วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2561

การพัฒนากฎหมายให้ทันต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดย นางสาวกัลยา เกียรติถาวรชัย*


                      ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม Technology Law Conference ของสมาคมเนติบัณฑิตระหว่างประเทศ (IBA) ในระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล โดยหัวข้อหลักของการอภิปรายในการประชุม IBA 5th Biennial Technology Law Conference มุ่งเน้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีกับกฎหมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ถูกนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้น และแม้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์อย่างมากมายแต่ก็อาจส่งผลในทิศทางตรงกันข้ามได้ในขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันที่มีผลจากการพัฒนาภายในเวลาอันรวดเร็ว กฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นักกฎหมายเองจึงมีความจำเป็นต้องตามให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บทความนี้จึงเสมือนเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าเทคโนโลยีที่ประเทศต่าง ๆ ใช้นั้น ก้าวหน้าไปในทิศทางใด กฎหมายควรไปในทิศทางใดเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วดังกล่าว

                    ๑. ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะ (Robotic Autonomous Systems (RAS) and artificial intelligence[๑] (AI))

                    การใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ (RAS) และสมองกลอัจฉริยะ (AI) ไม่มากก็น้อย หุ่นยนต์เป็นเครื่องจักรกลที่มนุษย์สร้างขึ้นที่สามารถเคลื่อนไหวได้เองหรือผ่านทางคำสั่งของมนุษย์ ส่วนสมองกลอัจฉริยะเป็น software หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือชุดคำสั่งที่เขียนขึ้นด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้และสามารถพัฒนาตัวของมันเองได้ หุ่นยนต์บางรุ่นมีการนำสมองกลมาใช้ร่วมด้วยทำให้หุ่นยนต์ดังกล่าวมีความสามารถในการพัฒนาระบบการทำงานอัตโนมัติของตัวหุ่นยนต์เองได้ ซึ่งการนำเอาสมองกลมาใช้ร่วมกับหุ่นยนต์เป็นผลงานการวิจัยที่สำคัญและทำให้การทำงานของหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องการประมวลผลต่าง ๆ  อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติที่ฉลาดเกินมนุษย์ (superintelligence) นี่เองทำให้เกิดความกังวลว่าหุ่นยนต์สมองกลดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวมันเองได้อย่างรวดเร็วโดยมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้[๒]

                ๒. ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติกับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ (Robotic Autonomous Systems (RAS) and the Human Being)[๓]

                    เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าชีวิตประจำวันของมนุษย์ในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับ RAS และ AI ไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นได้จากปริมาณการใช้ smartphone ที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ใช้มากขึ้นในทุก ๆ ปี หรือการที่มีผู้ใช้ internet เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี เช่นเดียวกับการติดต่อสื่อสารแบบชุมชนออนไลน์ (social network)  นอกจากนี้ ตัวอย่างของ AI ที่อยู่ในรูปแบบอื่นคือ โดรน (Drone) หรือที่เรียกว่า อากาศยานไร้คนขับ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับงานภาคการเกษตร เช่น ใช้โดรนฉีดปุ๋ย พ่นสารเคมี หรือใช้โดรนในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก[๔]

                    จากการใช้ RAS และ AI ที่มากขึ้นนี้เองทำให้เกิดคำถามว่า เครื่องจักรกลเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์หรือไม่ The World Economic Forum ได้ทำนายเอาไว้ว่าสมองกลเหล่านี้จะทำให้งานบางประเภทหายไป บริษัทชั้นนำบางแห่งจะจ้างพนักงานที่เป็นหุ่นยนต์มาทำหน้าที่ระดับหัวหน้างาน  นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังอาจเข้ามามีบทบาทกับด้านการแพทย์ โดยเฉพาะนำมาใช้ในการผ่าตัดและการรักษาคนไข้ เป็นต้น

                    ๓. ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติกับกฎหมาย Robotic Autonomous Systems (RAS) and the Law[๕]

