นางสาวสัจจรัตน
พิชิตปัจจา[๑]
นางสาวใจใส
วงส์พิเชษฐ[๒]
การพัฒนาคุณภาพของกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้เกิดขึ้นจากแรงผลักดันในยุครัฐบาลประธานาธิบดีคิม
แดจุง ให้เกิดการปรับโครงสร้างการบริหารภายในประเทศเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลพวงที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเซียในปี
พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ประเทศเกาหลีใต้จึงได้ตราพระราชบัญญัติ Framework Act on Administrative Regulation 1997 (Framework Act 1997) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อวางรากฐานในการปฏิรูปกฎหมายและเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ Regulatory
Reform Commission (RRC) และหน่วยงานธุรการ Regulatory
Reform Office (RRO) ขึ้นในปีถัดมา เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
กฎหมายกลางเพื่อการพัฒนากฎหมาย
Framework Act on Administrative Regulation 1997 (Framework Act 1997)
เป้าหมายเริ่มแรกของพระราชบัญญัติ Framework Act 1997 คือการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน
และเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ผ่านการพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย
และแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่สร้างภาระต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายแก่ผู้ประกอบการมากเกินจำเป็น
(Administrative burdens)[๓] โดยนอกจากจะกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ
RRC และหน่วยงานกลาง RRO แล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องทำการทบทวนกฎหมายในความดูแลของตนเองเพื่อพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือหมดความจำเป็น
และในกรณีที่หน่วยงานใดต้องการจะเสนอร่างกฎหมายใหม่ หน่วยงานนั้นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องก่อนจะดำเนินการวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นในการออกกฎหมายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายนั้น ทั้งนี้ กฎหมายที่หน่วยงานเสนอจะต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
และมีเป้าหมายเพื่อปกป้องชีวิต สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขของสังคม[๔]
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้กำหนดให้มีการจัดทำและเผยแพร่ฐานข้อมูลกฎหมายของประเทศ
ทั้งในรูปแบบการรวบรวม (Compilation) และการจำแนกตามหมวดหมู่เนื้อหา (Codification) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจกฎหมายได้โดยง่าย
พระราชบัญญัติ Framework
Act 1997 มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยแก้ไขมาตรา ๑๗ เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการเรียกร้องต่อคณะกรรมการ
RRC ให้ดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย[๕]
หน่วยงานกลางเพื่อการพัฒนากฎหมาย
Regulatory
Reform Committee (RRC) และ Regulatory Reform Office (RRO)
คณะกรรมการ RRC
ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติ Framework
Act 1997 มีภารกิจในการกำหนดทิศทางนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายของประเทศ
และเป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว คณะกรรมการ RRC มีอำนาจเด็ดขาดในการพิจารณาเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายของฝ่ายบริหารทั้งหมดและรายงานโดยตรงต่อประธานาธิบดี แต่หน่วยงานธุรการ RRO จะดำเนินงานภายใต้สังกัดสำนักงานประสานนโยบายของรัฐ
(Office for Government Policy Coordination) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี
ภารกิจหลักอื่นของคณะกรรมการ RRC คือ (๑) การศึกษาทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายที่ควรได้รับการปรับปรุงหรือยกเลิก
(๒) จัดทำหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกฎหมาย
(๓) ตรวจสอบและประเมินคุณภาพรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายรวมทั้งกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่หน่วยงานจัดทำเสนอ
(๔) รับจดทะเบียนกฎหมายทั้งหมดในประเทศเกาหลีใต้
ทั้งในกรณีที่มีการออกกฎหมายใหม่ มีการแก้ไขปรับปรุง
หรือในกรณีที่มีการยกเลิกกฎหมาย เพื่อจัดทำและเผยแพร่ฐานข้อมูลกฎหมายของประเทศ และ
(๕) ตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายโดยหน่วยงานอื่น ๆ
ของรัฐในทุกระดับชั้น[๖]
ในส่วนของหน่วยงาน RRO
นอกจากจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการให้แก่คณะกรรมการ RRC แล้ว RRO
ก็ยังทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานกับหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ
เพื่อให้คำแนะนำในการดำเนินการตามนโยบายพัฒนากฎหมายของคณะกรรมการ RRC และให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย
รวมไปถึงจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายของทุกกระทรวงบนพื้นฐานของแผนการพัฒนากฎหมายตามที่แต่ละกระทรวงได้กำหนดไว้
คณะกรรมการ RRC มีกรรมการทั้งหมด
๒๒ คน เป็นตัวแทนจากภาครัฐ ๖ คน และภาคประชาชน ๑๔ คน และมีประธานร่วมเป็นนายกรัฐมนตรีและตัวแทนจากภาคเอกชน
๑ คน หน่วยงาน RRO มีบุคลากรทั้งหมดจำนวนประมาณ
๙๐ คนจากข้อมูลในปี ๒๕๕๙ [๗]
การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย
Regulatory
