วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดการร่างกฎหมาย 4: การเรียกชื่อกฎหมาย

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   มีคนจำนวนมากที่หยิบกฎหมายขึ้นมาอ่านแล้วมักจะเกิดความสงสัยขึ้นตั้งแต่แรกว่า กฎหมายแต่ละฉบับนั้นได้ระบุชื่อกฎหมายไว้ตั้งแต่สามบรรทัดแรกแล้ว เหตุใดมาตรา 1 ของกฎหมายทุกฉบับจึงยังต้องบัญญัติไว้อีกว่า “มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติ ................... พ.ศ. ....”

                   แต่แปลกครับ คนทำร่างกฎหมายและพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนมากกลับไม่ค่อยสงสัยอย่างชาวบ้านเขา เคยเขียนกันมาอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร ก็เขียนต่อไปอย่างนั้น นัยว่ามันเป็น “แบบ” การเขียนกฎหมายไปเสียแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อมีใครถามขึ้นมาว่าหัวกฎหมายก็มีชื่อกฎหมายไว้ชัดเจนแล้ว ทำไมถึงต้องมีมาตรา 1 อีก คนทำร่างกฎหมายและพิจารณาร่างกฎหมายก็ตอบด้วยความมั่นใจว่า “ก็มันเป็นแบบ”

                   จริง ๆ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีความเห็นในเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2478 แล้ว โดยกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ที่ ฎ. 5399/2478 ลงวันที่ 11 กันยายน 2478 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ชื่อกฎหมายที่ตั้งกันในเวลานั้นออกจะยาวยืดยาดมิใช่น้อย สมควรที่จะแก้ไขชื่อกฎหมายให้สั้นเข้าตามแบบอย่างต่างประเทศ จึงมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสนอความเห็นในเรื่องนี้

                   คณะกรรมการกฤษฎีกา (อนุกรรมการ ชุดที่ ๓) ศึกษาแนวทางของต่างประเทศแล้วจึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สรุปความได้ว่า วิธีการเรียกชื่อกฎหมายของต่างประเทศที่เป็นสากลนั้นมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีคอนติเนนต์ กับวิธีแองโกลแซกซอน

                   1. วิธีคอนติเนนต์ ชื่อกฎหมายจะยาวหรือสั้นต้องแล้วแต่พฤติการณ์ และอันที่จริงก็ไม่มีใครเอาใจใส่ในข้อนี้นัก
                             1.1 ในประเทศฝรั่งเศส ชื่อกฎหมายอยู่ในตอนต้นเสมอ และมิได้มีมาตราพิเศษกำหนดชื่อไว้ เช่น กฎหมายกำหนดงบประมาณประจำปี ค.ศ. 1934 (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934) กฎหมายเกี่ยวกับการเดินอากาศ (วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1924) กฎหมายแก้ไขความในมาตรา 295 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งเกี่ยวกับการสมรสระหว่างสามีและภริยาที่หย่ากันแล้ว (วันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1924) กฎหมายให้สัตยาบันกฤษฎีกาลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 รับรองข้อปรึกษาของคณะกรรมการประจำแห่งรัฐมนตรีสภาอินโดจีน ลงวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1932 แก้ไขพิกัดอัตราภาษีศุลกากรแห่งอินโดจีนเกี่ยวกับน้ำมันที่ได้จากพื้นดิน และวัตถุอื่นที่ได้จากน้ำมันนั้น วิธีเก็บภาษี และภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำมัน (วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1934)
                                ในทางปฏิบัติตามปกติ ประเทศฝรั่งเศสเรียกกฎหมายตามกาละที่ออกโดยเต็ม (คือวัน เดือน ปี) กับข้อความโดยย่อของกฎหมายนั้น เช่น ศาลอาจเรียกกฎหมายที่กล่าวข้างต้นฉบับสุดท้ายแต่เพียง กฎหมายวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 เรื่อง ภาษีน้ำมันที่ได้จากพื้นดินในอินโดจีน
                             1.2 ในประเทศเยอรมันนี เบลเยียม บูลกาเรีย จีน เดนมาร์ก ฮังการี
เนเดรลันด์ นอรเวย์ รูเมเนีย รัสเซีย (โซเวียต) สเปน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์และในอเมริกา อาร์เยนไตน์ บราซิล ฯลฯ เหล่านี้ดำเนินตามวิธีทำนองเดียวกับฝรั่งเศส
                             1.3 เป็นที่น่าสนใจที่ควรสังเกตว่า วิธีการร่างกฎหมายของอิตาลีซึ่งดำเนินรอยตามแบบคอนติเนนต์นั้น ยังมีเลขหมายเป็นพิเศษประจำกฎหมายที่ได้ออกใช้ทุก ๆ ฉบับเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น กฎหมายวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1931 ฉบับที่ 659 ให้อำนาจรัฐบาลประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่แยกเป็นบรรพและลักษณะต่างหาก หรือกฎหมายวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1931 ฉบับที่ 18 ให้สัตยาบันกฤษฎีกาลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1930 ฉบับที่ 1491 ตัดเงินเดือนข้าราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