                    เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคศตวรรษที่ ๒๑ ของอุตสาหกรรม ๔.๐ ซึ่งเป็นรูปแบบ Cyber-Physical Systems โดยธุรกิจต่าง ๆ จะมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนแรงงานมนุษย์มากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นการลดต้นทุนในการผลิตลงได้ถึง ๑๘-๓๓% และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง ๓๐% จากข้อมูลดังกล่าวนี้เองทำให้มีแนวโน้มในการลงทุนด้านระบบ Robotic Autonomous System มากยิ่งขึ้นทุกปี จากการที่หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในธุรกิจรวมถึงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงจริยธรรมและประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ โดยสหภาพยุโรปได้ทำการศึกษาในเรื่องดังกล่าวและมี Guidelines for Regulating Robotics – September ๒๐๑๔ (Robolaw) เพื่อวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมและกฎหมายด้านการใช้หุ่นยนต์และอาจนำไปตราเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปและกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก[๖] โดยประเด็นที่สำคัญของ Robolaw คือ กฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่เพียงพอกับการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้หรือไม่ และการนำหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันจะมีผลต่อมาตรฐาน คุณค่า และรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์กันของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล รวมทั้งการถ่ายทอดแนวคิด การเรียนรู้ หรือแนวทางของการปฏิบัติต่อกันและกันเพียงใด

                    สภายุโรปได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายด้านดังกล่าวว่าจะต้องคำนึงถึง จริยธรรม มาตรฐาน ความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่อง Robotic Autonomous System ยังมีข้อถกเถียงที่ยังไม่เป็นที่ยุติ เช่น นิยามของคำว่าหุ่นยนต์อัจฉริยะ “smart robots” การจดทะเบียนหุ่นยนต์อัจฉริยะ ประมวลจริยธรรมของวิศวกรรมหุ่นยนต์ และสถานะทางกฎหมายของหุ่นยนต์

                    ผลจากความพยายามหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ท้ายที่สุดกรรมการกิจการกฎหมายแห่งรัฐสภายุโรป (European Parliament's legal affairs committee) ได้วางแนวทางในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของหุ่นยนต์และ AI สำหรับประเทศสมาชิกว่าเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Persons) นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางของกฎหมายว่าด้วยหุ่นยนต์สำหรับประเทศสมาชิก ดังนี้[๗]
                    ๑. หุ่นยนต์ทุกตัวควรมีปุ่มหยุดการทำงาน (emergency switch /kill switch) เพราะ AI ถูกสร้างขึ้นมาให้มันมีความสามารถในการพัฒนาตัวมันเองและมีความฉลาดมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และจะต้องไม่ผลิตหุ่นยนต์เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง
                    ๒. ห้ามกำหนดเรื่องความรู้สึกให้กับหุ่นยนต์ เนื่องจากหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นไม่ควรมีความรู้สึกด้านอารมณ์ความรักได้เหมือนกับมนุษย์
                    ๓. ต้องมีการทำประกันสำหรับหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ โดยผู้ที่อยู่ในบังคับที่จะต้องทำประกันคือผู้เป็นเจ้าของหุ่นยนต์และบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งบุคคลทั้งสองจะต้องรับผิดชอบกับทุกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับกรณีชุดคำสั่งของตัวหุ่นยนต์เกิดขัดข้อง ในกรณียานยนต์ไร้คนขับก็ต้องถูกบังคับให้ต้องทำประกันด้วยเช่นเดียวกัน
                    ๔. ต้องมีการกำหนดให้หุ่นยนต์มีสิทธิและหน้าที่บางประการเหมือนบุคคลทั่วไป เนื่องจากได้มีการกำหนดสถานะทางกฎหมายเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้แล้ว โดยในกรณีการกำหนดให้ต้องมีความรับผิด หุ่นยนต์จะต้องรับผิดร่วมกับเจ้าของและผู้พัฒนาหุ่นยนต์ รวมทั้งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยซึ่งในประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในการวางแนวทางเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของสหภาพยุโรป แต่ข้อเสนอเรื่องการเสียภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบทางสังคมจากการที่แรงงานคนถูกเลิกจ้างเพราะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานแทน รัฐสภายุโรปจึงเสนอว่าหุ่นยนต์ควรต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม (Social Security Contribution) และเสียภาษีเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน

                    นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ Universal Basic Income คือแนวคิดที่รัฐนั้นทำการจ่ายเงินให้กับประชาชนเป็นจำนวนเท่า ๆ กันทุกคนในแต่ละเดือน (ซึ่งเป็นคำตอบให้กับปัญหาการตกงานจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยนำหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานมนุษย์ดังกล่าว) และให้ประชาชนแต่ละคนสามารถนำเงินเหล่านั้นไปใช้ได้ โดยรัฐจะจ่ายมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐ และการที่ระบบนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นก็หมายถึงการที่หุ่นยนต์นั้นได้เข้าไปทำงานพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัจจัยสี่ให้ครบถ้วน การจัดการสาธารณูปโภค และอื่น ๆ อีกมากมายจนมนุษย์เพียงแต่รอรับผลผลิตจากหุ่นยนต์ก็สามารถดำรงชีพได้แล้ว[๘] และรายได้ที่รัฐมอบให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าจะเป็นเหมือน “ฐาน” อันใหม่ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตไม่ให้ต้องมีใครตกลงไปสู่ความยากจนอีก[๙]

                    อย่างไรก็ตาม แม้สหภาพยุโรปจะได้มีการกำหนดแนวทางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ยังอาจไม่ครอบคลุมกับปัญหาที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ทั้งหมด และไม่เพียงแต่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้น ประเทศแถบละตินอเมริกาและในหลาย ๆ ประเทศก็ได้มีการศึกษา การเตรียมความพร้อม รวมทั้งพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคตแล้วด้วย

                    ในประเทศอังกฤษก็มีการศึกษาเกี่ยวกับ “Robotics and Artificial Intelligence[๑๐] ในเรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้กับสังคมและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าหุ่นยนต์จะทำให้มนุษย์ตกงานมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหุ่นยนต์สามารถทำงานได้เร็วกว่ามนุษย์ ในขณะที่มีการโต้แย้งว่า Artificial Intelligence ไม่สามารถแทนที่นักวิทยาศาสตร์ได้ แต่มันเป็นเพียงผู้ที่ช่วยการทำงานของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมและกฎหมาย ซึ่งมีข้อพิจารณาหกประเด็น คือ เรื่องการควบคุมและความปลอดภัย การลดอคติ ความเป็นส่วนตัวและความยินยอมเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ความรับผิด มาตรฐานระบบการจัดการ และกฎระเบียบ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รายงานการศึกษาชิ้นนี้ได้มีข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลว่ารัฐบาลควรมียุทธศาสตร์ด้านดิจิตอล พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาการขาดทักษะด้านดิจิตอล (digital skills crisis) เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

                    สำหรับด้านการจัดการให้เป็นมาตรฐานและการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับสมองกลอัจฉริยะ (Artificial Intelligent) นั้น การพิจารณามิติด้านจริยธรรม มิติทางสังคมและกฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง รายการงานศึกษาชิ้นนี้ได้มีข้อเสนอแนะว่าควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านสังคม ด้านปรัชญา ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณามิติทางสังคม จริยธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย โดยต้องประสานงานร่วมกับ Council of Data Ethics ด้วย รายงานฉบับนี้ยังเสนอแนะว่าควรตั้ง RAS Leadership Council โดยประกอบด้วยภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคราชการเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านดิจิตอลด้วย และผลจากการพัฒนากฎระเบียบในด้านดิจิตอลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศอังกฤษได้มีการตราพระราชบัญญัติเทคโนโลยียานพาหนะและการบิน (Vehicle Technology and Aviation Bill 2016-17) ระเบียบเกี่ยวกับการจัดระเบียบการเดินอากาศ (Air Navigation Order 2016 (ANO) and Regulations) เป็นต้น

