วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าในวงการกฎหมาย ในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดย นางสาววรนารี สิงห์โต

นางสาววรนารี สิงห์โต
นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมามีการประชุม 20th Annual IBA Transnational Crime Conference ของสมาคมเนติบัณฑิตระหว่างประเทศ (IBA) ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้ผู้เขียนเข้าร่วมประชุมด้วย และผู้เขียนเห็นว่าการประชุมครั้งนี้มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาวงการกฎหมายไทยมาก โดยเฉพาะในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ จึงสรุปผลการประชุมในแต่ประเด็นเพื่อเผยแพร่ต่อผู้สนใจ ดังนี้

                   ประเด็นที่หนึ่ง Data privacy: challenges in internal cross-border investigations and criminal defence work

                   เป็นการศึกษาและพิจารณาผลกระทบต่อการป้องกันอาชญากรรมและการสืบสวนข้ามพรมแดนของ European Regulation 679/2016 of the European Parlament and of the Council of 27 April 2016 (the GDPR) ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลธรรมดาในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลและการเคลื่อนย้ายอิสระของข้อมูล และยกเลิก Directive 95/46/EC (General Data Protection Regulation) ซึ่งการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและข้อมูล (Privacy and Data Protection) กำหนดไว้ใน Article 7[1] และ Article 8[2] แห่งกฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป (Charter of Fundamental Right of the European Union) เพื่อรับรองว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนของตน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณา Directive (EU) 2016/680 of the European Parliament and of the Council of 27 April 2016 ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลธรรมดาในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเพื่อการป้องกัน การสืบสวน การตรวจสอบ หรือการดำเนินคดีต่อการกระทำความผิดทางอาญาหรือการบังคับโทษในทางอาญาและการเคลื่อนย้ายอิสระของข้อมูล หรือที่เรียกโดยย่อว่า Police and Criminal Justice Authorities Directive โดยประเทศสมาชิกจะต้องปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูล (Data Protection Law) ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์แม้จะมิใช่สมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ก็มีการแก้ไข Federal Act on Data Protection of 19 June 1992 รวมถึงบทบัญญัติในกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังพิจารณา Directive (EU) 2016/681 of the European Parlament and of the Council of 27 April 2016 ว่าด้วยการใช้บันทึกรายชื่อผู้โดยสารเพื่อการป้องกัน การค้นหา การสืบสวน และหรือการดำเนินคดีต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมร้ายแรง หรือที่เรียกโดยย่อว่า PNR Directive เพื่อกำหนดการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและปรับปรุงระบบการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรป โดยมุ่งเน้นที่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหาย พยาน และผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดและการจัดให้มีความร่วมมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมและการก่อการร้าย

                   ในปัจจุบันการพัฒนาทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิที่จะได้รับการเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประเทศที่มีการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของกฎหมายให้มีมาตรฐานระดับเดียวกับสหภาพยุโรปย่อมได้รับประโยชน์ในการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการป้องกันอาชญากรรม รวมถึงความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายของสหภาพยุโรปดังกล่าวข้างต้นของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและประเทศในแถบเอเชียด้วยในฐานะประเทศที่มีการทำธุรกรรมระหว่างกัน ซึ่งประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ หรือประเทศมาเลเซีย ต่างก็มีบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะภายในประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่แล้วและอาจต้องปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับ European Regulation 679/2016 และ Directive (EU) 2016/680 อย่างไรก็ตาม มีเพียงประเทศนิวซีแลนด์ที่บทบัญญัติของกฎหมายมีความครอบคลุมถึงกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปดังกล่าวจึงถูกจัดอยู่ใน white list ของสหภาพยุโรป ซึ่งการแก้ไขกฎหมายภายในของประเทศที่มิใช่สมาชิกของสหภาพยุโรปมีข้อสังเกตว่า อาจเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอีกรูปแบบหนึ่งในรัฐสมัยใหม่ นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปยังมีผลกระทบต่อบริษัทใหญ่ ๆ ในแถบเอเชียโดยเฉพาะในประเทศจีน เช่น บริษัทเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Alibaba หรือ Taobao หรือโปรแกรมค้นหา (Search Engines) ได้แก่ Baidu หรือ Soho

                   ประเด็นที่สอง  Mad or bad? Exploring approaches across jurisdictions to ethical and practical questions surrounding genetic predisposition to crime and diminishes capacity

