ผมไม่ได้เรียนกับศาสตราจารย์ Tina Seelig ซึ่งเป็น Executive Director of Stanford Technology Ventures Program มหาวิทยาลัย Stanford โดยตรง แต่อาศัยเรียนกับเธอผ่านการถ่ายทอดสดรายการ First Class ทาง NHK World TV
ผมว่าเธอสอนสนุกดีและมีประโยชน์มาก น่าเสียดายเป็นรายการกึ่ง ๆ วิชาการ ไม่สวมหน้ากาก ไม่มีตบจูบ ไม่มีบทยิงกันสนั่นจอราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ไม่มีบทตบตีแย่งเมียชิงผัวกัน ไม่มีฉากบนเตียง ไม่มีดราม่า ไม่มีพูดมึงพูดกูออกอากาศ ที่สำคัญสอนเป็นภาษาอังกฤษ เลยไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา
เมื่อวันก่อนเธอสอนเรื่อง Creativity ผมว่าน่าสนใจจึงคิดว่าสรุปมาแบ่งปันกันดีกว่า เผื่อเป็นไอเดียในยุคปฏิรูปที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อลูกเพื่อหลานไทยในเจนเนอเรชั่นถัด ๆ ไป
ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) Professor Seelig บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม (Innovation) ถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมไม่เกิด เรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าคิดจะให้มีนวัตกรรม ก็ต้องสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ก่อน ไม่งั้นคงไปต่อยาก เพราะทุกอย่างจะวนอยู่ในกรอบคิดเดิม ๆ ทำแบบเดิม ๆ ร่ำไป บรรยากาศไม่ดี สุนทรีย์ไม่เกิด อะไรทำนองนั้น
Professor Serling ให้ความเห็นว่าสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของคนมีความคิดสร้างสรรค์ (1) ช่างสังเกต (Observation) - ช่างสังเกตกับช่างเผือกนี่ต่างกันนะครับ ต้องแยกแยะให้ดี และ (2) ชอบความท้าทาย (Challenge assumption)
สำหรับปัจจัยที่จะผลักดันให้คนมีความคิดสร้างสรรค์นั้น เธอยกตัวอย่างสภาพแวดล้อม (Space) เช่น ตอนเรียนอนุบาลเด็ก ๆ จะมีพื้นที่รอบตัวกว้างมาก มีสนามเด็กเล่น มีสีสัน มีอะไรให้สมองพัฒนามาก พอเรียนสูงขึ้นไปพื้นที่สำหรับเรื่องเหล่านี้จะแคบลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเหลือแค่โต๊ะเลคเชอร์เล็ก ๆ พับได้ในห้องบรรยายสี่เหลี่ยมที่ไม่มีสีสรร แถมพอจบออกไปทำงาน modern office ก็จัดเป็นล๊อก ๆ แคบ ๆ หน้าตาเหมือนกันทุกล๊อกชวนหดหู่อีก ซึ่งมาพร้อมกับกฎระเบียบแบบแผนร้อยแปดพันประการที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างนี้ใครมันจะไปคิดอะไรใหม่ ๆ ออก แค่ทำตาม ๆ job description และกฎระเบียบก็ได้เงินเดือนไปใช้ง่าย ๆ แล้ว จะต้องไปคิดอะไรกันไปทำไม บริษัทใหญ่ ๆ เขาเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เขาจึงพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ยิ่งพนักงานมีพลังสร้างสรรค์ การทำงานยิ่งมีประสิทธิภาพ
นอกจากสภาพแวดล้อม หัวหน้าก็เป็นปัจจัยสำคัญเธอว่า ลองไปเจอหัวหน้าบ้าอำนาจเข้า ความอยากคิดอะไรใหม่ ๆ เป็นไม่มี เพราะคิดไปก็เท่านั้น
เรื่องเวลาก็สำคัญ เธอว่าจะเอาความคิดสร้างสรรค์มันคงต้องใช้เวลาบ้าง กว่ามันจะแล่บออกมาได้ หรือกว่าจะลองผิดลองถูกเสร็จ มีคนเปรียบเทียบว่าง่ายเหมือนบะหมี่สำเร็จรูป แต่ลองไปอ่านประวัติการพัฒนาบะหมี่สำเร็จรูปดูสิครับ ท่านจะพบว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะทำให้บะหมี่สำเร็จรูปเกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เธอกล่าวถึงคือทีมงานและองค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่พร้อมจะยอมรับและทดลองสิ่งใหม่ ไม่ใช่สักคิดแต่ว่าของเก่ามันดีอยู่แล้วตะพึดไป มันจะดีตลอดกาลไม่ได้เพราะโลกมันหมุนไปข้างหน้า โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าความคิดแบบนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เธออธิบายมาข้างต้น เรามี Space ที่จำกัดลงเรื่อย ๆ ในชีวิต เราจึงอยู่แต่ใน Space ของเรา หวงแหนและไม่อยากให้ใครเข้ามาใน Space ของเรา พูดง่าย ๆ ก็คือไม่อยากเปลี่ยนแปลงใด ๆ (จริง ๆ ตอนฟังที่เธอบรรยายใจผมมันแปลคำว่า Space ตรงนี้ว่า "กะลา" โดยไม่ได้ตั้งใจ)
ในประเด็นนี้ Professor Seelig บอกว่าไม่ใช่ว่าความคิดสร้างสรรค์ทุกเรื่องมันจะสำเร็จตามเป้าหมาย แต่การได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม แม้มันจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่การยอมรับความผิดพลาดมันจะช่วยทำให้ทีมและคนในองค์กรเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นและพัฒนาขึ้น ไม่หยุดอยู่ที่เดิม และเป็นธรรมชาติที่คนปกติที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก Seelig ย้ำว่าความล้มเหลวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างสรรค์ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใดสำเร็จได้โดยไม่ล้มลุกคลุกคลานกันมาก่อน ถ้าว่ากันแบบไทย ๆ ก็คือผิดเป็นครูนั่นเอง
นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อม ทีมงาน เวลา วัฒนธรรมองค์กรแล้ว Seelig ให้ความสำคัญอย่างมากต่อทัศนคติ (Attitude) ที่เชื่อมั่นว่า "ทุกคนทำได้" (You could) การให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจกัน รวมทั้งให้กำลังใจกันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เอาแต่โทษนั่นโทษนี่เรื่อยไป
ตอนจบรายการเธอไม่ได้สรุปอะไร แต่ให้นักเรียนนักศึกษาหนุ่มสาวในห้องวิ่งไปหาเพื่อน 2 คน ใน 2 นาที เพื่อเขียนในกระดาษ post-it ว่าพวกเขาได้อะไรจากคลาสในวันนี้
ภาพสุดท้ายของรายการนี้ตัดไปที่ post-it ใบหนึ่ง บนนั้นเขียนว่า
"Impossible is nothing" ครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น