Impact Analysis (RIA)
สำหรับการเสนอร่างกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานผู้เสนอเรื่องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น
(Preliminary Review) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
RRC พิจารณาว่าร่างกฎหมายนั้นมีความสำคัญเพียงพอที่จะต้องจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายฉบับสมบูรณ์หรือไม่
โดยรายงานฉบับเบื้องต้นนี้จะต้องประกอบไปด้วย ร่างกฎหมาย ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
เหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมาย และผลการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น โดยหน่วยงานผู้เสนอเรื่องจะต้องเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดผ่านเว็บไซต์เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จด้วย
คณะกรรมการ RRC
จะประเมินความสำคัญของร่างกฎหมายด้วยการพิจารณาผลกระทบภายใต้หลักเกณฑ์
คือ (๑) มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละปีเป็นมูลค่าเกิน ๑๐
ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (๒) มีผลกระทบต่อประชาชนเกินหนึ่งล้านคน หรือ (๓) มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
หากคณะกรรมการ RRC
เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการจัดทำ RIA
เพิ่มเติม รายงาน Preliminary Review ที่จัดทำโดยหน่วยงานจะถือว่าเป็นที่สิ้นสุดของกระบวนการ
RIA สำหรับร่างกฎหมายนั้น ในกรณีนี้ คณะกรรมการ RRC จะต้องดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐ วัน แต่หากคณะกรรมการ RRC มีมติว่า
ร่างกฎหมายดังกล่าวจำเป็นจะต้องจัดทำ RIA เพิ่มเติม คณะกรรมการ RRC จะเป็นผู้ดำเนินการทบทวนและจัดทำรายงาน
RIA เพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน
๔๕ วัน[๘]
ในปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้มีบุคลากรภาครัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายในหน่วยงานส่วนกลางอยู่ทั้งสิ้นประมาณ
๔๐๐ คน และบุคลากรในหน่วยงานส่วนท้องถิ่นประมณน ๖๑๓ คน นอกจากหน่วยงาน RRO แล้ว ในประเทศเกาหลีใต้ยังมีหน่วยงานย่อยที่ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนากฎหมายของประเทศอีกหลายหน่วยงาน
ตัวอย่างเช่น Regulatory Reform Task Force เป็นคณะทำงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานของรัฐในการจัดทำ
RIA เฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเทคโนโลยี และ Regulatory
Reform and Legal Affair Division ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนากฎหมาย
และให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดทำ RIA และการทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของแต่ละหน่วยงานโดยเฉพาะ[๙] นอกจากนี้ ในปี ๒๕๕๗ ประเทศเกาหลีใต้ได้ริเริ่มระบบ
Sinmungo เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องให้หน่วยงานหรือคณะกรรมการ
RRC ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เหมาะสมหรือหมดความจำเป็น โดยหนึ่งปีหลังจากการใช้ระบบนี้ คณะกรรมการ RRC ได้รับคำร้องประมาณ ๖,๕๐๐ ฉบับ และหน่วยงานได้ดำเนินการทบทวนแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอแนะของประชาชนเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ
๓๖.๖[๑๐]
อนึ่ง ผลสำรวจจาก OECD ในปี ๒๕๕๘ พบว่า การวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย การทบทวนกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในประเทศเกาหลีใต้ล้วนมีคุณภาพอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก[๑๑]
การออกแบบโครงสร้างองค์กรและกระบวนการพัฒนากฎหมายของประเทศเกาหลีใต้จึงนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายในประเทศไทย
[๑]นิติกรปฏิบัติการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (โครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านนิติบัญญัติ)
[๒]นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ กองพัฒนากฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๓]สืบค้นจากเอกสารประกอบการประชุม Regulatory Policy Committee ครั้งที่ ๑๖ ในหัวข้อ ‘Regulatory
Policy Review of Korea’ ในวันที่ ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๕๖๐ ณ OECD
Conference Centre กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
[๔]สืบค้นจากเอกสารประกอบการประชุม
EAS Roundtable II ในหัวข้อ Regulatory
Reform in Korea’s Economic Transformation โดย Prof. Dae Yong
Choi ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ ณ เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย <http://www.eria.org/events/Regulatory-Reform-in-Korea-Economic-Transformation.pdf>
[๕]สืบค้นจาก
https://ombudsman.kotra.or.kr:446/eng/rli/lgs/na.do?mode=view&blNo=2005286
[๖]Chapter IV Regulatory Reform Committee, Framework Act on Administrative
Regulations
(Act No.
13329)
[๗]อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๓
[๘]สืบค้นจาก
https://better.go.kr/fzeng.page.AboutRRC.laf
[๙]อ้างแล้วในเชิงอรรถที่
๓
[๑๐]สืบค้นจาก
OECD Regulatory Policy Outlook 2015 Country Profile:
Korea
[๑๑]อ้างแล้วในเชิงอรรถที่
๑๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น