                    ประเด็นที่ชวนคิดและน่าติดตามกันต่อไปคือ คณะกรรมการสหภาพยุโรปจะมีการออก Directive ที่เกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งของหุ่นยนต์หรือไม่ และศาลของประเทศอังกฤษจะนำหลักจารีตประเพณีมาปรับใช้กับคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้อย่างไร

                    ๔. ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และในภาคสาธารณสุข (Robotic Autonomous Systems (RAS) and AI in the Automotive Industry and in the Health Sector)[๑๑]

                    -การใช้สมองกลอัจฉริยะ (AI) ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์

                    สมองกลอัจฉริยะสามารถนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีลักษณะเป็นยานยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Car) ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า สามารถคำนวณเวลาในการเดินทางได้อย่างแม่นยำ ประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง  อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งถึงการนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้ว่า จะมีผลกระทบถึงธุรกิจประกันภัย เกิดการผูกขาดของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ การจราจรติดขัดมากขึ้น หรืออาจเสี่ยงกับปัญหาการโจมตีไซเบอร์ (cyber attack) เป็นต้น

                    -การใช้สมองกลอัจฉริยะ (AI) ในด้านสุขภาพ

                    ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ทันสมัยในคอมพิวเตอร์สามารถวินิจฉัยโรคและแนะนำการรักษาที่เหมาะสมได้ ในประเทศญี่ปุ่นนักวิทยาศาสตร์มีการพัฒนาไปถึงการผลิตหุ่นยนต์ชื่อ “Jack” ขึ้นเพื่อเป็นผู้ช่วยของแพทย์ ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพของคนไข้ ทำให้ Jack สามารถแสดงแนวโน้มของการเกิดโรคในคนไข้ได้ นักวิจัยในประเทศบราซิลได้คิดค้นโปรแกรมสมองกลที่นำมาช่วยในการวินิจฉัยโรคและคำนวณความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมทั้งแนวทางการรักษา  นอกจากหุ่นยนต์ “Jack” แล้ว “Star” ยังเป็นหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือแพทย์ในการผ่าตัดคนไข้ เนื่องจากในตัว Star ได้มีการติดตั้งเทคโนโลยีการแสดงผลภาพแบบสามมิติ (3D vision) และอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณที่แขนของหุ่นยนต์ (arms with sensors) โดยแพทย์สามารถออกคำสั่งจากสถานที่อื่น เพื่อให้ Star ทำการผ่าตัดได้ หรืออาจให้ Star ทำการประมวลผลแล้วผ่าตัดได้เองโดยไม่ต้องมีคำสั่งจากแพทย์ และจากผลการทดสอบการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดสุกรพบว่าหุ่นยนต์สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำโดยมนุษย์ควบคุมดูแลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัดคนไข้จะเป็นการลดเวลาการผ่าตัด และลดความเสี่ยงต่าง ๆ อันจะทำให้คนไข้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

                    ระบบ AI ยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออ่านบทความทางการแพทย์ทั้งหมดทั่วโลก (medical literature) เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงข้อมูลวิทยาการทางการแพทย์กับการทำแผนที่พันธุกรรม (genetic mapping) ของคนไข้ ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์หาวิธีการดูแลรักษาคนไข้แต่ละคน ทำให้แพทย์สามารถเลือกวิธีที่จะรักษาคนไข้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น  AI ยังนำมาใช้กับการแพทย์เฉพาะทางในการอ่านผลตรวจทางห้องปฏิบัติการและใบสั่งของแพทย์แล้วส่งอีเมล์ไปยังแพทย์และคนไข้เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในการรักษาแล้วกำหนดแนวการรักษาใหม่ที่ถูกต้อง

