ขณะนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับศตวรรษที่ ๒๐ นับตั้งแต่เทคโนโลยีถูกเริ่มนำมามาใช้ในศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต (internet) เครือข่ายสังคม (social network) ในรูปแบบของเว็บไซต์ เป็นต้น ในขณะที่การศึกษาของประเทศไทยหรืออีกหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ยังใช้ระบบการศึกษาของศตวรรษที่ ๒๐ อยู่ ทำให้หลายๆ ประเทศหรือหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวกับการศึกษาเร่งปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดรับกับศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ในขณะที่ ประเทศฟินแลนด์ซึ่งปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๐ มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในทางการศึกษา (Equity and Equal Education) โดยการศึกษาที่มีความเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ มิใช่ให้เอกชนแข่งขันกันจัดการศึกษา แต่เป็นการแข่งขันแบบฉันท์มิตรมากกว่าการขับเคี่ยวเพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการในโรงเรียนที่ตนเห็นว่าดีที่สุด ฟินแลนด์พยายามสร้างความยุติธรรมในการศึกษา (Justice
of Learning)
[๑]และผลลัพธ์ของการปฏิรูปการศึกษานั้นทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกหันมาปรับปรุงระบบการศึกษาของตน โดยใช้ระบบการศึกษาของฟินแลนด์เป็นแม่แบบ นอกจากนั้น ภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (Partnership for 21st
century Skills) ห้องวิจัยการศึกษาเขตภาคเหนือตอนเหนือ (NCREL) และกลุ่มเมทิรี (Metiri Group) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สภาผู้นำแห่งชาติเพื่อการศึกษาเสรีและสัญญาของอเมริกา (LEAP) สมาคมเทคโนโลยีการศึกษานานาชาติ (ISTE) ศูนย์บริการทดสอบทางการศึกษา (ETS) เป็นต้น [๒]
ได้กำหนดกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑
ทั้งนี้
เค้าโครงบทความนี้จะอธิบาย ๑. นิยามของคำว่า “การศึกษา” ก่อน ซึ่งเริ่มจากนิยามของกฎหมายประเทศไทย แนวคิดปรัชญา ความหมายตามพจนานุกรมและความหมายทั่วๆ ไป ๒. วัตถุประสงค์ของการศึกษา (Objective) ๓. วิธีวิเคราะห์ปัญหา (Methodology) ๔. นโยบาย (Policy) ๕. ปัญหา (Problems) และ๖. แนวทางแก้ปัญหา (Solution) ๗. สรุป (Conclusion)
๑.
นิยาม (Definition)
เมื่อพิจารณานิยามคำว่า “การศึกษา” ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒[๓] ซึ่งบัญญัติไว้หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ประกอบกับนิยามการศึกษาตามแนวคิดปรัชญาสากลที่นิยามความหมายการศึกษา (Education) ไว้ว่า การสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็น มีลักษณะนิสัย จิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้พื่อตนเองและสังคมมีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพการงานได้[๔] ในขณะที่ พจนานุกรมอ๊อกฟอร์ด[๕]ได้นิยามคำว่า Education
ไว้หมายความว่า กระบวนการให้และรับการแนะนำอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และนิยามทั่วๆ ไปของการศึกษา (Education) คือ โปรแกรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาไม่อาจทำเองได้ หากปล่อยไปตามมีตามเกิด[๖]
๒. วัตถุประสงค์ (Objective)
ทฤษฎีการศึกษา[๗]ได้กำหนดหน้าที่การศึกษาไว้ ๓ ประการ คือ ๑. การผลิตกำลังคน (Manpower) ๒. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human
Resource) ๓. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) กระบวนทรรศน์ใหม่ของการศึกษาไทยซึ่งทักษะของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ควรมี คือ ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skills) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมอารมณ์ และทักษะทางวิชาการ (Hard Skills) ได้แก่ 3Rs
ประกอบด้วย อ่านออก (Reading) เขียนได้ (WRiting) คิดเลขเป็น (ARithmetics) และ 8Cs
ซึ่งประกอบด้วย ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity
and Innovation) ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรมต่างกระบวนทัศน์ (Cross – cultural Understanding) ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ (Collaboration Teamwork and Leadership) ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ (Communication,
Information and Media Literacy) ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy) ทักษะอาชีพและทักษะการเรียนรู้ (Career
and Learning Skills) [๘]ความมีเมตตา กรุณา วินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion) และทักษะการใช้ชีวิต(Life Skills) เนื่องจากความสำเร็จในชีวิตไม่ได้มีแต่แค่ในตำราเท่านั้น รวมทั้งพัฒนากระบวนการคิดด้วยระบบสเต็มศึกษา (Stem Education) การเข้าถึงการศึกษา ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ความมีประสิทธิภาพของระบบการศึกษา ทั้งนี้ การจัดระบบการศึกษาควรต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือจิตวิทยาพัฒนาการด้วย เด็กปฐมวัยก่อน ๖ – ๗ ขวบ โรงเรียนไม่ควรใช้การอ่าน การเขียน และการคิดเลขเป็นตัวชี้วัดความสามารถเด็ก เนื่องจากเป็นความคาดหวังที่ผิดปกติไปจากพัฒนาการตามปกติของเด็ก
อย่างไรก็ดี มีการประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยการประเมินความพร้อมสู่วิทยาลัยและการทำงาน (College
and Work Readiness Assessment หรือ CWRA) ซึ่งผู้ได้รับการประเมินต้องใช้ทักษะหลายอย่าง ทั้งการคิดเชิงวิพากษ์ การใช้เหตุผลเชิงวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และการเขียนเพื่อสื่อสาร การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ The Programme for International Student Assessment (PISA) ของ OECD โดยประเมินความสามารถของนักเรียนที่ใกล้จบการศึกษาภาคบังคับว่านักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนไปใช้ทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ทำได้แค่ผลิตซ้ำสิ่งที่เรียนมาการประเมินจะครอบคลุมทั้งด้านการอ่าน ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้วัดแค่ความเชี่ยวชาญตามหลักสูตร แต่รวมถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ นอกจากนั้นมีการประเมินความรู้พื้นฐานไอซีทีระดับ Key Stage 3 แบบทดสอบนี้นอกจากประเมินทักษะด้านไอทีของนักเรียนแล้ว ยังรวมถึงความสามารถในการใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนซึ่งต้องอาศัยการค้นคว้า การสื่อสาร การจัดการข้อมูล และการนำเสนอ แต่ปัจจุบัน[๙]นักวิชาการกลุ่มหนึ่งกำลังใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาวิธีประเมินผลจากการปฏิบัติในโลกเสมือนหลากหลายรูปแบบ (http://www.lemasa.co.za/virtual-assessment-centres-e-valuation%E2%84%A2) ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความถูกต้องน่าเชื่อถือของการวัดทักษะทางปัญญาและจิตวิทยาสังคมที่ซับซ้อนได้
๓. วิธีวิเคราะห์ปัญหา (Methodology)
โดยวิธีเศรษฐศาสตร์การศึกษา ( Economics of Education ) [๑๐] เป็นการวิเคราะห์ถึงคุณค่าของการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือวิเคราะห์ว่าการศึกษามีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างไร ซึ่งปัจจุบันถือว่า การปรับปรุงคุณภาพของแรงงานที่มีผลใหญ่หลวงต่อการเจริญเติบโตของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวของตลาดแรงงาน ก็มีความเกี่ยวพันอย่างมากด้านมาตรการทางเศรษฐศาสตร์กับการศึกษา มีความสัมพันธ์กันในเชิงเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์การศึกษาอันเกี่ยวกับการลงทุน การผลิต การแจกจ่าย เป็นต้น และถือว่าการศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพ ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น การวิเคราะห์ปัญหา SWOT (Strengths
Weakness Opportunities and Threats Analysis)[๑๑] ต้องผ่านการตรวจสอบสภาพแวดล้อม (Environmental Scanning) ทั้ง สภาพแวดล้อมภายนอกและสภาพแวดล้อมภายใน โดยรูปแบบที่จะใช้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี (Political, Economic,
Social, and Technology (PEST) Analysis ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกระดับมหภาค
แนวคิดของ McKinsey 7S นั้นใช้สำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์การซึ่งประกอบด้วย กลยุทธ์ (Strategy) โครงสร้าง (Structure) ระบบ (Systems) รูปแบบ (Style)
บุคลากร (Staff) ทักษะ (Skills)
และคุณค่าร่วมกัน (Shared values) อันเป็นการวิเคราะห์เพื่อให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของหน่วยงานในแง่มุมต่าง ๆ เป็นต้น หากแต่ราชการไทยนั่งเทียนเขียน SWOT ซึ่งไม่ใช่การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ แต่เป็นเรื่องแต่งมากกว่าเรื่องจริง การเขียน SWOT analysis ของหน่วยราชการไทยจึงไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง สถาบันอุดมศึกษาของไทย โดยเฉพาะของรัฐนั้น เวลานี้มาถึงจุดวิกฤติที่จะต้องล้มหายตายจากไปในอีกไม่ช้า แต่ก็ยังไม่กล้าเผชิญความจริง ที่จะทำ SWOT Analysis กันแบบตรงไปตรงมาแล้วจะปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร หากนำเสนอความจริง
๔. นโยบาย (policy)
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) สำหรับเป็นเครื่องมือในการกำกับทิศทางการปฏิบัติงานของกระทรวงศึกษาธิการและส่วนราชการหน่วยงานในสังกัด โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน เพื่อสร้างผลผลิต ผลลัพธ์ให้เกิดกับผู้เรียนได้อย่างมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) และยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี ซึ่งได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาประเทศได้ทั้งมิติความมั่นคง มติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการภาครัฐ ประกอบกับมาตรา ๕๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติให้“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และมาตรา ๒๕๘ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติ “ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ “... จ. ด้านการศึกษา (๑) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (๒) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา ๕๔ วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้(๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู (๔) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่...”
อันสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ซึ่งประกอบไปด้วย ๑๐ ยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ ๒๐ ปี หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษาคือ การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์[๑๒] ทุนมนุษย์ของประเทศไทยยังมีปัญหาในด้านคุณภาพคนในแต่ละช่วงวัย โดยผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กวัยเรียนค่อนข้างต่ำ การพัฒนาความรู้และทักษะของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ดังนั้น การพัฒนาคนเพื่อให้มีทัศนคติและพฤติกรรมตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีสุขภาวะที่ดีขึ้น คนทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้ และความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถาบันทางสังคมมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น แนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับนี้คือ
๑. ปรับเปลี่ยนค่านิยมคนไทยให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย จิตสาธารณะ และความพฤติกรรมที่พึงประสงค์ อาทิ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียนที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความมีระเบียบวินัยและจิตสาธารณะ
๒. พัฒนาศักยภาพคนให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า อาทิ ส่งเสริมเด็กปฐมวัยให้มีการพัฒนาทักษะทางสมองและสังคมอย่างเหมาะสม เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นมีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ
๓. ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ ปรับระบบบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กให้มีการจัดการทรัพยากรร่วมกันให้มีขนาดและจำนวนที่เหมาะสม ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์และมีชีวิต...๗. ผลักดันให้สถาบันทางสังคมมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศอย่างเข้มแข็ง อาทิกำหนดมาตรการดูแลครอบครัวที่เปราะบาง และส่งเสริมสถาบันการศึกษาให้เป็นแหล่งบริการความรู้ทางวิชาการที่ทุกคนเข้าถึงได้ กล่าวได้ว่า การศึกษาเพื่อทุกคนและสามารถศึกษาได้ทุกที่ตลอดเวลาและตลอดชีวิต
การเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายประชากรร้อยละสี่สิบที่มีรายได้ต่ำสุดสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของรัฐและมีอาชีพ อาทิ ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้การดูแลนักเรียนที่ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างรายได้ครัวเรือน สนับสนุนค่าเดินทางไปยังสถานศึกษา ให้ทุนการศึกษาต่อระดับสูง... การที่รัฐสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นการลงทุนด้านมนุษย์ (Human Capital)’ โดยระบบการศึกษาที่ดีจะช่วยเติมทุนมนุษย์ ทั้งเรื่องทักษะ ความสามารถ ทำให้เก่งขึ้น เราก็จะมีรายได้ มีค่าตอบแทน ยิ่งมีการเรียนเยอะๆ สังคมก็จะยิ่งมีความสามารถในการทำอะไรมากขึ้นไปด้วย เพราะทุนมันอยู่กับมนุษย์ทุกคน[๑๓]
นอกจากนั้นการสนับสนุนการศึกษายังสอดคล้องกับข้อ ๒๘[๑๔] และ ๒๙[๑๕] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the
Rights of the Child 1989) [๑๖] และthe Universal
Declaration of Human Rights (UDHR) เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นประธานการประชุมการประชุม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๑ มีการสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัย พ.ศ. ....[๑๗] แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีงบประมาณลงทุนด้านการศึกษาสูงกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปีแต่กลับพบว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า ๖๗๐,๐๐๐ คน ไม่อยู่ในระบบการศึกษาเพราะความยากจน
นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการยังพบว่ามีนักเรียนยากจนในระบบการศึกษามากกว่าสองล้านคนที่ครอบครัวมีรายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่า ๓,๐๐๐ บาท จึงเป็นที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีกองทุนสำหรับแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของครู โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า กอปศ.ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยมีหลักการจัดงบประมาณแบบใหม่ คือ แก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ต้นทาง ลงทุนให้เพียงพอ ลงทุนอย่างฉลาดและโปร่งใสและลงทุนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน[๑๘]
วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตรา ๕๔ วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู เงินและทรัพย์สินของกองทุนจะถูกนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึงเด็กปฐมวัยจะได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสจะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสจะได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึงตนเองในการดำรงชีวิตได้ ครูและสถานศึกษาจะได้รับการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนซึ่งมีพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกันสามารถรู้และพัฒนาความถนัดตามศักยภาพของตนได้[๑๙] (ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
กฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวกับการศึกษาได้แก่ร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัย พ.ศ. ....