                   ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมายและทางศีลธรรมจรรยา ศาลทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเกี่ยวกับการนำเสนอพยานหลักฐานทางพันธุศาสตร์ในกระบวนพิจารณาคดีอาญาซึ่งหลักฐานแรกเกี่ยวกับยีนเดี่ยว (single gene) ที่เชื่อมโยงกับการใช้ความรุนแรงถูกค้นพบโดย Brunner และเพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยครอบครัวชาวดัชต์ ที่สมาชิกเพศชายของครอบครัวส่วนใหญ่มีอาการสติปัญญาเรียนรู้ได้ช้าอย่างอ่อน ๆ และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม รวมถึงความรุนแรง การกระทำชำเรา การทำร้ายร่างกาย และการกระทำอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นที่มาของบทสันนิษฐานเพื่อกำหนดให้ยีนที่เชื่อมโยงกับการใช้ความรุนแรงเป็นปัจจัยบรรเทาโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดได้

                   หากศึกษากฎหมายอังกฤษ (English Law[3]) มีกรณี Non-insane automatism กล่าวคือ ผู้กระทำไม่มีอาการป่วยทางจิต แต่ในขณะกระทำไม่รู้สึกตัว ซึ่งผู้กระทำต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนกระทำความผิดในขณะที่ไม่รู้สึกตัว และหากพิสูจน์ได้ ผู้กระทำจะไม่มีความผิด การพิสูจน์จึงมีความซับซ้อนว่าอย่างไรถือว่าเป็น การกระทำที่เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ และในกรณีนี้ไม่รวมถึงโรคทางจิตเพราะจะเป็นกรณีผู้กระทำมีอาการป่วยทางจิต (Insanity)

                   Non-insane automatism อาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การเสพยาเสพติดโดยผู้เสพไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติด หรือความบกพร่องทางจิตชั่วคราว จำเลยมีภาระการพิสูจน์หลักฐาน (the evidence burden) แต่พนักงานอัยการมีหน้าที่สืบหักล้างพยานของจำเลย (the legal burden) ว่า การกระทำของจำเลยมิได้อยู่เหนือการควบคุมของจิตใจ  นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาด้วยว่า จำเลยอยู่ในสภาพที่จะให้การสารภาพได้หรือไม่ซึ่งผู้พิพากษาจะเป็นผู้ตัดสินใจเพียงลำพังโดยมีแพทย์อย่างน้อยสองคนให้ความเห็นซึ่งอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านสุขภาพจิต หากผู้พิพากษาพิจารณาว่าจำเลยไม่อยู่ในสภาพที่จะสารภาพได้ ก็ต้องไต่สวนให้ได้ว่า จำเลยกระทำการหรือละเว้นการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ และหากพบว่า จำเลยกระทำการหรือละเว้นการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ศาลอาจตัดสินให้ถูกกักขังอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชและมีคำสั่งให้กักขังด้วยซึ่งหมายความว่า ผู้ต้องหาจะไม่สามารถถูกปล่อยตัวได้ เว้นแต่ว่าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญรับรองว่าบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสาธารณชนอีกต่อไป หรือศาลอาจตัดสินให้อยู่ภายใต้ความควบคุมดูแล และจะปล่อยให้กลับเข้าสู่สังคมได้เมื่อมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมให้การควบคุมดูแล หรือศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวไปได้

                   สำหรับกรณีการกระทำของผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต (Insanity) ซึ่งตามหลักกฎหมายเก่า บุคคลทุกคนถูกสันนิษฐานว่าปกติดีจนกว่าจะพิสูจน์ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เช่น อาจพิสูจน์ได้ว่า มีความบกพร่องของเหตุผล เกิดจากโรคทางจิต หรือบุคคลนั้นไม่รู้ถึงการกระทำที่ตนได้กระทำลงไป หรือบุคคลดังกล่าวรู้ถึงการกระทำ แต่ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด หรือกรณีการขาดความรับผิดชอบ (Diminished Responsibility) ซึ่งในกฎหมายอังกฤษ หากผู้กระทำเป็นผู้บรรลุนิติภาวะฆ่าคนตายต้องถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลไม่มีดุลพินิจไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ความเข้มงวดในกรณีนี้ลดน้อยลงเพราะการกระทำความผิดอาจเกิดจากการขาดความรับผิดชอบ ข้อแก้ต่างในลักษณะนี้ปรากฏในกฎหมายว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (the Homicide Act 1957) และกรอบการทำงานด้านกฎหมายที่เริ่มในกฎหมายดังกล่าวถูกพัฒนาให้ดีขึ้นในกฎหมายเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพและผู้พิพากษา (the Coroners and Justice Act 2009) สำหรับทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกันหรือภายหลังวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๐๑๐ โดยข้อแก้ต่างที่กล่าวอ้างได้ เช่น บุคคลต้องทนทุกข์จากความผิดปกติของจิตซึ่งเป็นอาการที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ โดยการขาดความรับผิดชอบต้องมีความบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อการรับรู้หรือเข้าใจธรรมชาติของพฤติกรรม มีความบกพร่องต่อรูปแบบของการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือมีความบกพร่องต่อการควบคุมตนเอง