                    นอกจากการใช้ AI แล้ว เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกชนิดหนึ่งคือ “Internet of Things(IoT)[๑๒] ซึ่งเป็นสมองกลฝังตัวในอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งในหุ่นยนต์ หรืออาจเป็นการนำเซ็นเซอร์ขนาดเล็กมาติดไว้ที่ผิวหนังหรือการนำเทคโนโลยีมาอยู่ในรูปอุปกรณ์ที่ใช้กับชีวิตประจำวัน (Wearable devices) เช่น นาฬิกา เพื่อคอยตรวจดูชีพจร อุณหภูมิของร่ายกาย ความชื้น เครื่องมือวัดการนอนหลับ วัดความดันเลือด หรือตรวจวัดการทำงานของหัวใจ เป็นต้น อุปกรณ์บางรุ่นยังสามารถส่งข้อมูลกลับมายังโรงพยาบาลเพื่อให้ทีมแพทย์คอยเฝ้าระวังสุขภาพให้โดยคนไข้อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์อีกต่อไป อุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้มีความสามารถในการคิดคำนวณ ประมวลผล และหาทางออกของปัญหาได้เอง อีกทั้งยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารต่าง ๆ ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เครื่องมือเหล่านี้เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้กับด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งในบางกรณีอาจเป็นการตรวจสอบการเต้นของหัวใจ หรือความดันเลือด ในกรณีทั่ว ๆ ไป และในบางกรณีอาจใช้เพื่อช่วยแพทย์ในการติดตามอาการคนไข้ จึงมีประเด็นว่าเครื่องมือเหล่านี้จะถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ด้วยหรือไม่

                    นอกจากนี้ การนำ IoT มาใช้กับด้านการแพทย์ ยังช่วยในการวิจัยและพัฒนาก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาคนไข้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Patient Support Programs (PSPs) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับโรค ประสบการณ์การรักษาคนไข้ การให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือการติดตั้งโปรแกรมอื่นร่วมกับการให้บริการด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลและการหาวิธีการรักษาคนไข้ในรูปแบบใหม่ โดยคนไข้แต่ละคนต้องให้ความยินยอม (Informed consent) ในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจมีการส่งต่อไปยังแพทย์ พยาบาล หรือบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้เพียงใด ซึ่งประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น Law of Hessen (DE) (1970) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลฉบับแรกของเยอรมัน หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเสรีภาพของประเทศฝรั่งเศส (French Data Protection and Liberties Act (1978)) ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลใด บริษัท หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องรับโทษ  นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวยังมีการกำหนดไว้ใน Council of Europe’s Convention 108 (1985), EU Directive on Data Protection (1995), Lisbon Treaty (2009) อยู่ในหมวดสิทธิพื้นฐาน และ EU Regulation 679 (2018)

                        อย่างไรก็ตาม ด้วยประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยมของ AI นี้ทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความลับของผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ สุขภาพ อาการของโรค ผลการตรวจวินิจฉัย การรักษา ยาที่ใช้รักษา ซึ่งเมื่อเปิดเผยไปแล้วอาจทําให้ผู้ป่วยอับอายหรือเป็นที่รังเกียจของสังคม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่ามากกว่าข้อมูลในบัตรเครดิตหลายเท่าเลยทีเดียว จึงเกิดคำถามว่านอกจากความยินยอมของเจ้าของข้อมูลแล้ว ควรมีวิธีการใหม่เพื่อใช้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีดังกล่าวหรือไม่