เป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการเด็ก ที่ว่า หากเด็กได้รับการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ ๗ ขวบ กล่าวคือตลอดช่วงอายุปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่สมองเด็กสามารถพัฒนาศักยภาพสูงที่สุด การที่เด็กได้รับสารอาหารที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาตลอดช่วงอายุปฐมวัยและได้รับการดูแลพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาก็สามารถเรียนได้ดี แต่หากเด็กไม่ได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและตลอดช่วงปฐมวัย จะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ กล่าวคือเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาในการเรียน เด็กอาจไม่สามารถเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานนอกระบบ เนื่องจากอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้อนุญาตทำงานได้และเป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำ เยาวชนส่วนหนึ่งอาจกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้ต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากไม่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้แล้วยังก่อให้เกิดภาระแก่สังคม และหากเด็กเหล่านี้มีครอบครัวโดยยังไม่มีความพร้อม เด็กที่เกิดมากับบุคคลเหล่านี้ก็จะตกอยู่ในวังวนวัฎจักรแย่ๆ เหมือนเดิม ยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าในการเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีที่เหมาะสมกับเด็กที่ขาดโอกาสในสังคมจะยิ่งมากยิ่งขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะขยายฐานมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น รัฐยังต้องช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้อีกเมื่อบุคคลเหล่านี้มีอายุสูงขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ดังนั้น หากรัฐรีบช่วยเหลือและสนับสนุนตั้งแต่ต้นก่อนที่จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโดยรัฐสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเข้ารับการอบรมตั้งแต่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ที่จะหายไปหากต้องเข้ารับการอบรมการเพิ่มจำนวนครูพี่เลี้ยง การพัฒนาอบรมครูพี่เลี้ยงและครูอนุบาลให้มีคุณภาพโดยสถาบันอบรมคุณภาพ การเพิ่มจำนวนวันลาหลังคลอดให้สอดคล้องกับ ILO[๒๐] คือ ลาคลอดอย่างน้อย ๑๔ สัปดาห์ (ประเทศไทยลาคลอดได้ ๓ เดือน) บริษัทควรจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กโดยรัฐช่วยสนับสนุน[๒๑] เป็นต้น เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไม่สร้างภาระแก่ครอบครัว สังคม ประเทศและโลก ดังนั้น การที่รัฐนำภาษีมาช่วยเหลือพัฒนาเพื่อให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ จะดีกว่านำภาษีมาแก้ไขปัญหาอันเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยคุณภาพ
ประเทศไทยใช้แนวคิดแบบรัฐราชการศึกษา กล่าวคือ การจัดการศึกษาเป็นของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงจากบนลงล่าง ในการกำหนดนโยบาย อุดมการณ์ความต้องการ การสั่งการคำสั่ง รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ที่รัฐต้องจัดการทั้งหมด กลุ่มบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเอกชน ชุมชน ประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสัดส่วนน้อยมาก รัฐบาลร้อยละเจ็ดสิบหก ภาคเอกชนร้อยละสิบเจ็ดท้องถิ่นร้อยละห้า ภาคประชาชนร้อยละสอง ซึ่งทุกเรื่องนั้นจะถูกผูกโยงด้วยกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ และข้อระเบียบบังคับ หลักสูตร การเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการศึกษาแบบรัฐราชการศึกษาจะใช้งบประมาณส่วนใหญ่แปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของค่าตอบแทน เงินเดือน ค่าวิทยฐานะ แต่งบพัฒนาผู้เรียนลงไปสู่ผู้เรียนแทบจะน้อยมากไม่ถึงสามเปอร์เซ็นต์ โรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนแทบทุกด้าน จากการที่รัฐมองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐ รัฐบาลที่ดีจึงมีหน้าที่ในการวางนโยบายในระดับมหภาคที่ถูกต้องเพื่อให้ประเทศสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์สร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้ประชาชนอยู่อย่างสบาย มีมหาวิทยาลัยที่คิดใหม่ สร้างโอกาสไปสู่อนาคต มิใช่มหาวิทยาลัยที่หลงใหลอยู่กับความยิ่งใหญ่[๒๒] เป็นเพียงแค่สถานที่ที่ให้คนมาแสวงหาฐานันดรเท่านั้น ทำให้เกิดชนชั้นและฐานะทางสังคมแตกต่างกันไปตามระดับของการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาไม่ควรมีผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจคอยผลักดันอยู่เบื้องหลัง ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์การศึกษาและสังคมอย่างแท้จริง
รัฐควรเปลี่ยนการศึกษาที่เป็นภาระ (load) ทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นพลัง (energy) ทางเศรษฐกิจ โดยการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ศักยภาพ เป็นคนไทยที่มีกัมมันตะ (active) ฉลาด เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา มีความขยัน ทำงานเป็น สร้างรายได้จากกิจกรรมและนวัตกรรมทางเศรษฐกิจมีฐานะที่ดีขึ้น มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะทางอารมณ์ที่ดี ไม่ใช่การศึกษาที่ก่อให้เกิดภาระด้านค่าใช้จ่ายแก่ครอบครัว แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่สามารถสร้างสัมมาชีพที่มีรายได้มากกว่ารายจ่ายกล่าวคือ การศึกษาที่ไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้[๒๓]
ในขณะที่นโยบายการศึกษาหลักของประเทศฟินแลนด์ คือ การเสริมสร้างความเสมอภาคทางการเรียนรู้ ได้แก่ การปรับงบอุดหนุนโรงเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการจริงของแต่ละโรงเรียน การทำให้การศึกษาพิเศษเป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงและหยืดหยุ่นได้ เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การทำให้บริการด้านสุขภาพและสวัสดิภาพเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนทุกแห่งและพร้อมให้บริการเด็กทุกคนในทุกๆ วัน การรับประกันว่าโรงเรียนจะใช้หลักสูตรที่สมดุลซึ่งช่วยพัฒนาพหุปัญญา (Multiple Intelligence) และบุคลิกภาพที่แตกต่างของนักเรียนอย่างเสมอกันเป็นการผนวกคุณภาพกับความเสมอภาคเข้าด้วยกัน เพราะการเลือกโรงเรียนและกลไกตลาดที่เกี่ยวข้องมีแต่จะไปส่งเสริมให้เกิดการแบ่งแยกกันเสียมากกว่า[๒๔]
ทุก ๔ ปี ฟินแลนด์จะทบทวนนโยบายการศึกษาโดย National Education and
Research Development Plan Outlines และกระทรวงศึกษาธิการของฟินแลนด์จะรับนโยบายการศึกษาที่พิจารณาทบทวนแล้วไปดำเนินการ นโยบายการศึกษามุ่งเน้นความเท่าเทียมและความเสมอภาคในการศึกษา เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับประถมศึกษา รวมถึงการจัดระบบการศึกษา ทุนการศึกษา หลักสูตรและการจ้างครู มาตรการป้องกันความล้มเหลวของโรงเรียนฟินแลนด์ประสบความสำเร็จมาก โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครูไว้ว่าต้องจบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาโทและมีประสบการณ์ในทางวิจัยและผ่านการฝึกอบรมการสอนทั้งทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้วย คุณสมบัติการเป็นครูดังกล่าวรวมถึงการเป็นครูระดับปฐมวัยด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่น (เทศบาล) เป็นผู้สนับสนุนเงินเพื่อฝึกอบรมพัฒนาครู (Continuing
professional development) ทุกปี ปีละอย่างน้อย ๓ วัน เมื่อมีครูที่มีคุณภาพที่สามารถสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้แล้ว ผลลัพธ์ก็มักจะได้นักศึกษาที่มีคุณภาพด้วย และส่งผลดีต่อประเทศ ครูจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติมากในฟินแลนด์ รัฐจึงให้เงินเดือนตอบแทนครูค่อนข้างสูง นอกจากครูแล้วโรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ยังมีผู้นำโรงเรียน (school leader) มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานบริหาร การบริหารจัดการการเงิน เกี่ยวกับการศึกษา เช่น การประเมินผลการดำเนินงานของครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียน และการสอนหนังสือ โดยผู้นำโรงเรียนจะถูกแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจทางการศึกษาในระดับท้องถิ่น ผู้นำโรงเรียนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ จบการศึกษาระดับปริญญาโทละมีประกาศนียบัตรการบริหารการศึกษา (Certificate in Educational Administration)
และมีประสบการณ์ในการสอน แต่ไม่จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรจากโรงเรียนสอนการเป็นผู้นำ[๒๕]
