่ปีละเท่าไร เพราะเขาให้หักค่าเลี้ยงดูบุตรที่อยู่ระหว่างการศึกษาได้ปีละ 15,000 บาทเท่านั้นเอง!!!

                   บัดนี้ ถึงเวลาแล้วกระมังครับที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติควรที่จะร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และเป็นระบบเพื่อให้มีการทบทวนและปรับปรุงกลไกตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เหมาะสม และปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐจากผู้ควบคุม (Controller) การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ มาเป็นผู้ส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวก (Facilitator) แก่เอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ และเป็นกรรมการคอยกำกับดูแล (Regulator) ให้ผู้ประกอบการประกอบกิจการให้เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ รวมทั้งบังคับให้มีการทำ RIA และการประเมินความสัมฤทธิ์ผลของกฎหมายกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ กฎหมายไทยจะได้หมุนตามทันโลกเหมือนอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเขาเสียที

                   ถ้าปรับได้อย่างที่ว่านี้ ผู้เขียนก็เห็นว่าประเทศไทยก็สามารถ goes beyond AEC กับเขาได้เหมือนกันละน่า…



*บทความนี้เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียน แม้ผู้เขียนจะทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่หน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย และไม่ถือเป็นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา* 


[*]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2556) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น