                   หากข้อแก้ต่างนี้ได้รับการพิสูจน์ ผู้กระทำจะได้รับการพิจารณาจากฆ่าคนโดยเจตนา (murder) เป็นฆ่าคนโดยไม่เจตนา (manslaughter) เพราะผู้กระทำสามารถรับผิดชอบได้เพียงบางส่วนของการกระทำและหมายความว่า บทลงโทษจะต้องไม่ยาวกว่าการจำคุกตลอดชีวิต สาระสำคัญของข้อแก้ต่างการขาดความรับผิดชอบต้องพิสูจน์ให้คณะลูกขุนเชื่อว่า ความรับผิดชอบของผู้กระทำบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญซึ่งลดความเข้มงวดที่ต้องลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับการฆ่าคนโดยเจตนาและทำให้คณะลูกขุนกำหนดโทษที่แตกต่างได้

                   การกล่าวอ้างข้อแก้ต่างต้องมีหลักฐานทางจิตเวช (psychiatric evidence) เพราะมีความจำเป็นที่ต้องพิสูจน์อาการที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ (recognized medical condition) ในกฎหมายอังกฤษเคยมีข้อเสนอให้อาการติดสุรา (alcoholism) เป็นข้อแก้ต่างกรณีการขาดความรับผิดชอบ (Diminished Responsibility) เนื่องจากผู้กระทำไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ว่าเขาจะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานานจนกระทั่งมีผลต่อสมองหรือไม่ก็ตาม แต่ศาลยังคงไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้คณะลูกขุนพิจารณาว่า ความรับผิดชอบของจำเลยลดลง แม้ว่าความสามารถในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ของเขาจะลดลงก็ตาม

                   ประเด็นที่สาม  The right to silence when everyone else is talking

                   The Fifth Amendment ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (the United States Constitution) รับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน กรณีบุคคลถูกสงสัยหรือถูกฟ้องว่ากระทำความผิดอาญามีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือเสนอพยานหลักฐานที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง บุคคลมีเอกสิทธิ์และสามารถปฏิเสธที่จะตอบคำถามในกระบวนพิจารณาทางแพ่งหรือทางอาญาของสหรัฐ ในคณะลูกขุนใหญ่ ในกระบวนพิจารณาทางปกครอง หรือในการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการเฉพาะ และหลักการดังกล่าวใช้บังคับกับพลเมืองและบุคคลที่มิได้เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

                   อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีเอกสิทธิ์ที่อยู่เหนือสิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเอง (self-incrimination) หรือสิทธิในรูปแบบอื่นในประเทศอื่น ๆ เช่น ในสหราชอาณาจักร บุคคลที่ถูกควบคุมโดย the Financial Conduct Authority (FCA)[4] อาจถูกบังคับให้การเป็นพยานด้วยการลงโทษจำคุก แต่กฎหมายของสหราชอาณาจักรกำหนดความคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ เช่น การบังคับให้การเป็นพยานไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ในกระบวนพิจารณาทางอาญาของสหราชอาณาจักร

                   ข้อพิจารณาว่า เอกสิทธิ์ของบุคคลตาม the Fifth Amendment จะมีผลอย่างไร หากพลเมืองของสหราชอาณาจักรถูกบังคับให้การเป็นพยานต่อ FCA และภายหลังถูกนำมาใช้ในศาลอาญาของสหรัฐ ประเด็นดังกล่าวถูกเสนอใน New York โดยกระทรวงยุติธรรมในคดี Allen and Conti ซึ่งความหมายของคดีเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญในโลกที่การสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก

                   ในคดี Allen and Conti ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย Allen และนาย Conti เป็นลูกจ้างของธนาคารดัชต์ Rabobank ที่ถูกตัดสินลงโทษในเดือนพฤศจิกายน ๒๐๑๕ ในการเข้าควบคุม the London Interbank Offered Rate (Libor) เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานอัตราดอกเบี้ยมีฐานจำนวนล้านล้านดอลล่าร์ของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน พวกเขาอุทธรณ์ว่า การตัดสินลงโทษมาจากเหตุผลหลากหลาย แต่หนึ่งในนั้นและมีนัยสำคัญเป็นการที่พวกเขาถูกบังคับให้การต่อ FCA ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยอัยการของสหรัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาตาม the Fifth Amendment การโต้แย้งด้วยวาจาได้รับการรับฟังในศาลอุทธรณ์ของสหรัฐ องค์คณะที่สอง (the U.S. Court of Appeals for the Second Circuit) ในเดือนมกราคม ๒๐๑๗ และคาดว่าจะมีคำพิพากษาในเร็ว ๆ นี้