๕. ปัญหา
(Problems)
๑. รัฐจัดการและควบคุมดูแลเรื่องต่าง ๆ เอง ทำให้เกิดระบบอนุรักษ์นิยม ประเพณีนิยม คิดติดกรอบ ตามปัญหาสังคมและโลกไม่ทัน คิดแบบเก่า วิธีการคิดแบบ “รัฐราชการศึกษา” อยู่อย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลง วูบวาบบ้างตามกระแสการเมือง รัฐมนตรีที่ผลัดกันเข้ามาช่วงสั้น ๆ “รัฐราชการศึกษา” นอกจากเติบโตในส่วนกลางแล้วยังขยายตัวไปยังภูมิภาค จังหวัด เขต อย่างไม่มีขอบเขต เป็นโครงสร้างหลักที่ล้มเหลว ปฏิรูปได้ยากยิ่ง[๒๖]
๒. ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเผชิญกับปัญหาภาระงานล้นมือจากโครงการต่าง ๆที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางและ เจอความกดดันของการประเมินจากภายนอก จากการสำรวจครูในโครงการครูสอนดีของ สสค. ในปี ๒๕๕๗ พบว่า ครูกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ต้องการอิสระในการทำงานและการบริหารจัดการมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และงานที่กินเวลาของครูมากที่สุด ๓ ลำดับแรก คือ การเตรียมเอกสารเพื่อรับการประเมิน การประกวดแข่งขันระหว่างโรงเรียนและการเข้าร่วมฝึกอบรม จึงเป็นไปได้ยากมากที่ครูจะใช้เวลาอย่างเต็มที่เพื่อออกแบบการสอนและติดตามดูแลนักเรียนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการจัดการศึกษา
๓. หลักสูตรครูและหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่ปรับให้สอดรับกับทักษะแห่งอนาคตใหม่ คือ ศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills)[๒๗] ทำให้นักเรียนที่จบมาใหม่กลับมีความล้าสมัย เนื่องจากความรู้ที่ได้รับเป็นความรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นความรู้ที่ล้าหลังไปแล้ว ทำให้แรงงานตลาดไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ทันท่วงทีกับสถานการณ์โลกที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
๔. เมื่อนักเรียนจบการศึกษาก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกลับพบว่า ระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่เหล่านี้ให้พร้อมสำหรับตลาดงาน เกิดความลักลั่นทั้งในเชิงปริมาณ เช่น ขาดแคลนคนจบอาชีวะ แต่คนจบปริญญาตรีล้นตลาด และมีปัญหาในเชิงคุณภาพ เป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องลงทุนในการฝึกอบรมให้กับพนักงานใหม่ บริษัทที่ไม่สามารถทำได้ก็ต้องประสบภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ถึงแม้ ผู้ประกอบการจะมีไอเดียที่ชัดเจนว่าต้องการทักษะและความรู้ใดจากเด็กจบใหม่ ก็แทบไม่มีช่องทางให้ร่วมออกแบบระบบการศึกษาได้เลย[๒๘]
๕. ฐานคิดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังถูกกำหนดโดยตลาดงานในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก (content-based) เน้นการท่องจำ ขณะที่ในศตวรรษที่
๒๑ ความรู้ต่างๆ เข้าถึงง่ายมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี ความสามารถในการแข่งขันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจำข้อมูลได้มากที่สุดแต่ใครจะนำข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากัน ทักษะการคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหาซับซ้อนจึงจำเป็นอย่างยิ่ง หากผู้สอนเปลี่ยนฐานคิดเช่นนี้แล้วการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง[๒๙]
๖. เพราะทัศนคติและมุมมองของ “การศึกษาที่ดี” แตกต่างกัน แนวทางที่เลือกใช้ก็ไปคนละทิศทาง ผลลัพธ์จึงยังห่างไกลจากสิ่งที่ควรเป็น
๗. อีกทั้งเรื่องของจำนวนการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยยังถือว่าเกินกว่าความสามารถในการฝึกหัดครู ทำให้มีนักศึกษาจำนวนมาก แต่ทรัพยากรไม่เพียงพอ ดังนั้นศักยภาพและคุณภาพของครูที่ออกมานั้นจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
๘. แม้ได้รับการศึกษา แต่เมื่อจบการศึกษาแล้ว กลับไม่มีความรู้อย่างที่ควรจะเป็น
๙. หลักสูตรที่หลงลืมภูมิสังคมหรือรากเหง้าของสังคมไทยและหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นวิชาการและหนักเกินไป (Curriculum Overload) ทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตที่สมดุลได้เนื่องจากต้องเรียนวิชาการอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาการทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเรียน บางครั้งการเรียนที่หนักมากเกินไปทำให้การนอน การออกกำลังกายไม่เพียงพอ หรือไม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่น เนื่องจากความกดดันจากระบบการศึกษาที่หนักมากทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ความหลงผิดว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษาและการทดสอบจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา การเน้นควบคุมสั่งการจากส่วนกลาง และความเข้าใจกลไกการเรียนรู้ที่ผิดพลาด การสอนเพื่อสอบ ไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ โรงเรียนกลายเป็นสถานที่กวดวิชาให้นักเรียนทำข้อสอบได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การฉ้อโกงในการทดสอบที่มีครูและโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้โรงเรียนของตนมีคะแนนสูง นอกจากนั้นหลักสูตรที่หลงลืมภูมิสังคมหรือรากเหง้าของสังคมไทย
๑๐. การทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่ว่าจะเป็น กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและพรรคพวกรับเงินแป๊ะเจี๊ย เพื่อแลกกับการรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐[๓๐] หรือกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เป็นต้น
๑๑. การศึกษาของประเทศตกต่ำ คุณภาพไม่ดี คะแนน PISA และ O-NET ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบในแทบทุกวิชา เรากำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อยลง แต่คุณภาพด้อยลงแทบทุกด้าน ในขณะที่ ผลการเรียนของนักเรียนแทบไม่มีผลต่อการประเมินครูเลย[๓๑]
๑๒. สภาพการแข่งขันทางการศึกษาแม้จะเป็นแรงผลักให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆเร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น แต่เนื่องจากทรัพยากรตั้งต้นของแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถและปริมาณของบุคลากรการศึกษา งบประมาณ เงินทุน เทคโนโลยี สถานที่ ความมีชื่อเสียง ฯลฯ ส่งผลให้โอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาย่อมแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาคุณภาพมากนัก
๑๓. เนื่องจากความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีสูงขึ้น และการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ต้องหาเลี้ยงตนเอง มีอิสระในการบริหารและเปิดหลักสูตรเพื่อหาผู้เรียนเข้าเรียนให้ได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบระยะยาวคือ มีบัณฑิตจบเป็นจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สามารถรองรับได้หมด โดยกลุ่มแรงงานระดับอุดมศึกษาที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่จบจากสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ จะถูกผลักสู่แรงงานนอกระบบ หรือหาทางออกโดยเรียนต่อระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจก่อเกิดภาวะแรงงานระดับปริญญาโทและเอกไม่มีคุณภาพและล้นตลาดตามมาเช่นกัน[๓๒]
๑๔. การสอนทักษะการคิดและทักษะทางอารมณ์ยังไม่มีคุณภาพ สภาพเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขัน ทำให้การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาทางวิชาการเป็นสำคัญ ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้เท่าที่ควร เนื่องจากการเรียนการสอนยังมุ่งสอนให้ผู้เรียนคิดตามสิ่งที่ผู้สอนป้อนความรู้มากกว่าการคิดสิ่งใหม่ ๆ ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานมากจนส่งผลต่อการพัฒนาบุคคลในด้านอื่น เช่น การพัฒนาเชิงสังคม รวมถึงการพัฒนาทักษะทางอารมณ์นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในกิจวัตรประจำวันหรือใช้ในการเรียนการสอนทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ลดลง ส่งผลให้ช่องทางการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และทักษะทางสังคมของผู้เรียนลดลงด้วย
๑๕. การสอนคุณธรรมจริยธรรมยังไม่มีคุณภาพ แนวคิดของทุนนิยมที่มุ่งแข่งขันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้คนต่างมุ่งแข่งขัน และพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบกับสถาบันการศึกษาจำนวนมากมุ่งพัฒนาความรู้ทางวิชาการและประเมินผลการเรียนที่ความสามารถทางวิชาการ จนอาจละเลยการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม
๑๖. ปัจจัยด้านระบบราชการ การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเคลื่อนไปอย่างยากลำบากเนื่องด้วยระบบราชการเป็นอุปสรรค ซึ่งเกิดจากความล่าช้าในการประสานงาน เนื่องจากการทำงานตามระบบราชการไทย มักทำงานแบบต่างคนต่างทำไม่ไปในทิศเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีลักษณะของการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางมากเกินไป การทำงานแบบราชการที่ยึดกฎระเบียบตายตัว ขาดความยืดหยุ่น และเอื้อต่อการปฏิบัติงานของผู้บริหารการศึกษาและครูบางส่วนที่ไม่ยอมปรับตัว
๑๗. สังคมไทยมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไทย ดังนี้
ก) ขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม สังคมไทยในปัจจุบันขาดความเหนียวแน่นขาดความร่วมแรงร่วมใจ คนในสังคมจึงมองการศึกษาว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับตนเอง
ข) คนไทยส่วนใหญ่สนใจความบันเทิงมากกว่าการแสวงหาความรู้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ค) สังคมไทยยังมีลักษณะสังคมอุปถัมภ์ เห็นแก่พวกพ้องมากกว่าส่วนร่วม ผู้ที่มีอำนาจมักแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยที่ประชาชนไม่กล้าขัดขวาง เพราะต้องพึ่งพาอาศัย ดังนั้น เมื่อมีการกระจายอำนาจทางการศึกษา อาจกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพลได้หากควบคุมไม่ดี
ง) ขาดการเปิดกว้างทางความคิดและการรับฟังความเห็นของผู้อื่น สังคมไทยมีค่านิยมว่า การมีความคิดที่แตกต่างหรือการเป็นแกะดำเป็นสิ่งไม่ดี มองผู้ที่คิดแตกต่างเป็นศัตรู และพยายามหักล้างความคิดซึ่งมักกระทำโดยใช้อารมณ์มิได้ใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและมุ่งสร้างคนให้คิดเป็นทำเป็น[๓๓]
๑๘. สถาบันกวดวิชาที่สะท้อนความอ่อนแอหรือความล้มเหลวของสถาบันการศึกษาหลักการศึกษาที่ภาครัฐหรือภาคเอกชนจัดให้ไม่อาจสนองความต้องการแก่นักเรียนได้เพียงพอทำให้นักเรียนต้องเรียนเสริมเพิ่มเติมจากสถาบันกวดวิชา
๑๙. การประเมินผลการศึกษานักเรียนโดยจัดลำดับนักเรียน ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใด นอกจากทำให้นักเรียนที่ไม่สามารถทำคะแนนตามหลักสูตรแกนกลางได้สูงๆ เกิดความท้อแท้และไม่อยากเรียนหนังสือ ก่อให้เกิดปัญหาเด็กเรียนไม่เก่งถูกทอดทิ้ง ครูจะให้ความสำคัญแต่กับเด็กเก่ง เพราะช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับครูและโรงเรียน ในขณะที่เด็กทุกคนคือ ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศ
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยหลักและอาจมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำปัญหาและแนวทางการแก้ไขดังกล่าวข้างต้นไปพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาไทยและควรนำไปใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน กำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาการจัดการศึกษาไทย ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางการศึกษาขึ้นอยู่กับจุดยืนที่ชัดเจนของผู้นำประเทศ กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะให้ความสำคัญ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรม
๖. แนวทางแก้ปัญหา (Solution)
๖.๑. การทำให้ระบบการศึกษาสั่นสะเทือน
(Disrupt)t ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้เล่นใหม่และผู้เล่นเก่าจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ใช่การปฏิรูป (Reform) โดยภาครัฐ
๖.๒. การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังขึ้นอยู่กับสุขภาพอนามัยที่ดีของเด็กๆ หากสถาบันครอบครัวได้รับการดูแลที่ดีจากภาครัฐจะส่งผลให้สามารถช่วยพัฒนาระบบการศึกษาได้ นอกจากนั้นรัฐต้องสนับสนุนให้การศึกษามีนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้นได้และสามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานอย่างแท้จริง[๓๔]
๖.๓. การพัฒนาครูของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปทั้งกระบวนการและอย่างเป็นระบบ โดยการสร้างและคัดเลือกครูสอนดีรุ่นใหม่เข้าสู่วิชาชีพ[๓๕] การปรับปรุงหลักสูตรคณะศึกษาศาสตร์สำหรับการผลิตครูรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบการสอน โดยหลักสูตรนักศึกษาครูจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงโดยเฉพาะวิชาการสอนและวิชาเอกให้สามารถบูรณาการ (Integrate) เข้าด้วยกันในสัดส่วนที่มากขึ้นเช่น ถ้านักศึกษาเลือกเรียนเอกวิชาคณิตศาสตร์ วิชาการสอนจะต้องเป็นการสอนคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ให้นักศึกษานำเอากระบวนการสอนกับวิชาเอกมาประยุกต์ใช้เอง ที่สำคัญต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้คุรุสภาต้องเข้ามาดูแล จัดการ และควบคุมการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนด้วย[๓๖]
กระทรวงศึกษาธิการต้องสร้างแรงจูงใจว่านักศึกครูจะมีสถานะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง (Professional) โดยประเทศไทยอาจศึกษาวิธีการพัฒนาครูของประเทศจีน ซึ่งนำไปใช้ที่มหานครเชี่ยงไฮ้ได้ผลดีมาแล้ว ทั้งนี้ ครูยุคใหม่ต้องพัฒนาศักยภาพการเป็นครูที่มีคุณภาพเพราะมิฉะนั้นแล้วอาชีพครูจะถูกแทนที่ด้วยระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะ (Robotic Autonomous
Systems (RAS) and Artificial Intelligent (AI)
๖.๔. พัฒนาสื่อการสอน การทดสอบและการประเมินผล โดยระบบการประเมินครูควรเชื่อมโยงกับผลการเรียนของนักเรียน นอกจากนี้ควรพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนควบคู่ไปด้วย
๖.๕. กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพของผู้เรียน ผลการสอบไม่ว่าจะเป็น การทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน Ordinary National Education
Test (O-net) ที่จัดสอบโดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ การจัดทดสอบอาชีวศึกษาระดับชาติ (V-net) ส่วนมากอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละสี่สิบห้า จากคะแนนเต็มร้อย ถ้าเป็นการเรียนตามปกติก็ถือว่าสอบตก ซึ่งแน่นอนว่าระดับคุณภาพการศึกษายังไม่เป็นที่พอใจ ผลจากการที่คุณภาพการศึกษาตกต่ำมาเป็นเวลานาน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ไม่สามารถยกระดับการศึกษาของเด็กให้สูงขึ้นได้และไม่สามารถรักษาเด็กแต่ละชั้นเรียนให้คงอยู่ในสถานศึกษาได้
ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้ปกครองจะต้องนำเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ แต่ความเป็นจริงหน่วยงานที่รับผิดชอบยังปล่อยให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับการศึกษา และพบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเด็กด้อยคุณภาพเร่ร่อน มั่วสุม จนบางคนเผชิญปัญหาอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ถ้าตกจากระบบนานนับ ๑๐ ปีและไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือไม่ได้รับการฝึกอบรมอีกเลยจนอายุถึง ๑๘
ปี ในที่สุดก็จะกลายเป็นแรงงานหรือคนทำงานทักษะต่ำ ทำงานรับจ้าง รายได้ต่ำวนเวียนในวัฏจักรของความยากจน บางคนอาจจะมีครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กตกอยู่ในวงจรแห่งความยากจนเป็นผู้มีรายได้น้อย สูญเสียอนาคตเป็นจำนวนมาก นับเป็นความสูญเปล่าที่ยังไม่ได้แก้ไขให้สำเร็จ จำเป็นต้องทำให้เด็กที่มีจำนวนเกิดน้อยลงแต่สามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ครอบครัวและประเทศชาติได้
การลดความสูญเสียของแรงงานกลุ่มนี้ได้แก่ การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือวิทยาลัยสารพัดช่าง ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในอดีตถึงปัจจุบันการเติมความรู้ให้กับเด็ก (จำนวนประมาณ ๑ ล้านคนที่อยู่ในสังกัดของ กศน.) ที่ยังสนใจการศึกษาอยู่ แม้จะได้นักเรียนที่มีคุณภาพไม่ทัดเทียมกับเด็กนักเรียนภาคปกติ การที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้ว แต่ยังปล่อยให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควรเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กศน. และหรือหน่วยงานประชารัฐจะต้องจัดฝึกอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กทุกคนได้มีโอกาสเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนนับแสนคนสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดแคลนได้
๖.๖. เด็กวัยเรียนทุกคนต้องได้เรียนและระหว่างเรียนต้องรักษาอัตราคงอยู่ทุกชั้นเรียนให้ได้ใกล้เคียงกับร้อยละร้อย
๖.๗. เก็บตกเด็กวัยเรียนทุกคนให้ได้เรียนและหรือฝึกฝีมือแรงงาน เด็กและเยาวชนที่พ้นวัยเรียนรวมทั้งผู้ที่ตกจากระบบมาก่อนให้พวกเขาทุกคนมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะประกอบสัมมาอาชีพได้ทุกคน และรัฐควรจะต้องสอดส่องดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม
๖.๘.