                    ในสหภาพยุโรป EU Directive 95/46/EC – The Data Protection Directive[๑๓] ได้กำหนดสิทธิในข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลไว้ใน Section V Article 12[๑๔] ว่า รัฐสมาชิกต้องให้การประกันว่าเจ้าของข้อมูลทุกคนมีสิทธิได้รับข้อมูลโดยไม่ถูกจำกัด ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ล่าช้าจนเกินไป รวมทั้งอย่างน้อยเจ้าของข้อมูลจะต้องทราบวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือไม่ ซึ่งประเทศบราซิลเองได้มีการตรา Law No. 12.965, April 23rd 2014 กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ Internet โดยได้มีการกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตต้องเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ใช้บริการเป็นความลับเป็นเวลาหกเดือน

                    หลักการทั่วไปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องกำหนดไว้ในกฎระเบียบคือ ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล โดยหน่วยงานดังกล่าวมีบทบาทในการให้คำแนะนำปรึกษา ติดตาม ตรวจสอบ บังคับการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย รับฟังข้อเรียกร้องต่าง ๆ ทั้งของปัจเจกชน กลุ่มบุคคล หรือสมาคมต่าง ๆ ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการเก็บรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายและต้องให้เจ้าของข้อมูลรับทราบหรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น โดยเจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมด้วยความเต็มใจและระบุขอบเขตของความยินยอมว่าให้ใช้เพื่อการใดบ้างรวมทั้งต้องไม่มีการส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ให้แก่บุคคลที่สามนอกจากจะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้วเท่านั้น  นอกจากนี้ ทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคล ได้แก่ การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ การเก็บรักษา และการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลล้วนต้องได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง

                    โดยสรุปแล้วการนำเอา IoT มาใช้กับด้านการแพทย์เป็นประโยชน์ในด้านการมีวิธีการรักษาคนไข้ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ดีกว่าการรักษาด้วยยา  อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบที่จะนำมาใช้กับ IoT รวมทั้งยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การประมวลผลของข้อมูล และการแบ่งปันข้อมูลด้านสุขภาพของคนไข้

                    นอกจากข้อกังวลดังกล่าวข้างต้น การนำ AI มาใช้กับด้านสุขภาพยังทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการลดการจ้างงานหรือการปลดคนงานออก ดังจะเห็นได้จากบริษัท Japan’s Fukoku Mutual Life Insurance ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตของญี่ปุ่นที่ได้นำระบบ AI มาใช้และพบว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยม สามารถคิดวิเคราะห์ ตีความข้อมูลต่าง ๆ ได้เหมือนกับมนุษย์ จึงได้ลดจำนวนพนักงานลง โดยมีการนำ AI มาใช้กับการอ่านใบรับรองแพทย์และเอกสารอื่น ๆ เพื่อคำนวณหาค่าทดแทนที่บริษัทประกันชีวิตควรจ่ายให้แก่ผู้เอาประกัน พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลของผู้เอาประกันเพื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขในกรมธรรม์เพื่อป้องกันการจ่ายค่าทดแทนเกินจริง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนของการนำระบบ AI ดังกล่าวมาใช้ บริษัท Fukoku Mutual มีค่าใช้จ่ายสองร้อยล้านเยนและมีค่าบำรุงรักษาระบบปีละสิบห้าล้านเยนต่อปี แต่จะทำให้บริษัท Fukoku Mutual สามารถประหยัดได้ถึงหนึ่งร้อยสี่สิบล้านเยนต่อปีจากการเลิกจ้างพนักงานจำนวนสามสิบสี่คน  นอกจากบริษัทดังกล่าวแล้ว บริษัทประกันชีวิตของญี่ปุ่นแห่งอื่น ๆ เช่น Dai-ichi Life Insurance Co., The Japan Post Insurance, Nippon Life Insurance ก็มีแนวคิดที่จะนำระบบ AI มาใช้กับการคำนวณการจ่ายค่าทดแทนเช่นเดียวกัน

