ข่าวน้องจบปริญญาตรีมาประกอบอาชีพกวาดถนน ทำให้ผมนึกถึงพี่คนหนึ่งซึ่งผมรู้จักโดยบังเอิญ พี่เขาเป็นพนักงานโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น ผมไปธุระส่วนตัว นัดหมายให้โรงแรมส่งรถมารับ พี่เขาเป็นคนขับมารับ จริง ๆ เขาก็ไม่ใช่พนักงานขับรถ แต่แกบอกว่าไม่มีใครว่าง แกซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับจึงขับรถตู้มารับเอง ท่าทางเป็นคนอารมณ์ดี
ระหว่างทางได้คุยกัน พี่เขาบอกว่าทำงานนี้มายี่สิบกว่าปีแล้ว เมื่อเรียนจบ ม. 3 นั้น เขาไม่ประสงค์จะเรียนต่อ แต่อยากทำงานหาเงินช่วยพ่อแม่ จึงแล้วหัดขับรถเพื่อขับรถรับจ้างส่งของ
เมื่อหัดขับจนชำนาญ ใบขับขี่ก็ได้แล้ว ไปสมัครงานเป็นพนักงานขับรถส่งของดังที่ได้ตั้งใจไว้ แต่เถ้าแก่บอกว่าไม่รับ เพราะแกเรียนจบแค่ ม.3 เขาประกาศรับคนจบ ม.6 หรือ ปวช. ขึ้นไป ซึ่งพี่เขาก็สงสัยว่าทำไมต้องจบ ม. 6 ด้วย
เมื่อถามเถ้าแก่ ๆ บอกว่าถ้ามีคนเรียนจบ ม.3 กับ ม.6 ให้เลือกอั๊วจะเลือกคนเรียนจบสูงกว่าเพราะมีความรู้ดีกว่า ค่าจ้างก็จ่ายเท่ากัน พี่เขาก็งง ผมก็งง เหตุที่งงก็เพราะเราสงสัยว่างานขับรถส่งของนี่มันเกี่ยวอะไรกับความรู้ที่มันสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับนะ มันควรจะคัดเลือกคนที่ไม่กินเหล้าเมายา ซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง รู้จักถนนหนทาง รู้จักกฎจราจรมิใช่หรือ
เอาละ เมื่อที่หนึ่งเขาไม่รับ แกก็ไปสมัครที่อื่น แต่แกไปสมัครกี่ที่ต่อกี่ที่เขาก็ไม่เอาคนจบ ม.3 เมื่อสมัครจนท้อแล้ว พี่เขาจึงจำใจไปเรียน กศน. เพิ่มเพื่อให้ได้วุฒิ ม.6 ระหว่างนั้นก็ทำงานโรงแรมหาเงินส่งตัวเองเรียนไปด้วย เป็นเด็กยกกระเป๋า ไม่ต้องการวุฒิอะไร แกทำจนพูดอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันได้คล่อง ไม่ต้องยกมือยกไม้ประกอบ โรงแรมเขาเห็นว่าขยันขันแข็ง ภาษาดี เขาเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนให้เรื่อย ๆ
สุดท้ายเมื่อจบ ม.6 จาก กศน. แกเลยไม่ได้ไปขับรถรับจ้างตามที่อุตส่าห์ไปเรียนมา แต่ทำงานโรงแรมเรื่อยมา
สำหรับผม เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของสังคมเกี่ยวกับการศึกษาได้เป็นอย่างดีว่าเราเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับการศึกษา เพราะคนส่วนใหญ่ยังคิดอยู่ว่าคนเรียนสูงกว่าย่อมเก่งกว่า ดีกว่าซึ่งมันไม่ใช่เสมอไป ความมุ่งหมายในการเข้ารับการศึกษาของเราจึงมุ่งไปที่ “ระดับ” ของการศึกษาที่ “ต้องสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป” ยิ่งสูงยิ่งดี ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่น
ในแง่มุมนี้ การศึกษาจึงเปรียบเสมือน “การกีดกันทางสังคม” ไม่ใช่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็น มันทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะสามารถเรียนได้ ไม่ใช่เรียนเพื่อนำวิชาไปทำมาหาเลี้ยงตัว หาเลี้ยงครอบครัว แต่ต้องเรียนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคม ทัศนคตินี้แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า ในภาคเอกชนก็ใช้ระดับการศึกษาเป็นเกณฑ์การคัดเลือกคนเข้าทำงาน และเมื่อระดับการศึกษาเท่ากัน หลายแห่งถึงกับนำชื่อสถาบันการศึกษาที่จบมาเป็นเกณฑ์เสียอีก
นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ของเราต้องตะบี้ตะบันเรียนมันเข้าไป ต้องตะเกียกตะกายแข่งขันกันให้อยู่สูงกว่าคนอื่น และในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง เพียงเพื่อ “โอกาสในชีวิตที่ดีกว่า” ทั้ง ๆ ที่แต่ละคนมีศักยภาพ ความถนัด และทักษะที่แตกต่างกัน และชื่อสถาบันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการทำงานเพราะการทำงานเป็นเรื่องของแต่ละคน
ดังนั้น เมื่อมีข่าวคนเรียนจบสูง ๆ มาทำงานที่สังคมมองว่าเป็นงานสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ จึงกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลายท่านถึงกับชี้ชัด ๆ ว่ามันเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษา โดยมิได้พิเคราะห์ถึงทัศนคติของคนในสังคมเกี่ยวกับการศึกษาดังกล่าวมาข้างต้น และจริง ๆ แล้วข่าวนั้นมันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดเลยในสังคมที่มีทัศนคติเกี่ยวกับการศึกษาว่าเป็นไปเพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้ไปทำมาหากิน จะทำอะไรก็ได้ ที่มันสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าเปิดใจกว้าง ๆ บางทีเมื่อว่างจากกวาดถนน น้องอาจเทรดหุ้นหรือขายของออนไลน์ก็ได้นะครับ ทั่วโลกมีถมไป ก็ทำงานไซด์ไลน์ไงครับ
ไม่มีอะไรหรอกครับ แค่อยากชวนสังคมให้มาร่วมกันคิดร่วมกันเสนอความเห็นเพื่อปฏิรูปทัศนคติของสังคมเราเกี่ยวกับการศึกษาให้เป็นไปตามสิ่งที่มันควรจะเป็นเท่านั้นเอง
สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น