ต้องสร้างผู้จบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยความร่วมมือของภาครัฐกับมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการต่างๆ ในการสำรวจความต้องการแรงงานจากฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อที่สถาบันการศึกษาจะได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาให้ทันกับความต้องการตลาดแรงงาน รวมทั้งรัฐควรดูแลกำลังคนที่เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม
๖.๙. หลักสูตรครูและหลักสูตรการศึกษาต้องปรับให้สอดรับกับทักษะแห่งอนาคตใหม่ คือ ศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) รวมถึงการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะทางอารมณ์การปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับโลกอนาคต คือ เน้นการสอนที่น้อยลงแต่ให้นักเรียนได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Learning) ทำให้การศึกษามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น[๓๗] โดยแนวทางทักษะการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
ก) สิ่งแวดล้อม เนื่องจากสภาพแวดล้อมถูกทำลายไปมากแล้วและต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างแหล่งด่วน หลักสูตรควรมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกนัยหนึ่งคือ สอนจิตสำนึกให้รักโลกนอกจากรักตัวเองและประเทศชาติแล้ว
ข) เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจต้องอาศัยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น Bio-technology, Artificial Intelligence,
etc. ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องตามให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น การที่สถาบันการศึกษาต่างหันมาใช้เทคโนโลยีช่วยในการสอนมากขึ้น เช่น EDTech
(Education Technology) เช่น Google Apps for Education เป็นแพตฟอร์มที่มีแอพพลิเคชั่น Google
classroom ซึ่งสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนโดยเฉพาะ
ค) การเงินที่มีการพึ่งพากันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศระดับภูมิภาคก่อให้เกิดการแบ่งปันในทางเศรษฐกิจ (Shared Economy) และสร้างมูลค่าระดับโลกแต่ก็เสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทั่วโลกได้เช่นกัน เช่น ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ หรือความปลอดภัยในเศรษฐกิจระบบดิจิทัล (Digital
Economy) การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล หลักสูตรการเรียนการสอนควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเงิน การบริหารจัดการทางการเงิน ธุรกิจการเงินควบคู่กับเทคโนโลยีด้วย (Financial Technology) เป็นต้น
ง) รูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปมาก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นการเรียนการสอนต้องปรับให้สอดรับกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย (cross culture)
จ) กระบวนการเรียนรู้ต้องควบคู่ไปกับระบบหลักสูตร แบ่งกลุ่มตามวัยและตามโครงงาน ดังนี้
๑. ระดับประถมศึกษายึดตามโครงงานฐานกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้เล่นตามความต้องการของตนเอง รวมทั้งเสริมสร้างคุณธรรมเรื่องความมีวินัย ความรับผิดชอบการแสดงออก จิตอาสา จิตสาธารณะ เป็นต้น แบ่งออกเป็น ๒. กลุ่มทักษะ คือ
๑.๑) ทักษะวิชาการ ได้แก่ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์
๑.๒) ทักษะการเรียนปนเล่น การลงมือปฏิบัติตามโครงงานที่ร่วมกันคิดค้น การเรียนกลุ่มนี้ทำให้ผู้เรียนได้ทราบความต้องการของตนเอง ได้เล่นในสิ่งที่ตนชอบซึ่งจะเป็นพื้นฐานในวัยอื่น ๆ
๒. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นยึดตามโครงงานฐานประดิษฐ์ สอดแทรกเนื้อหาที่มากขึ้น เช่น ประดิษฐ์หุ่นยนต์หรือสิ่งของ การเรียนกลุ่มนี้ทำให้ผู้เรียนกล้าคิดนอกกรอบกล้าลองผิดลองถูก มีความกล้าที่จะทำบางสิ่งบางอย่างได้ด้วยตนเอง
๓. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายยึดตามโครงงานฐานวิจัย เป็นการคิดฐานวิทยาศาสตร์ วิจัย STEM (Science Technology Engineering and Mathematics
Education)
มากยิ่งขึ้น การเรียนกลุ่มนี้ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ บูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม คณิตศาสตร์ วิจัย ศิลปะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สุขศึกษา พลศึกษาไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นฐานนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
๔. ระดับอุดมศึกษา ยึดตามโครงงานฐานนวัตกรรม เป็นการนำความรู้มาต่อยอดตั้งแต่การทำกิจกรรม นักประดิษฐ์ นักวิจัย มาสร้างคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศในระดับสูงได้ ดังนั้น ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านระบบหลักสูตร เนื้อหาสาระของหลักสูตรแกนกลาง ไม่จำเป็นต้องมี ๘ กลุ่มสาระ มีเพียงแค่ ๔ กลุ่ม ดังเช่น
กลุ่ม ๑. ภาษาและเทคโนโลยี
กลุ่ม ๒. STEM การศึกษา
กลุ่ม ๓ จิตตปัญญา (Spiritual)
กลุ่ม ๔ สัมมาอาชีวะ
โดยเนื้อหาทางวิชาการจะเพิ่มมากขึ้นตามช่วงวัยโดยบูรณาการกับหลักสูตรท้องถิ่นและลดการเรียนรู้ในห้องเรียน โรงเรียนไม่ใช่สถานศึกษาที่แปลกแยกจากชุมชนหรือจากสถานประกอบการ ต้องผสมผสาน บูรณาการ เชื่อมโยง การมีองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาต่อยอดกับภูมิปัญญาสากลมีวัตถุประสงค์ของชาติรวมทั้งมีวัตถุประสงค์ของท้องถิ่นเพิ่มเติม ส่วนการวัดและประเมินผลในบางระดับที่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงก็เพียงพอแล้ว
๖.๑๐. รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดของสังคมเกี่ยวกับการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาว่า เป็นการศึกษาที่มีคุณค่าไม่น้อยกว่าการศึกษาสายสามัญ เพื่อป้องกันผู้จบการศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกที่ไม่มีคุณภาพและมีปัญหาการจ้างงานที่ไม่ตรงกับความสามารถที่แท้จริง อาชีวศึกษาเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่มีความหลากหลายตามความถนัดและความสนใจของเด็กแต่ละคน ดังต่อไปนี้
ก) อาชีวะแบบสัมมาอาชีวะ กล่าวคือ การสืบเสาะแสวงหาอาชีพหรือสิ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ มีการสะสมองค์ความรู้ มีต้นทุนทางสังคม ไม่ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถนำไปต่อยอดได้ การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Entrepreneur) SMES วิสาหกิจชุมชน OTOP SMART FARMER เป็นต้น
ข) ทวิภาคีระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนตามที่ตลาดต้องการ ผู้เรียนตัดสินใจเข้าสู่การมีงานทำ รายได้ สวัสดิการบนระบบหลักสูตรที่ออกแบบร่วมกัน เรียนทฤษฎี ๒ วัน ปฏิบัติ ๓ วัน ในสถานประกอบการ เป็นต้น
ค) อาชีวอุดมศึกษา คือการต่อยอดจากองค์ความรู้เดิม งานวิจัยสร้างนวัตกรรม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลราชภัฏ ในการสร้างวิจัย สร้างนวัตกรรม สร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ประเทศ รัฐต้องมองด้วยสายตาที่กว้างไกล ต้องลดบทบาทของตัวเอง เลิกทำตัวเป็นรัฐผู้กำหนด ควรเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน[๓๘]
๖.๑๑. กระจายอำนาจทั้ง ๔ ด้านคือด้านวิชาการ บริหารงานบุคคล งบประมาณและบริหารทั่วไปให้สถานศึกษาอย่างแท้จริง ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ให้ครูมีอิสระในการสอน ให้ครูและโรงเรียนคิดโครงการเอง สอนเอง อย่าให้รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ สำนักศึกษานิเทศก์ หรือบุคคลอื่นๆจากส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือเขตพื้นที่การศึกษาคิดโครงการให้ ซึ่งการที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องให้สถานศึกษามี อกคศ ของสถานศึกษาเองส่วนสถานศึกษาขนาดเล็กและไม่สามารถยุบรวมได้ ก็กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถานศึกษาเหล่านั้นใช้สถานศึกษาร่วมกันได้ รัฐบาลต้องหาครูดี ครูเก่งให้โรงเรียน ต้องทำให้นักศึกษาครูและครูมีคุณภาพสูง มีกระบวนการผลิตครูที่มีมาตรฐานสูง เพราะนักศึกษาที่ดีๆ และเก่งๆ ของประเทศชั้นนำทั้งหลายเลือกเรียนครูเพราะเขาเห็นว่า เป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีส่วนในการช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ชาญฉลาด (Human Intelligence) รัฐต้องช่วยส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง (professional) ให้ได้ การพัฒนาครูให้เก่งมีศักยภาพอาจใช้วิธีการที่ประเทศจีน ริเริ่มใช้ได้ผลมาแล้ว ณ. มหานครเชี่ยงไฮ้ นำมาปรับใช้กับการพัฒนาครูของประเทศไทย[๓๙] การศึกษาควรเป็นการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเอง (Self-Transformation) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในองค์กร (Organizational