                   2. วิธีแองโกลแซกซอน วิธีที่ใช้ในประเทศอังกฤษและเมืองในครอบครองมีการเรียกชื่อกฎหมายเป็นสองชื่อ คือ ทีแรกให้ชื่อเต็ม (Long title) ไว้ในตอนขึ้นต้น ต่อมาจึงระบุชื่อย่อ (Short title) ไว้ในมาตราหนึ่งของกฎหมายนั้น เช่น กฎหมายวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1931 เรื่อง งดใช้มาตราทองคำซึ่ง Long title มีชื่อยืดยาวว่า 21 and 22 Geo. V. ลงวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1931 An Act to suspend the operations of subsection 2 of section one of the Gold Standard Act 1925 and for purposes connected therewith (พระราชบัญญัติงดการใช้มาตรา 1 อนุมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติมาตราทองคำ ค.ศ. 1925 และกิจการอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการนี้) ส่วนชื่อย่อของกฎหมายนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า “Section 2.  The present Act shall be called the Gold Standard Amendment Act 1931 (พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติมาตราทองคำแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1931) บางทีก็ใช้ว่า “Section .. This Act may be cited as “……………………..”. (พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “...............”)

                   ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (อนุกรรมการ ชุดที่ 3) คณะกรรมการนี้ไม่เห็นด้วยกับวิธีหนึ่งวิธีใดโดยเฉพาะ เพราะต่างก็มีทั้งคุณประโยชน์และความไม่สะดวกด้วยกันทั้งสองวิธี ซึ่งต่อมากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือที่ ฎ. 9824/2478 ลงวันที่ 23 มกราคม 2478 แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   ต่อมาในปี 2489 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และภายหลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน คือ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐสภาจึงมติเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เป็นต้นไป และรัฐสภาได้ประกาศแต่งตั้งพระบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้พิจารณาปรับปรุงแบบกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในครั้งนี้ได้กำหนด “แบบ” การเรียกชื่อพระราชบัญญัติไว้ชัดเจน ดังนี้

                   “มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติ ................ พ.ศ. ....”

                   ซึ่งแบบการเรียกชื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามวิธีเรียกชื่อกฎหมายแบบ
แองโกลแซกซอน และคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่าชื่อพระราชบัญญัตินั้น “ควรใช้ข้อความให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสะดวกในการเรียกชื่อและอ้างถึง ส่วนศักราชนั้น แต่เดิมมาใช้คำเต็มว่า “พุทธศักราช” กรรมการเห็นควรใช้คำย่อว่า “พ.ศ.” ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วแทน ในการนี้กรรมการมุ่งถึงการประหยัดด้วย”

                   เห็นไหมล่ะว่ามีที่มา!!!

ข้อมูลอ้างอิง

                   -เรื่องเสร็จที่ 107/2478
                   -เรื่องเสร็จที่ 136/2488





[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น