                   ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการละเมิดเอกสิทธิ์ตาม the Fifth Amendment ของนาย Allen และนาย Conti ปรากฏว่า บุคคลทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของ Rabobank ถูกบังคับให้การต่อ FCA ในปี ๒๐๑๓ หากบุคคลทั้งสองไม่ปรากฏและตอบคำถามจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและอาจต้องโทษจำคุก และในปีต่อมาบันทึกคำสารภาพของบุคคลทั้งสองต่อ FCA ถูกนำไปให้นาย Paul Robson ซึ่งถูกส่งมาจาก Rabobank สมาชิกของ Libor และเข้าร่วมกับกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐตรวจสอบและมีความเห็นว่า คำสารภาพของนาย Allen และนาย Conti ต่อ FCA เป็นเท็จและนาย Paul ยังตอบรับที่จะเข้าร่วมกับกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเพื่อเป็นพยานบุคคลหลักโต้แย้งนาย Allen และนาย Conti ในการไต่สวนด้วย

                   ในชั้นการไต่สวนและการอุทธรณ์ นาย Allen และนาย Conti โต้แย้งความเห็นส่วนตัวของนาย Robson ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากที่ได้ตรวจสอบคำสารภาพของพวกเขา และโต้แย้งด้วยว่า ความเห็นของนาย Robson มิได้ทำให้คำสารภาพที่ถูกบังคับของนาย Allen และนาย Conti เสียไป กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐโต้แย้งว่า เอกสิทธิ์ตาม the Fifth Amendment ที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเองไม่ใช้กับคำสารภาพที่ถูกบังคับในทุกกรณีที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐและภายหลังนำมาใช้กระบวนพิจารณาคดีของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ของสหรัฐ องค์คณะที่สอง (the U.S. Court of Appeals for the Second Circuit) และยากที่จะคาดเดาได้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศในอนาคต โดยการสืบสวนของ Libor เป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันของสองประเทศที่มีผลกระทบต่อการสืบสวนในตลาดเงินทั่วโลก และคดีนี้อาจจะไม่ใช่คดีสุดท้าย โดยบุคคลที่ต้องอยู่ภายใต้การสืบสวนระหว่างประเทศยังคงถูกบังคับให้ตอบคำถามนอกสหรัฐด้วยการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาหากไม่พูด เช่นเดียวกับนาย Allen และนาย Conti ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มิใช่พลเมืองสหรัฐผู้ซึ่งมีสิทธิตาม the Fifth Amendment เช่นกัน

                   ประเด็นที่สี่  Criminal issues arising in international trade: a day in the life of a shipping container

                   เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับมาตรการลงโทษในทางเศรษฐกิจ: ศึกษากรณีตัวอย่างกฎหมายและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในประเทศแคนาดา ซึ่งแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายควบคุมการค้าของประเทศแคนาดามุ่งเน้นการกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพทันที รวมถึงมาตรการที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรพิจารณาประกอบด้วยว่า มาตรการทางกฎหมายในระบบกฎหมายแคนาดามีหลายชั้น อีกทั้ง ต้องคำนึงถึงมาตรการภายในของประเทศคู่ค้าและมาตรการนอกอาณาเขตของสหรัฐด้วย

                   กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษทางเศรษฐกิจในแคนาดาต้องพิจารณาจาก Special Economic Measures Act และ United Nation Act โดยการดำเนินการตาม United Nation Act จะเป็นการกำหนดประเทศ กลุ่ม หรือบุคคลธรรมดาที่ต้องถูกลงโทษ เช่น กลุ่มอัลไคดาและตาลีบัน (Al-Qaida and Taliban) อิหร่าน อิรัก โซมาเลีย ซูดาน เลบานอน ลิเบีย เกาหลีเหนือ และเยเมน ส่วนการดำเนินการตาม Special Economic Measures Act โดยเจ้าหน้าที่ของแคนาดาเป็นผู้กำหนดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจซึ่งปัจจุบันใช้บังคับกับอิหร่าน ซีเรีย พม่า ซิมบับเว เกาหลีเหนือ รัสเซีย ยูเครน รวมทั้งแคว้นไคร์เมีย (Crimea) และซูดานใต้ โดยกำหนดห้ามการจัดหาสินค้า บริการ หรือเทคโนโลยี การอายัดทรัพย์สิน ห้ามการอำนวยความสะดวก และต้องมีการตรวจสอบและรายงานข้อผูกพัน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอายัดทรัพย์สินตาม Corrupt Foreign Official Act ซึ่งใช้บังคับกับยูเครน ตูนีเซีย และอียิปต์ (กระทั่งมีนาคม ๒๐๑๖) ด้วย