Transformation) และเกิดการเปลี่ยนขั้นพื้นฐานทางสังคม (Social Transformation)[๔๐] ในท้ายที่สุด
๖.๑๒. ปัญหาการทุจริตนอกจากต้องพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมแล้วเห็นควรสร้างระบบการดำเนินงานที่โปร่งใสโดยนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการบริหารจัดการกองทุน
๖.๑๓. สร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้และเปิดกว้างทางความคิด
๖.๑๔. สถาบันกวดวิชาควรเป็นแหล่งให้ความรู้เสริม ไม่ใช่กลายเป็นแหล่งการศึกษาหลักแทนสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน
การศึกษาของฟินแลนด์เป็นการศึกษาแบบ Inclusive
Education ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ระบบและโครงสร้างการศึกษา วัฒนธรรมการศึกษาและวีธีการเรียนการสอนได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความสำเร็จของนักเรียนทุกคน[๔๑] การประเมินการศึกษาของฟินแลนด์ (Evaluation
and Assessment)[๔๒] จะเป็นไปเพื่อดูผลการเรียนนักเรียนและดูว่านักเรียนได้รับความเสมอภาคในการศึกษาหรือไม่ การประเมินมี ๓ ส่วนด้วยกัน คือ
๑. การประเมินนักเรียนระดับในประเทศ ระดับนักเรียนนานาชาติ การประเมินตนเอง และการประเมินโดยบุคคลภายนอกผู้มีอำนาจในการประเมิน ซึ่งการประเมินเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดย The National Board of education จะเป็นผู้ประเมินผลการเรียนในประเทศ ภายใต้แนวทางการประเมินการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยผลการประเมินการศึกษาที่ได้จะนำไปพัฒนาการศึกษาไม่ได้ถูกนำไปจัดลำดับโรงเรียน
๒. การประเมินโดยโรงเรียน ไม่มีการประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน โรงเรียนจะประเมินผลการดำเนินงานของตนเอง แต่อาจได้รับการประเมินจากหน่วยงานภายนอกได้แก่ (The Finnish Education Evaluation Council)
๓. การประเมินนักเรียนเป็นความรับผิดชอบของครูที่จะประเมินผลการเรียนของนักเรียนนักเรียนเองก็ได้รับการสนับสนุนให้ออกแบบรูปแบบการประเมินผลการเรียนของตนเอง เฉพาะแต่นักเรียนที่เรียนในระดับที่สูงเท่านั้น การประเมินนักเรียนในระดับประเทศสำหรับนักเรียนที่เรียนจบระดับมัธยมปลายครั้งแรก ได้แก่ Marticulation
Examination
๗. สรุป
(Conclusion)
การปฏิรูประบบการศึกษาจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากสถาบันแรกอันเป็นรากแก้วของสังคม คือ สถาบันครอบครัว โดยผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือผู้ใดก็ตามที่รับผิดชอบในการดูแลเด็กเป็นหลักต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพกายและจิตที่แข็งแรง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง เช่น เด็กควรเริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่ ๗ ขวบเป็นต้นไป เด็กแรกเกิดจนถึง ๖ ขวบควรเล่นอย่างเดียว หากต้องไปโรงเรียนควรเป็นการเรียนผ่านการเล่น เพื่อพัฒนาความพร้อมทุกด้านก่อนจะเริ่มเรียนหนังสืออย่างจริงจัง
ภาครัฐเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบถัดจากสถาบันครอบครัว เช่น กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรอนุญาตให้มีการเปิดสอบนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ เพราะนั่นหมายถึง เด็กอนุบาลต้องอ่านออกเขียนได้แล้ว แสดงว่าเด็กเริ่มเรียนหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่อนุบาล ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพัฒนาการเด็กรัฐไม่ควรทอดทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง (No one leave behind) รัฐควรพัฒนาเด็กตามลักษณะเฉพาะหรือตามความสามารถของเด็กแต่ละคน เพราะคนเราแต่ละคนมีความสามารถที่เก่งแตกต่างกันออกไป ตามหลักพหุปัญญา (Multiintelligence) ทรัพากรมนุษย์ที่มีน้อยลงเรื่อยๆ แต่เป็นจำนวนน้อยที่มีศักยภาพ ไม่ใช่มีคนน้อยแถมด้อยคุณภาพอีกต่างหาก
คนในชุมชนควรช่วยเหลือดูแลเด็กในการให้ความรู้และดูแลเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก การที่เด็กสามารถเติบโตในชุมชนหรือสังคมที่มีความรู้ ความรักและความเอื้ออารีย์ต่อกัน ความกังวลกับความเป็นอยู่ของสังคมผู้สูงอายุก็จะลดน้อยลง เพราะแม้คนรุ่นใหม่จะมีจำนวนลงแต่เป็นจำนวนน้อยที่มีศักยภาพในการดูแลรับผิดชอบสังคมผู้สูงอายุได้ เป็นจิตสำนึกและหน้าที่ของทุกคนในชุมชนและสังคมที่ต้องช่วยเหลือกันพัฒนาเยาวชนและระบบการศึกษา
ภาคเอกชน เช่น ครูควรถ่ายถอดความรู้ที่มีทั้งหมด เพื่อช่วยต่อยอดความรู้ให้นักเรียนในชั้นเรียน ไม่ควรใช้อำนาจของการเป็นครูในการทำธุรกิจ โดยการเปิดสถาบันกวดวิชา การที่บริษัทยักษ์ใหญ่เปิดสถาบันการศึกษาแข่งกับภาครัฐ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่ไม่ใช่ครอบงำความคิดเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท แต่ควรเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
หากประเทศไทยสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพและมีจิตจริยธรรมควบคู่กันแล้ว นอกจากประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอันเกิดจากตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ประเทศไทยยังมีสังคมที่อยู่กันอย่างสงบสุข เพราะสังคมไทยมีคนที่มีจิตจริยธรรมอยู่ร่วมกัน การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
“Education is not the learning of facts, but
the training of the mind to think”
(Albert Einstein 1879 – 1955)
ë นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, น.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Master Droit public Spécialité Droit public
géneral - Université Paul Cézanne Aix-Marseille III (ฝรั่งเศส), และDocteur en droit ที่ Université Paul Cézanne Aix-Marseille III และ Visiting Fellowship - Max Planck Institute for
Intellectual Property, Competition and Tax Law (เยอรมนี)
[๑]
Pasi Sahlberg, “Finnish Lesson 2.0 ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์” วิชยา ปิดชามุก แปล จากเรื่อง Finnish
Lessons 2.0 : What Can the World Learn from Education Change in Finland?”,
Openworlds Publishing House, ๒๐๑๗, หน้า ๖๗
[๒]
James Bellanca and Ron Brandt แปลโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และอธิป จิตตฤกษ์ 21st
Century Skills : Rethinking How student
Learn พิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยสำนักพิมพ์ openworlds ธันวาคม ๒๕๕๖ หน้า ๑๑๗ – ๑๔๑
[๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๗๔ ก/หน้า ๑/๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๒
[๔] ข้อมูลจาก https://mgronline.com/south/detail/9610000009414 สืบค้นข้อมูลวันที่
๓๐ มกราคม ๒๕๖๑
โดยจรูญ-หยูทอง-แสงอุทัย “ ทำไมการศึกษาไทยถึงล้มเหลว”
[๕] https://en.oxforddictionaries.com/definition/education
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑
Education
means The process of receiving or giving systematic instructions especially at
a school or university
[๖]
Ken Robinson and Lou Aronica “Creative schools : the Grassroots Revolution
That’s Transforming Education” โรงเรียนบันดาลใจ แปลโดย วิชยา ปิดชามุก โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์ ปีที่พิมพ์ ๒๕๕๙ หน้า ๒๗
[๗] https://www.kroobannok.com/83243 สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ โดย ดร. กมล รอดคล้าย “อย่าลืมเป้าหมายการศึกษา”