                    เมื่อหุ่นยนต์สมองกลเข้ามามีบทบาทด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดการปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังกล่าว เช่น ปัญหาในกรณีที่มีการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาด หรือความรับผิดที่เกิดขึ้นควรกำหนดให้เป็นความรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญา  นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ ความกังวลว่าหุ่นยนต์เหล่านี้มีความฉลาดกว่ามนุษย์ ซึ่งหุ่นยนต์เหล่านี้เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึกนึกคิด (consciousness) และไม่รู้จักศีลธรรมจึงไม่อาจคาดเดาหรือประเมินผลที่ได้จากการตัดสินใจของหุ่นยนต์ได้[๑๕]

                    ประเด็นที่น่าคิดต่อไปคือระบบสมองกลอัจฉริยะเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ได้ตลอดไปหรือไม่ ซึ่ง Stephen Hawking และ Elon Musk วิศวกรและนักประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงระบบสมองกลอัจฉริยะว่าควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลมนุษย์  อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลดังกล่าวก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าเมื่อ AI ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่แล้วจะมีสิ่งใดที่สามารถควบคุมได้ และสิ่งสำคัญที่ท้าทายมนุษย์ประการต่อมาคือการทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตาม The 3 Laws of Robotics หรือที่รู้จักกันว่า “The Three Laws” หรือ “Asimov's Laws” ซึ่งมีหลักการ ดังนี้
                    ๑) หุ่นยนต์จะต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้
                    ๒) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้น ๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก
                    ๓) หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ขัดแย้งกับกฎข้อแรกหรือกฎข้อสอง

                    กล่าวโดยสรุป จากประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้กับชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และด้านสุขภาพแล้วจะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญที่ยังคงถกเถียงและยังต้องหาคำตอบกันต่อไป และก่อให้เกิดประเด็นชวนคิดว่ากฎหมายจะเข้ามามีส่วนควบคุมได้อย่างไร ในแง่การกำหนดความรับผิดทางแพ่ง ทางปกครอง และทางอาญาของยานยนต์ไร้คนขับและหุ่นยนต์สมองกลที่ช่วยในด้านการแพทย์ ใครจะเป็นผู้ต้องรับผิดในกรณีที่หุ่นยนต์เกิดการทำผิดจราจรแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น กล่องดำ (Black box) ในยานยนต์จะสามารถเข้ามาช่วยพิสูจน์ความผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุได้หรือไม่

                    ในแง่ของกฎหมายที่จะนำมาปรับใช้กับ RAS และ AI ได้มีความพยายามในการกำหนดความรับผิดของเจ้าของยานยนต์ให้เป็นผู้รับผิดกรณีเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ต้องพิสูจน์ถึงความผิด  อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของยานยนต์นั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าอุบัติเหตุเกิดจากปัญหาการผลิตยานยนต์นั้น ๆ เจ้าของยานยนต์ก็สามารถเรียกร้องเอากับผู้ผลิตให้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีแนวคิดของนักกฎหมายที่เห็นว่ากฎหมายควรพัฒนาโดยกำหนดความรับผิดทางแพ่งโดยให้มีการทำประกันกับยานยนต์ไร้คนขับเหล่านี้  นอกจากนี้ ในด้านความรับผิดทางอาญา เจ้าของยานยนต์ไร้คนขับจะต้องรับผิดหากมีเจตนาร้ายหรือประมาทไม่หมั่นตรวจสอบประสิทธิภาพของยานยนต์ และควรใช้หลักความรับผิดดังกล่าวกับผู้ผลิตด้วย สำหรับความรับผิดทางปกครองนั้น ควรกำหนดให้เจ้าของยานยนต์หรือผู้ขับขี่ยานยนต์นั้น ๆ เสียค่าปรับกรณีฝ่าฝืนจราจรหากผู้ขับขี่ไม่ดูแลระบบของยานยนต์ให้ใช้การได้อยู่เสมอ ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับการควบคุมของ RAS และ AI ของมนุษย์เอง

                    สำหรับเทคโนโลยีกับด้านสุขภาพนั้น นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยและความแม่นยำของอุปกรณ์ที่นำ AI มาใช้แล้ว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ยังคงต้องรอการพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกันต่อไป.





*นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๑] ในศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน (http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php) ให้ความหมายของคำว่า “artificial intelligence” ว่า “ปัญญาประดิษฐ์”  อย่างไรก็ตาม สำหรับรายงานชิ้นนี้ขอใช้
คำว่า “สมองกลอัจฉริยะ”
[๒]Robotics vs Artificial Intelligence: The Difference Explained, http://simplicable.com/new/robotics-vs-artificial-intelligence
[๓]Jose Luis Barzallo, “Robotic Autonomous System and the Human Being”, 18th May - IBA 5th Biennial Technology Law Conference
[๔]Fabio L.B. Pereira, “Robotic Autonomous Systems and AI in the Automotive Industry and in the Health Sector”, 18th May - IBA 5th Biennial Technology Law Conference
[๕]Chris Holder, “Robotic Autonomous Systems and the Law”, 18th May - IBA 5th Biennial Technology Law Conference
[๖]“D6.2 Guidelines on Regulating Robotics”, http://www.robolaw.eu/RoboLaw_files/
documents/robolaw_d6.2_guidelinesregulatingrobotics_20140922.pdf
[๗]Jose Luis Brazallo, “Human Being and Technology”, 18th – 19th May - IBA 5th Biennial Technology Law Conference 
[๘]Techtalkthai, Elon Musk ชี้ โลกอาจเข้าสู่ยุคที่ทุกคนไม่ต้องทำงาน เพราะหุ่นยนต์ทำให้หมดแล้ว”, https://www.techtalkthai.com/elon-musk-says-human-might-use-universal-basic-income-because-robots-would-work-instead-of-human/
[๙]Kriddikorn Padermkurdulpong, ‘Universal Basic Income’ : รายได้ครองชีพขั้นต่ำ แจกเงินเท่าไหร่ถึงลดความยากจนได้จริง? https://thematter.co/thinkers/universal-basic-income-prevent-poverty/28115
[๑๐]“Robotics and artificial intelligence”, House of Commons Science and Technology Committee, Fifth Report of Session 2016–17. https://publications.parliament.uk/pa/cm201617/
cmselect/cmsctech/145/145.pdf
[๑๑]Fabio L.B. Pereira, “Robotic Autonomous Systems and AI in the Automotive Industry and in the Health Sector”, 18th May - IBA 5th Biennial Technology Law Conference
[๑๒]Renato Martins et al, “HOW WILL MEDICINES IN PARTICULAR AND HEALTHCARE IN GENERAL BE AFFECTED BY WAREABLES AND THE INTERNET OF THINGS?
[๑๓]Data Protection Commissioner, EU Directive 95/46/EC - The Data Protection Directive, https://www.dataprotection.ie/docs/EU-Directive-95-46-EC-Chapter-2/93.htm
[๑๔]SECTION V THE DATA SUBJECT'S RIGHT OF ACCESS TO DATA
Article 12 Right of access
Member States shall guarantee every data subject the right to obtain from the controller:
(a) without constraint at reasonable intervals and without excessive delay or expense:
confirmation as to whether or not data relating to him are being processed and information at least as to the purposes of the processing, the categories of data concerned, and the recipients or categories of recipients to whom the data are disclosed;
communication to him in an intelligible form of the data undergoing processing and of any available information as to their source;
knowledge of the logic involved in any automatic processing of data concerning him at least in the case of the automated decisions referred to in Article 15(1);
(b) as appropriate the rectification, erasure or blocking of data the processing of which does not comply with the provisions of this Directive, in particular because of the incomplete or inaccurate nature of the data;
(c) notification to third parties to whom the data have been disclosed of any rectification, erasure or blocking carried out in compliance with (b), unless this proves impossible or involves a disproportionate effort.
[๑๕]Fabio L.B. Pereira, “Robotic Autonomous Systems and AI in the Automotive Industry and in the Health Sector”, 18th May - IBA 5th Biennial Technology Law Conference

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น