วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

ไอที vs ประชาธิปไตย โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์


                   ผู้เขียนได้อ่านหนังสือ Constitutional Democracy in a Multicultural and Globalization World (2009) ซึ่งแปลมาจากหนังสือภาษาเยอรมันชื่อ Allgemeine Staatslehre ของศาสตราจารย์ Thomas Fleiner และศาสตราจารย์ Lidija R. Basta Fleiner มาหลายปีแล้วและแนะนำให้ใครต่อใครไปหาอ่าน แต่ก็ไม่มีใครสนใจเท่าไร คงเพราะเป็นตำราวิชาการ ไม่ใช่นิยาย ไม่สนุก แถมเป็นภาษาอังกฤษและหนาถึง 670 หน้าอีกต่างหาก

                   หนังสือเล่มนี้ถึงจะเขียนมาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่ล้าสมัย แถมยังน่าสนใจอีกต่างหาก ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะศาสตราจารย์ Fleiner ท่านวิเคราะห์ถึงความคิดด้านการเมืองการปกครองและกฎหมายในโลกยุคปัจจุบันในเชิงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) แล้ว พบว่าเกือบทุกประเทศในโลกใบนี้มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญคือได้กลายสภาพเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural) และโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยสมบูรณ์แล้ว อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร การคมนาคม และการย้ายถิ่นฐาน แต่น่าสงสัยว่าทำไมพัฒนาการด้านการเมือง การปกครอง และกฎหมายของแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันมากนัก หลายประเทศยังคงวนเวียนอยู่ในวัฎฏสงสารเดิม ๆ 

                     จากการวิเคราะห์ของท่านนั้นพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนในแวดวงการเมือง การปกครอง และกฎหมายของประเทศที่มีพัฒนาการช้านี้ ยังจมปลักอยู่กับวิธีการคิดและทัศนคติเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง และกฎหมายตามตำราคลาสสิคเมื่อสี่ห้าร้อยปีก่อนหรือเก๋ากว่านั้น และนั่นเป็นกับดักที่ทำให้ประเทศเหล่านี้เดินวนไปวนมา

                       พูดง่าย ๆ คือปรับตัวให้เข้ากับบริบท (Context) ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ช้ามาก ๆ หรือไม่ก็ไม่ปรับเลย 

                   ศาสตราจารย์ Fleiner ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือเรื่องรัฐสภากับอินเตอร์เน็ต ท่านวิเคราะห์ว่าการปฏิวัติระบบการพิมพ์โดย Gutenberg มีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับรัฐที่แยกฝ่ายอาณาจักรออกจากศาสนจักรแพร่กระจายและทำให้เกิดรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ขึ้นในที่สุด กล่าวได้ว่าแท่นพิมพ์ของ Gutenberg ทำให้แนวคิดของนักคิดฝรั่งเศสในยุคแห่งความสว่างไสวทางปัญญา (Age of Enlightenment) แพร่หลายจนนำมาซึ่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้มีการพิมพ์รัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ รู้ว่าสิทธิเสรีภาพของตนคืออะไร ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพของตนเป็นอย่างไร จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนอย่างไร การถ่วงดุลและการคานอำนาจระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นอย่างไร

                   แม้กระนั้นก็ตาม ศาสตราจารย์ Fleiner พบว่าระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่มีพัฒนาการล่าช้าเหล่านี้ยังยึดแน่นกับการถ่วงดุลและการคานอำนาจแบบคลาสสิค โดยให้ความสำคัญกับผู้แทนราษฎร (Representatives) มากกว่าการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครอง และการออกกฎหมายโดยตรง กล่าวคือ ประชาชนทำได้เพียง "เลือกผู้แทน" ไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงของตนในสภา ออกกฎหมาย รวมทั้งคอยถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนเท่านั้น ซึ่งถ้าระบบนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง ความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

                   แน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามา มันสามารถเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ มันจึงเป็นยิ่งกว่าแท่นพิมพ์ของ Gutenberg  ไอทีกลายเป็น “ช่องทาง” ที่ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกับฝ่ายบริหารได้โดยตรงและทันที ทำให้ฝ่ายบริหารสามารถให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ทันทีเช่นกัน และอีกทางหนึ่ง มันได้กลายเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่ประชาชนสามารถใช้ในการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการว่า "ชอบด้วยกฎหมาย" "ถูกต้อง" และ "เป็นธรรม" หรือไม่ โดยไม่ต้องรอให้ผู้แทนราษฎรหรือหนังสือพิมพ์เป็นผู้ขุดคุ้ยขึ้นมาเหมือนอย่างแต่สมัยโบราณ ประชาชนสามารถนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ต่อสาธารณะได้โดยตรง มีหลายกรณีมากที่ผู้แทนราษฎรหรือหนังสือพิมพ์กลายเป็นผู้หยิบประเด็นที่ประชาชนเสนอต่อสาธารณะเหล่านี้มาถ่ายทอดต่ออีกทีหนึ่งเท่านั้น    

                   สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นเขาล้วนให้ความสำคัญกับการสร้าง "ความเชื่อมั่น" ในระบบผู้แทนราษฎรคือทำหน้าที่จริงจัง ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองโดยตรงของประชาชน (Public engagement) ผ่านระบบไอทีตามหลัก Open Government ที่เน้นการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส แต่ประเทศที่วนเวียนไปมาอยู่ที่เดิมจะเป็นประเทศที่ไม่ตระหนักถึงพัฒนาการของระบบไอที ยังคงทุ่มเทให้ความสำคัญกับระบบผู้แทนราษฎรมากกว่า และเป็นการให้ความสำคัญกับ "ความมีอยู่"  (Existence) ของระบบผู้แทนราษฎร มากกว่าที่จะเน้น "ประสิทธิภาพ" และ "คุณภาพ" ของระบบผู้แทนราษฎร

                 ศาสตราจารย์ Fleiner ท่านถึงกับให้ความเห็นว่าความก้าวหน้าของระบบไอทีนี้อาจทำให้ระบบผู้แทนราษฎรแบบคลาสสิคแต่ขาดประสิทธิภาพและคุณภาพของหลายต่อหลายประเทศลดความสำคัญลงไปอย่างมีนัยสำคัญได้ทีเดียวเชียว และหากเมื่อไรความเชื่อมั่นในระบบเก่าแก่นี้สูญเสียไปมากเข้า มันอาจถูกทดแทนโดยประชาธิปไตยซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่กระโดดไปแบบเอ็กซ์โพเนนเชียลได้

                   ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจครับ เอาไว้ว่าง ๆ จะมาเล่าสู่กันฟังอีก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น