[๘] https://thepotential.org/category/knowledge/infographic/
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ คู่มือเลี้ยงเด็กในศตวรรษที่ ๒๑ จะปรับตัวอย่างไรให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รอด โพสต์วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๑
[๙]
Quellmalz, E.S.., & Haertel, G. (2004) Technology supports for state
science assessment systems, Washington, DC: National Research Council จากหนังสือ 21st
Century Skills : Rethinking How student
Learn โดย James
Bellanca and Ron Brandt แปลโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และอธิป จิตตฤกษ์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยสำนักพิมพ์ openworlds ธันวาคม ๒๕๕๖ หน้า ๑๓๗ – ๑๓๙
[๑๐] https://www.gotoknow.org/posts/516168,
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๑๑]https://mgronline.com/daily/detail/9610000021947
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๕
มีนาคม ๒๕๖๑ “SWOT
Analysis : ราชการไทยชอบใช้ผิดๆ หลอกตัวเองไปวันๆ” โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
[๑๒]http://www.nesdb.go.th/download/plan12/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%8812.pdf, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐
[๑๓] https://tdri.or.th/2017/01/2017-01-12/ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑
[๑๔] ข้อ ๒๘
๑. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา และเพื่อที่จะให้สิทธินี้บังเกิดผลตามลำดับและบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน รัฐภาคีจะ
ก) จัดการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ข) สนับสนุนการพัฒนาของการศึกษาระดับมัธยมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ จัดการศึกษาให้แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน และดาเนินมาตรการที่เหมาะสม เช่น การนามาใช้ซึ่งการศึกษาแบบให้เปล่าและการเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่จาเป็น
ค) ทาให้การศึกษาในระดับสูงเปิดกว้างแก่ทุกคนบนพื้นฐานของความสามารถ โดยทุกวิธีการที่เหมาะสม
ง) ทาให้ข้อมูลข่าวสาร และการแนะแนวทางการศึกษาและอาชีพ เป็นที่แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน
จ) ดาเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าเรียนอย่างสม่าเสมอ และลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน
๒. รัฐภาคีจะดาเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า ระเบียบวินัยของโรงเรียนได้กาหนดขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็ก และสอดคล้องกับอนุสัญญานี้
[๑๕] ข้อ ๒๙
๑. รัฐภาคีตกลงว่า การศึกษาของเด็กจะมุ่งไปสู่
ก) การพัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษ และความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กให้เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน
ข) การพัฒนาความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานและต่อหลักการที่วางไว้ในกฏบัตรสหประชาชาติ
ค) การพัฒนาความเคารพต่อบิดามารดาของเด็ก เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และค่านิยมของเด็กนั้นเอง และต่อค่านิยมของชาติที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ และต่อค่านิยมของชาติถิ่นกาเนิดของเขาและต่ออารยธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากของเขาเอง
ง) การเตรียมเด็กให้มีชีวิตที่มีความรับผิดชอบในสังคมที่เสรีด้วยจิตสานึกแห่งความเข้าใจกัน สันติภาพความอดกลั้น ความเสมอภาคทางเพศ และมิตรภาพในหมู่มวลมนุษย์ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชาติ กลุ่มศาสนา ตลอดจนในหมู่คนพื้นเมืองดั้งเดิม
จ) การพัฒนาความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
๒. ไม่มีความตอนใดในข้อนี้หรือในข้อ ๒๘ ที่จะได้รับการตีความให้เป็นการก้าวก่ายเสรีภาพของบุคคลและขององค์กรในการจัดตั้งและอานวยการสถาบันทางการศึกษา แต่ทั้งนี้จะต้องเคารพต่อหลักการที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้เสมอ และต่อเงื่อนไขที่ว่าการศึกษาที่ให้ในสถาบันเหล่านั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่าที่รัฐได้วางไว้
[๑๖] http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/crct.pdf,
สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑
[๑๗] http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=50917&Key=news2 สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑
[๑๘] http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=9113 สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑
[๑๙] บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... เรื่องเสร็จที่ ๑๖๘๑/๒๕๖๐
[๒๐] http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---dgreports/---dcomm/---publ/documents/publication/wcms_242615.pdf, หน้า ๗ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑
[๒๑] https://tdri.or.th/2017/05/thinkx2-198/ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๑
[๒๒] ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ปัญญาอนาคต สำนักพิมพ์ openbooks,
หน้า ๒๐๙
[๒๓] ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี การศึกษาเปลี่ยนระเทศไทย – ประเทศไทยเปลี่ยนการศึกษา, พิมพ์โดยมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๕๙ หน้า ๑๖
[๒๔] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๕๐
[๒๕] http://www.oecd.org/education/EDUCATION%20POLICY%20OUTLOOK%20FINLAND_EN.pdf
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑ หน้า ๑๐
[๒๖] ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน การศึกษาไทย กระบวนทัศน์ที่หลงทาง : http://www.kroobannok.com/83544,
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๐
[๒๘] https://tdri.or.th/2017/09/education-paradigm-shift-1/, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๒๙] https://tdri.or.th/2017/09/education-paradigm-shift-1/, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๓๐] https://mgronline.com/qol/detail/9610000032528, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑
[๓๑] https://tdri.or.th/2013/05/tdri-factsheet-14-2/ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑
[๓๒] http://kriengsak.com/node/77, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๓๓] http://kriengsak.com/node/1040 สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๓๔] http://siteresources.worldbank.org/EDUCATION/Resources/ESSU/463292-1306181142935/WB_ES_ExectiveSummary_FINAL.pdf,
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๓๕] https://docs.google.com/viewerng/viewer?url=http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2016/12/report-new-final.pdf&hl=th,
หน้า ๕ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
[๓๖] https://tdri.or.th/2017/06/education-teacher-reform/, หน้า ๙ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑
[๓๘] ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน การศึกษาไทย กระบวนทัศน์ที่หลงทาง : http://www.kroobannok.com/83544,
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๐
[๓๙] ดิเรก พรสีมา ทางออกของวิกฤตการศึกษาไทยภายใต้การใช้อำนาจตาม ม.๔๔ ของ คสช.http://www.kroobannok.com/83622
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๕ ม.ค ๒๕๖๑
[๔๐] ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี การศึกษาเปลี่ยนระเทศไทย – ประเทศไทยเปลี่ยนการศึกษา, พิมพ์โดยมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๕๙ หน้า ๒๐
[๔๒] http://www.oecd.org/education/EDUCATION%20POLICY%20OUTLOOK%20FINLAND_EN.pdf
เข้า สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑ หน้า ๑๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น