                   มาตรการลงโทษที่ประเทศแคนาดากำหนดเองเพื่อใช้กับอิหร่านซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ โดยยกเลิกมาตรการกักเรือ แต่ยังคงห้ามทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลที่ถูกกำหนด การดำเนินการตามข้อจำกัดขององค์การสหประชาชาติ และห้ามการส่งออกและควบคุมการถ่ายโอนเทคโนโลยี ในส่วนของข้อจำกัดขององค์การสหประชาชาติตาม UN Security Council Resolution 2231 กำหนดให้จัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด กำหนดรายชื่อสินค้าและเทคโนโลยีต้องห้าม ข้อห้ามตามบทบัญญัติเกี่ยวกับสินทรัพย์และการบริหารทางการเงินที่เชื่อมโยงกับสินค้าต้องห้าม ข้อจำกัดเกี่ยวกับระเบิดยูเรเนียม ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินเรือและอากาศยาน และข้อห้ามเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก

                   มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ประเทศแคนาดาใช้กับรัสเซียและยูเครน ได้แก่
                   (๑) การห้ามทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลที่ถูกกำหนด เช่น ห้ามเดินทางต่างประเทศ การยึดอายัดทรัพย์สิน การห้ามให้กู้เงิน หรือห้ามปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทางการเงิน
                   (๒) ห้ามการใช้ประโยชน์สินค้าตามรายการที่กำหนดหรือบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี หรือบริการอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการสำรวจน้ำมันนอกชายฝั่งหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีความลึกมากกว่า ๕๐๐ เมตร การสำรวจน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในทะเลอาร์คติก และการสำรวจน้ำมันในชั้นหินหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
                   (๓) ห้ามการติดต่อกับแคว้นไคร์เมีย รวมถึงการลงทุนและบริการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
                        ๓.๑ การนำเข้า การซื้อ การได้มา การขนส่ง หรือการติดต่ออื่น ๆ เกี่ยวกับสินค้าที่ส่งออกมาจากแคว้นไคร์เมีย
                        ๓.๒ การส่งออก การขาย การใช้ประโยชน์ การขนส่ง หรือการติดต่ออื่น ๆ เกี่ยวกับสินค้าที่ส่งไปแคว้นไคร์เมีย
                        ๓.๓ การโอน การจัดหา หรือการติดต่อสื่อสารทางเทคนิคเกี่ยวกับข้อมูลหรือบริการ และ
                        ๓.๔ การจัดหา หรือการรับบริการทางการเงินหรือบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
                   (๔) กำหนดนโยบายควบคุมการส่งออก โดยห้ามการส่งออกหากวัตถุดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่กองทัพรัสเซีย และ
                   (๕) รัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๐๑๕ กำหนดให้มีบทลงโทษต่อคนต่างชาติที่เกี่ยวกับการกักขัง ทรมาน และการตายของนาย Sergei Magnitsky และพิจารณากำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมกับคนต่างชาติที่กระทำผิดหรือฝ่าฝืนการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับ

* * * * *





[1]Article 7 Respect for private and family life
 Everyone has the right to respect for his or her private and family life, home and communications.
[2]Article 8 Protection of personal data
 1. Everyone has the right to the protection of personal data concerning him or her.
 2. Such data must be processed fairly for specified purposes and on the basis of the consent of the person concerned or some other legitimate basis laid down by law. Everyone has the right of access to data which has been collected concerning him or her, and the right to have it rectified.
 3. Compliance with these rules shall be subject to control by an independent authority.
[3]กฎหมายของอังกฤษและเวลส์ สำหรับสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือมีกรอบการทำงาน
ด้านกฎหมายแตกต่างออกไป แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีบทบัญญัติที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน
[4]The Financial Conduct Authority (FCA) เป็นผู้ควบคุมการให้บริการทางการเงินในสหราชอาณาจักร โดยการบริหารงานเป็นอิสระจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักร (operates independently) และงบประมาณมาจากค่าบริการของสมาชิกในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (the financial services industry)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น